โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย พื้นที่นวัตกรรมระยอง ปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน เปลี่ยนสู่ฐานสมรรถนะ

5 เมษายน 2563

โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย ตำบลห้วยทับมอญ อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล – ประถมศึกษา มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 104 คน มีบุคลากรครูทั้งหมด 8 คน แบ่งเป็นครูจ้างเอง 1 คน ครูพี่เลี้ยงเด็กพิการ 1 คน และข้าราชการครู 6 คน มีนางอิงกมล  บุญลือ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน สำหรับ School Concept ของโรงเรียนคือ โรงเรียนพลังงานสะอาด สู่สมดุลธรรมชาติ

การดำเนินการการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ทางโรงเรียนใช้วิธีการเรียนการสอนบูรณาการทั้ง 8 วิชา ในปัจจุบันโรงเรียนเน้นนวัตกรรม สร้างสมรรถนะการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งนำเสนอกิจกรรมที่หลากหลายจากหลักสูตรเดิม โดยการสร้างแบบฝึกหัดให้นักเรียนทุกคนฝึกเอง ขอความร่วมมือกับผู้ปกครองในการฝึกอ่าน ติดตามความก้าวหน้าของนักเรียนรายบุคคลอย่างใกล้ชิด กระตุ้นให้นักเรียนสร้างคำใหม่จากคำที่อ่านได้ สร้างเวทีสาธารณะให้นักเรียนได้ฝึกการแสดงออกและเผชิญสถานการณ์จริง (เริ่มทดลองใช้ พฤศจิกายน 2562 – มีนาคม 2563)

สิ่งที่โรงเรียนกำลังผลักดัน/ดำเนินการ ถ้าพิจารณาตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 5 แห่ง พรบ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 สรุปได้ดังนี้

คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดต่างๆ ไปจากเดิมหลายอย่าง ดังนี้

  • ค้นหานวัตกรรมด้วยการค้นหาตัวตนของโรงเรียนบ้านน้ำกร่อยว่าในบริบทป่าเขา มีช้างป่า อยู่ในที่ห่างไกล พื้นที่สูง ไม่มีน้ำใช้ ต้องเสียค่าไฟฟ้าแพง ชุมชนมีอาชีพทางการเกษตร ทุกอย่างต้องเป็นมิตรกับป่ากับช้าง อยู่ในพื้นที่ทรงงานเรื่องสมดุลธรรมชาติคนและช้าง วิธีการค้นหาตัวเองคือตั้งคำถาม พูดคุยกัน หาข้อมูลมาลงมติกัน จนในที่สุดก็ได้ตัวตนของโรงเรียนบ้านน้ำกร่อยว่าต้องเป็น “โรงเรียนพลังงานสะอาดสู่สมดุลธรรมชาติ”
  • สร้างนวัตกรรมใหม่ด้านการสร้างและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฉบับเดิมซึ่งเป็นหลักสูตรเหมือนกับโรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศ มาเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ เน้นการพัฒนาสมรรถนะของนักเรียนจากโรงเรียนพลังงานสะอาดสู่สมดุลธรรมชาติสู่การเป็นพลเมืองที่ดีของโลกใบนี้ ในหลักสูตรนี้นักเรียนจะได้เรียนวิชาการต่างๆ ครบตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลาง แต่เรียนแบบมีความหมาย ครบถ้วนทั้งเจตคติ ทักษะกระบวนการ และองค์ความรู้ที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตจริง ทำงานประสบความสำเร็จด้วยตนเอง สามารถเผชิญกับเหตุการณ์ที่หลากหลายได้
  • สร้างนวัตกรรมการสอนที่เน้นสมรรถนะนักเรียน เช่น การสร้างสมรรถนะการอ่าน ด้วยการใช้แบบฝึกอ่าน การสร้างคำใหม่ การสร้างบัญชีคำพื้นฐานของนักเรียน สู่สมรรถนะการอ่านแบบค้นหาสาระ อ่านแบบตีความ และอ่านแบบวิเคราะห์ นวัตกรรมอีกอย่างหนึ่งคือ โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยจะเรียนเป็นหน่วย ใช้เวลาหน่วยละ 2 สัปดาห์ สัปดาห์แรกเป็นการให้นักเรียนค้นหาวิธีการเรียนรู้ของตนเองผ่านสถานการณ์ต่างๆ ต่อมาในสัปดาห์ที่ 2 เป็นการนำสถานการณ์ที่เผชิญมาแยกแยะและเรียนรู้ตามหลักวิชาการ 8 กลุ่มสาระ

ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยได้มีกระบวนการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยการทำให้นักเรียนทุกคนอ่านออก เขียนได้ มีวิธีการช่วยให้นักเรียนอ่านเก่ง อ่านรู้เรื่อง ทุกคน เรียกได้ว่า “ไม่ทิ้งนักเรียนคนใดไว้ข้างหลัง” เราจะส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนอ่านเก่งและอ่านรู้เรื่องตามศักยภาพสูงสุดที่เขามี ดังนั้นวิธีการพัฒนานักเรียนของเราเน้นให้เขาฝึกด้วยตนเอง มีพ่อแม่ ผู้ปกครองช่วย จนกระทั่งเขาอ่านเก่งและอ่านรู้เรื่องในศักยภาพของเขา แต่เราจะไม่ปล่อยให้เด็กอับเฉาอยู่กับคำว่า “เด็กพิเศษ” และทำอะไรไม่ได้เลย ตรงนี้ก็คิดว่าเป็นลดความเหลื่อมล้ำที่ทำได้เป็นอันดับแรก

กระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยใช้สิ่งที่ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 กำหนดมาให้อย่างเต็มที่ทุกประการเท่าที่ทำได้ เช่น เรื่องการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา การซื้อหนังสือเรียน ตามมาตรา 25 การขอปลดล็อกเรื่องภาระงาน เราพบว่าในปีหนึ่งๆ โรงเรียนต้องรับหนังสือราชการมากกว่า 1,200 เรื่อง และต้องส่งครูเข้าร่วมประชุมทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น ทั้งๆ ที่มีครูผู้สอนเพียง 6 คน เท่านั้น การดำเนินการคือได้จัดทำข้อเสนอเพื่อการปลดล็อกไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 แล้ว นอกจากนี้ก็ยังขอปลดล็อกเรื่องการสอบโอเน็ตและการประเมินคุณภาพจาก สทศ.อีก ในส่วนนี้คือเรากำลังเรียนรู้กับการปรับตัว และการปฏิรูปการศึกษา ในปีแรกๆ เราต้องใช้พละกำลังในการเรียนรู้และการปรับเปลี่ยนมาก จึงไม่พร้อมกับการประเมินทั้ง 2 เรื่องนี้ แต่เมื่อเราพร้อมและเข้มแข็งมากกว่านี้เราจะไม่ปฏิเสธการประเมินทั้งสองอย่างนี้

สร้างและพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยมีการเตรียมความพร้อมการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ด้านนักเรียน ได้มีการสร้างสมรรถนะการอ่าน ด้วยการใช้แบบฝึก ซึ่งโรงเรียนได้สร้างและพัฒนากลไกความร่วมมือกับผู้ปกครองทั้งในด้านการฝึกอ่านที่บ้าน และให้ผู้ปกครองมาสอบอ่านที่โรงเรียน เสียงสะท้อนจากผู้ปกครองหลังจากมาทดสอบอ่าน เขาภูมิใจในลูกหลานที่สามารถอ่านออกได้ทุกคน นักเรียนกล้าอ่านให้ผู้ปกครองและบุคคลภายนอกฟัง และเห็นพัฒนาการของนักเรียนในด้านการอ่าน

โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย จัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ปกครอง ผลปรากฏว่า ผู้ปกครองชอบหลักสูตรของโรงเรียนมาก เพราะผู้ปกครองบอกว่าเป็นหลักสูตรที่เมื่อเรียนรู้แล้วเด็กสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน และควรจะมีหลักสูตรแบบนี้ตั้งนานแล้ว ซึ่งในภาคเรียนที่ 2/2562โรงเรียนได้มีการทดลองเรียนเรื่องหน่วย กินดี อยู่ดี เสียงสะท้อนจากผู้ปกครองว่า เขารู้สึกดีใจและภูมิใจที่ลูกเขาสามารถหุงข้าว ทำอาหาร ล้างจาน ได้เอง เป็นการลดภาระของผู้ปกครอง เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องไปกรีดยางพาราตั้งแต่เช้ามืด กลับมาก็ถึงเวลาส่งลูกมาโรงเรียน ไม่มีเวลาดูแลลูกหลาน

โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย ได้จัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรฐานสมรรถนะ  โดยการเรียนเป็นหน่วย เช่น หน่วยช้างป่าเขาชะเมา เรียน 2 สัปดาห์ สัปดาห์แรกเป็นการเดินป่าตามรอยช้า สัปดาห์ที่ 2 เป็นการนำสถานการณ์จากการเดินป่ามาแยกแยะเรียนรู้ตามหลักวิชาการทั้ง 8 กลุ่มสาระ ภาคีเครือข่ายในหน่วยนี้ ได้แก่ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าไม้น้ำกร่อย เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง และนักวิจัยโครงการช้าง เป็นต้น

โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มต่างๆ ที่เข้ามาทำ CSR (Corporate Social Responsibility) ให้ความช่วยเหลือโรงเรียนตามโจทย์ที่โรงเรียนต้องการ ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2562 ถึง มกราคม 2563 จำนวน 10 ราย มีมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท  เช่น

