พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ร่วมมือ 4 ประสาน พัฒนาคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการ ตามกรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง (Rayong MARCO)

7 กรกฎาคม 2564

วันที่ 7 มิถุนายน 2564 สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดระยอง โดยดร.ปรีระดา ปริปุรณะ รองศึกษาธิการจังหวัดระยอง จัดการประชุมเปิดโครงการวิจัย เรื่อง การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการของนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยใช้นวัตกรรมที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตรศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

การประชุมจัดขึ้น ณ โรงแรมหาดแสงจันทร์รีสอร์ท อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ และผู้บริหารสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมรุ่นที่ 3 จำนวน 12 แห่ง รุ่นที่ 1 และ 2 ที่มีความสนใจอีก 10 แห่ง

ดร.ปรีระดา ปริปุรณะ ประธานในพิธีเปิดกล่าวแก่ผู้เข้าร่วมประชุมว่าจังหวัดระยองเป็นที่ตั้งแห่งความหวังของประเทศไทยในหลายด้าน รวมทั้งการพัฒนากำลังคนให้เป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศ รวมทั้งจังหวัดระยองมีแผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดระยอง กรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง (Rayong MARCO) ที่มีเป้าหมายในการสร้างคนระยองให้มีสมรรถนะ 10 ประการ หนึ่งในนั้นเป็นสมรรถนะ “ทักษะอาชีพและความเป็นผู้ประกอบการ” ด้วยเหตุนี้จึงเป็นโอกาสอันดีของจังหวัดระยองที่ร่วมมือ 4 ประสาน ระหว่าง พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และสถานศึกษานำร่อง เพื่อพัฒนาคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการตามกรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง จำเป็นต้องพัฒนาคนระยองให้เป็นผู้ประกอบการยุคใหม่

ข้อเสนอโครงการฯ แนวคิดการพัฒนาเด็กระยองให้มีคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการ

ผศ.ดร.จรรยา ดาสา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตรศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงที่มาของการดำเนินโครงการวิจัย ว่า การจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Education) เป็นเครื่องมือสำคัญในการที่จะช่วยให้เยาวชนของชาติมีพื้นฐานในการสร้างหรือต่อยอดธุรกิจของตนเอง ครอบครัว หรือชุมชน และยังช่วยให้เยาวชนประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการ หรือ ทำงานให้กับองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐหรือเอกชน เพราะคุณลักษณะเหล่านี้จะช่วยให้บุคคลสามารถก้าวผ่านอุปสรรคที่ท้าทายด้วยความสง่างามและอดทนนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน จังหวัด และประเทศ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2561) สอดคล้องกับ แผนพัฒนาการศึกษาระดับจังหวัดระยอง (พ.ศ. 2562-2565) ฉบับทบทวน ปี พ.ศ. 2563 ที่สำคัญคือ ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการศึกษา นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรการจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาจังหวัดระยอง (Rayong MARCO) ที่มุ่งพัฒนาสมรรถนะหลักของผู้เรียนให้คนระยองเป็นคนไทยที่ฉลาดรู้ (Literacy Thais) คนไทยสามารถสูง (Smart Thais) และคนไทยอยู่ดีมีสุข (Active Citizen) ภายในกรอบหลักสูตร Rong MARCRO นี้ ได้มีการกำหนดสมรรถนะสำหรับผู้เรียนไว้อย่างชัดเจน ทั้งสมรรถนะหลักพื้นฐานและสมรรถนะหลักทั่วไป ซึ่งหนึ่งในสมรรถนะหลักทั่วไปที่สำคัญคือทักษะอาชีพและความเป็นผู้ประกอบการ ที่ต้องการให้ผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้ พร้อมเผชิญปัญหา และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต รู้ตนเองทั้งความสนใจ ความถนัด และระบุอาชีพที่เหมาะสม มีทักษะในการท างาน การจัดการ และรอบรู้ด้านการเงิน เป็นผู้ประกอบการที่มีจรรยาบรรณพร้อมรับผิดชอบสังคม สร้างผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพ

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้ศูนย์วิทยาศาสตร์ศึกษาสนใจที่จะร่วมสร้างและพัฒนานักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้นของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองให้มีคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการตามความต้องการของคนระยอง

นอกจากนี้การดำเนินการดังกล่าวยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดกลไกความร่วมมือในการจัดการศึกษาระดับจังหวัดเพื่อพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนสืบไป

โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย ดังนี้

  1. เพื่อพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการของนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาสำหรับโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
  2. เพื่อศึกษาผลของนวัตกรรมการเรียนรู้ที่มีต่อคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการของนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
  3. เพื่อศึกษากลไกความร่วมมือในการจัดการศึกษาจังหวัดระยองที่ส่งเสริมคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม
  4. เพื่อพัฒนานักวิจัยชุมชนในการขับเคลื่อนนวัตกรรมการศึกษาในโรงเรียนและพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม

โครงการวิจัยนี้ประกอบด้วยโครงการวิจัยย่อย 2 โครงการ ได้แก่ 1) การพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการ และ 2) การศึกษากลไกความร่วมมือในการจัดการศึกษาระดับจังหวัดและพัฒนานักวิจัยชุมชนผ่านกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม รายละเอียดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และผู้เกี่ยวข้อง ดังภาพ

ระยะเวลาของโครงการเริ่มตั้งแต่ เดือนมิถุนาย 2564 ถึง เดือนพฤศจิกายน 2465 การดำเนินงานเป็นการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ผลสำเร็จของโครงการคือการพัฒนาคนในจังหวัดระยองให้สามารถทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของจังหวัดระยองได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดระยองต่อไป

ความคิดเห็นและข้อเสนอของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง

หลังจากการนำเสนอโครงการ ที่ประชุมมีการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอต่อโครงการวิจัยฯ อย่างหลากหลาย สรุปประเด็นสำคัญได้

  1. ผู้เข้าร่วมประชุมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของโครงการฯ ในการสร้างและพัฒนาคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการของนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่สอดคล้องกับกรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง และบริบทจังหวัดระยอง
  2. การคัดเลือกสถานศึกษานำร่องเข้าร่วมโครงการต้องเปิดโอกาสให้เข้าร่วมด้วยความสมัครใจ ไม่บังคับ
  3. กิจกรรมในโครงการต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกิจกรรมต่างๆ ที่มีอยู่แล้วของสถานศึกษานำร่อง ไม่เป็นกิจกรรมที่ตอบโจทย์เฉพาะนักวิจัยที่เป็นการเพิ่มภาระให้กับสถานศึกษานำร่อง แต่ควรเป็นกิจกรรมที่ต้องปรับให้เชื่อมโยงและบูรณาการกันได้
  4. การค้นหาหรือสำรวจคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการควรกำหนดกลุ่มผู้ให้ข้อมูลที่ครอบคลุมทุกบริบท เพื่อทำให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงของอาชีพและคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการของนักเรียน
  5. นักวิจัยต้องทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้กับสถานศึกษานำร่อง เพื่อให้ได้ประโยชน์เกื้อกูลทั้งนักวิจัยและสถานศึกษานำร่อง ในการค้นหาวิธีการที่ดีในการสร้างและพัฒนาคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการของนักเรียน รวมทั้งทำให้สถานศึกษานำร่องต่อยอดและพัฒนาการวิจัยไปสู่เป้าหมายอื่นของสถานศึกษานำร่องด้วย
นานาความคิดเห็นจากที่ประชุม

นายสมเดช อ่างศิลา ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเนินกระปรอก “ ขอให้โครงการวิจัยฯ นี้เปิดกว้าง โดยไม่กำหนดว่านักเรียนต้องเป็นผู้ประกอบการจากอาชีพใดอาชีพหนึ่งหรือผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งเท่านั้น แต่ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกตามความสนใจ รวมทั้งต้องการให้กระบวนการสร้างคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการนี้ไปบูรณาการกับนวัตกรรมที่โรงเรียนวัดเนินกระปรอกดำเนินการอยู่แล้วในลักษณะการเรียนรู้แบบ Problem Based ”

ดร.พิภพ นามสนิท อนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ “ เห็นด้วยกับเป้าหมายของโครงการวิจัยฯ นับว่าป็นความโชคดีที่โรงเรียนจะมีพี่เลี้ยงช่วยทำให้เป้าหมายของหลักสูตรสถานศึกษาที่ระบุสมรรถนะความเป็นผู้ประกอบการไว้ เท่ากับเป็นการสร้างความมั่นใจให้หลักสูตรสถานศึกษาและกรอบหลักสูตรจังหวัดระยองด้วย โดยส่วนตัวหลังชีวิตเกษียณต้องไปทำนาทำไร่ มีนักศึกษามาฝึกงานหลากหลายสาขา ค้นพบว่านักศึกษาไม่มีคุณลักษณะเป็นผู้ประกอบการ เรียนจบจากวิชาเอกใดก็จะมีความรู้และทักษะเฉพาะวิชาเอกนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาที่นอกเหนือจากที่เรียนมาได้ จึงต้องการให้โครงการนี้สร้างและพัฒนาคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการที่บูรณาการเชื่อมโยงได้หลากหลาย นักเรียนจะนำคุณลักษณะนี้ไปประกอบอาชีพใดๆ ก็ประสบผลสำเร็จ และเห็นด้วยกับโครงการที่จะจัดให้มีการสำรวจคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการจากคนระยองก่อน แต่มีข้อเสนอแนะว่าควรเลือกกลุ่มคนที่จะสำรวจว่าต้องเป็นคนที่มีความคิดเห็นค่อนไปทางโลกยุคใหม่ที่มองเห็นอาชีพในอนาคตด้วย หากเลือก mapping คนที่มองไม่เห็นอาชีพในอนาคตก็จะทำให้ผลการสำรวจไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงขอเสนอแนะให้มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ครอบคลุมคุณลักษณะผู้ประกอบการยุคใหม่ด้วย ”

