กพฐ.เชียร์โรงเรียน-เขต-ภาคีในพื้นที่นวัตกรรม "Do Something Different" สร้างระบบกลไกพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ทำให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้น

15 กรกฎาคม 2562

เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม 2562 สพฐ.รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มีรองศาสตราจารย์เอกชัย กี่สุขพันธ์ เป็นประธานกรรมการ มีบุคลากรสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเข้าร่วมประชุม จำนวน 2 คน คือ นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และนายพิทักษ์ โสตถยาคม นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (นายอโณทัย ไทยวรรณศรี) ได้สรุปภาพรวมของการดำเนินงานด้วย VTR และสรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 อาทิ กรอบเวลาของ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา แนวทางการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โครงสร้างการบริหารจัดการ บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายและคณะกรรมการขับเคลื่อน การเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่อง และแนวทางการเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารงานของโรงเรียนนำร่อง และหน่วยงานทางการศึกษาตาม พ.ร.บ. ทั้งด้านหลักสูตร สื่อ การประเมินการเรียนรู้ การประเมินคุณภาพโรงเรียน การบริหารงบประมาณ การบริหารบุคลากร และการจัดการงานโครงการที่ส่งผลเสียต่อคุณภาพผู้เรียน

ผลจากการนำเสนอครั้งนี้ ทำให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของ สพฐ. และกระทรวงศึกษาธิการในการเตรียมการรองรับ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา ได้เห็นโอกาสของการพัฒนาการศึกษาภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ และเสนอแนวคิดข้อเสนอแนะเพื่อให้โรงเรียนนำร่อง หน่วยงานทางการศึกษา และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ที่จะร่วมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเสนอให้เน้นการสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา/นวัตกรรม ให้ผู้เกี่ยวข้องเกิดความเข้าใจ ดังนี้

