โรงเรียนทองผาภูมิวิทยา พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี พัฒนาคุณภาพผู้เรียนจากความร่วมมือของชุมชนด้วยนวัตกรรม บวร X2

5 มิถุนายน 2563

โรงเรียนทองผาภูมิวิทยา สถานศึกษาขนาดกลาง เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 8 ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านท่าขนุน ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโรงเรียนสหศึกษา มีผู้เรียนจำนวนประมาณ 853 คน ชุมชนโดยรอบมีทั้งวัด เทศบาล ผู้คนในชุมชนมีหลากหลายเชื้อสาย ทั้งชาวไทย มอญ พม่า กะเหรี่ยง ม้ง เย้า ผู้เรียนที่เป็นผู้เรียนชนเผ่ามีประมาณ 28 เปอร์เซ็นต์ มีข้าราชการครูจำนวน 45 คน ครูอัตราจ้างจำนวน 3 คน ผู้บริหารโรงเรียน คือ นายยงยุทธ สงพะโยม

เป้าหมายหลักที่โรงเรียนแห่งนี้เข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คือ การเปลี่ยนแปลงที่ตัวผู้เรียน มิใช่เป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงโรงเรียน โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า ผู้เรียนได้เรียนรู้อะไร และสามารถทำอะไรได้บ้างเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการเรียนรู้หรือจบการศึกษา เป้าหมายนี้สำเร็จได้จากการพัฒนาหลักสูตรได้เอง เป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของบ้าน วัด โรงเรียน (บวร) สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น และความต้องการการเรียนรู้ของผู้เรียน การดำเนินงานหลังจากเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแล้ว สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้

1. การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

ผอ.ยงยุทธ  สงพะโยม มีความเห็นว่า พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้ “โอกาส” โรงเรียนพัฒนาหลักสูตรได้เอง ประกอบกับโรงเรียนทองผาภูมิวิทยามีบริบทพิเศษ เป็นโรงเรียนชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายชนเผ่าที่มีความแตกต่าง ด้านภาษา วิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อนมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ และมีเขื่อนวชิราลงกรณ ที่เปรียบเสมือนทะเลสาบขนาดใหญ่

และจากสภาพพื้นที่พิเศษดังกล่าวนี้ทำให้ อำเภอทองทองผาภูมิ ประกอบไปด้วยหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก เช่น การไฟฟ้าผลิต ศาลจังหวัดทองผาภูมิ หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ หน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า อุทยานแห่งชาติ วัดท่าขนุน โบสถ์ มัสยิด ฯลฯ จึงเป็นที่มาของแนวคิดการผสานความร่วมมือช่วยเหลือกันส่งเสริมการจัดการศึกษาของโรงเรียนทองผาภูมิวิทยา หรือนวัตกรรมที่โรงเรียนนำมาใช้ในการจัดการศึกษาที่เกิดจากความหลากหลายทางวัฒนธรรม คือ บวร (บ้านรวมถึงเอกชน วัดและหน่วยงานหรือองค์กรทางศาสนา โรงเรียนและหน่วยงานราชการทั้งหลาย) ซึ่งได้ใช้แนวคิดนี้มา 3 ปีแล้ว แต่บวร ในที่นี้เป็นบวรคูณ 2 โดยบวรแรกคือ บ้าน วัดโรงเรียน บวรที่ 2 คือ บริบทวิชาการและการเรียนรู้ โดยบ้าน วัด ต้องส่งเสริมสนับสนุนโรงเรียนในด้านวิชาการและการเรียนรู้ ในขณะเดียวกันโรงเรียนก็ดำเนินการจัดการเรียนการสอนโดยตอบสนองบริบทของบ้าน วัด และโรงเรียนด้วย จากแนวคิดนี้ จึงเกิดภาคีเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานในท้องถิ่น เพื่อช่วยเหลือการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน เช่น หน่วยงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่รับผิดชอบเขื่อนวชิราลงกรณซึ่งมีบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถด้านวิศวะไฟฟ้าและวิชาฟิสิกส์ เมื่อเลิกงาน บุคลากรเหล่านี้จะมาช่วยสอนเสริมให้ผู้เรียนในคาบสุดท้าย นอกจากนั้น โรงเรียนยังมีแพทย์และเภสัชกรจากโรงพยาบาลทองผาภูมิมาช่วยสอนวิชาเคมีและชีววิทยา อีกทั้งยังมีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันเป็นมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงมาช่วยกันสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน

