ความศรัทธาสู่แรงบันดาลใจร่วมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

9 พฤษภาคม 2565

ความศรัทธาสู่แรงบันดาลใจร่วมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

นางสาวฮุสนา เงินเจริญ
ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สพป.ระยอง เขต 2

 

1. หลักการทำงานของศึกษานิเทศก์ คืออะไร

ดิฉันยึดหลักการทำงานตามหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน

เข้าใจในที่นี้ หมายถึง เข้าใจตนเอง เข้าใจบทบาทของศึกษานิเทศก์ที่มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมการศึกษา ดูแลคุณครู ผู้เรียน เข้าใจบริบทของการศึกษา เข้าใจบริบทของโรงเรียนที่เราดูแลอยู่ เข้าใจผู้บริหาร เข้าใจคุณครู ผู้เรียนซึ่งมีสภาพบริบท ขนาดของโรงเรียน ความพร้อมที่แตกต่างกัน เมื่อมีความเข้าใจแล้ว ทำอย่างไรละที่เราจะเข้าถึงเขาได้

จากการพูดคุยสอบถามความต้องการของผู้บริหาร ของคุณครูในการที่ได้ออกไปนิเทศติดตามถึงความต้องการที่จะให้ทาง สพป.ระยอง เขต 2 ในบทบาทหน้าที่ของศึกษานิเทศก์ช่วยเหลือมีอะไรบ้าง ทำให้ทราบถึงความต้องการที่จะพัฒนาได้ตรงจุดรวมทั้งการเข้าถึงข้อมูลบริบทของโรงเรียน จุดเด่น จุดที่ควรพัฒนา เข้าถึงความรู้ความสามารถของผู้บริหาร และคณะครู เข้าถึงวิธีการทำงานและวัฒนธรรมองค์กร จึงนำไปสู่วิธีการพัฒนาอย่างรอบด้านและตรงประเด็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

 

2. นำสู่ถึงวิธีการทำงาน

จากหลักการทำงาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” นำมาสู่วิธีการทำงานคือ รู้จักเข้าใจตนเองก่อนว่า เรามีความรู้ความสามารถตรงตามสิ่งที่โรงเรียนต้องการหรือไม่ และตรงตามความต้องการของคุณครูที่อยากให้เข้าไปแนะนำ พูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งเราจะต้องมีการพัฒนาตนเองให้มีความพร้อมในด้านนี้ และจะต้องรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยี ในการทำงานนั้นมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ หากส่วนไหนที่เราไม่ถนัดก็จะติดต่อ ประสานกับหน่วยงานอื่นๆหรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเป็นทีมหลักในการที่จะพัฒนาโรงเรียนและคุณครู ซึ่งมีทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น สถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งมาเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรม กลุ่มรักษ์เขาชะเมา ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่มีจิตสำนึกรักบ้านเกิด ให้มาช่วยสอนกิจกรรมให้กับผู้เรียน โดยยึดหลักความจริงใจและความเป็นกัลยาณมิตรซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการทำงาน โดยไม่มีเจตนาหรือไม่มีเป้าหมายใดๆแอบแฝง ซึ่งตรงนี้ทำให้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้บริหาร คณะครูและผู้เรียน โดยยึดหลักว่า ศน.เป็นเพื่อนร่วมเดินทางของครู ไม่ได้เป็นเจ้านาย แต่เราเป็นคนหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาและร่วมเดินทางไปด้วยกันในส่วนที่โรงเรียนยังไม่ชัดเจนหรือยังต้องการความช่วยเหลือในด้านต่างๆ จากการนิเทศติดตามลงพื้นที่ทำให้ทราบถึงสิ่งที่โรงเรียนประสบผลสำเร็จหรือสิ่งที่ยังมีข้อจำกัดในการทำงานอยู่ นำมาสู่การปรับปรุงพัฒนาแก้ไขต่อไป

 

3. แรงบันดาลใจในการร่วมกับโรงเรียนขับเคลื่อนเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หรือ แรงบันดาลใจในการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน คืออะไร

