นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ "4 จ ส ท" เพื่อแก้ไขปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30

29 กันยายน 2565
นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ “4 จ ส ท”
เพื่อแก้ไขปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30 สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษตั้งอยู่ในอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนจัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส 10 ประเภท เป็นสถานศึกษาประเภทอยู่ประจำจัดตั้งขึ้นเพื่อสงเคราะห์เด็กที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา และเด็กกำพร้าเนื่องจากบิดา-มารดาเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ การจัดการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กด้อยโอกาส ให้เป็นคนที่สมบูรณ์ มีศักยภาพในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพโดยครูมืออาชีพ แต่เนื่องจากทางโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30 จะรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ อำเภอแม่อาย อำเภอฝาง อำเภอไชยปราการและพื้นที่ใกล้เคียง นักเรียนจะใช้ภาษาท้องถิ่นเป็นหลักนักเรียนส่วนใหญ่อ่านหนังสือไม่ออก เขียน ไม่ถูกต้อง และบางส่วนอ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาไทย และวิชา อื่นๆ และยังส่งผลกระทบต่อการประเมินผล NT และ O- NET ของนักเรียนกลุ่มดังกล่าวซึ่งลดต่ำลงไปด้วย

ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหานักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ถูกต้อง และอ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่องของนักเรียน ทางโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30 จึงได้พัฒนานวัตกรรมแก้ไขปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ 4 จ ส ท  เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น ดังนี้

ดำเนินพัฒนาการอ่านการเขียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ตามขั้นตอน “นวัตกรรมการแก้ไขปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ 4 จ ส ท” ดังต่อไปนี้

1. “4 จ รู้แจ้งการอ่านการเขียน”

เป็นการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ตามจุดเน้น ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ให้นักเรียนสามารถ อ่านออก เขียนได้ตามมาตรฐานการเรียนรู้ สามารถรู้และเข้าใจการอ่านอย่างต่อเนื่อง และมีความรู้สึกนึกคิด จินตนาการเกี่ยวกับการเขียน โดยใช้วิธีการ ดังนี้

  1. แจ้งพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ โดยการสอนนักเรียนให้รู้จักพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์โดยการ ท่องพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ ก่อนเริ่มเรียนวิชาภาษาไทย
  2. แจกลูกสะกดและผันเสียง โดยการฝึกให้นักเรียนอ่านสะกดแจกลูกคำและผันเสียง โดยสื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจ เช่น สื่อมัลติมีเดีย CAI 10 นาที
  3. จำ อ่าน จำเขียน โดยการให้นักเรียนฝึกอ่านคำพื้นฐานและเขียนตามคำบอกลงในสมุดวันละ 10 คำทุกวันก่อนเรียนวิชาภาษาไทย หากนักเรียนอ่านผิดหรือเขียนผิด ต้องแก้คำผิดให้ถูกต้องโดยการคัดลายมือ และสอนซ่อมเสริมการอ่านการเขียน
  4. จดเขียนเรียนประโยค โดยการนำนักเรียนอ่านออกเสียงคำ ประโยคและเรื่องในบทเรียนหรือ นอกบทเรียน นักเรียนฝึกแต่งประโยคจากคำในเรื่องที่อ่าน

2. “4 ส เสริมสร้างทักษะอ่านเขียน”

เป็นการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ตามจุดเน้นระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ให้นักเรียนสามารถอ่านและเขียนหนังสือได้คล่อง โดยใช้วิธีการ ดังนี้

