โรงเรียนบ้านสบแม่รวม พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร ยกระดับผลสัมฤทธิ์วิชาภาษาไทยด้วย โมเดล “ปรับพ่อแม่ให้เป็นครู ปรับที่อยู่ให้เป็นห้องเรียน” และ 3 ก Model เก็บ กัก เก่ง

6 พฤษภาคม 2563

โรงเรียนบ้านสบแม่รวม พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 6 ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านสบแม่รวม ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนอยู่บนพื้นที่สูง ภายใต้การบริหารของ ว่าที่ร้อยตรีกันตภณ  ลืนคำ บุคลากรสายการสอน ประกอบด้วยข้าราชการครู จำนวน 3 คน ครูอัตราจ้าง จำนวน 1 คน ในปีการศึกษา 2562 มีนักเรียน จำนวน 60 คน ชุมชนโรงเรียนบ้านสบแม่รวม เป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) ร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้ปกครองประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ มีเขตบริการ 5 หย่อมบ้าน แต่ละหย่อมบ้านอยู่ห่างจากโรงเรียนตั้งแต่ 2-8 กิโลเมตร โรงเรียนไม่มีระบบไฟฟ้าใช้ ใช้ระบบโซล่าเซลล์ทดแทน ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ เป็นโรงเรียนเดียวที่รถเข้าไม่ถึง ต้องเดินข้ามสะพานแขวน เดินข้ามแม่น้ำ เพื่อเข้าไปให้ถึงโรงเรียน โรงเรียนมีแม่น้ำ 2 สายล้อมรอบ ได้แก่ น้ำแม่แจ่ม และ น้ำสบแม่รวม

การจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านสบแม่รวม มีเป้าหมายหลัก คือ เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาให้กับผู้เรียน เนื่องจากโรงเรียนประสบปัญหาหลักเรื่องการใช้ภาษาไทยของเด็ก เด็กโรงเรียนบ้านสบแม่รวมใช้ภาษากะเหรี่ยงเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร การใช้ภาษาไทยจึงค่อนข้างมีปัญหา ซึ่งหากเด็กยังใช้ภาษาไทยในการสื่อสารไม่ได้ จะส่งผลต่อการเรียนรู้ทุกวิชาซึ่งต้องใช้ภาษาไทยเป็นภาษาในการสื่อสาร

โรงเรียนแห่งนี้มีแรงจูงใจหลักในการเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คือ ต้องการยกระดับผลสัมฤทธ์ทางการเรียนของผู้เรียน แรงจูงใจประการที่สองคือ การที่โรงเรียนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ต้องการขยายผลโมเดลที่มีประโยชน์ ซึ่งโรงเรียนใช้แล้วได้ผลดีเหมาะกับบริบทโรงเรียนเช่นนี้ ให้กับโรงเรียนที่มีบริบทใกล้เคียงกัน แรงจูงใจประการที่สามคือ ต้องการผ่อนคลายกฎระเบียบ มีความเป็นอิสระ ได้รับความคล่องตัว ด้านบุคลากร เนื่องจากต้องการบุคลากรที่ตรงกับวิชาหรือนวัตกรรมที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน เช่น ต้องการครูท้องถิ่นมาบรรจุเป็นครู ซึ่งจะสามารถใช้ภาษาถิ่นเชื่อมภาษาไทยให้เข้ามาสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ซึ่งครูคนไทยไทยไม่สามารถสื่อสารกับเด็กได้เลย ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กในทุกวิชา ต้องการให้เด็กได้เรียนรู้ภาษาไทยอย่างมีประสิทธิผล แรงจูงใจประการที่สี่คือ ต้องการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กในชุมชนเมืองกับชุมชนชนบท ความเหลื่อมล้ำในที่นี้หมายถึง ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา ความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้ เด็กชุมชนเมืองสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้ทุกประเภท ในขณะที่เด็กชุมชนชนบทกลับเข้าไม่ถึงสิ่งเหล่านี้ จึงต้องการใช้นวัตกรรมการศึกษาที่กำลังจะกล่าวถึงในรายละเอียดมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษา หลังจากนั้น โรงเรียนได้ขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเรื่อยมา สรุปเป็นประเด็นต่าง ๆ ได้ดังนี้

1. การดำเนินงานตามเจตนารมณ์การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

การสร้างนวัตกรรมการศึกษาเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน

จากปัญหาของผู้เรียนด้านการใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร ทั้งทักษะการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น โรงเรียนจึงพัฒนานวัตกรรมการศึกษาโดยเริ่มใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 นวัตกรรมการศึกษาดังกล่าว มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

โมเดลที่ 1 คือ “ปรับพ่อแม่ให้เป็นครู ปรับที่อยู่ให้เป็นห้องเรียน” กล่าวคือ เด็กเริ่มใช้ภาษาไทยในโรงเรียนบ้านสบแม่รวม ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 3 ดังนั้น ทักษะการใช้ภาษาไทย 4 ด้าน ได้แก่ การฟัง การพูด การอ่านและการเขียน ซึ่งโดยปกติเด็กจะใช้ภาษาถิ่นหรือภาษากะเหรี่ยงในชีวิตประจำวัน จึงทำให้การเรียนรู้ช้ากว่าเด็กที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักในการสื่อสารอย่างเด็กในเมือง เด็กในเมืองฝึกฝนทักษะการฟัง การพูดจากที่บ้านตามปกติอยู่แล้ว แต่มาฝึกฝนทักษะการอ่านกับการเขียนเพิ่มเติมที่โรงเรียน ส่วนเด็กโรงเรียนบ้านสบแม่รวมจะต้องฝึกฝนทั้ง 4 ทักษะ จากโรงเรียนตอนอายุ 6 ขวบหรือตั้งแต่การเรียนในระดับชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนจึงพัฒนานวัตกรรมนี้ขึ้นมาเพื่อให้เด็กได้ฝึกทักษะ 2 ด้าน คือ ทักษะการฟังและทักษะการพูด โดยขอความร่วมมือพ่อแม่ใช้ภาษาไทยกับเด็กที่บ้าน และปรับมุมบ้านหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบ้านที่มีความเหมาะสมให้เป็นห้องเรียน มีสื่อการเรียนการสอนที่คณะครูเข้าไปจัดเตรียมไว้ให้ เพื่อเตรียมทักษะพื้นฐานให้กับเด็กก่อนส่งเด็กมาให้โรงเรียนบ้านสบแม่รวม กลุ่มผู้ปกครองที่โรงเรียนใช้เป็นกลุ่มตัวอย่างในการทดลองใช้นวัตกรรมนี้เป็นกลุ่มผู้ปกครองรุ่นใหม่ ที่มีบุตรอายุ 6-7 ปี ส่วนผู้ปกครองอายุประมาณ 26-30 ปี เป็นกลุ่มผู้ปกครองที่สามารถใช้ภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว จึงใช้ข้อได้เปรียบด้านนี้ให้ผู้ปกครองใช้ภาษาไทยกับเด็ก ถึงแม้จะสื่อสารภาษาไทยได้ไม่เต็มที่ก็ตาม แต่ก็ถือว่าสามารถช่วยโรงเรียนได้อีกทางหนึ่ง

โมเดลที่ 2 คือ 3 ก model ก ตัวแรกคือ “เก็บ” เป็นการเก็บเด็กในเขตบริการทั้ง 5 หย่อมบ้าน ไม่ให้ตกหล่นจากทะเบียนราษฎร์ เข้ามาสู่ระบบการศึกษา ก ที่ 2 คือ “กัก” หมายถึง กักเด็กที่ไม่ผ่านการประเมินการทดสอบตามกระบวนการของโรงเรียนไว้ เพื่อพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน จะไม่ปล่อยเด็กขึ้นไปเรียนต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้นโดยที่เด็กไม่มีทักษะภาษาไทยทั้ง 4 ทักษะ ก ที่ 3 คือ “เก่ง” เด็กที่หลุดจาก “กัก” ไปได้ คือ เด็กที่มีความสามารถด้านภาษาไทยทั้ง 4 ทักษะแล้ว จึงมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ในวิชาอื่น ๆ จากนั้น ครูจึงรับเด็กเหล่านี้ไปพัฒนาในทุกด้านต่อไป

