ฝ่ายแผนของ สป.ศธ. และ ศธจ. ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จับมือ สบน. สพฐ. เตรียมชง-จัดตั้งงบประมาณปี 2564 เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรม 8 จังหวัด

12 ธันวาคม 2562

            เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 นายพิทักษ์ โสตถยาคม รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ. ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรอบการจัดตั้งงบประมาณ ปีงบประมาณ 2564 ตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ ตามที่ได้รับการประสานเชิญอย่างไม่เป็นทางการจากผู้รับผิดชอบงานด้านแผนและผู้จัดการประชุมของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่ม ประกอบด้วย ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และผู้รับผิดชอบงานด้านนโยบายและแผนของ สป.ศธ. ดังรายชื่อต่อไปนี้

1. นางสาววราลักษณ์ ดุรงค์กาญจน์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ
สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป.ศธ.
2. นางปภาวรินท์ เรืองประจวบกุลศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ
สำนักบูรณาการยุทธศาสตร์การศึกษา สป.ศธ.
3. นายปรีดา พรหมดีผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผน
ศธจ. เชียงใหม่
4. นางสาวนุชษราวรรณ คณานิตย์ธนกิจ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผน
ศธจ. ศรีสะเกษ
5. นางนงลักษณ์ ภิญโญผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผน
ศธจ. ระยอง
6. นางวันทนีย์ ขาวผ่องผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผน
ศธจ. กาญจนบุรี
7. นายสุริยา หมาดทิ้งผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผน ศธจ. สตูล
8. นางวันเพ็ญ สุวรรณเวชนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ
สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป.ศธ.

           

            รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้ให้ข้อมูลต่อที่ประชุม ดังนี้

1. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครอบคลุมพื้นที่ใดบ้าง ?

            พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตามความหมายใน พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 หมายถึง “พื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นพื้นที่ปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษาเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมการศึกษา” แต่เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เตรียมการ และดำเนินการไปล่วงหน้า ก่อนที่ พ.ร.บ.นี้จะประกาศใช้ ดังนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงมีบทเฉพาะกาล คือ มาตรา 44 ให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ได้มีการจัดตั้งโดยประกาศกระทรวงศึกษาธิการอยู่ในก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้
            ดังนั้น พื้นที่ที่ได้มีการจัดตั้งโดยประกาศกระทรวงศึกษาธิการอยู่ในก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มี 6 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดระยอง จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดชายแดนภาคใต้
            สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประเด็นที่ สพฐ. ได้ส่งเรื่องหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการตีความว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้ หมายถึง 3 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เท่านั้น (ไม่ใช่ใช้นิยาม “จังหวัดชายแดนภาคใต้” ตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ที่หมายถึง 5 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และสงขลา) รวมทั้งหารือถึงแนวทางการแยกดำเนินการเป็นรายจังหวัดด้วย ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะแยกขับเคลื่อนเป็นรายจังหวัด เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ทั้งนี้ จะทราบผลการประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาปลายเดือนธันวาคม 2562 นี้

2. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแต่ละจังหวัดครอบคลุมโรงเรียนใดบ้าง ?

            การประกาศจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด แต่ไม่ใช่ทุกโรงเรียนในจังหวัดนั้น ๆ จะสามารถดำเนินการโดยใช้สิทธิตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 นี้ได้ มีเพียงโรงเรียนนำร่อง ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.นี้ ซึ่งโรงเรียนที่ประสงค์จะเป็นโรงเรียนนำร่องจะต้องขอความเห็นชอบจากต้นสังกัด กรณีโรงเรียน สพฐ. จะต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว จึงขออนุมัติต่อคณะกรรมการขับเคลื่อน โดยดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการขับเคลื่อนกำหนด นอกจากนั้น โรงเรียนที่ได้เป็นโรงเรียนนำร่องแบบอัตโนมัติ ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 46 คือ โรงเรียนนำร่องตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งมีโรงเรียนนำร่องที่ได้เป็นโรงเรียนนำร่องตามมาตรา 46 คือ โรงเรียนนำร่อง 10 โรงเรียนของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ส่วนจังหวัดอื่นๆ ดำเนินการตามมาตรา 27 เป็นการประกาศโดยการอนุมัติของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนั้นๆ แล้วเสนอให้ประธานกรรมการ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ลงนามในประกาศ
            ปัจจุบัน มีโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (ทั้งที่ประกาศแล้วและอยู่ระหว่างเตรียมการประกาศอย่างเป็นทางการ) จำนวน 266 โรงเรียน

3. ขอบข่ายภารกิจใดบ้างที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดจะต้องดำเนินการและตั้งงบประมาณ เพียงมาตรา 24 ใช่หรือไม่ ?

            วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาระบุอยู่ในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.นี้ ซึ่งเกี่ยวกับการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมการศึกษาเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและขยายผลได้ การลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา การเพิ่มความอิสระและความคล่องตัวให้โรงเรียนนำร่องและหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่ และการสร้างและพัฒนากลไกการจัดการศึกษาร่วมกันของทุกภาคส่วน จากวัตถุประสงค์ดังกล่าว ผู้รับผิดชอบภารกิจสำคัญนี้ในระดับพื้นที่ คือ คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดนั้นๆ โดยมีศึกษาธิการจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ ตามมาตรา 19 โดยมีหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการขับเคลื่อน ตามมาตรา 20 และมีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการขับเคลื่อน ตามมาตรา 24
            ดังนั้น กิจกรรม งาน โครงการใดๆ ที่เป็นนโยบาย หรืออยู่ในขอบข่ายความรับผิดชอบของคณะกรรมการขับเคลื่อน ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น จะถือเป็นหน้าที่ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดที่ต้องเอื้ออำนวยและสนับสนุนในเรื่องงบประมาณ/งานธุรการ
            ฉะนั้น ในการตั้งงบประมาณสำหรับการขับเคลื่อนของแต่ละพื้นที่ จึงควรเป็นการวิเคราะห์งานตามมาตรา 20 และมาตรา 24 เป็นหลัก แล้วเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของแต่ละจังหวัด ซึ่งได้มีภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ภาคีเพื่อการศึกษาไทย หรือคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้มีการกำหนดแนวทางไว้ มาพิจารณาประกอบ ในการเสนอขอตั้งงบประมาณ โดยจะเห็นว่า ทุกกิจกรรมที่จำเป็นในการขับเคลื่อนในจังหวัด อยู่ในขอบเขต ที่คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จะต้องสนับสนุนส่งเสริมโรงเรียนนำร่อง ทั้งสิ้น และจะต้องดำเนินการแก้ปัญหาและพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จในพื้นที่ เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมการศึกษา ปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษาของพื้นที่ จึงจะต้องพิจารณาประเด็น และงานที่จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ
            สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ การปฏิรูปการบริหารจัดการ จะเน้นประสิทธิภาพในการบริหารทรัพยากร และควรใช้กลไกความร่วมมือการประสานทุกภาคส่วน ตามมาตรา 5 (4) ซึ่งเป็นการแชร์ทรัพยากร ทั้งด้านกำลังวิชาการ กำลังเงิน กำลังแรงงาน ฯลฯ มาร่วมพิจารณาความเหมาะสมในการเสนอขอตั้งงบประมาณด้วย

4. “วาระเริ่มแรก” ข้อความที่ปรากฏในมาตรา 50 มีระยะเวลานานเท่าใด หรือสิ้นสุดแล้วหรือไม่ ?

            “มาตรา 50 ในวาระเริ่มแรก ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้แก่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” คำว่า ในวาระเริ่มแรก นั้น ถือว่าสำนักงบประมาณได้เห็นชอบกรอบเรื่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในปีงบประมาณ 2563 ที่เสนอโดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ซึ่งได้กรอบวงเงินงบประมาณเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามาแล้ว โดยมีเป้าหมายการดำเนินงาน จำนวน 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ประมาณ 34 ล้านบาท และสำนักงานสามารถเตรียมของบประมาณเพื่อดำเนินการในปีงบประมาณ 2564 ต่อไป

5. คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษายังไม่ครบ 21 คน ตาม พ.ร.บ. จะต้องตั้งใหม่หรือไม่ ?

            ตามมาตรา 45 กำหนดไว้ว่า.ในวาระเริ่มแรก ให้คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตามมาตรา 44 ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน จนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้
            ขณะนี้ ยังถือเป็นวาระเริ่มแรกของการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.นี้ จึงขอให้ดำเนินการตามบทเฉพาะกาลในมาตรา 45 ไปพลางก่อน เพื่อให้การขับเคลื่อนและการดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เข้มข้น และหวังผลสำเร็จของการดำเนินงาน

6. จะต้องใช้หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายให้คณะกรรมการขับเคลื่อนและคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการขับเคลื่อนแต่งตั้งอย่างไร ?

            ขณะนี้ สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ. ได้เสนอขออนุมัติค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์สำหรับประธานกรรมการขับเคลื่อน กรรมการขับเคลื่อน และอนุกรรมการที่คณะกรรมการขับเคลื่อนแต่งตั้ง ต่อคณะกรรมการนโยบายเรียบร้อยแล้ว และเสนอไปยังกระทรวงการคลังเพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนจัดทำเป็นประกาศของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเบิกจ่ายให้คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อไป

7. จำนวนโรงเรียนนำร่องเท่าใดที่จะใช้เป็นฐานในการตั้งงบประมาณ ปี 2564 จะรวมโรงเรียนที่จะเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องระยะต่อไปด้วยหรือไม่ ?

            ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบาย ยังไม่มีนโยบายเพิ่มจำนวนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และต้องการให้โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ดำเนินการ ณ ปัจจุบัน ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีความเข้มข้น จนได้ผลการเปลี่ยนแปลงและข้อค้นพบเพื่อการขยายผล ดังนั้น จึงขอคงจำนวนโรงเรียนนำร่องไว้เท่าเดิม หรืออาจมีการแบ่งเฟสกลุ่มโรงเรียนนำร่องตามความพร้อมจากกลุ่มเป้าหมายเดิม ที่มีโรงเรียนนำร่อง จำนวน 266 โรงเรียน

8. การวิเคราะห์วิจัยที่เป็นบทบาทของ ศธจ. และ สบน. ต่างกันอย่างไร

            หน้าที่ของสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในมาตรา 18 (3) แห่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่ระบุเนื้อหาเหมือนหน้าที่ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ในมาตรา 24 (2) คือ จัดให้มีการวิเคราะห์และวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
            ประเด็นการวิเคราะห์วิจัยของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดจะดำเนินการในขอบเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนั้น ๆ และในโรงเรียนนำร่องของจังหวัดนั้น ๆ ส่วนการวิเคราะห์วิจัยของสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะดำเนินการในภาพรวมของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทุกพื้นที่ และตามโจทย์ที่ สพฐ. และคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต้องการทราบคำตอบ ดังนั้น จึงเป็นการดำเนินการคนละระดับของการดำเนินงาน

Written by พิทักษ์ โสตถยาคม
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
โรงเรียนพื้นที่นวัตกรรม จ.นราธิวาส พาเด็กเรียนรู้นอกตำรา แสวงหาความรู้นอกโรงเรียนการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมของโรงเรียนเขื่อนบางลาง สพป.ยะลา เขต 2
บทความล่าสุด