ปลดล็อกบุคลากร : ความหวังใหม่จากความเคลื่อนไหวของ ก.ค.ศ.

8 กุมภาพันธ์ 2563

การแก้ไขกฎระเบียบด้านบุคลากรเป็นเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งของ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เป็นที่ทราบดีว่า บุคลากรในหลายพื้นที่มีความคาดหวังอย่างมากว่าเครื่องมือนี้จะช่วยให้การดำเนินงานในพื้นที่นวัตกรรมเป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น ทว่า ก็เป็นที่เข้าใจโดยแพร่หลายเช่นกันว่า การแก้ไขกฎระเบียบด้านบุคลากรเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและอาจต้องใช้เวลานาน มาถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 9 เดือนหลังจากประกาศใช้ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นได้ว่า เส้นทางของการเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่ยาวไกลอย่างที่คิด

จากการหารือนอกรอบระหว่าง รศ.ดร. ประวิต เอราวรรณ์ รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. ดร.พิทักษ์ โสตถยาคม รอง ผอ. สบน. ณิชา พิทยาพงศกร และ ณัฐนันท์ อมรานันทศักดิ์ ทีมวิจัยนโยบายปฏิรูปการศึกษา TDRI เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ณ สำนักงาน ก.ค.ศ. ทำให้ทราบว่า ขณะนี้ ก.ค.ศ. ก็มีความพยายามปรับเปลี่ยนกฎระเบียบการบริหารงานบุคคลเพื่อให้สอดคล้องกับการยกระดับคุณภาพโรงเรียนและครูมากขึ้น โดยทีมงานของ ก.ค.ศ. ได้ดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยสถานการณ์การจัดการบุคลากรในระดับประเทศ และในเร็วๆ นี้ น่าจะได้เห็นการปรับปรุงกฎระเบียบ 3 เรื่อง ได้แก่

  1. แนวทางการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ให้เพิ่มประเภทการย้ายแบบใหม่ คือ “การย้ายเพื่อประโยชน์ราชการ” สำหรับโรงเรียนที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ ได้แก่ โรงเรียนร่วมพัฒนา โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรม หรือ โรงเรียนที่มีความท้าทายเป็นพิเศษ ให้โรงเรียนเหล่านี้สามารถสรรหาผู้อำนวยการที่มีความสามารถและวิสัยทัศน์ตรงกับเป้าหมายการพัฒนาด้วยวิธีการพิเศษได้
  2. ปรับแนวทางการสอบบรรจุครูใหม่เพื่อให้ครูได้เลือกโรงเรียนและโรงเรียนได้เลือกครู โดยยังมีการสอบภาค ก และ ข ที่ส่วนกลาง จากนั้น ผู้ที่มีคุณสมบัติถึงสามารถเลือกโรงเรียนและทำการสอบในขั้นตอนสุดท้ายที่โรงเรียน โดยแต่ละโรงเรียนจะมีคณะกรรมการสรรหาซึ่งประกอบด้วย ผู้อำนวยการ ครู และ ผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้มั่นใจว่าโรงเรียนจะได้บุคลากรที่ตรงกับเป้าหมายการพัฒนาของโรงเรียน และอาจให้มีการทดสอบการสอนเพื่อให้เห็นทักษะที่แท้จริงของผู้สมัคร
  3. ทำการวิจัยทดลองระบบประเมินวิทยฐานะครูแบบใหม่ให้สะท้อนความสามารถครูในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน เช่น อาจให้มีการส่งคลิปวิดิโอการสอนในห้องเรียนจริงเพื่อประกอบการขอเลื่อนวิทยฐานะ และมีการนำเทคโนโลยีมาลดภาระในการเตรียมเอกสารการประเมิน เมื่องานวิจัยชิ้นนี้แล้วเสร็จ จะมีการนำบทเรียนที่ได้มาใช้ในการปรับระบบวิทยฐานะที่เป็นอยู่ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอเหล่านี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงและมีรายละเอียดใหม่เพิ่มเติมในระหว่างการพิจารณา คณะกรรมการขับเคลื่อนและทีมงานต่างๆ ในพื้นที่คงต้องติดตามความคืบหน้ากันต่อไปจนกว่าจะมีการประกาศใช้จริง ในระหว่างนี้ แต่ละพื้นที่นวัตกรรมสามารถรวบรวมข้อเสนอเพื่อเพิ่มอิสระอื่นๆ เพื่อเตรียมนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายในอนาคต

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความพยายามของ ก.ค.ศ. ครั้งนี้ จะช่วยตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของพื้นที่ ทำให้โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมฯ มีโอกาสได้บุคลากรที่มีความเข้าใจและทักษะที่เหมาะสมกับนวัตกรรมที่โรงเรียนใช้มากขึ้น และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้อำนวยการและครูที่มุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ผู้เรียนมาโดยตลอด


ผู้เขียน: ณิชา พิทยาพงศกร
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์

Facebook Comments
โรงเรียนบ้านควนเก พื้นที่นวัตกรรมสตูล ผลที่เด็กได้ คุ้มค่า น่าชื่นใจ ตอบโจทย์ชุมชน โดนใจครูและผู้ปกครองเสริมพลัง สร้างความเข้าใจ ดึงการมีส่วนร่วม สบน. & TDRI รวมพลังยกระดับการสื่อสารสร้างสรรค์เชิงรุก
บทความล่าสุด