  1. สะกดคำแม่นยำ โดยการให้นักเรียนฝึกอ่านออกเสียงสะกดคำและเขียนลงในสมุดก่อนเริ่มเรียนวิชาภาษาไทยทุกวัน  
  2. สลับอ่านสลับเขียน โดยการให้นักเรียนได้ฝึกอ่านคำ ประโยค ข่าว เพลง บทร้อยกรอง บทความหรือเรื่องราวต่างๆจากสื่อทั้งในบทเรียนและนอกบทเรียน แล้วฝึกเขียนคำศัพท์จากเรื่องที่อ่าน ฝึกแต่ง ประโยคฝึกแต่งนิทานและคัดลายมือ เป็นต้น
  3. สนใจใฝ่เรียนรู้ โดยการให้นักเรียนทำบันทึกรักการอ่านสัปดาห์ละ 2 เรื่อง บันทึกการอ่านนอก เวลาสัปดาห์ละ 3 เรื่องและบันทึกครอบครัวนักอ่านตามความสนใจของนักเรียนแล้วส่งให้ครูประจำวิชาภาษาไทย ตรวจ
  4. สอนเสริมอ่านเขียน โดยการคัดกรองนักเรียนที่ยังขาดทักษะการอ่านการเขียนมาสอนซ่อม เสริมในช่วงเวลาว่าง พักกลางวันและหลังเลิกเรียน

3. “4 ท ทนทานเก่งอ่าน เก่งเขียน”

เป็นการส่งเสริมให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 โดยการทบทบการอ่านและการเขียนด้วยตนเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างความมีวินัยในการอ่านและการเขียนที่ยั่งยืน โดยใช้วิธีการ ดังนี้

  1. ทดสอบการอ่านเขียนคำพื้นฐาน โดยให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ทดสอบการอ่านและ เขียนคำพื้นฐานก่อนเรียนวิชาภาษาไทยทุกชั่วโมง
  2. ท่องบทอาขยาน – ทำนองเสนาะ โดยให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ท่องบทอาขยาน – ทำนอง เสนาะก่อนเรียนวิชาภาษาไทยทุกชั่วโมงและช่วงเวลาพักกลางวันก่อนขึ้นชั้นเรียน
  3. ทำบันทึกส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โดยให้นักเรียนบันทึกรักการอ่านสัปดาห์ละ 2 เรื่อง บันทึก การอ่านนอกเวลาสัปดาห์ละ 3 เรื่อง และบันทึกครอบครัวนักอ่านตามความสนใจของนักเรียนแล้วส่งให้ครูประจำ วิชาภาษาไทยตรวจ
  4. ทบทวนการอ่านการเขียน โดยให้นักเรียนทบทวนเรื่องการอ่านการเขียนจากบทเรียนแล้วฝึกทักษะการอ่านการเขียนโดยการทำแบบฝึกเพื่อพัฒนาทักษะการคิดแห่งศตวรรษที่ 21 สู่การประเมินระดับนานาชาติ (Pisa) และแบบฝึกพัฒนาคุณภาพการอ่านรู้เรื่องและสื่อสารได้ตามแนวทางการประเมินนักเรียน นานาชาติ (Pisa)

เป้าหมายในการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จ

1. เป้าหมายเชิงปริมาณ

  • นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30 จังหวัดเชียงใหม่ ร้อยละ 80 อ่านออกเขียนได้ อ่านคล่องเขียนคล่อง อ่านคล่อง เขียนคล่อง ตามมาตรฐานการเรียนรู้
  • นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30 จังหวัดเชียงใหม่ ร้อยละ 80 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยสูงขึ้น

2. เป้าหมายเชิงคุณภาพ

  • นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30 จังหวัดเชียงใหม่ มีนิสัยในการอ่านและการเขียนที่ยั่งยืน
ความสำเร็จที่เกิดจากนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ 4 จ ส ท
  • ครูมีนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ 4 จ ส ท ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการจัด กิจกรรมการเรียนการสอน ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6
  • นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 สามารถอ่านออก เขียนได้ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 สามารถอ่านคล่อง เขียนคล่อง และมีวินัยในการอ่านและการเขียนที่ยั่งยืน
  • นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยที่สูงขึ้น

 

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

       



ผู้ให้สัมภาษณ์ : มงคล สุวรรณะ ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30
ผู้เขียน/ผู้สัมภาษณ์ :
มาศชฎา จันทราทิพย์
กราฟิกดีไซน์เนอร์ :
อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์ : ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
สร้างการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน สร้างสรรค์ผลงานด้วยโครงการอนุบาลนักคิดพิชิต 4.0บันทึกร่องรอยการเดินทางลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้ EP.4 จ.ศรีสะเกษ ลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้จากประสบการณ์ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
บทความล่าสุด