ดร.ชัยพฤกษ์ แนะ สบน. และ TDRI จัดทำแผนบริหารจัดการงบประมาณ แบบไม่เพิ่มภาระงบประมาณ เพื่อสนับสนุนโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

9 ธันวาคม 2562

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม 2562 สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) สพฐ. ได้นัดประชุมนอกรอบกับนักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในประเด็นการเตรียมการด้านงบประมาณสำหรับโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ณ ห้องทำงาน ผอ.สบน. เนื่องมาจาก มาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 กำหนดให้ สพฐ. จัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนนำร่องโดยตรง และเป็นงบเงินอุดหนุนทั่วไป จึงเตรียมการสำหรับการตั้งงบประมาณและเตรียมการในปีงบประมาณ 2564 

ในวันนี้ สบน. ได้รับเกียรติจาก ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมให้ความเห็น ข้อคิดและแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณเพื่อสนับสนุนโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ น.ส.ณิชา พิทยาพงศกร, นายพงศ์ทัศ วนิชานันท์ และนายทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา TDRI, นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผอ.สบน., นายพิทักษ์ โสตถยาคม รอง ผอ.สบน., นางสุดจิตร์ ไทรนิ่มนวล ผอ.กลุ่มยุทธศาสตร์พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สบน., นายเก ประเสริฐสังข์ ผอ.กลุ่มส่งเสริมการสื่อสารสังคม สบน., น.ส.อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล ผอ.กลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการศึกษา สบน. และ น.ส.เสาวนีย์ ทิพย์ฤกษ์ รอง ผอ.กลุ่มยุทธศาสตร์พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สบน. 

การหารือครั้งนี้ ได้นำประเด็นที่ท่านเลขาธิการ กพฐ. (นายอำนาจ วิชยานุวัติ) ได้ให้ศึกษาการตั้งงบประมาณของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มาพิจารณาด้วย ผลการหารือได้แนวทางการศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับงบเงินอุดหนุนและงบดำเนินงานปีที่ผ่านมาของ สพฐ. เพื่อใช้เป็นฐานในการจัดทำข้อเสนอการบริหารจัดการงบประมาณเพื่อการสนับสนุนโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งจะต้องขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณไปยังสำนักงบประมาณ และการเตรียมข้อเสนอหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปให้โรงเรียน ซึ่งอาจจะประยุกต์สูตรจัดสรร เช่น ที่มีองค์ประกอบหลัก 4 ด้าน ตามแนวคิดที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสนอรายงานต่อสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ในผลการวิจัยเรื่อง การจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาผ่านตัวผู้เรียน ในปี 2560 ด้วยสูตร A+B+C+D แต่ละตัวจะมีความหมายดังนี้ A คือ ความจำเป็นพื้นฐานของผู้เรียน, B คือ ความจำเป็นเพิ่มเติมของนักเรียน, C คือ ด้านการส่งเสริมหลักสูตร, และ D คือ ด้านความจำเป็นตามสภาพพื้นที่/ที่ตั้งของโรงเรียน 

ที่ประชุมได้มอบให้ผู้แทนทีมร่วม ระหว่าง TDRI และ สบน. คือ นายพงศ์ทัศ วนิชานันท์ และนายเก ประเสริฐสังข์ ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณ โดยนำข้อมูลจากสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ น.ส.เสาวนีย์ ทิพย์ฤกษ์ ประสานขอข้อมูลให้ เมื่อได้ผลการวิเคราะห์ข้อมูลงบประมาณแล้ว คณะทำงานจะจัดทำแนวทางที่เป็นไปได้ในการบริหารจัดการงบประมาณ และเสนอผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. พิจารณาต่อไป

Written by พิทักษ์ โสตถยาคม
Photo by ภัชธีญา ปัญญารัมย์
Artwork by เก ประเสริฐสังข์

Facebook Comments
บทสรุปจากการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความรู้ ความเข้าใจและร่วมแสดงความคิดเห็นในการจัดทำแผนขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองสบน. มอบหมายผู้ประสานงาน พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแต่ละจังหวัด เพื่อ SHARE & LEARN & EMPOWER เพื่อนร่วมทางในพื้นที่นวัตกรรม
บทความล่าสุด