  • โซล่าเซลล์สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในการปั๊มน้ำจากบ่อบาดาลมาใช้เป็นน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค และรดน้ำต้นไม้
  • เต็นท์ลูกเสือ สำหรับฝึกทักษะการเดินป่า และกิจกรรมลูกเสือ
  • เครื่องกรองน้ำ เพื่อผลิตน้ำดื่มใช้ในโรงเรียน
  • เชื้อเห็ดนางฟ้า ไก่พันธ์ไข่ สำหรับฝึกทักษะวิชาชีพและการบริโภค
  • อุปกรณ์ครัว/ชุดทำครัว เช่น เตาแก๊สปิกนิก เตาถ่าน เตาหม้อ ทัพพี ตะหลิว กระทะ มีด สำหรับใช้ฝึกทักษะการทำอาหารการกินในกิจกรรม “กินดีอยู่ดี” ของนักเรียน

การกำหนดเป้าหมายเริ่มต้นที่ ผู้อำนวยการโรงเรียนและบุคลากรในโรงเรียนก่อน เป็นการกำหนดให้มีความชัดเจนก่อน หลังจากนั้นจึงนำไปพูดคุยกับชุมชน ผู้ปกครอง ภาคประชาสังคม นักวิจัย และผู้ทรงคุณวุฒิ  เรียกว่า สร้างพลังจากภายในโรงเรียนก่อน แล้วจึงขยายวงออกไป ส่วนสำคัญที่นำไปพูดคุยกันคือผลลัพธ์ที่นักเรียน

สิ่งที่โรงเรียนต้องการมุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์กับนักเรียน คือมีสมรรถนะการอ่าน นักเรียนอ่านได้ รู้ความหมาย เข้าใจ และนำไปใช้ได้กับทุกสถานการณ์เป็นผู้ที่เรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง สร้างองค์ความรู้นำมาบอกเล่าให้คนอื่นฟัง พร้อมทั้งพัฒนาตนเองได้ เป็นนวัตกร คิดและพัฒนานวัตกรรมอย่างหลากหลายที่นำมาใช้ในชีวิตจริงได้ เช่น สร้างวิธีตากกะปิโดย อาศัยแสงแดด สร้างวิธีปลูกพืชแบบประหยัดน้ำ สร้างอาชีพที่เป็นมิตรกับช้าง

ผลการตอบรับของนักเรียนรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด

ด้านนักเรียน เป็นกลุ่มที่ตอบรับดีมาก เนื่องจากเรียนรู้อย่างสนุกสนาน อิสระ นักเรียนได้ออกนอกห้องเรียน ออกนอกโรงเรียน ได้เรียนรู้ร่วมกับครูที่ทำหน้าที่โค้ช แรกๆ ครูพาทำหลังจากนั้นครูจึงปล่อยมือแล้วให้นักเรียนทำเอง ซึ่งนักเรียนก็สามารถทำได้ดีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  

ด้านผู้ปกครอง ทางโรงเรียนได้มีการพูดคุยสื่อสารถึงวิธีการเรียนการสอนให้ผู้ปกครองรับทราบและเชิญผู้ปกครองมาร่วมประเมินผล ซึ่งผู้ปกครองชื่นชอบให้การตอบรับเป็นอย่างดี เมื่อโรงเรียนเชิญให้มาร่วมกิจกรรมในห้องเรียน ก็มาอย่างเต็มใจ และยินดีช่วยเหลือโรงเรียนทุกประการ

ด้านบุคลากร ครูเป็นกลุ่มที่มีการตอบรับอยู่ในระดับดีมาก แต่อาจต้องใช้เวลาในการพลิกบทบาทของตนเอง รวมทั้งการออกแบบการสอนใหม่ๆ ต้องเตรียมความพร้อมอย่างหนัก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่รู้สึกภาคภูมิใจกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

ด้านเขตพื้นที่การศึกษา ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี แต่เกิดคำถามขึ้นว่ามีความไม่มั่นใจถึงการใช้นวัตกรรมการศึกษาว่าจะสามารถพัฒนาเด็กได้เทียบเท่าระบบการศึกษาเดิมจริงหรือไม่ ยังเป็นการตอบรับแบบผิวเผิน เนื่องจากสถานศึกษานำร่องยังมีจำนวนน้อย ยังเป็นภาระงานกับคนกลุ่มน้อย ไม่เหมือนภาระงานอื่นที่ปฏิบัติกันมานานจนคุ้นชิน

ด้านผู้อำนวยการโรงเรียน เกิดความกังวลลึกๆ ว่าการต่อสู้ครั้งนี้ทางโรงเรียนจะต้องดำเนินการแบบโดดเดี่ยวหรือไม่ จึงต้องการให้เขตพื้นที่ร่วมเป็นที่ปรึกษาและเป็นพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิดขึ้น  โรงเรียนจะทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้น

