ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 รวมพลัง ผอ. ครู ผู้ปกครองและชุมชน รวมทั้งภาคีเครือข่าย ผสานทุกองคาพยพยึดเด็กเป็นสำคัญ มุ่งสู่เป้าหมายการขับเคลื่อน >> เด็กศรีสะเกษ รู้คิด จิตใจดี มีทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ สุขภาพดีทั้งกายและใจ

9 มิถุนายน 2563
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ

ประกอบด้วยโรงเรียนนำร่องสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 1 – 4 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 28 และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 1 ภายใต้การนำของผู้บริหารการศึกษา ว่าที่ร้อยตรี ดร.ทวีศักดิ์ นามศรี (ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 1) รับผิดชอบกำกับ ติดตาม การจัดการศึกษาโรงเรียนในสังกัด จำนวน 258 โรงเรียน มีโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่อยู่ในความรับผิดชอบจำนวน 12 โรงเรียน ได้แก่ 1) โรงเรียนบ้านหนองหวาย 2) โรงเรียนบ้านเมืองน้อยหนองมุข 3) โรงเรียนบ้านรุ่ง 4) โรงเรียนบ้านโนนคูณ 5) โรงเรียนบ้านกระถุน 6) โรงเรียนบ้านโนนเพ็ก 7) โรงเรียนบ้านร่องสะอาด 8) โรงเรียนบ้านสำโรงโคเฒ่า 9) โรงเรียนบ้านคูซอด 10) โรงเรียนบ้านโพนข่า (วินิตวิทยาคาร) 11) โรงเรียนบ้านหญ้าปล้อง 12) โรงเรียนอนุบาลยางชุมน้อย (หน่วยคุรุราษฎร์รังสรรค์)

ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 นอกจากเป็นผู้บริหารการศึกษาแล้ว ยังมีอีกบทบาทที่สำคัญ คือ กรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษโดย ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 มีความน่าสนใจเพียงใด ในขณะเดียวกันได้ทำให้เห็นภาพการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษอีกด้วย ติดตามได้จากสรุปประเด็นสำคัญต่าง ๆ ได้ดังนี้

1. เป้าหมายการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ

ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 ได้แสดงทัศนะว่า ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเป้าหมายในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ใน 3 ประการ สรุปได้ดังนี้

1.1 การเปลี่ยนแปลงคุณภาพผู้เรียน ซึ่งมาจากความต้องการของสังคมและชุมชนที่คาดหวังการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพจากผู้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 นับว่าเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการจัดการศึกษาที่เป็นไปตามความต้องการของสังคม ชุมชน

1.2 การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสอนของครู โดยครูต้องรู้ถึงความต้องการของเด็ก มีความรู้ด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็กทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา เพื่อนำมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กในวัยต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน ครูก็ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทเป็นทั้ง Coach และ facilitator เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก เตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรการเรียนต่าง ๆ ตามความสนใจ ความต้องการของเด็ก ที่เรียกว่า การจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญที่จะทำให้เด็กมีคุณลักษณะ ทักษะ สมรรถนะ ตามที่ต้องการ

1.3 การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองที่ได้มาร่วมเรียนรู้ด้วยกันกับบุตรหลานที่โรงเรียน ช่วยให้ผู้ปกครองสนใจการเรียนของบุตรหลาน และเมื่อเด็กนำความรู้ที่ได้ไปฝึกประสบการณ์ที่บ้าน เป็นการต่อยอด พัฒนาสมรรถนะให้กับเด็ก เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้ในสถานการณ์จริง ชีวิตจริงของเด็ก แล้วจึงนำผลที่ได้จากการฝึกปฏิบัติที่บ้านมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนที่โรงเรียน ผู้ปกครองจึงมีบทบาทเป็นผู้ช่วยครู รวมไปถึง ทุกภาคส่วนที่ต้องหันมาให้ความสำคัญต่อเด็ก โดยได้ยกตัวอย่างแนวคิดของประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากทัศนะการให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษาของ ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 มีความสอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว ซึ่งกล่าวไว้ว่า “บ้านเมืองใดชาติใดไม่ให้ความสำคัญของเด็กและเยาวชน เมืองนั้นชาตินั้นไม่มีอนาคต”

2. การผลักดันสู่เป้าหมายการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 เป็นหนึ่งในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ได้ดำเนินการผลักดันสู่เป้าหมายการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ หลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 สรุปได้ดังนี้

2.1 การดำเนินการในฐานะคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ได้กำกับติดตาม ดูแล เสนอความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ จัดการประชุมสัมมนา และเข้าร่วมหลักสูตรการสัมมนาต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ร่วมหารือกับทุกภาคส่วนในจังหวัดศรีสะเกษในการขับเคลื่อนแนวทางการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของคณะกรรมการขับเคลื่อนและนโยบายจากส่วนกลาง นอกจากนั้น ยังมีส่วนร่วมกำหนดเป้าหมายหรือ Vision ของเด็กจังหวัดศรีสะเกษไว้ คือ เด็กศรีสะเกษ รู้คิด จิตใจดี มีทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ สุขภาพดีทั้งกายและใจ

