ดร.อัมพร พินะสา รองเลขาธิการ กพฐ. “การศึกษาต้องสร้างทักษะชีวิต เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ปลุกพลังพ่อแม่และทุกภาคส่วน ร่วมสร้างนวัตกรรมการศึกษาตอบโจทย์พื้นที่”

5 กันยายน 2562

ดร.อัมพร พินะสา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน บรรยายพิเศษเกี่ยวกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษากับระบบโรงเรียน ในงานสมัชชาการศึกษาจังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล อ.ละงู จ.สตูล สาระสำคัญการบรรยายได้ชี้ให้เห็นว่า การศึกษาต้องเริ่มจากครอบครัว พ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก เช่น การทำอาหาร หาปลา หาบน้ำใส่ตุ่ม เกี่ยวข้าว ฯลฯ ให้เด็กได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ และต่อยอดความรู้

เมื่อเข้าสู่ระบบโรงเรียน เด็กได้เรียนเขียนอ่าน จะเห็นว่า โรงเรียนและครูถูกกำหนดให้สอน 200 วัน 1,000 ชั่วโมง 8 กลุ่มสาระ ให้ครูสอนเต็มความสามารถและศักยภาพ ให้ครูทุกคนมีแผนการสอน สอนให้จบเนื้อหา ให้นักเรียนสอบให้ได้คะแนนสูงๆ และจะพบว่า คุณภาพจะผันแปรตามผู้บริหาร โรงเรียนได้คะแนนดี เมื่อผู้บริหารย้ายคะแนนตก

การศึกษาคือความเจริญงอกงามของชีวิต เด็กอยู่ในพื้นที่ที่แตกต่าง ต่างทั้งทางภูมิสังคม ภูมิประเทศ และการบริหารจัดการการศึกษา ดังนั้น การจัดการศึกษาจึงจะต้องคงความเป็นไทย รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเปิดให้การจัดการศึกษาต้องไม่ทำเหมือนกัน ไม่ตัดเสื้อตัวเดียวใช้ทั้งประเทศ ต้องให้ความสำคัญกับการสอนเพื่อให้เอาตัวรอด ให้คิดเป็น ให้เห็นคุณค่าของการร่วมมือกัน และการสร้างคนคุณภาพ

การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ปรับเปลี่ยนในระดับพื้นที่จึงเป็นทางออก และทางรอดของประเทศ แนวทางการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จึงเป็นการให้อิสระของพื้นที่ ให้มีความคล่องตัว และมีนวัตกรรมที่สอดคล้องเหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 จึงเป็นเครื่องมือให้ผู้เกี่ยวข้อง หรือ “คนล่าฝัน” เป็นผู้ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงและต้องการร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษาของพื้นที่ จัดการระบบการบริหารจัดการแบบใหม่ ได้ดำเนินการตามความฝันความหวังของพื้นที่

พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษานี้ได้เปิดโอกาสให้พื้นที่และโรงเรียน สามารถ “ปลดล็อก” ได้ในหลายเรื่อง เช่น การปฏิเสธโครงการที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้เรียน หรือปรับเปลี่ยนในหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกรอบโครงสร้างของงานโรงเรียน ได้แก่ 1) งานวิชาการ อาทิ การปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ การซื้อสื่อหนังสือเรียน การใช้นวัตกรรมที่ตรงจริตของครูและพื้นที่ ปรับหลักสูตร หน่วยการเรียนรู้ ตารางเรียน การวัดผล 2) งานบุคคล อาทิ การคัดเลือกครูด้วยตนเอง การกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือก ผอ.โรงเรียน 3) การบริหารทั่วไป อาทิ การเปิด-ปิดภาคเรียนที่เหมาะสมกับอาชีพของผู้ปกครองนักเรียน การลดข้อติดขัดในการขออนุญาตพานักเรียนไปศึกษาดูงานนอกสถานที่ 4) งานการเงิน อาทิ การทำบัญชีงบประมาณแนวใหม่สำหรับโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ทั้งนี้ สพฐ. จะได้ดำเนินการวิเคราะห์สังเคราะห์ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ว่าอะไรที่สามารถทำได้ทันที และอะไรที่จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนการดำเนินการของพื้นที่และคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีความคล่องตัวมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นดังที่มุ่งหวัง หากปล่อยให้โรงเรียนทำเพียงฝ่ายเดียว จะไม่สำเร็จง่าย ทุกฝ่ายจะต้องมีส่วนร่วม และร่วมด้วยช่วยกัน จับมือกัน ทั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และศึกษาธิการจังหวัด ให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกกับการเรียนรู้ การพัฒนาการศึกษาจะต้องปรับเปลี่ยนให้เท่าทันเด็กและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญคือ การสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ และการบริหารจัดการใหม่ ในโอกาสที่เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา


รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ 11.jpg

ผู้เขียน: พิทักษ์ โสตถยาคม
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: นักผจญภาพ

Facebook Comments
ดร.ไกรเสริม โตทับเที่ยง ชูพื้นที่นวัตกรรมสตูลเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทำพันธกิจสำคัญของชาติ เห็นพ้อง “หวังผลแบบใหม่ ต้องไม่ทำแบบเดิม”สมัชชาการศึกษาจังหวัดสตูล: คุณภาพการศึกษาที่สร้างโดยคนใน
บทความล่าสุด