"ศธจ. โซ่ข้อกลางเชื่อมการพัฒนาการศึกษาระดับพื้นที่" ปลัดกระทรวงศึกษาธิการมอบนโยบาย ศธจ. พร้อมส่งเสริม สนับสนุนการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

15 มิถุนายน 2566

ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมให้กำลังใจกับคณะทำงานในพื้นที่พร้อมกับมอบนโยบายการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้กับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ในฐานะที่เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในแต่ละจังหวัด ในการประชุมเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อออกแบบและขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาโดยใช้กระบวนการประเมินเชิงพัฒนา (Developmental Evaluation) หลังจาก ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดการประชุม และเชิญปลัดกระทรวงศึกษาธิการมอบนโยบายกับพื้นที่

ซึ่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำถึงบทบาทและความสำคัญของ ศธจ. ที่ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ในระดับจังหวัด ศธจ. ต้องให้ความสําคัญและดึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ มาร่วมกันขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้บรรลุตามวัตถุประสงค์แห่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 จึงได้มอบนโยบายไว้ 4 ข้อ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้ (ขอขอบคุณนางสาวปาริชาติ พรหมสุวรรณ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ที่กรุณาช่วยสรุปประเด็นที่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการมอบนโยบาย)

1. สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดมีภารกิจที่สำคัญในการเป็นกลไกหลักสำคัญของคณะกรรมการพื้นที่นวัตกรรมจังหวัด ไม่เพียงแต่จัดประชุมแต่เป็นส่วนสำคัญในการเป็นโซ่ข้อกลางที่เชื่อมการพัฒนาการการศึกษาภาพรวมระดับพื้นที่ เพื่อกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และทิศทางการทำงานของพื้นที่ ความสำเร็จสามารถวัดได้จากการตอบรับของโรงเรียนและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

2. การจัดทำแผนการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นภารกิจสำคัญต่อการพิจารณา กรอบวงเงินงบประมาณเพื่อการสนับสนุนกิจกรรมและการจัดสรรงบประมาณในแต่ละ ปีงบประมาณให้แก่จังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนงานได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติที่มีเจตนารมณ์สำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ โดยมุ่งเน้นให้โรงเรียนเป็นอิสระจากกรอบระเบียบที่กำหนดให้โรงเรียนต้องปฏิบัติโดยไม่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นที่แท้จริงของการจัดการศึกษาเพื่อบ่มเพาะผู้เรียนให้มีคุณภาพ มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการศึกษา เปิดมิติใหม่แห่งการพัฒนาการศึกษาไทยให้เท่าทันการศึกษาโลกในยุคดิจิทัล

3. ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ในการทำงาน สังคมได้จับจ้องกระทรวงศึกษาธิการที่เรามีรัฐมนตรี 20 คน มีนโยบายที่เปลี่ยนไปเสมอ ๆ การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงและจุดเน้นเป็นไปตามวาระการดำรงตำแหน่ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เกิดสิ่งใหม่ เป็นสิ่งที่ท้าทายการทำงานของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ดังนั้นขอให้ทุกท่านก้าวข้ามกับดักเดิมของกรอบความคิด เปิดการทำงานแบบใหม่ เท่าทันสถานการณ์ของสังคมและโลกไร้พรมแดน ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี ใช้โอกาสจากการมีพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาที่เราไม่สามารถควบคุมได้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

4. สิ่งที่มุ่งหวังในระยะสั้นที่ศึกษาธิการจังหวัดรับผิดชอบ คือ การสร้างการรับรู้ให้กับสังคม เกี่ยวกับพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ รวมทั้ง ส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์พื้นที่ คือ โรงเรียนพัฒนาตนเอง โรงเรียนยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง มุ่งให้พื้นที่หรือจังหวัดจัดการศึกษาด้วยตนเองได้ด้วยพลังการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทางการศึกษาที่เป็นมหาวิทยาลัย หรือภาคีเครือข่ายอื่นๆ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา ที่เกิดความต่อเนื่อง เชื่อมโยงนำไปสู่การผลิตกำลังคนหรือผู้เรียนที่มีคุณภาพ มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มั่นคง และยั่งยืน

ในตอนท้าย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้เน้นย้ำให้ทุกส่วนราชการให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ทำงานควบคู่แบบบูรณาการทั้งในระดับภูมิภาค ซึ่งมีศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด และหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ทำงานเป็นหนึ่งเดียว (One team) และก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีแห่งการเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน และส่วนกลางพร้อมส่งเสริม สนับสนุนอย่างเต็มที่

________

ความรู้สึกจากผู้เขียนต่อการปรากฏตัวของท่านปลัดกระทรวงศึกษาธิการมีส่วนสำคัญที่ทำให้คณะทำงานในพื้นที่เกิดความฮึกเหิมและมีพลังใจในการทำงานเป็นอย่างยิ่ง ทำไมผู้เขียนจึงกล่าวเช่นนี้ นั่นเพราะสิ่งที่ผู้เขียนได้รับรู้มาจากโต๊ะรับประทานอาหารในช่วงพักกลางวันในกลุ่มคนคณะทำงานที่ผู้เขียนได้มีโอกาสนั่งรับประทานอาหารด้วย ได้มีการกล่าวถึงการมาปรากฏตัวในช่วงการเปิดงานช่วงเช้า การพูดถึงท่านปลัดฯ เป็นไปด้วยความปิติ ดีใจ เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง และกำลังใจ และผู้เขียนขอจบบทความนี้ด้วยเนื้อความบางส่วนที่ผู้เขียนจับใจความได้…

“..ท่านปลัดมาร่วมเปิดงานมามอบนโยบายเลยวันนี้ งานนี้ส่วนกลางท่าจะเอาจริงแบบนี้พวกเราก็ลุยเต็มที่ บ้านเราเอง ข้างบนไฟเขียวพร้อมสนับสนุนขนาดนี้แล้ว ถึงขนาดท่านปลัดมาเปิดงานให้ มากำชับ ศธจ. ให้ เราก็ต้องลุยเต็มที่เพื่อจังหวัดเรา เพื่อลูกหลานเรา”

 

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

     



ผู้เขียน: เก ประเสริฐสังข์
กราฟิกดีไซน์เนอร์ :
อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์ : ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
สพฐ. สป.ศธ. และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน รวมใจ รวมพลัง ร่วมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (พื้นที่ใหม่)“มุ่งมั่น ทุ่มเท ดึงการมีส่วนร่วม” เวทีการนับหนึ่งของพื้นที่เริ่มก้าว เวทีแบ่งปันเรื่องราวของพื้นที่ก้าวเดินแล้ว
บทความล่าสุด