ดร.จารุณี ตันติเวชวุฒิกุล คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง และ ประธานอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ “ ในฐานะคนระยองรู้สึกดีใจที่พบกับผู้รู้ที่พร้อมจะมาช่วยเหลือทำให้คนระยองเป็นผู้ประกอบการ ความคิดส่วนตัวอยากเห็นนักเรียนรู้จักกับคำว่า “ผู้ประกอบการ” ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาเนื่องจากการเป็นผู้ประกอบการต้องเกิดจากการสร้างคุณลักษณะให้พร้อมมาตั้งแต่อายุน้อยๆ จะดีกว่ารอให้รู้เมื่อจบจากอาชีวะหรือมหาวิทยาลัยเสียก่อน ”

ดร.สุรพงศ์ งามสม อนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ “ เสนอให้โครงการวิจัยนี้ไม่มีรูปแบบตายตัว แต่ควรเป็นการค้นหาวิธีการที่หลากหลายเพื่อปลูกฝังคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักเรียน และขณะเดียวกันโครงการต้องค้นหาวิธีการที่หลากหลายเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรในโรงเรียนทั้งผู้บริหารและครูผู้สอนให้สามารถออกแบบหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ และการวัดและประเมินผลด้วย ต้องการให้นักวิจัยในโครงการซึ่งก็คือ มศว.ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับบุคลากรดังกล่าว ”

ดร.วิโรฒน์ ชมภู อนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ “ ที่ประชุมบางท่านฟังแล้วอาจเกิดความสับสนว่า มศว.จะให้สถานศึกษานำร่องทำวิจัยหรืออย่างไร จึงต้องการให้ทีมวิจัยทำความเข้าใจให้กระจ่างว่า บทบาทของทีมนักวิจัยต้องทำอะไร และบทบาทของบุคลากรในสถานศึกษานำร่องต้องทำอะไร ในความคิดส่วนตัวคิดว่า บทบาทสำคัญของสถานศึกษานำร่องคือพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาซึ่งเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการอยู่ในสมรรถนะนั้นด้วย ขณะเดียวกันทีมนักวิจัยจาก มศว.จะมาทำงานวิจัยเป็นพี่เลี้ยงให้กับสถานศึกษานำร่องให้สามารถบริหารจัดการและใช้หลักสูตรนี้ประสบผลสำเร็จได้ง่ายขึ้น โดยมีนักวิชาการหลากหลายสาขาเข้ามาช่วยสนับสนุนในทิศทางที่ไปด้วยกัน และต้องทำงานเชื่อมโยงไปกับผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองอีกส่วนหนึ่งด้วย ถ้าเป็นเช่นนี้ก็นับว่าเป็นโอกาสของสถานศึกษานำร่องที่ทำงานตามบทบาทของตน เหนื่อยน้อยลง และมีโอกาสประสบผลสำเร็จสูง ”  

นางสาวศศิธร เครือคช พนักงานกิจการเพื่อสังคมบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารบุคคล พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง “ โครงการนี้มีความน่าสนใจและมีประโยชน์ต่อจังหวัดระยอง ในมุมมองของภาคส่วนเอกชนที่ทำงานร่วมกับสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดระยองมาอย่างต่อเนื่องมองว่าการที่พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองมีกระบวนการในการพัฒนาคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการที่มีความน่าเชื่อถือเช่นนี้ จะเป็นการสร้างความมั่นใจว่าสถานศึกษามีความเข้มแข็ง มีจุดยืนในการเตรียมคนให้พร้อมสำหรับอนาคต ในมุมมองของเอกชนยินดีให้ความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย ” 

นายปรีชา นาคศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนเพรักษมาตา และอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ “ เห็นด้วยกับกรอบการดำเนินงานของโครงการวิจัย และเห็นว่าเป็นความโชคดีของเด็กระยอง ที่มีโครงการนี้เข้ามาช่วยอีกทางหนึ่ง ในฐานะสถานศึกษานำร่องที่ได้มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรสถานศึกษาให้สอดรับกับกรอบหลักสูตรจังหวัดระยองซึ่งเป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาแล้วนั้น มีความต้องการให้หน่วยงานทางวิชาการอย่างเช่น มศว.มาเป็นพี่เลี้ยงในการปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับหลักสูตรสถานศึกษานำร่อง สิ่งที่ต้องการเสนอคือในระหว่างระยะเวลาการวิจัย 18 เดือน อยากให้ มศว. เป็นพี่เลี้ยงให้สถานศึกษานำร่องมีงานวิจัยของตนเองเพื่อต่อยอดไปสู่เป้าหมายอื่นๆ ได้ด้วย ”