แรงบันดาลใจในการทำงาน ดิฉันตระหนักในพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ตรัสถามว่า

“เป็นครูใช่ไหม ขอฝากเด็ก ๆ ด้วยนะ ช่วยสอนให้เขาเป็นคนดี”

จึงนำพระราชดำรัสนี้มาเป็นหลักยึด หลักคิด และหลักในการปฏิบัติ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองเพราะเราเคยเป็นครูสอนเด็กมัธยมมา 14 ปี และเมื่อมาเป็นศึกษานิเทศก์ก็มาคิดต่อว่าทำอย่างไรที่จะให้เด็กของเราเป็นเด็กดี มีทักษะชีวิตอยู่ร่วมในสังคมปัจจุบันได้ และก้าวทันเทคโนโลยี โดยมองลงไปที่เด็กเป็นสำคัญทำให้เห็นแววตาของเด็กที่ด้อยโอกาสที่เข้าไม่ถึงสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยซึ่งน่าเห็นใจมากในส่วนนี้ และจุดนี้จึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เราคิดเสมอว่า เราจะทำอย่างไรที่จะพัฒนาคุณครู พัฒนาโรงเรียนและนำไปสู่การพัฒนาและสร้างโอกาสให้เด็กได้ ซึ่งเราต้องทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด ทั้งเป็นแกนนำและให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาคุณครู เพราะเมื่อครูมีทั้งความรู้และจรรยาบรรณวิชาชีพ มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ครูก็จะมีความุ่งมั่น ทุ่มเทในการพัฒนาผู้เรียนต่อไป ดิฉันมีความเชื่อว่าเมื่อผู้เรียนได้รับการพัฒนาให้เป็นคนดีแล้ว เขาสามารถที่จะพัฒนาให้เป็นคนเก่งต่อไปได้ จากความศรัทธาสู่แรงบันดาลใจในการที่จะขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาซึ่งดิฉันมีความเชื่อมั่นว่า พื้นที่นวัตกรรมจะเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาผู้เรียนสู่การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนได้จริง

 

4. พบปัญหาและอุปสรรคในการทำงานอะไรบ้าง พร้อมบอกวิธีการแก้ไข

เป็นปกติของการทำงานย่อมพบปัญหา และอุปสรรคในการทำงาน โดยเฉพาะอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ แต่จากคำแนะนำของผู้บริหารท่านหนึ่ง ได้กล่าวว่า

“ถ้าเราจะขับเคลื่อนทั้งระบบมันยาก ก็ค่อยๆขับเคลื่อนไปทีละส่วน นำคนที่มีใจพร้อมที่จะเดินไปกับเราขับเคลื่อนไปก่อน ทำให้เขาเห็น ทำให้เขาประสบความสำเร็จแล้วคนอื่นๆก็จะได้เห็นเป็นตัวอย่างและจะได้เดินรอยตาม”