โรงเรียนทองผาภูมิวิทยากำลังจะพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะในภาคเรียนนี้ มีแผนในการอบรมและวิเคราะห์หลักสูตรสถานศึกษา การจัดการเรียนการสอนที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ แม้มิใช่จัดตามหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ แต่ก็แฝงไปด้วยการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในการจัดการเรียนการสอนแบบ project-based Learning และเนื่องจากผู้เรียนโรงเรียนทองผาภูมิวิทยาประมาณ 28 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้เรียนชนเผ่า อยู่ในพื้นที่ห่างไกล การปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนจึงต้องค่อย ๆ ดำเนินการปูพื้นฐาน ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอน เป้าหมายสุดท้ายต้องการให้ผู้เรียนค้นพบตัวเอง หรือได้เรียนในสิ่งที่ต้องการโดยในอนาคตอาจใช้โอกาสการเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเปิดสอนเป็นตลาดวิชาที่มีการเรียนการสอนแบบ Block Course

ผลจากการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดยใช้ Project-based Learning ทำให้ลดภาระงานของผู้เรียนลงได้ เนื่องจากเป็นการบูรณาการการเรียนรู้หลายวิชาเข้าด้วยกัน มีห้องเรียน STEAM ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีโรงเรียนบางแห่งใช้บ้างแล้ว เป็นแนวคิดที่เกิดจากการปรับใช้แนวคิด STEM Education (STEM : Science Technology Engineering and Mathematics) โดยเพิ่ม A คือ ART หรือศิลปะ เข้าไป เพราะต้องการให้ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสุนทรียภาพ มิให้ผู้เรียนเกิดความเครียดในการเรียนจนเกินไป อีกทั้ง ศิลปะจะช่วยเรื่องการออกแบบในศาสตร์ Engineering ได้ด้วย

การจัดการศึกษาของโรงเรียน ให้ผู้เรียนได้เรียนตามศักยภาพทั้งกลุ่มเก่ง ปานกลาง และกลุ่มอ่อน นอกจากนั้น ยังมีหลักสูตรทวิศึกษาสำหรับผู้เรียนที่สนใจสายอาชีพ และมีหลักสูตรอาชีพระยะสั้นสำหรับผู้เรียนที่มีความเสี่ยงที่จะออกกลางคัน เป็นหลักสูตรที่สามารถศึกษาจบได้ภายใน 1 ภาคเรียน ทำให้ผู้เรียนมีวิชาชีพติดตัว จะเห็นได้ว่า หลักสูตรของโรงเรียนมีความเหมาะสมกับผู้เรียนทั้ง 3 กลุ่ม คือ ผู้เรียนกลุ่มเก่ง กลุ่มปานกลาง และกลุ่มอ่อน ไม่เน้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ

2. การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

2.1 ด้านผู้เรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนดีขึ้น วัดได้จากผลการทดสอบ O-NET โดยภาพรวมของโรงเรียนสามารถเลื่อนขึ้นมาอยู่อันดับกลางของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ ส่วนผลที่ชัดเจนที่สุด คือ สามารถลดการออกกลางคันของผู้เรียนลงได้ เนื่องจากผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่สนใจจากการจัดการศึกษาแบบทวิศึกษา ผู้เรียนมีระเบียบวินัย ได้เรียนรู้ตามศักยภาพ ตามความสนใจ

2.2 ด้านครู ครูมีความกระตือรือร้นมากขึ้น มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ยิ่งได้เห็นความสำเร็จของผู้เรียน โดยเฉพาะอย่ายิ่ง ความสำเร็จจากการมีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นคนแรกของโรงเรียน ทำให้ครูมั่นใจว่า กระบวนการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนซึ่งได้รับความร่วมมือจากชุมชนหลายหน่วยงานและจากการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนนั้น ดำเนินการมาถูกทางแล้ว จึงมุ่งมั่นในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น โดยเน้นรูปแบบ Active Learning และที่สำคัญที่สุดคือความร่วมแรงร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียว ทำให้โรงเรียนไม่ประสบปัญหาความแตกแยกด้านเชื้อชาติ ด้านภาษา

2.3 ด้านผู้บริหารโรงเรียน ที่เห็นเด่นชัด คือ ผู้บริหารต้องมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการพัฒนาโรงเรียน ต้องร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละด้าน ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันไปกับครู และต้องมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันกับชุมชนเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการจัดการศึกษา บวรคูณสอง