ดร.ปิยภัทร พลับพลา ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา และอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ “ ในส่วนของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดระยองมีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 24(2) กำหนดให้มีการวิเคราะห์และวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาด้วย ดังนั้นสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดพร้อมที่จะร่วมวิจัยด้วยเช่นกัน เป็นการทำงานที่บรรลุเป้าหมายของหน่วยงานไปพร้อมกัน ”


ดร.วรนิษฐ์ วรพรธัญพัฒน์ ผู้แทนสถาบันอาศรมศิลป์ และอนุกรรมการด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตาม และประเมินผล “ หากโครงการนี้ทำงานแบบร่วมมือกันโรงเรียนจะได้ประโยชน์สูงสุด เสนอให้มีระบบโคชซึ่งอาจให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดรับเป็นเจ้าภาพ และอาจเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจของสถาบัน RILA อีกด้วย ”


นายสันติ มุกดาสนิท ผู้อำนวยการโรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยา และอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารบุคคล “ ควรให้สถานศึกษานำร่องตัดสินใจเลือกเข้าร่วมโครงการวิจัยฯ ด้วยความสมัครใจ ไม่บังคับ และเป็นการทำงานร่วมกันกับ มศว.ในลักษณะงานเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้เห็นผลงานของโครงการวิจัยฯ ที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อสถานศึกษานำร่องและคนระยอง รวมทั้งสามารถต่อยอดและพัฒนาสู่งานวิจัยของสถานศึกษานำร่องได้ด้วย ”

ความลงตัว ความร่วมมือ 4 ประสาน เพื่อพัฒนาคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการตามกรอบหลักสูตร จังหวัดระยอง (Rayong MARCO)

ท้ายสุดที่ประชุมได้ทำความเข้าใจร่วมกันเพื่อให้เป้าหมายของโครงการวิจัยฯ และเป้าหมายของสถานศึกษานำร่องมีความร้อยรัด สอดคล้องกัน ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับนักเรียน สรุปได้ ดังนี้

  1. การเข้าร่วมโครงการใช้วิธีการให้สถานศึกษานำร่องพิจารณาเข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจ จำนวน 20 แห่ง แบ่งเป็นระดับประถมศึกษาตอนปลาย 10 แห่ง และมัธยมศึกษาตอนต้น 10 แห่ง
  2. บทบาทของ มศว.ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ทำงานร่วมกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง และสถานศึกษานำร่องในลักษณะการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพื่อสร้างคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักเรียน โดยใช้นวัตกรรมที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง บนฐานความต้องการจำเป็นของสถานศึกษานำร่อง ความต้องการ ความสนใจ และความถนัดของนักเรียน
  3. ผลผลิต/ผลลัพธ์ของโครงการวิจัยฯ
    3.1 สร้างคุณลักษณะผู้ประกอบการของนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลายและระดับมัธยมศึกษาตอนต้น อย่างน้อย 1,200 คน
    3.2 สร้างและพัฒนาสถานศึกษานำร่องให้เป็นต้นแบบนวัตกรรมการสร้างคุณลักษณะผู้ประกอบการที่ตอบโจทย์บริบทจังหวัดระยอง ความต้องการ ความสนใจ และความถนัดของนักเรียน
    3.3 ค้นหารูปแบบกลไกความร่วมมือในการสร้างคุณลักษณะผู้ประกอบการ
    3.4 สร้างและพัฒนาบุคลากรในสถานศึกษานำร่องให้เป็นนักนวัตกรทางการศึกษาอย่างน้อย 60 คน และนักวิจัยชุมชนอย่างน้อย 40 คน

ข้อตกลงร่วมกันดังกล่าวสอดคล้องกับผลผลิตของโครงการวิจัยฯ เป้าหมายของกรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง และความต้องการจำเป็นของคนระยองในการพัฒนาเด็กและเยาวชนระยองให้มีอาชีพที่สร้างสรรค์

 


 


ผู้เขียน:
ดร.จารุณี ตันติเวชวุฒิกุล ประธานอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
สร้างรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาของเด็กปฐมวัยสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนพร้าวบูรพา จ.เชียงใหม่เรียนรู้สู่กิจกรรมการลงแขกดำนากับโรงเรียนวิบูลวิทยา
บทความล่าสุด