บันทึกร่องรอยการเดินทางลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้ EP.4 จ.ศรีสะเกษ ลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้จากประสบการณ์ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

3 ตุลาคม 2565
บันทึกร่องรอยการเดินทางลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้ EP.4 จังหวัดศรีสะเกษ
ลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้จากประสบการณ์ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมเรียนรู้และติดตามคณะผู้ประเมินอิสระ ลงพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ศรีสะเกษ ซึ่งการไปครั้งนี้ ระหว่างวันที่ 25 – 26 สิงหาคม 2565 โดยวันแรกจะเป็นการลงพื้นที่ พูดคุยกับตัวแทนคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ศรีสะเกษ ตัวแทนจากศึกษาธิการจังหวัดและเขตพื้นที่การศึกษา ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนจากผู้บริหารสถานศึกษานำร่อง และตัวแทนจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์สภาพการดำเนินงานและการบริหารจัดการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ผู้เขียน ได้ร่วมรับฟังการดำเนินงานของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งมีจุดเด่นที่ การเปิดรับการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนโดยคนในจังหวัด มาระดมสมองในการจัดการปัญหา อุปสรรค และวิธีการแก้ไข และทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ จากการนำเสนอในช่วงเช้า ผู้เขียน ได้เห็นมุมมองในการพัฒนาตนเองของสถานศึกษานำร่องและผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ในการร่วมพูดคุยและให้ข้อเสนอแนะในประเด็นต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ศรีสะเกษ อาทิ

ได้เห็นมุมมองของศึกษานิเทศก์ในฐานะผู้ช่วยเหลือ สนับสนุน สถานศึกษานำร่อง ซึ่งประโยคที่สัมผัสได้ผ่านคำบอกเล่า คือ นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านโครงการเพาะธุ์ปัญญา ทำให้ศึกษานิเทศก์พบว่า การจัดการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรมนี้ สามารถพัฒนาทักษะการสื่อสารและการสื่อสารในที่สาธารณะของนักเรียนได้เป็นอย่างดี เพราะนักเรียนได้ฝึกการนำเสนออยู่เป็นประจำ

ได้เห็นมุมมองของผู้บริหารที่มีไฟในการทำงาน มีใจรัก ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ เพื่อขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาตนเอง

โดยทุกฝ่าย ได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาสถานศึกษานำร่อง อาทิ ส่งเสริมให้สถานศึกษามีใจรัก ใจสู้เพื่อร่วมเป็นสถานศึกษานำร่อง การสนับสนุนด้านซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยเพื่อเปิดโอกาสให้สถานศึกษาอื่น ๆ สามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ ส่งเสริมให้จัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning เพราะจะทำให้นักเรียนเกิดการพัฒนาตนเองผ่านการลงมือทำ ซึ่งผู้เขียน เห็นด้วยและปลื้มใจในการลงพื้นที่ฯ ในครั้งนี้

นอกจากการให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาสถานศึกษานำร่องแล้ว ที่ประชุมได้สะท้อนในการปรับปรุง พ.ร.บ. เช่น เปิดโอกาสให้สถานศึกษานำร่อง สังกัด อื่น ๆ สามารถร่วมเป็นสถานศึกษานำร่องได้ เช่น สังกัด อุดมศึกษา ตำรวจตระเวรชายแดน โรงเรียนกีฬา ซึ่ง สถานศึกษาเหล่านี้จะมีนวัตกรรมที่มีจุดเด่นเป็นของตนเอง แต่ยังขาดพี่เลี้ยงในการสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล

ในวันที่สองของการลงพื้นที่เป็นการพูดคุยกับสถานศึกษานำร่อง 2 แห่ง ได้แก่ รร.ไพรบึงวิทยาคม และ รร.บ้านรุ่ง นำเสนอถึงความก้าวหน้าของการจัดการเรียนการสอน ผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ข้อเสนอแนะ ปัญหาและอุปสรรค และพูดคุยกับผู้แทนสถานศึกษา ส่วนต่าง ๆ เช่น ผู้แทนนักเรียน ผู้ปกครอง ครู ชุมชน โดยในการพูดคุยจะแบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้สะท้อนมุมมองต่าง ๆ ของการเป็นสถานศึกษานำร่อง ในด้านการจัดการเรียนการสอน ความรู้สึก ความคิดเห็น