  1. พ.ร.บ. มีเป้าหมายเจตนา…ให้กล้าเปลี่ยน กล้าทำแบบใหม่ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องการให้ผู้เกี่ยวข้องในโรงเรียนนำร่องและทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทำความเข้าใจนิยามความหมาย เป้าหมายเจตนาของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และการเกิดขึ้นมาของ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 อาทิ 1) ให้โรงเรียน Do Something Different ทำในสิ่งที่แตกต่างจากเดิม ทั้งนวัตกรรมการบริหาร นวัตกรรมการเรียนการสอน และนวัตกรรมการบริการ แล้วเรียนรู้ปัจจัยความสำเร็จเพื่อการขยายผล 2) ให้เข้าใจความคิดรวบยอดของ sandbox ที่มีความหมายว่า รีบผิดรีบล้มและเรียนรู้ขยายผล ซึ่งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเปิดโอกาสให้โรงเรียนและพื้นที่ใช้รูปแบบหลากหลาย รวมไปถึงการสอน/การสอบเฉพาะที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนที่แตกต่างกันได้ 3) พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นเรื่องของการเปลี่ยนวิธีการเพื่อให้ได้ผลผลิตใหม่ โดยอนุญาตให้ออกนอกกรอบได้ คิดของใหม่ได้และปรับจากของเดิมก็ได้ 4) นวัตกรรม ไม่ใช่ “ประดิษฐกรรม” หรือ invention ที่จะต้องเสียเวลาประดิษฐ์คิดค้นหรือสร้างใหม่ นวัตกรรมในที่นี้ควรเป็นการนำความสำเร็จจากที่อื่นๆ มาใช้ เพื่อตอบสนองความต้องการและตอบโจทย์โรงเรียนและพื้นที่ได้ทันเวลาและทันความต้องการ ดังนั้น ควรศึกษาว่าใครทำสิ่งใดไว้ที่ใดให้นำมาใช้ หรือดูว่าสิ่งใดที่มีอยู่แล้วก็สามารถนำมาใช้ได้ทั้งสิ้น เช่นเดียวกับสตีฟจ๊อบที่นำความสำเร็จจากที่ต่างๆ มายำใหญ่ ได้นวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ หรือคำกล่าวของเติ้งเสี่ยวผิง ที่กล่าวไว้ว่า ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็ใช้ได้
  2. โรงเรียนทำทันทีเริ่มที่หลักสูตร มาตรา 25 โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาควรใช้มาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ซึ่งให้โรงเรียนสามารถปรับใช้หลักสูตรแกนกลางฯได้ ใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาคุณภาพ และสามารถดำเนินการได้เองในทันที เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เห็นผลเชิงประจักษ์ แล้วสื่อสารประชาสัมพันธ์ผลการเรียนรู้ของผู้เรียนสู่ผู้เกี่ยวข้อง
  3. เลือกโรงเรียนนำร่องต้องเช็ค 3 ใจ (สมัครใจ-เข้าใจ-จริงใจ) ในการปฏิบัติให้บรรลุมาตรา 5 โรงเรียนที่จะเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะต้องมีความเข้าใจ สมัครใจ และจริงใจ ที่จะดำเนินการและขยายผลได้จริง ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 โรงเรียนไม่ควรถูกเกณฑ์หรือบังคับให้เข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่อง
  4. ฝ่ายนโยบายต้องช่วยปลดล็อก เพิ่มความคล่องตัว เหตุผลสำคัญของการมี พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เพื่อปลดล็อก ปกป้องคนปฏิบัติดีและสุจริต ที่คิดและลงมือทำเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อมุ่งทำให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้น แต่ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ไม่เอื้ออำนวยในบริบทใหม่ ให้สามารถดำเนินการได้โดยไม่มีความผิด เพราะนวัตกรรมมักจะผิดต่อกฎเดิมที่เคยมีมา ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้อง/หน่วยนโยบายจะต้องช่วยปลดล็อกให้โรงเรียนนำร่องและพื้นที่สามารถดำเนินการได้อย่างคล่องตัว
  5. พื้นที่นวัตกรรม…พื้นที่เรียนรู้เพื่อตอบโจทย์ประเทศ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะช่วยให้ได้องค์ความรู้เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา ได้แก่ 1) ปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษา 2) นวัตกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียน มีอะไรน่าสนใจ ทั้งแนวคิดและกระบวนการของนวัตกรรม สามารถพัฒนาทักษะ global citizen ได้หรือไม่อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นทักษะ ICT digital literacy ความคิดสร้างสรรค์ หรือนักเรียนสามารถคิดได้เองหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ การมุ่งเน้น (focus) ที่นวัตกรรมการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนและสื่อสารประชาสัมพันธ์ตั้งแต่เริ่มต้นการดำเนินงาน ก็จะเป็นผลดีที่จะทำให้โรงเรียนอื่นที่สนใจ สามารถเรียนรู้ และนำไปประยุกต์ใช้ได้ทันที และ 3) การตอบโจทย์แผนพัฒนากำลังคน 4.0 พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะสามารถมีคำตอบในส่วนนี้ด้วย ดังนั้น ตลอดกระบวนการดำเนินงานจะต้องมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ศึกษาปัจจัยแห่งความสำเร็จ และสิ่งที่ควรพัฒนาต่อไป เพื่อสรุปรายงานผลการดำเนินงานผู้เกี่ยวข้อง

Written by พิทักษ์ โสตถยาคม
Artwork by ศศิธร สวัสดี
Picture Credit กำธร สาธา

Facebook Comments
นายกรัฐมนตรีกำหนดวันประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 1/2562 ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2562เด็กโรงเรียนบ้านควนเก พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล เรียนรู้โครงงานฐานวิจัย ใช้หลักสูตรภูมิสังคม ตอบโจทย์เด็กสตูลรุ่นใหม่ แข่งขันได้ ไม่ทิ้งถิ่น
บทความล่าสุด