ซึ่งปัญหาที่พบบ่อยคือ

  1. Mindset ในเรื่องของการจัดการศึกษา เช่น อยากให้ผู้เรียนเป็นคนเก่ง ก็จะเน้นใน ด้านองค์ความรู้เพียงอย่างเดียว ซึ่งจะต้องปรับ mindset ในส่วนของตรงนี้ เพราะเด็กจะเก่งได้ต้องเกิดจากการมีทักษะ มีสมรรถนะจากการลงมือทำ ซึ่งจะทำให้เด็กได้ทั้งความรู้ ทักษะ ทัศนคติและการเห็นคุณค่าในสิ่งที่เรียนการนำไปใช้ได้จริงในสถานการณ์ต่างๆ วิธีการปรับ mindset ใช้วิธีการพูดคุย ประชุมชี้แจง สร้างความเข้าใจ ซึ่งต้องใช้เวลาในการค่อยๆปรับเนื่องจากเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังมานาน ซึ่งถ้าหากความคิด ทัศนคติไม่ตรงกันก็จะเกิดปัญหาในการให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานไม่ไปในทิศทางเดียวกัน และได้มีการเชิญชวนให้โรงเรียนลงมือทำด้วยตนเอง จะทำให้เห็นแววตาของเด็กในการเรียนรู้ที่สนุกสนานและสามารถแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในการเรียนของเขาได้ เด็กเกิดการเรียนรู้ระหว่างทาง ตรงนี้จะนำมาซึ่งความสำเร็จมากกว่าการยึดผลสัมฤทธิ์ปลายทางเป็นหลักอย่างเดียว
  2. ขาดการประชาสัมพันธ์ ถึงความสำเร็จของโรงเรียน ทางสำนักงานเขตพื้นที่จึงร่วมกับผู้อำนวยการโรงเรียนแกนนำในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้เดินสายประชุมสัญจรผู้บริหารสถานศึกษาและคณะครูเพื่อชี้แจง สร้างความเข้าใจกับโรงเรียนในสังกัดทั้ง 86 แห่ง รวมทั้งโรงเรียนนำร่องและไม่ใช่โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นมาของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นโยบายของท่านเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ,นโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ,นโยบายของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ตลอดจนนโยบายของท่านผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 โดยใช้เวลาเครือข่ายการศึกษาละครึ่งวัน

 

5. ผลที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน ครู ผู้เรียน และชุมชน เป็นอย่างไรบ้าง จากการที่ได้เข้าร่วมเป็นโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ผลที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน ที่เปลี่ยนแปลงและเห็นผลได้ชัดเจน คือ

  • โรงเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนมีการเปลี่ยนแปลงมาก ผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถที่จะพาครูจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ นิเทศชั้นเรียนและสะท้อนผลให้คุณครูฟังได้ชัดเจนมากขึ้น คมชัดขึ้นและยังเป็นผู้นำวง PLC ด้านวิชาการ เป็นผู้นำในเรื่องของการออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ต่างๆให้เป็นฐานสมรรถนะ นำไปสู่โรงเรียนเป็นพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กๆและได้รับการยอมรับจากชุมชนมากขึ้น
  • ครู มีความเป็นวิชาการมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนในเรื่องของการจัดการเรียนรู้เป็นแบบ Active Learning มากขึ้น โดยได้มีการจัดทำ PLC ทุกสัปดาห์ ประมาณ 3 – 4 เดือน โดยนำประเด็นที่ครูยังเป็นปัญหาในเรื่องของการออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ การจัดทำสื่อ การวัดประเมินผลมาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนกันในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งทำให้ครูมีความรู้ความเข้าใจ และมั่นใจในการสอนมากขึ้น
  • ผู้เรียน มีความสุขในการเรียนรู้ กระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียน สามารถที่จะสื่อสารสิ่งที่ตนเองทำให้คนอื่นรับฟังได้ มีความมั่นใจ มีความกล้าแสดงออก มีทักษะในการแก้ไขปัญหาต่างๆตามระดับศักยภาพของตัวเองได้
  • ผู้ปกครอง จากที่ผู้ปกครองเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวบุตรหลานว่า สามารถช่วยเหลือตนเองและผู้ปกครองได้มากขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น ทำให้ผู้ปกครองให้ความร่วมมือกับโรงเรียนมากขึ้น เช่น การช่วยดูแลการจัดการเรียนการสอน การสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนและร่วมแบ่งปันพื้นที่จากอาชีพของตนให้เป็นแหล่งเรียนรู้นอกสถานที่ให้กับโรงเรียน
  • ชุมชน ชุมชนให้การยอมรับและให้ความร่วมมือที่จะเข้าร่วมในการพัฒนาโรงเรียนมากขึ้น จากการประชุมผู้ปกครอง การประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียน และการจัดกิจกรรมต่างๆของโรงเรียน

 