2.2 การดำเนินการในฐานะผู้บริหาร สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 ได้มอบหมายให้ศึกษานิเทศก์ 2 คนรับผิดชอบการขับเคลื่อน 1 นวัตกรรมการศึกษาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ มอบหมายจนครบทั้ง 7 นวัตกรรม ได้แก่ 1) นวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ 2) นวัตกรรม BBL 3) นวัตกรรม มอนเตสซอรี 4) นวัตกรรม การเรียนการสอนแบบองค์รวม 5) นวัตกรรม การศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) 6) นวัตกรรม เพาะพันธุ์ปัญญา และ 7) นวัตกรรม โครงงาน/โครงการ (Project Approach) และยังได้ร่วมกับคณะนิเทศของศึกษานิเทศก์ในสังกัด นิเทศโรงเรียนพร้อมกับภาคีเครือข่าย ณ ห้องเรียนของโรงเรียนนำร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ร่วมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษากับ Core Team ของ สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 เพื่อเป็นกำลังใจให้กับโรงเรียนนำร่อง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับนวัตกรรมการศึกษาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัด ศรีสะเกษให้กับโรงเรียนในสังกัดที่มีความสนใจศึกษาและสมัครเข้าร่วมเป็นเครือข่าย ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมเป็นเครือข่าย จำนวนประมาณ 70 โรงเรียน

3. การเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลจากการดำเนินงาน

3.1 ด้านนักเรียน นักเรียนมีความสุขจากการได้เรียนรู้อย่างเหมาะสมตามพัฒนาการ 4 ด้านของเด็ก ได้แก่ ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา โดยมีครูสร้างสถานการณ์การเรียนรู้ด้วยนวัตกรรมการศึกษาซึ่งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาศรีสะเกษนำไปใช้ให้เด็กได้เรียนรู้ตามความสนใจ

3.2 ด้านพฤติกรรมของผอ.โรงเรียนและครู ผอ.โรงเรียนและครูต้องปรับเปลี่ยน Mindset จากเดิมที่เคยต้องสอนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 สอนให้ได้ผู้เรียนที่มีคุณลักษณะ สมรรถนะ ตามหลักสูตรดังกล่าว ต้องเผชิญกับความสงสัยใคร่รู้และความท้าทายว่า นวัตกรรมการศึกษาที่โรงเรียนนำร่องเลือกใช้ ซึ่งครูและผอ.โรงเรียนไม่เคยศึกษาในสถาบันการศึกษามาก่อนจะสามารถเปลี่ยนแปลงคุณภาพผู้เรียนได้หรือไม่ จึงเกิดความกระตือรือร้นในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้นกว่าเดิม จากความสนใจใคร่รู้และต้องการพิสูจน์ว่า นวัตกรรมการศึกษาเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้จริงหรือไม่

3.3 ด้านผู้ปกครองและชุมชนรวมทั้งภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เมื่อผู้ปกครองได้เห็นบุตรหลานกลับจากโรงเรียน เห็นเด็กมีความสุข ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติของเด็กจากการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่โรงเรียนให้เด็กได้เรียนรู้ตามพัฒนาการ ผู้ปกครองก็มีความสุขไปด้วย เมื่อทุกครัวเรือนที่มีบุตรหลานในวัยเรียนมีความสุข ชุมชนก็มีความสุข ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เกิดจากความร่วมมือทุ่มเทแรงกายแรงใจจากหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ต้องการเห็นเด็กศรีสะเกษเป็นคนรู้คิด จิตใจดี มีทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ สุขภาพดีทั้งกายและใจ ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษเป็นผู้นำด้านการจัดการศึกษา ด้วยท่านเล็งเห็นว่า การศึกษาทำให้ทรัพยากรมนุษย์มีคุณภาพ การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้เกิดความเจริญด้านเศรษฐกิจ สังคม และทุก ๆ ด้านตามมา

4. สิ่งที่ควรดำเนินการสืบสานต่อไป

ตามทัศนะของ ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 เห็นว่า สิ่งที่ดีที่สุดในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ คือ ทุกองคาพยพต่างเห็นความสำคัญของเด็ก ยึดเด็กเป็นสำคัญ ถือว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงคือการที่เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือทำ (Learning by doing) ทุกนวัตกรรมการศึกษาจึงเป็นรูปแบบ Active Learning โดยมีครูและผอ.โรงเรียนเป็นผู้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ พร้อมทั้งเรียนรู้ร่วมกันกับเด็ก

แต่ก่อนที่เด็กจะเรียนรู้ด้วยตนเองได้นั้น ต้องมีความพร้อม แล้วจึงเรียนรู้ด้วยการลงมือทำด้วยตนเองที่โรงเรียน เป็นการฝึกทักษะต่าง ๆ จากนั้นจึงนำทักษะไปใช้ที่บ้าน ซึ่งก็คือการดำเนินชีวิตตามปกติของเด็กนั่นเอง เพราะทักษะคือธรรมชาติ การที่เด็กได้ทำสิ่งใดบ่อย ๆ จนเกิดเป็นธรรมชาติ เด็กจะมีความพึงพอใจ ส่งผลให้การทำงานต่าง ๆ ประสบความสำเร็จ