ผู้เขียน เลือกเข้ารับฟังกลุ่มนักเรียน เนื่องจากอยากเห็นมุมมองสะท้อนจากผู้ที่เป็นผลลัพธ์ของการจัดการศึกษา ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร ได้เรียนรู้อะไรบ้าง คำถามที่คณะผู้ประเมินอิสระใช้ในการสัมภาษณ์ จะเป็นคำถามที่ฟังแล้วเข้าใจง่าย ชวนคิด ชวนคุยถึงสิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้จากกิจกรรมหรือโครงการของสถานศึกษา บรรยากาศตอนพูดคุยมีความเป็นกันเอง ผ่อนคลาย ทำให้ผู้เขียนได้เห็นถึงความมีชีวิตชีวา เห็นความใส่ใจ ความตั้งใจของนักเรียนจากการทำการทดลอง เห็นความสุขของผู้เรียนผ่านการเล่าเรื่อง ซึ่งในการพูดคุยบรรยากาศเป็นไปด้วยความผ่านคลาย ได้เห็นความสุข จากการบอกเล่าที่สังเกตได้จากสีหน้าและท่าทางบางครั้งได้มีการฉุกคิดกับข้อคำถามบ้าง ซึ่งคำตอบที่ผ่านจากการเล่าเรื่องนั้นล้วนสะท้อนให้เห็นได้ว่า ก่อนการลงมือทำ ระหว่างการลงมือทำและผลลัพธ์จากการลงมือทำ ล้วนส่งผลให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิด การสังเกต การได้รู้จักความชอบหรือความสนใจในกิจกรรมที่ได้เลือกทำ ซึ่งสถานศึกษาได้ให้นักเรียนเลือกทำกิจกรรมตามความสนใจ จากตรงนี้ส่งผลให้นักเรียนได้ลองผิด ลองถูก ซึ่งบางครั้งพบปัญหา นักเรียนได้ไปปรึกษาครูผู้สอนหรือจากการค้นหาข้อมูลใน Google จากอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏ และทำการแก้ไขต่อไป บางกิจกรรมนักเรียนสามารถสร้างเป็นรายได้ให้แก่ตนเองได้ นักเรียนยังได้กล่าวอีกว่า ตนเองมีความสนใจที่จะทดลองต่อยอดจากกิจกรรมเหล่านี้เพิ่มเติมอีกด้วย

ผู้เขียนประทับใจนักเรียนคนหนึ่ง ซึ่ง ได้อธิบายประสบการณ์เกิดการค้นพบว่า “การเรียนรู้เกิดจากการลงมือทำอย่างแท้จริง ทำให้เกิดสติมากขึ้น ซึ่งสติของหนูเกิดจากการเรียนรู้จากข้อผิดพลาด” และยังได้กล่าวต่ออีกว่า ผลลัพธ์จากกิจกรรมเหล่านี้ทำให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ เพราะเจอปัญหาและอุปสรรคระหว่างการทดลองเยอะมาก และได้พบเจอจากสถานการณ์ในชีวิตจริง คือ เกิดความกังวล เกิดการตั้งสติ เกิดการรอคอย และหากเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแก้ไขได้ก็รู้จักการยอมรับในผลของการกระทำ นอกจากนั้นยังทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ท้าทาย สามารถทดลองเพิ่มเติมได้โดยไม่ต้องทำตามในหนังสือ ซึ่งทำให้เรียนรู้ได้มากกว่า การเรียนในหนังสือคือการได้เรียนตามในหลักสูตร ส่วนการเข้าร่วมกิจกรรมคือการได้เรียนรู้เพิ่มเติม

จากการติดตามลงพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ทำให้ผู้เขียนได้เห็นมุมมองในการทำงานในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นศึกษาธิการจังหวัด ผู้แทนต่าง ๆ ผอ.รร. นักเรียน ครู ซึ่งผู้เขียนพร้อมเป็นกำลังใจให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสู่ความสำเร็จ

 

 

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

       



ผู้เขียน :
ปราชญาพร แช่ใจ
กราฟิกดีไซน์เนอร์ :
อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์ : ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ “4 จ ส ท” เพื่อแก้ไขปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30บูรณาการและต่อยอดเพื่อยกระดับสมรรถนะ ด้วยฐานการเรียนรู้แห่งศาสตร์พระราชา รร.บ้านช่องแมว จ.ปัตตานี
บทความล่าสุด