บทเรียนที่ได้จากการดำเนินงาน ส่วนที่ควรสืบสานต่อไป ได้แก่ การค้นหาตัวเอง การหาจุดเด่นของโรงเรียน การที่โรงเรียนจะเปลี่ยนโรงเรียนต้องหาจุดเน้นหรือ School Concept ให้ได้ก่อน จึงมาจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา พร้อมทั้งทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน ก่อนที่จะนำหลักสูตรไปใช้ การจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์พื้นที่ ได้เรียนรู้วิธีจัดการศึกษาที่อิงบริบทพื้นที่ ความต้องการของพื้นที่ ทั้งพื้นที่ของโรงเรียน และพื้นที่จังหวัดระยอง การพัฒนานักเรียนให้เป็นผู้เรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ แบบไม่พึ่งครูทุกเรื่องไป ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาจากสิ่งที่ทดลองทำมาแล้วการที่จะให้นักเรียนเกิดสมรรถนะ คือการต้องทำซ้ำ ครูต้องมีความเข้าใจและให้นักเรียนทดลองคิดและปฏิบัติด้วยตัวเอง สิ่งที่ทางโรงเรียนต้องพัฒนาให้มากขึ้นคือเพิ่มศักยภาพของบุคลากรทางด้าน IT เราจะได้พัฒนาศักยภาพทั้งนักเรียนและครูไปพร้อมกันได้

ส่วนที่ควรปรับปรุงแก้ไข น่าจะเป็นเรื่อง การประชาสัมพันธ์ เนื่องจากการปรับกระบวนการของสถานศึกษานำร่องเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยเป็นโรงเรียนเล็กอยู่ห่างไกล ไม่มีใครรู้จัก คนที่นานๆ มา ก็จะปะติดปะต่อเรื่องราวการพัฒนาของโรงเรียนน้ำกร่อยไม่ได้ พอเราไม่ได้บอกกล่าวก็เหมือนเราทำแล้วไม่บอก คนที่จะช่วยเหลือเราก็เลยไม่รู้จะช่วยอะไร

สิ่งที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต ทางโรงเรียนวางแผนจะเพิ่มวิชาการเรียนรู้วิถีการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับช้างอย่างสมดุล เนื่องจากมีโครงการของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี โครงการฟื้นฟูแหล่งอาหารช้างป่า ทำให้ทางโรงเรียนตะหนักถึงความสำคัญของการให้ความรู้แก่นักเรียนเกี่ยวกับวิธีใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับช้างเพื่อความปลอดภัยของตัวนักเรียนเองและคงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนไว้ การจัดทำหน่วยการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพ เรียกได้ว่าเป็นหน่วยการเรียนรู้ที่มีกิจกรรมดีๆ มีองค์ประกอบที่ครบถ้วน เช่น แหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญา บุคลากรภายนอกที่จะเข้ามาช่วยสอน การวัดและประเมินผลที่ตรงกับสมรรถนะของนักเรียน ถ้าเราทำในส่วนนี้ได้สมบูรณ์ ก็จะได้มีเวลาไปพัฒนาส่วนอื่น ๆ ได้ ระบบหรือ Digital Platform ที่ช่วยให้ ผอ.ครู ผู้ปกครอง ชุมชน สังคม หน่วยงานต้นสังกัด มองเห็นการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น Digital Classroom ต่าง ๆ ตรงส่วนนี้อาจต้องค่อยๆ พัฒนาไป เนื่องจากต้องใช้กำลังคนด้าน ICT และ Hardware อีกหลายอย่าง ถ้าทำส่วนนี้ได้เราจะมีเวลาออกแบบกิจกรรมดี ๆ อีกมาก

แนวทางในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง โรงเรียนต้องเขียนแผนขับเคลื่อนโรงเรียนให้ชัดเจน ใช้ระบบ Digital Platform เข้ามาช่วย สร้างโรงเรียนให้เป็น Learning City ที่นักเรียนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ โดยการสร้างแหล่งเรียนรู้ และ Learning Space ไว้อย่างหลากหลาย


ผู้เขียน: นิฎฐา ขุนนุช, อิงกมล บุญลือ
ผู้ให้สัมภาษณ์: อิงกมล บุญลือ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย จังหวัดระยอง
ผู้สัมภาษณ์: นิฎฐา ขุนนุช
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย

Facebook Comments
โรงเรียนบ้านคลองบางบ่อ พื้นที่นวัตกรรมระยอง โรงเรียนพหุวัฒนธรรมสร้างสรรค์ อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขโรงเรียนบ้านหนองม่วง พื้นที่นวัตกรรมระยอง มุ่งพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และพร้อมเผชิญโลกยุค AI
บทความล่าสุด