2.4 ด้านผู้ปกครอง ผู้ปกครองเกิดความมั่นใจในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนทองผาภูมิวิทยามากขึ้น ประเมินได้จาก การที่ผู้ปกครองในพื้นที่มักส่งบุตรหลานไปเรียนในเมือง กลับกลายเป็นส่งบุตรหลานมาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้มากขึ้น อีกทั้ง ผู้ปกครองยังได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาร่วมกับโรงเรียน เช่น ก่อนเปิดสอนหลักสูตรใด ๆ ของโรงเรียน โรงเรียนจะทำประชาพิจารณ์จากการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ปกครอง ผู้เรียน ชุมชน ตามแนวคิด บวร คือ ศึกษา บริบท กำหนดวิชาการ ผสานการเรียนรู้ เพื่อให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนได้ตรงตามความต้องการของบุคคลเหล่านี้ให้มากที่สุด

2.5 ด้านภาคีเครือข่าย โรงเรียนทองผาภูมิวิทยามีเครือข่ายร่วมมือพัฒนาคุณภาพการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเข้ามาช่วยในศูนย์วิทยาศาสตร์และการจัดการเรียนรู้บางส่วน ส่วนภาคีเครือข่ายการจัดการศึกษาในพื้นที่ ได้แก่ วัดท่าขนุนโดยพระครูวิลาศกาญจนธรรม ดร. พระอริยสงฆ์ที่เปี่ยมด้วยความเมตตาซึ่งสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักเรียนเป็นประจำกว่า 70 ทุนทุกปี สนับสนุนพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน เป็นแหล่งเรียนรู้และจัดกิจกรรม อบรมคุณธรรมต่าง ๆ ร่วมกับโรงเรียน เทศบาลตำบลทองผาภูมิ หน่วยงานรับผิดชอบเขื่อนชิราลงกรณ สนับสนุนบุคลากรผู้ให้ความรู้ แหล่งเรียนรู้ และโรงพยาบาลทองผาภูมิสนับสนุนแพทย์และเภสัชกรช่วยสอนวิชาเคมีและชีววิทยาให้กับผู้เรียน

3. เรื่องที่โดดเด่นของโรงเรียน

3.1 การได้รับความร่วมมือในการจัดการศึกษาจากชุมชนเป็นอย่างดี หรือ บวรคูณสอง เช่น มีวิศวกรไฟฟ้าประจำเขื่อนวชิราลงกรณมาสอนวิชาฟิสิกส์ มีแพทย์ เภสัชกร จากโรงพยาบาลทองผาภูมิ มาสอนวิชาชีววิทยาและเคมีให้กับผู้เรียน

3.2 ความสำเร็จด้านการลดจำนวนผู้เรียนออกกลางคันจากการจัดการศึกษาแบบทวิศึกษา ซึ่งร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันและวิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรี ทำให้ผู้เรียนที่มีใจรักในสายวิชาชีพได้เรียนทั้งสายสามัญและสายวิชาชีพ

3.3 โรงเรียนได้รับการพัฒนาให้น่าดู น่าอยู่ น่าเรียน และปลอดภัย มีบรรยากาศร่มรื่น สะอาด สวยงาม

3.4 โรงเรียนมีหลักสูตรที่หลากหลายตอบสนองบริบทของท้องถิ่น ความต้องการของผู้ปกครองและสอดคล้องกับศักยภาพและความสนใจของผู้เรียน ดังนี้
3.4.1 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จัดหลักสูตร ตามศักยภาพผู้เรียน 2 หลักสูตร คือ ห้องเรียน ศักยภาพวิทยาศาสตร์ (STEAM) และห้องเรียนทั่วไป
3.4.2 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จัดหลักสูตรตามศักยภาพและความต้องการของผู้เรียนเป็น 2 ประเภท คือ
1) หลักสูตรสามัญศึกษา ได้แก่
                                    – แผนการเรียนคณิตศาสตร์ – วิทยาศาสตร์
                                    – แผนการเรียนคณิตศาสตร์ – อังกฤษ
                                    – แผนการเรียน 3 ภาษา (ภาษา อังกฤษ-จีน-เมียร์มาร์)
                                    – แผนการเรียนทักษะชีวิต (เน้นศิลปะ/เน้นการงานอาชีพ/เน้นพลศึกษา)
                                    – แผนการเรียนคณิตศาสตร์ – วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการวิจัย (Enrichment Program of Science Mathematics Technology and Research : SMTR)
                                    – แผนการเรียนศักยภาพวิทยาศาสตร์ (เตรียมพยาบาล ทหาร ตำรวจ)
2) หลักสูตรทวิศึกษา ได้แก่
                                   – งานช่างอุตสาหกรรม (สาขาช่างไฟฟ้ากำลัง)
                                   – งานพาณิชยกรรม (สาขาบัญชี)