6. สิ่งที่อยากจะทำหรือเป้าหมายที่อยากจะทำ หรืออยากให้เกิดกับ โรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมคืออะไร

  • อยากให้โรงเรียนนำร่องทุกโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาใช้หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะรองรับสังคมในปัจจุบันและอนาคตได้
  • ผู้บริหารทุกคนเป็นผู้นำในด้านวิชาการ
  • คุณครูมีการทำวง PLC ทั้งภายในโรงเรียนและต่างโรงเรียนเพื่อที่จะมีมุมมองในการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายมากขึ้น อยากให้โรงเรียนทุกแห่งมีพื้นที่การเรียนรู้ให้กับผู้เรียนทุกคนและทำให้ผู้เรียนมีความสุขกับการเรียนรู้ที่อยู่นอกห้องเรียน
  • อยากให้โรงเรียนทุกแห่งในสังกัด สพป.ระยองเขต 2 ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรม หรือไม่ก็ตามอยากให้มีเป้าหมายอยู่ที่เด็ก มีการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะเพื่อที่จะพัฒนาเด็ก เพราะเมื่อเด็กมีทั้งความรู้ ทักษะที่ดีและเจตคติที่ดีเขาจะใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบันและมีความพร้อมสู่โลกในอนาคต สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคม เป็นพลเมืองตื่นรู้ เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม เพราะหากเด็กมีสมรรถนะแล้วจะสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพและพัฒนาประเทศชาติได้

 

7. รู้สึกอย่างไรกับคำว่า โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้บริหาร ครู มีการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ให้กับเด็ก มีการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของโรงเรียนและชุมชน หากสามารถทำให้คนทั่วไปเห็นได้เป็นเชิงประจักษ์ว่า โรงเรียนสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนรู้ได้ทั้งระบบนำไปสู่ให้เด็กมีสมรรถนะและใช้ชีวิตได้อย่างสมดุล ตรงนี้ถือว่าเราประสบผลสำเร็จ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ทุกคนมีอิสระ มีการสร้างความร่วมมือร่วมกันที่จะพัฒนาเด็กของเราอย่างแท้จริงภายใต้ พรบ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

 

8. ความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมกับโรงเรียนนำร่องในการขับเคลื่อนหรือสนับสนุนการจัดการศึกษา

ความภาคภูมิใจคือการที่เราเดินไปถึงเป้าหมายร่วมกัน การได้เห็นแววตาของเด็กเขามีความสุข มีรอยยิ้มในขณะที่เรียน มีความกระตือรือร้น เกิดการเรียนรู้และนำไปใช้ในวิถีชีวิตได้ ตรงนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจที่สุด ถึงแม้จะเหนื่อยที่เจอแรงต้าน แต่เราก็สามารถพัฒนาโรงเรียน สามารถเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อนครู แก้ปัญหาไปด้วยกัน ทุกข์สุขไปด้วยกันและสามารถก้าวข้ามผ่านทุกอย่างไปสู่การพัฒนาเด็กได้ การที่เราเห็นโรงเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ตั้งแต่ผู้อำนวยโรงเรียน ครู ผู้เรียน ห้องเรียน หลักสูตรสถานศึกษา พื้นที่การเรียนรู้ กระบวนการจัดการเรียนรู้ของครูตลอดจนการวัดและประเมินผล

 

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

       



ผู้เขียน:
ปราชญาพร แช่ใจ
ผู้ให้สัมภาษณ์
: ฮุสนา เงินเจริญ ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สพป.ระยอง เขต 2
ผู้เขียน/เรียบเรียง: ปราชญาพร แช่ใจ
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประะกอบ: ฮุสนา เงินเจริญ ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สพป.ระยอง เขต 2

Facebook Comments
รวมผลงานสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ ในรอบ 1 ปี (มีนาคม 2564 – 2565) “EDUCATION WE CAN TRUST”นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เดินหน้าขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเชิงนโยบาย ร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 1/2565 อย่างพร้อมเพรียง
บทความล่าสุด