ผลการประชุมนัดแรก คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

9 กันยายน 2563

การประชุมคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันพุธที่ 5 สิงหาคม 2563 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 10 ที่ผ่านมา นายนพดล เภรีฤกษ์ ประธานอนุกรรมการด้านกฎหมาย เป็นประธานการประชุม พร้อมคณะอนุกรรมการ (รศ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ นายโกวิท คูพะเนียด นายเสนีย์ เรืองฤทธิ์ราวี นายรัฎฐกร ฟ้องเสียง นายพิทักษ์ โสตถยาคม) และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) และ TDRI เข้าร่วมประชุม

นายนพดล เภรีฤกษ์ ผู้แทนประธานอนุกรรมการ ได้มอบหมายให้นายรัฎฐกร ฟ้องเสียง อนุกรรมการและเลขานุการ แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่มีทั้งหมด 6 คณะ และมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ ได้กำหนดบทบาทหน้าที่ให้กับคณะอนุกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วย

  1. เสนอการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งที่เกี่ยวกับการบริหารและการจัดการศึกษา เพื่อให้เกิดความอิสระและความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษาของหน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา รวมทั้งขยายผลไปยังพื้นที่และสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น ต่อคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
  2. กลั่นกรองเรื่องที่จะเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
  3. ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามอบหมาย

จากนั้นประธานการประชุมฯ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการนโยบายมอบหมาย ว่า “การเริ่มปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ให้ยึดตามมติในรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบาย ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 เพื่อรองรับการปฏิบัติงานหรือมติใด ๆ ในที่ประชุมของคณะอนุกรรมการที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ประธานกรรมการนโยบายยังไม่ลงนาม และในการปฏิบัติงานเรื่องใดที่อนุกรรมการสามารถพิจารณาและปฏิบัติได้ ไม่ต้องเสนอคณะกรรมการนโยบาย แต่เรื่องใดที่ต้องให้คณะกรรมการนโยบายเห็นชอบหรืออนุมัติต้องนำเข้าที่ประชุมเพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายก่อน”

ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายครั้งนี้ได้มีมติเกี่ยวกับการขับเคลื่อนงานของคณะอนุกรรมการชุดนี้ ซึ่งสามารถสรุปได้ 3 ประเด็น ดังนี้

1. การจัดทำคู่มือหรือแนวทางการดำเนินงานของสถานศึกษานำร่อง

มีมติขอให้ฝ่ายเลขานุการ จัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติในภาพรวม ที่คณะอนุกรรมการทุกคณะ คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสามารถนำไปปฏิบัติได้ เพื่อชี้แจงอำนาจหน้าที่การบริหารจัดการของโรงเรียนนำร่องที่ได้รับการรองรับจาก พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 และเพื่อให้โรงเรียนนำร่องมีแนวทางการบริหารจัดการที่ชัดเจนและมีความมั่นใจในการพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาได้อย่างเต็มที่

2. แนวทางการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งที่เกี่ยวกับการบริหารและการจัดการศึกษา เพื่อให้เกิดความอิสระและความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษา

ที่ประชุมร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรอบการทำงานของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายว่าควรแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1) กฎหมายโดยแท้ของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ซึ่งตั้งเป้าหมายในการจัดทำให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2563 และ 2) กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคณะอนุกรรมการอื่น ที่เสนอให้คณะอนุกรรมการกฎหมายกลั่นกรองและพิจารณาเห็นชอบก่อนนำเข้าที่ประชุมเพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายฯ มีมติให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งที่เกี่ยวกับการบริหารและการจัดการศึกษา ในระยะที่ 2 หลังจากจัดทำกฎหมายโดยแท้ของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายแล้วเสร็จ และมอบฝ่ายเลขานุการจัดทำกรอบระยะเวลาในการจัดทำกฎหมายลำดับรองของคณะอนุกรรมการทุกคณะ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการทำงาน

3. การจัดตั้งสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นสำนัก ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562

โดยที่ประชุมมีมติมอบให้ฝ่ายเลขานุการรวบรวมและสรุปข้อมูลเกี่ยวกับภารกิจตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เสนอต่อกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยนำภารกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมการศึกษาทั้งหมดที่อยู่ในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมารวมกันเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสำนักงานบริหารงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นสำนักตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอันจะส่งผลให้เกิดความเป็นเอกภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น

เมื่อที่ประชุมรับทราบมติที่ประชุมร่วมกันแล้ว ประธานจึงขอให้ที่ประชุมร่วมกันกำหนดนัดหมายการประชุมฯ ครั้งต่อไป และได้มติที่ประชุมว่าจะดำเนินการจัดประชุมครั้งต่อไปช่วงต้นเดือนกันยายน 2563


ผู้เขียน: วริญญา จันตาวงศ์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ภัชธีญา ปัญญารัมย์, อิศรา โสทธิสงค์

Facebook Comments
คณะศึกษาศาสตร์ มช. พร้อมพัฒนา 15 โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562พรุ่งนี้ ภาคีร่วมใจ จัดทำยุทธศาสตร์สื่อสารฯ ยุคใหม่ เพื่อใช้ขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมฯ
บทความล่าสุด