ปรับความคิด ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง ด้วยนวัตกรรม “ครูสามเส้า” สู่การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล

7 กันยายน 2564

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลแรกเริ่มมีโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้งหมด 10 โรงเรียน เป็นโรงเรียนในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งหมด ในรุ่นที่ 2 ได้มีโรงเรียนสมัครเข้าร่วมเพิ่มขึ้นอีก 4 โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2 โรงเรียน และโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน 2 โรงเรียน และในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาได้พิจารณาโรงเรียนเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพิ่มอีก 2 โรงเรียน จึงทำให้ปัจจุบันโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลมีทั้งหมด 16 โรงเรียน

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล

คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ประกอบด้วย

  1. คณะอนุกรรมการฝ่ายโครงสร้างและกลไก 
  2. คณะอนุกรรมการด้านงานบุคคล
  3. คณะอนุกรรมการฝ่ายกิจกรรมและงบประมาณ
  4. คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ
  5. คณะอนุกรรมการฝ่ายติดตามและประเมินผล

คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลได้จัดประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งที่ประชุมได้ศึกษาหน้าที่ของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 และได้แบ่งภาระงานให้แต่ละคณะอนุกรรมการโดยสร้างเป็นตารางกิจกรรมเพื่อเป็นตัวช่วยให้คณะอนุกรรมการทุกชุดมองเห็นภาพรวมในหน้าที่รับผิดชอบได้ง่ายขึ้น ซึ่งสรุปรวมกิจกรรมที่ต้องดำเนินการไว้ได้ 32 กิจกรรม 

แนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล

นายสุทธิ  สายสุนีย์ ประธานคณะอนุวิชาการ ได้เล่าถึงการประชุมที่ผ่านมาของคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ ซึ่งที่ผ่านมาได้พัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง แต่ครั้งนี้ทางสพฐ. ต้องการให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้ง 8 จังหวัดเป็นพื้นที่นำร่องในการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่ประชุมร่วมพูดคุยกันเรื่องการก้าวผ่านไปใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ได้ข้อสรุปว่า จะทำแบบลูกผสม คือ การใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะโดยไม่ทิ้งการใช้หลักสูตรเก่าโดยสิ้นเชิง แต่เป็นการเรียนรู้และการหลอมรวมหลักสูตรเก่าเพื่อมาปรับใช้ในหลักสูตรใหม่ ซึ่งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ “โครงงานฐานวิจัย (Research – Based Learning : RBL)” เป็นการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยนำขั้นตอน/กระบวนการวิจัยมาเป็นกระบวนการหลักในการจัดการเรียนรู้ ร่วมกันถอดบทเรียนเพื่อออกแบบนวัตกรรมให้เหมาะสมกับบริบทของคน/พื้นที่ในจังหวัดสตูล เป็นการออกแบบที่ผสมกลมกลืนในการปฏิบัติจริง เพราะว่าสมรรถนะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ลงมือปฏิบัติ 

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คือ การจัดระบบนิเวศทางการศึกษา (Learning Ecosystem) ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วนใหญ่ คือ คน  พื้นที่ กิจกรรม ซึ่งขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ทุกคนล้วนเชื่อมโยงกันอยู่บนกระบวนการจัดการเรียนรู้ เพราะกระบวนการจัดการเรียนรู้ไม่ใช่แค่เกิดในห้องเรียนเท่านั้นแต่ต้องเกิดอยู่ตลอดเวลาของการใช้ชีวิต ทุกคนต้องร่วมออกแบบการเรียนรู้/กิจกรรม ไม่ใช่เพียงอาศัยครูเพียงอย่างเดียว ผู้ปกครองและคนในชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเรียนรู้ด้วย เพราะหลักสูตรที่ใช้ในการจัดการศึกษาเป็นหลักสูตรที่ต้องการให้เรียนรู้ถึง “การใช้ชีวิต”  จึงพัฒนานวัตกรรมที่สำคัญของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล คือ “ครูสามเส้า” ซึ่งประกอบด้วย ครูในโรงเรียน ครูชุมชน และครูพ่อแม่ 

โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษายังเป็นสถานที่นำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะอีกด้วย หลักสูตรสมรรถนะเป็นการวัดประเมินผลแบบสมรรถนะ ซึ่งสมรรถนะจะเกิดขึ้นได้ต้องเป็นชีวิตจริง เพราะที่โรงเรียนเป็นเพียงแค่สถานการณ์จำลอง เช่น การกำหนดให้ทำเวรประจำวันที่โรงเรียน เป็นเพียงสมรรถนะจำลอง ไม่ใช่สมรรถนะตามหลักสูตรที่ต้องการให้เกิดจริง เพราะสมรรถนะมักจะเกิดขึ้นได้ต้องเป็นสถานการณ์จริง การที่ครูกำหนดเวรประจำวันให้นักเรียนเป็นเพียง Outside In นักเรียนต้องทำเพราะเป็นหน้าที่ที่ถูกกำหนด โดยกฎเกณฑ์/กติกา แต่ถ้านักเรียนกลับไปบ้านแล้วเกิดการเรียนรู้ทำเหมือนดังที่ทำเวรประจำวันที่โรงเรียนทุกวัน การทำแบบนี้จึงเกิดเป็นสมรรถนะ เป็น Inside Out คือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นมาด้วยความรู้สึกของตนเองว่าอยากจะทำ อยากช่วยงานพ่อแม่ไม่อยากเห็นพ่อแม่ทำอยู่ฝ่ายเดียว แต่ในส่วนของโรงเรียนเป็นเพียงแค่สถานการณ์จำลอง เป็นพื้นที่ปฏิบัติการ เพราะฉะนั้นจึงมีความเชื่อว่าด้วยเหตุนี้ผู้ปกครองจึงควรเข้ามามีส่วนร่วม/ส่วนเกี่ยวข้องในการประเมินด้วย ซึ่งโจทย์ใหญ่ของการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาคือการปรับความคิดของคนทำงานและคนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในคณะทำงานทุกภาคส่วน/ทุกคนต้องมีความเชื่อและเป้าหมายเดียวกัน ร่วมคิด ร่วมทำ และคณะกรรมการขับเคลื่อนต้องร่วมสร้างการเรียนรู้ ปรับระบบวิธีคิด ที่เกิดจากการปฏิบัติจริง หากอยากสร้างกรอบการศึกษาใหม่แต่ยังใช้วิธีการเดิม ๆ จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการคิดใหม่ เมื่อมีสิ่งนั้นจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง 

อุปสรรคปัญหา 

การปรับเปลี่ยนความคิดของคนเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ต้องใช้เวลา ต้องก้าวข้ามผ่านพื้นที่ Comfort Zone ออกมาให้ได้ นี่จึงเป็นเรื่องท้าทายที่สำคัญ ทุกคนมีความพยายาม กล้าที่จะลงมือทำไม่ว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร การออกแบบต้องใช้งบประมาณอยู่พอสมควร ทำให้มีความเสี่ยงในระยะยาวเนื่องจากต้องมีการลงพื้นที่ชุมชน  การกำกับติดตาม การพัฒนาครู งานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเมื่อให้โจทย์ไปแล้วต้องมีการกำกับติดตาม การถอดบทเรียน เมื่อถอดบทเรียนเสร็จแล้วต้องมีการสื่อสารร่วมกันเพื่อนำไปพัฒนาต่อ

สมรรถนะไม่ได้เกิดเฉพาะนักเรียน แต่ต้องเติบโตไปพร้อมกันทั้งครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สามารถเรียนรู้และเชื่อมโยงกันได้ตลอดเวลา เพราะการเรียนรู้ไม่ได้จบเพียงแค่ 1000 ชั่วโมงในห้องเรียน แต่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา กระบวนการจัดการเรียนรู้แบบการใช้ชีวิตเป็นตัวตั้ง เป็นการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วม ปฏิบัติการร่วมกันกับผู้ปกครอง ภาคีในชุมชน ทำให้ทุกคนได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้ และจะเป็นรูปแบบนวัตกรรมที่มีความก้าวหน้าและเป็นแบบอย่างของระดับประเทศต่อไป



ผู้เขียน: นิฎฐา ขุนนุช
ผู้ให้สัมภาษณ์: นายสุทธิ  สายสุนีย์ ประธานอนุกรรมการฝ่ายวิชาการในคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ จ.สตูล
ผู้สัมภาษณ์: นิฎฐา ขุนนุช
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร แช่ใจ

Facebook Comments
การนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัด ตาม พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564Download เอกสารและรับชมย้อนหลังการเสวนา ? ‘ล็อกดาวน์’ ไม่ล็อกการเรียนรู้ #EP.2 “สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างทุกคนให้เป็นครู กล้าเรียนรู้ด้วยตนเอง” บทเรียนจากโรงเรียนรุ่งอรุณและโรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
บทความล่าสุด