การสร้างเครือข่ายในการจัดการศึกษา

การสร้างเครือข่ายการจัดการศึกษา เครือข่ายแรก คือ เครือข่ายผู้ปกครองที่มาร่วมกับโรงเรียนในโมเดล “ปรับพ่อแม่ให้เป็นครู ปรับที่อยู่ให้เป็นห้องเรียน” เครือข่ายที่สอง คือ เครือข่ายโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 6 จำนวน 10 โรงเรียน ซึ่งทั้ง 10 โรงเรียนได้นำนวัตกรรมการศึกษา “ทวิภาษา” เข้ามาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ทวิภาษาคือการใช้ภาษากะเหรี่ยงเป็นภาษาพื้นฐานในการเชื่อมภาษาไทย ช่วยให้การจัดการเรียนการสอนง่ายและรวดเร็วขึ้น โดยมีครูท้องถิ่นเป็นผู้ร่วมสอนกับครูคนไทย

เครือข่ายที่สาม เป็นเครือข่ายจากชุมชน ซึ่งมีมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์เข้ามาช่วยสนับสนุนการจัดทำสื่อการเรียนการสอนทวิภาษา การเชื่อมโยงระหว่างภาษาไทยกับภาษาถิ่น มูลนิธินี้ประกอยด้วยนักการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมาจากหลายฝ่ายทั้งมหาวิทยาลัย รวมถึงอาจารย์ที่เกษียณแล้ว

2. ความสำเร็จจากการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ความสำเร็จที่โดดเด่น

1. ด้านโรงเรียนกับชุมชน โรงเรียนบ้านสบแม่รวมและชุมชนต่างพึ่งพาอาศัยกันมาโดยตลอด เช่น ชาวบ้านบนดอยเข้ามาดูแลเรื่องอาหารการกินให้กับคณะครูและเด็ก ๆ ชุมชนมีกิจกรรมในโรงเรียนทุก ๆ เดือน มีกิจกรรมประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา ประชุมสัญจรทั้งในโรงเรียน ในบ้านของผู้นำชุมชนแต่ละหย่อมบ้าน หมุนเวียนกันไป มีการรับประทานอาหารร่วมกันกับผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษา ก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างโรงเรียนและชุมชน

2. ด้านคุณภาพ เมื่อโรงเรียนบ้านสบแม่รวมใช้โมเดล 3 ก ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเด็กสูงขึ้น โดยวัดจากผลการสอบ O-NET เมื่อเปรียบเทียบในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 6 ในปีการศึกษา 2559 ผลการสอบ O-NET อยู่ในอันดับที่ 99 ของเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งมีทั้งหมด 99 โรงเรียน หลังจากใช้ 3 ก โมเดล 1 ปีถัดมา อันดับผลการสอบ O-NET กลับขึ้นมาอยู่ที่ 71 ในปีการศึกษา 2560 ส่วนปี 2561 ได้อันดับที่ 28 ของเขตพื้นที่การศึกษา วิชาภาษาไทยเป็นวิชาที่ได้คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับชาติ ซึ่งเป็นวิชาแรกที่โรงเรียนเน้น เป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการใช้โมเดลนี้ หากผลสัมฤทธิ์วิชาภาษาไทยเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้ผลสัมฤทธิ์วิชาอื่นค่อย ๆ สูงขึ้นตามไปด้วย เพราะวิชาอื่นต่างก็ใช้ภาษาไทยเป็นฐานในการเรียนรู้

ความสำเร็จที่ต้องการสืบสานต่อเนื่อง

โรงเรียนมีการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จที่ต้องการสืบสานผลอย่างต่อเนื่องเรื่อง การให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนของบุตร เพราะเป็นการจัดการเรียนการสอนที่ยั่งยืน ตัวอย่างเช่นวิกฤตไวรัส COVID-19 ที่ทั่วโลกกำลังประสบอยู่ขณะนี้ โมเดล “ปรับพ่อแม่ให้เป็นครู ปรับที่อยู่ให้เป็นห้องเรียน” สามารถพึ่งพาผู้ปกครองในการจัดการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นแบบออฟไลน์และออนไลน์ นั่นคือ ผู้ปกครองสามารถเป็นครูพี่เลี้ยงแทนครูผู้สอนได้

3. ผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ด้านนักเรียน

หลังจากดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามาแล้ว 1 ปีกว่า ๆ นักเรียนโรงเรียนบ้านสบแม่รวมเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ อยากเรียนรู้ตลอดเวลา มีความกระตือรือร้นในการเรียนมากขึ้น สามารถเรียนรู้ได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือโรงเรียน เวลาอยู่ที่บ้านผู้ปกครองเป็นผู้คอยชี้แนะ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและนักเรียนใกล้ชิดกันมากขึ้น ผู้ปกครองเข้าใจบุตรหลานมากขึ้น อีกทั้งผู้ปกครองยังเกิดความเข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล ไม่เปรียบเทียบระหว่างบุตรหลานของตนเองกับบุตรหลานในครัวเรือนอื่น

ด้านครู

กระบวนการจัดการเรียนการสอนเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะสามารถสื่อสารภาษาไทยกับเด็กได้ง่ายขึ้น ครูมีแนวทางใหม่ ๆ ที่ช่วยสนับสนุนโมเดลของโรงเรียน เช่น การจัดทำสื่อการเรียนการสอนให้กับผู้ปกครองในหมู่บ้าน ส่งผลให้เกิดการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างคณะครูกับผู้ปกครอง

ด้านผู้บริหารโรงเรียน

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทำให้ผู้บริหารโรงเรียนสามารถพัฒนาโรงเรียนได้ตรงจุด และเห็นว่าโมเดลที่กล่าวถึงนี้เป็นสิ่งที่ยั่งยืนสำหรับนักเรียนที่ใช้ภาษาถิ่นเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร  ทำให้มีความเข้าใจลึกซึ้งว่า นักเรียนทุกคนมีศักยภาพในการเรียนรู้ได้เท่าเทียมกัน และที่สำคัญคือ การเข้าใจแนวคิดว่า ต้องเข้าใจ เข้าถึงนักเรียนและผู้ปกครอง และเข้าใจวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งผู้ปกครองและชุมชนอาจมีองค์ความรู้และเข้าใจวิถีชีวิตในท้องถิ่นอย่างลึกซึ้งมากกว่าโรงเรียน แต่ไม่สามารถสื่อสารหรือถ่ายทอดออกมาได้ เพราะมีข้อจำกัดด้านการสื่อสารภาษาไทยเท่านั้นเอง

ด้านชุมชน

ชุมชนให้ความร่วมมือกับทางโรงเรียนเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะกรรมการสถานศึกษา ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนผู้ปกครองให้เข้าร่วมโครงการตามโมเดล “ปรับพ่อแม่ให้เป็นครู ปรับที่อยู่ให้เป็นห้องเรียน”   

4. ปัญหาอุปสรรค และการแก้ไข

  1. โรงเรียนไม่มีระบบไฟฟ้าใช้ ใช้ระบบโซล่าเซลล์ทดแทน ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ การใช้อุปกรณ์การเรียนที่มีอยู่แล้วจึงเกิดข้อจำกัด เนื่องจากการใช้โซล่าเซลล์ ซึ่งผลิตให้โรงเรียนได้วันละ 5 กิโลวัตต์ แล้วแต่ปริมาณแสงแดด นอกจากนั้นยังใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตของประชารัฐ แต่ไม่เสถียร ความแรงของสัญญานประมาณ 2 Mbps อีกทั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ตยังขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศในแต่ละวัน
  2. โรงเรียนไม่เข้าใจปัญหาของผู้ปกครอง และผู้ปกครองยังขาดทักษะในการสอนบุตรให้เข้าใจ เช่น ทักษะการใช้สื่อที่คณะครูไปจัดทำให้ วิธีการแก้ปัญหาคือ ให้ครูไปสอนผู้ปกครองใช้สื่อการจัดการเรียนการสอน รับประทานอาหารร่วมกับผู้ปกครองที่บ้าน ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้รู้ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล เข้าใจบุตรหลานให้มากขึ้น ไม่บังคับ ไม่สร้างความคาดหวังให้กับบุตรหลานมากจนเกินไป ช่วยให้ผู้ปกครองสื่อสารเรื่องการเรียนกับบุตรหลานให้เข้าใจด้วยความรักความเมตตา