5. เรื่องที่ควรปรับปรุงแก้ไขเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

5.1 ด้านหลักสูตร เมื่อต้องการเห็นเด็กศรีสะเกษเป็นเช่นไร ต้องกำหนดไว้ในหลักสูตร “หลักสูตร สร้างวิญญาณ วิธีการสร้างลักษณะนิสัย” ถือเป็นภาพความสำเร็จของหลักสูตร ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องรู้เรื่องหลักสูตรนวัตกรรมการศึกษาที่จังหวัดศรีสะเกษนำมาใช้ ดังนั้น หลักสูตรในปัจจุบันต้องปรับปรุงแก้ไขให้มีความเหมาะสม หรือหากแม้ยังไม่สมบูรณ์ ก็ต้องพยายามทำให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งในอนาคตยังต้องพัฒนาให้เป็นหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะอีกด้วย

5.2 ด้านการจัดการเรียนการสอน เมื่อกำหนดลักษณะเด็กศรีสะเกษไว้ในหลักสูตรแล้ว ครูก็ต้องปรับปรุงพัฒนาการจัดการเรียนการสอน วิธีการจัดประสบการณ์เรียนรู้ให้กับเด็ก ให้เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือทำ รวมไปถึงการปรับปรุงพัฒนากระบวนการวัดและประเมินผลผู้เรียน

5.3 ด้านสื่อการเรียนการสอน โรงเรียนควรมีอิสระในการซื้อสื่อการเรียนการสอนประเภทต่าง ๆ ที่ตรงกับความต้องการในการจัดการเรียนการสอน ประเด็นนี้ โรงเรียนนำร่องได้รับการแก้ไขแล้วโดยการให้อิสระในการจัดซื้อสื่อการเรียนการสอนสำหรับโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

5.4 ด้านการบริหารงานบุคคล การบริหารงานบุคคลต้องสอดคล้องกับบริบทพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สอดคล้องกับนวัตกรรมการศึกษาที่โรงเรียนนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน กล่าวคือ โรงเรียนต้องเป็นนิติบุคคลอย่างแท้จริง มีความเป็นอิสระในการคัดเลือกครู การโอนย้ายครู/ผู้บริหารโรงเรียน เมื่อโรงเรียนเป็นนิติบุคคลแล้ว โรงเรียนจะมีอิสระด้านการบริหารงบประมาณด้วยเช่นกัน

6. แนวทางผลักดันการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในอนาคต

6.1 การทำให้โรงเรียนนำร่องมีความเข้มแข็งในทุกด้าน ทำให้ผู้ปกครองเกิดความเชื่อมั่นว่า หากจัดการเรียนการสอนตามนวัตกรรมที่ใช้อยู่นี้ จะสามารถพัฒนาเด็กศรีสะเกษให้มีคุณลักษณะตามเป้าหมายหรือ Vision ของเด็กศรีสะเกษได้

6.2 การผลักดันเรื่องการประชาสัมพันธ์ โดยใช้ศาสตร์พระราชา คือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”โดยให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป้าหมายสุดท้ายของการดำเนินการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตลอดทั้งวิธีการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้ปกครอง ประชาชนเกิดความมั่นใจและมีส่วนร่วมในการพัฒนา เข้าร่วมการจัดการศึกษาต่อไป

6.3 การผลักดันเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อพัฒนาเด็กศรีสะเกษสู่เป้าหมายตามคุณภาพและคุณลักษณะที่ต้องการ

6.4 การผลักดันโรงเรียนนำร่องให้เป็นโรงเรียนนิติบุคคล เพื่อความมีอิสระคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษา

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือจากทุกองคาพยพ ซึ่งยึดเด็ก เป็นสำคัญ เห็นความสำคัญของการศึกษา เริ่มจากการกำหนดภาพของเด็กศรีสะเกษที่ต้องการ ผู้นำของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดทิศทางและนำพาการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไปสู่ความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หัวหน้าส่วนราชการ ฝ่ายปกครองและท้องถิ่น เป็นต้น

ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 ได้ร่วมผลักดันการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างเต็มกำลัง โดยถือว่าองค์กรภายใต้การบริหารของตนเองเป็นหนึ่งในองคาพยพที่จะทำให้ภาพอนาคตของเด็กศรีสะเกษ เกิดความสำเร็จได้อย่างแท้จริง….. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ จึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ที่น่าจับตามองถึงความสำเร็จตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562


ผู้เขียน: อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล, ทวีศักดิ์ นามศรี
ผู้ให้สัมภาษณ์: ทวีศักดิ์ นามศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 1 จังหวัดศรีสะเกษ
ผู้สัมภาษณ์: อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ปาริชาติ อาจสำแดง นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ

Facebook Comments
โรงเรียนชุมชนบ้านช่างเคิ่ง พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ พัฒนาคุณภาพผู้เรียนด้วย นวัตกรรม 3P1M (Psychology, Problem-based Learning, Professional Learning Community, Montessori)สรุปการเสวนาโรงเรียนวิถีใหม่ (The New Normal School) ครั้งที่ 3 เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พ.ค. 2563
บทความล่าสุด