4. ความสำเร็จที่เกิดขึ้นและต้องการสืบสานต่อเนื่อง

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นและต้องการสืบสานต่อเนื่องของโรงเรียนทองผาภูมิวิทยา คือ หลักสูตรสถานศึกษาซึ่งได้ปรับใช้ปี 2562 ได้ปรับเรื่องแผนการจัดการเรียนการสอน การจัดโปรแกรมการเรียน เป็นแผนการเรียนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น ตามความต้องการของทั้งผู้เรียนและผู้ปกครอง นอกจากนั้นยังจะมีการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน และประเมินหลักสูตร เพื่อพัฒนาหลักสูตรให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น และพัฒนาไปสู่หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะต่อไป

5. ปัญหา อุปสรรคที่ส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอน

5.1 โรงเรียนประสบปัญหาด้านงบประมาณ เนื่องจากโรงเรียนไม่เก็บเงินค่าบำรุงการศึกษา เมื่องบประมาณไม่เพียงพอต่อการพัฒนาการศึกษา จึงต้องขอความร่วมมือกับชุมชน และหน่วยงานต่างๆ

5.2 โรงเรียนอยู่ห่างไกลจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากว่า 200 กิโลเมตร ทำให้การเดินทางติดต่อประสานงานค่อนข้างลำบาก

5.3 สภาพพื้นที่ของโรงเรียนเป็นภูเขา ทำให้ประสบปัญหาสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต

5.4 ผู้ปกครองมีฐานะยากจนและบางส่วนเป็นชาวเขาที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้ ทำให้มีปัญหาในการสื่อสารกับทางโรงเรียน

6. แนวทางการดำเนินงานในอนาคต

ผอ.ยงยุทธ สงพะโยม มีความเห็นว่า ท่ามกลางสังคมโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง การเรียนรู้ก็ต้องไม่หยุดนิ่งตามไปด้วย สิ่งที่โรงเรียนต้องเร่งดำเนินการคือ การสอนให้ผู้เรียนสามารถหาความรู้ สร้างองค์ความรู้ และต่อยอดความรู้ด้วยตนเองได้ตลอดชีวิต และที่สำคัญโรงเรียนจะต้องให้ความสำคัญว่า เมื่อผู้เรียนจบการศึกษาไปแล้ว สามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องของหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะที่กำลังจะพัฒนาในปีการศึกษา 2563

โรงเรียนทองผาภูมิวิทยา ประสบความสำเร็จจากการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนด้วยนวัตกรรม บวรคูณสอง ให้ชุมชนมีส่วนร่วมด้านวิชาการกับโรงเรียน ในขณะเดียวกัน โรงเรียนก็ได้จัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและผู้เรียนอีกด้วย อีกทั้ง โรงเรียนยังจัดการศึกษาด้วยหลักสูตรที่ให้ความสำคัญกับผู้เรียนทุกกลุ่มศักยภาพ ทำให้โรงเรียนประสบความสำเร็จในการลดปัญหาเด็กออกกลางคันรวมถึงการที่ผู้ปกครองในพื้นที่ยังส่งบุตรหลานมาเรียนที่โรงเรียนทองผาภูมิวิทยามากขึ้น จากเดิมนิยมส่งบุตรหลานไปเรียนโรงเรียนในเมือง เมื่อพิจารณาด้านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อครู ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มีความมุ่งมั่นในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้นเมื่อได้เห็นความสำเร็จต่อการจัดการศึกษาของโรงเรียน อย่างไรก็ตาม โรงเรียนยังมีความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ เพื่อเป้าหมายต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างไม่หยุดนิ่งต่อไป


ผู้เขียน: อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล, ยงยุทธ สงพะโยม
ผู้ให้สัมภาษณ์: ยงยุทธ สงพะโยม ผู้อำนวยการโรงเรียนทองผาภูมิวิทยา จังหวัดกาญจนบุรี
ผู้สัมภาษณ์: อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โรงเรียนทองผาภูมิวิทยา

Facebook Comments
ครม. มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาโรงเรียนชุมชนบ้านช่างเคิ่ง พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ พัฒนาคุณภาพผู้เรียนด้วย นวัตกรรม 3P1M (Psychology, Problem-based Learning, Professional Learning Community, Montessori)
บทความล่าสุด