5. แผนการดำเนินงานในอนาคต

ผอ.โรงเรียนมีแนวทางดำเนินการที่จะนำโมเดล “ปรับพ่อแม่ให้เป็นครู ปรับที่อยู่ให้เป็นห้องเรียน” ไปใช้กับผู้ปกครองรุ่นใหม่ให้ครบทุกหลังคาเรือนอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ครอบคลุมทุกหลังคาเรือน ต้องการใช้โมเดลนี้กับผู้ปกครองรุ่นใหม่ เพราะยังไม่สามารถใช้โมเดลนี้กับผู้ปกครองรุ่นเก่าได้ เนื่องจากผู้ปกครองรุ่นเก่ายังไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้

6. การปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานสู่ฐานสมรรถนะ

การดำเนินงานของโรงเรียนบ้านสบแม่รวมในการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานสู่ฐานสมรรถนะอยู่ระหว่างให้คณะครูระดมความคิดเพื่อนำโมเดลที่กล่าวมาและการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษาเข้าไปสอดแทรกเพื่อพัฒนาเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ 

การจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะ โรงเรียนได้สอนให้เด็กสามารถสื่อสารภาษาไทย โดยการฝึกให้เด็กอ่านออก เขียนได้ และพัฒนาสู่การอ่านคล่อง เขียนคล่อง สอนให้เด็กคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น เพื่อให้นำทักษะกลับมาใช้ในชีวิตประจำวันให้ได้ กิจกรรมที่เพิ่มเสริมสมรรถนะให้กับเด็ก ๆ เช่น เลี้ยงไก่ การเกษตร เลี้ยงหมู และเลี้ยงปลา สิ่งที่เด็กได้เรียนรู้จากกิจกรรมเหล่านี้ คือ ได้ทักษะและแนวทางในการดำรงชีวิตแบบพอเพียง มีความประหยัด อดออม ตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ให้เด็กได้ทำงานเป็นกลุ่ม หมุนเวียนกันทุกสัปดาห์ และช่วยให้เด็กได้นำกิจกรรมนี้ไปเป็นพื้นฐานอาชีพของตนเอง เด็กมีความสุขกับการเรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างมาก เสมือนได้ใช้ชีวิตตามท้องถิ่นของตนเอง เด็กจึงได้ทักษะชีวิต ช่วยให้เด็กสามารถใช้ชีวิตรอดต่อไปในอนาคตได้

โรงเรียนบ้านสบแม่รวม ตั้งอยู่ในพื้นที่สูง ห่างไกลความเจริญอย่างมาก แต่กลับใช้เวลาเพียง 2 ปี จนสามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์วิชาภาษาไทยจากอันดับท้ายสุด (อันดับที่ 99) ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มาสู่อันดับที่ 28 คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ขนาดนี้ กับบริบทโรงเรียนเช่นนี้ แต่โรงเรียนบ้านสบแม่รวมกลับทำได้ด้วยความร่วมแรงร่วมใจทั้งจากผู้ปกครองและชุมชน โรงเรียนมีวิธีการอย่างไรนั้น จึงเป็นที่น่าศึกษา เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับโรงเรียนที่มีบริบทใกล้เคียงกัน

และที่สำคัญ ได้เห็นความทุ่มเท ความพยายาม และความตั้งใจของคณะครูโรงเรียนบ้านสบแม่รวม ภายใต้การนำของ ผอ.กันตภณ  ลืนคำ ที่พยายามลงสู่บ้านของเด็กๆ ใช้นวัตกรรมให้พ่อแม่มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยให้กับบุตรหลาน และที่ขาดไม่ได้ “ชุมชน” ซึ่งถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในครั้งนี้


ผู้เขียน: อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล, กันตภณ ลืนคำ
ผู้ให้สัมภาษณ์: กันตภณ ลืนคำ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสบแม่รวม จังหวัดเชียงใหม่
ผู้สัมภาษณ์: อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: กลุ่ม Facebook โรงเรียนบ้านสบแม่รวม

Facebook Comments
โรงเรียนบ้านอีหนา (รัฐประชานุกูล) พื้นที่นวัตกรรมศรีสะเกษ เน้นสร้างความรู้คู่ทักษะด้วย Brain – based Learningการศึกษาแบบทวิภาษา หัวใจสำคัญของการพัฒนาโรงเรียนบนพื้นที่ราบสูง นักเรียนชนเผ่า นักเรียนต้องอ่านออก เขียนได้ สื่อสารได้ เมื่อจบการศึกษาไปแล้วมีงานทำ
บทความล่าสุด