พื้นที่นวัตกรรม : พื้นที่เรียนรู้การบรูณาการและประสานความร่วมมือของ ศธจ. เขตพื้นที่ และภาคีเครือข่าย

6 พฤศจิกายน 2562

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบหมาย ดร.อัมพร พินะสา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นผู้แทนเลขาธิการ กพฐ. ร่วมเสวนา เรื่อง แนวทางการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ในการประชุมผู้บริหาร ศธ. สัญจร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 : พื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำร่องจังหวัดระยอง ณ โรงเรียนระยองวิทยาคม จังหวัดระยอง

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ image-1-1024x341.png

ผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้เป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ มี ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุม มีผู้บริหารองค์กรหลัก ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ ผู้บริหารองค์การมหาชน และภาคีเครือข่ายที่ในพื้นที่ เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน การประชุมครั้งนี้มีผู้อำนวยการและบุคลากรสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และคณะทำงานรองเลขาธิการ กพฐ. เข้าร่วมด้วย 8 คน ได้แก่ นายอโณทัย ไทยวรรณศรี นายพิทักษ์ โสตถยาคม นางเนตรทราย แสงธูป นายเก ประเสริฐสังข์ น.ส.ภัชธีญา ปัญญารัมย์ น.ส.ศศิธร สวัสดี น.ส.ศิริญญา วาปีทะ และนายวันนิมิต สายสิทธิ์

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ 1-2-1024x640.jpg

ดร.อัมพร พินะสา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กล่าวถึงสาเหตุหนึ่งของดำเนินการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มาจากผลการปฏิรูปการศึกษาไทยตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาได้ตามที่มุ่งหวัง และยังไม่ดำเนินการได้ตามข้อเรียกร้องต่างๆ ตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ประเด็นปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องปฏิรูปประเทศ 1 ใน 2 เรื่องเร่งด่วนของประเทศ ร่วมกับเรื่องการปฏิรูปตำรวจ โดยจะต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 ปี

เรื่องการปฏิรูปการศึกษา รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ขึ้น จากบทเรียนการพัฒนาครั้งก่อนพบว่า การแก้ไขเพียงกฏหมายไม่สามารถทำให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาอย่างที่คาดหวังได้ ในการพัฒนาการศึกษาครั้งใหม่จึงกำหนดให้มีการนำร่องทดลองควบคู่ไปด้วย เพื่อคิดค้นรูปแบบวิธีการใหม่ในการพัฒนาและขยายผล คือ เป็นการปฏิรูปจากล่างขึ้นบน ใช้แนวคิด “ระเบิดใน” โดยให้เป็นการดำเนินการจากคนในพื้นที่ที่เห็นถึงความสำคัญ และความต้องการจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งมุ่งมั่นปฏิรูป หรือ “อยากทำ” อยากเปลี่ยนจากภายใน

การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีความเชื่อว่า คนมีความแตกต่างกัน ต่างกันทั้งจากสภาพสังคม พื้นที่ภูมิศาสตร์ที่อยู่อาศัยและปัจจัยอื่นๆ ดังนั้น การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพคนจึงควรมีความแตกต่างกัน โดยมีเป้าหมายเดียวกันได้ เราจะจัดการศึกษาแบบตัดเสื้อ size เดียว และใช้ทั้งประเทศเช่นเดิมไม่ได้แล้ว

ดังนั้น จึงมีการจัดทำพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ขึ้นมา โดยให้ดำเนินการทดลองนำร่อง เป็นระยะเวลา 7 ปี ถือเป็นกฎหมายเฉพาะกิจ พ.ร.บ.นี้ ขอขยาย 3 คำสำคัญ คือ พื้นที่ – นวัตกรรม – การศึกษา 1) พื้นที่ เป็นการใช้จังหวัดเป็นฐาน แต่ไม่บังคับทุกโรงเรียนเข้าร่วม เปิดให้โรงเรียนเข้าร่วมด้วยความสมัครใจ โรงเรียนจึงเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ 2) นวัตกรรม เป็นรูปแบบวิธีการบริหาร การจัดการศึกษา ให้เป็นการพัฒนาขึ้นจากสภาพปัจจุบัน โดยมีผู้เรียนเป็นเป้าหมายและหัวใจของการพัฒนา ส่งเสริมให้เด็กมีทักษะศตวรรษที่ 21 และ 3) การศึกษา เป็นความเจริญงอกงามของชีวิต โดยเชื่อว่าการศึกษาคือเครื่องมือพัฒนาคน การศึกษาจึงสร้างคน แล้วให้คนไปสร้างชาติ

การขับเคลื่อนพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ไปสู่การปฏิบัติ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาตามมาตรา 5 หรือเป้าหมาย 4 ด้าน คือ 1) เด็กเก่ง ดี มีความสุข 2) ลดความเหลื่อมล้ำ 3) โรงเรียนมีอิสระคล่องตัว และ 4) ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม โดยมีกลไกในรูปของคณะกรรมการ เน้นการมีส่วนร่วม คณะกรรมการ 2 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบาย มีหน้าที่กำหนดทิศทาง และคณะกรรมการขับเคลื่อน มีหน้าที่บูรณาการการทำงานร่วมกันในภาคสนาม และขับเคลื่อนการดำเนินการ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ศึกษาธิการจังหวัดเป็นเลขานุการ ในการออกแบบกลไกการทำงานนี้เป็นการดำเนินการเชิงบูรณาการอย่างชัดเจน ให้ศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งมีบทบาทเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาของจังหวัดอยู่แล้ว เช่น เป็นเลขานุการของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เป็นเลขานุการของคณะกรรมการขับเคลื่อน และให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นกรรมการขับเคลื่อน มีโรงเรียนนำร่องเป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งสังกัด สพฐ. กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) สุดท้ายจะสามารถถอดบทเรียนการจัดการศึกษาที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญในโรงเรียนต่างสังกัด ต่างบริบทได้

การออกแบบเชิงบูรณาการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ สพฐ. ไม่ได้เป็นหน่วยขับเคลื่อนโดยตรง แต่เป็นผู้ประสานงานส่วนกลาง เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบาย ส่วนหน่วยงานที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนพื้นที่โดยตรงคือ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ประสานความร่วมมือ และร่วมดำเนินการร่วมกับหน่วยงานทางการศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งการขับเคลื่อนการบูรณาการการจัดการศึกษาร่วมกันของหน่วยงานและทุกภาคส่วนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเช่นนี้ จะเป็นกรณีตัวอย่าง และควรมีการถอดบทเรียนบทบาทของการทำงานร่วมกันระหว่าง ศธจ. และเขตพื้นที่การศึกษา หรือแม้แต่บทบาทศึกษานิเทศก์ที่เปลี่ยนไปในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการทำงานขึ้นอยู่กับความร่วมมือรวมพลัง และความจริงจังในการดำเนินงาน

ขณะนี้มีจังหวัดที่เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 6 พื้นที่ แต่ละพื้นที่ไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องมีโรงเรียนนำร่องเข้าร่วมเป็น “พื้นที่ปฏิบัติการ” หรือไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีขนาดและจำนวนโรงเรียนเท่าใด ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดสตูลเริ่มต้น 10 โรงเรียน ระยอง 25 โรงเรียน ศรีสะเกษ 50 โรงเรียน กาญจนบุรี 41 โรงเรียน เชียงใหม่ 61 โรงเรียน จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) 79 โรงเรียน และนวัตกรรมที่นำมาใช้ก็มีความแตกต่างกัน เช่น สตูลใช้โครงงานฐานวิจัยเดิมใช้ 10 ขั้นตอน เมื่อเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาปรับใหม่เป็น 14 ขั้นตอน ศรีสะเกษมีรูปแบบวิธีการพัฒนาโรงเรียนแต่ละเครือข่ายไม่เหมือนกัน อาทิ BBL, Lesson Study, Montessori, PBL ระยองใช้ 7 ขั้นตอน/องค์ประกอบพัฒนาการบริหารจัดการและการเรียนการสอน โรงเรียนในระยองนำไปประยุกต์ใช้ในแบบฉบับของตนเอง แต่เป้าหมายเพื่อพัฒนาเด็กเป็นเรื่อง/ประเด็นเดียวกัน

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นเพียงการทดลองนำร่อง เปิดพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งจากความสำเร็จ และความล้มเหลว เพื่อให้ได้ข้อค้นพบเกี่ยวกับรูปแบบโมเดลที่มีการปรับให้เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ แต่ละพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้ได้การปลดล็อกทั้งด้านวิชาการ บุคคล การเงินพัสดุ การบริหารจัดการ ที่มาจากการลงพื้นที่ศึกษาปัญหาสาเหตุ และข้อเสนอจากพื้นที่ เพื่อนำมายกเว้นหรือปรับปรุงระเบียบหลักเกณฑ์ข้อกฎหมาย

สำหรับปัจจัยเงื่อนไขสู่ความสำเร็จในจังหวัดที่มีการดำเนินการเด่น และการเตรียมกลไกสนับสนุนไว้ อาทิ 1) มีคนที่เห็นความสำคัญและเห็นร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของพื้นที่ เช่น มีความร่วมมือรวมพลังทำงานร่วมกันอย่างดีของศึกษาธิการจังหวัดและผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 2) มีหน่วยงานกลาง “สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” เป็นหน่วยเตรียมการประสานงาน สนับสนุนส่งเสริมและเชื่อมการดำเนินการระหว่างคณะกรรมการขับเคลื่อนแต่ละพื้นที่กับคณะกรรมการนโยบาย ในการช่วยขอยกเว้นระเบียบกฎหมายต่างๆ และ 3) มีคณะอนุกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งเพิ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบาย ในคราวประชุมครั้งที่ผ่านมา เพื่อช่วยหนุนเสริมการขับเคลื่อนการดำเนินการของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างเป็นระบบ และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ในการขับเคลื่อนดำเนินการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำเป็นต้องมุ่งเน้นการทำงานเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่อยู่ในพื้นที่ ด้วยความมุ่งหวังสร้างเด็กและเยาวชนให้เป็นคนเก่ง คนดี มีงานทำ และมีความสุข ด้วยความรัก ความสามัคคี และความปรารถนาดีของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมสร้างคนไทยให้มีทักษะศตวรรษที่ 21 ซึ่งทุกคนจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคน ให้คนไปสร้างชุมชน สร้างสังคม และสร้างชาติให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าในอนาคต

Written by พิทักษ์ โสตถยาคม
Photo by ภัชธีญา ปัญญารัมย์
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ และศศิธร สวัสดี

Facebook Comments
คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประชุมนัดแรก 29 ต.ค. 2562 เตรียมส่งเสริมให้มีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่สามารถคิด-ทำ-นำตนเองได้โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.กาญจนบุรี นำเสนอนวัตกรรมการศึกษา ต่อ รมว.ศธ. เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของจังหวัด
บทความล่าสุด