โรงเรียนบ้านควนเก พื้นที่นวัตกรรมสตูล ผลที่เด็กได้ คุ้มค่า น่าชื่นใจ ตอบโจทย์ชุมชน โดนใจครูและผู้ปกครอง

7 กุมภาพันธ์ 2563

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ได้มีโอกาสโทรศัพท์สัมภาษณ์ ผอ.อะหมาร สันนาหู ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านควนเก ซึ่งเป็น 1 ใน 10 โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล เพื่อสรุปข้อมูลประกอบการเตรียมการกำหนดวันลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ณ จังหวัดสตูล ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา และคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษา ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศและการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการศึกษา ผลการสัมภาษณ์ได้ข้อมูลโดยสรุปดังนี้

โรงเรียนบ้านควนเก โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 บ้านควนเก ตำบล แป-ระ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล เปิดสอนชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษา มีนักเรียนชั้นอนุบาล จำนวน 50 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษา จำนวน 175 คน รวม 225 คน มีครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 14 คน มีนายอะหมาร สันนาหู เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 ถึงปัจจุบัน

เป้าหมายการพัฒนา

โรงเรียนบ้านควนเก ต้องการพัฒนาเด็กให้เต็มศักยภาพ ไม่เหลื่อมล้ำ และพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนด้านอื่น ๆ ไม่ใช่มุ่งเพียงยกผลการทดสอบระดับชาติให้ดีขึ้นเท่านั้น ดึงพลังของผู้ปกครองและครู 3 เส้า ให้เข้ามาร่วมพัฒนาเด็กด้วยความเอาใจใส่ อย่างเข้มแข็ง และต้องการให้คุณภาพเด็กดีขึ้นมากที่สุดภายใน 3 ปี

สิ่งที่พบจากการปฏิบัติจริงของผู้เกี่ยวข้อง

ผู้อำนวยการโรงเรียน: มุ่งมั่น อดทน พยายาม นำพาครูให้ปรับเปลี่ยน ดำเนินการใช้ภูมิสังคมเป็นแหล่งเรียนรู้ ใช้โครงงานฐานวิจัย (RBL) เป็นกระบวนการหลักของโรงเรียน ตัดสินใจลงมือเปลี่ยนแปลง เพราะเห็นว่าคุณภาพผู้เรียนก่อนเริ่มต้นใช้ RBL ตกต่ำ และคิดว่าไม่สามารถตกต่ำไปได้มากกว่านี้แล้ว เห็นคุณค่าและเชื่อมั่นในกระบวนการเรียนรู้ RBL และประสบการณ์ของตนเองที่เคยร่วมขับเคลื่อนโรงเรียนเดิมไปพร้อมกับ ผอ.สุทธิ และคณะ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เริ่มจากการเป็นผู้นำ ให้แนวคิด ร่วมปฏิบัติ ใช้ทักษะการนำและการทำงานเป็นทีม
บทบาทผู้อำนวยการโรงเรียนทำหน้าที่ไปเยี่ยมชม ให้กำลังใจครูและเด็ก ใช้ Learning Walk เดินไปดูบรรยากาสทีละห้อง ๆ ห้องละประมาณ 10 นาที ส่วนการพิจารณาแผนการจัดการเรียนการสอนของครูจะดูผ่านระบบ ClassStart (ระบบห้องเรียนออนไลน์ https://www.classstart.org/) สนับสนุนโดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ซึ่งเปิดวิชาหนึ่งในระบบให้ครูได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อำนวยการโรงเรียน

ครูโรงเรียน: พัฒนาตนเองเพื่อนำไปพัฒนาเด็กทุก ๆ คน ครูพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ครูเปลี่ยนแปลงผ่านกระบวนการเรียนรู้โมเดลฝึกอบรมจากทีมโค้ชโหนดสตูล สกว.
ครูดีใจ ภูมิใจที่ได้เห็นเด็กเปลี่ยน ครูมีความสุขในการจัดการเรียนรู้ มีความสุขที่เห็นเด็กเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

ครูผู้ปกครอง: เครือข่ายผู้ปกครอง ห้องละ 4 คน จะคอยโอบล้อม เอาใจใส่ในการเรียนรู้ คอยติดตาม กระตุ้นการปฏิบัติในการจัดการเรียนรู้ ผู้ปกครองเข้าร่วมช่วยในด้านวิชาการ ร่วมพัฒนาลูกหลาน ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ ตามหลักครูสามเส้า ผู้ปกครองจะเข้าร่วมเป็นเจ้าภาพพัฒนาเด็ก ไม่ใช่ปล่อยเป็นภาระของโรงเรียน ดังนั้น สัดส่วนผู้ปกครองต้องช่วยพัฒนาเด็ก 40% ครู 30% และชุมชน 30%
กิจกรรมที่ผู้ปกครองร่วมส่งเสริมการเรียนรู้ใน 3 ส่วน คือ 1) กิจกรรมที่เด็กสนใจ และจัดการให้เกิดการจัดการเรียนรู้ให้เด็กในช่วงที่ครูแลกเปลี่ยนเรียนรู้วง PLC ในวันศุกร์บ่าย เช่น หาภูมิปัญญา ผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ในสิ่งที่เด็กสนใจ มาจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เด็ก จะใช้เวลา 2 ชั่วโมง/สัปดาห์ โดยผู้ปกครองเครือข่าย ทั้ง 32 คน จะจัดการมอบหมายผู้รับผิดชอบมาช่วยจัดกิจกรรมที่โรงเรียนในทุก ๆ วันศุกร์ เพื่อดูแลการเรียนรู้ของกลุ่มนักเรียน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มช่วงชั้น ป.1-3 และกลุ่มช่วงชั้น ป.4-6 2) กิจกรรมหรือหัวข้อเรื่องที่เด็กสนใจ แล้วไม่ถูกเลือกให้เป็นโจทย์การเรียนรู้รวมของห้อง เช่น ในการระดมสิ่งที่เด็กอยากเรียนจากทั้งห้อง อาจมีหัวข้อเรื่อง 17 หัวข้อ แต่ลงมติเลือกเป็นโจทย์ของห้องเพียง 1 โจทย์ ดังนั้น ยังเหลือเรื่องที่ 2-17 ที่ผู้ปกครองสามารถเติมให้เด็กได้เรียนรู้เป็นกลุ่ม ๆ ตามความสนใจ อาจจัดเป็นกลุ่มละ 5 คน แล้วให้เด็กได้ทำโครงงาน แต่เป็นโครงการปกติ (ไม่ใช่โครงงานฐานวิจัย) ภาคเรียนละ 1 เรื่อง ซึ่งผู้ปกครองจะคอยสนับสนุน ติดตาม หาข้อมูลมาร่วมจัดการเรียนรู้ให้เด็ก และ 3) กิจกรรมประสานเชิญภูมิปัญญามาช่วยสอนเด็ก

ครูชุมชน: ครูชุมชนได้จากการศึกษาทุนในชุมชน 5 ทุน ได้แก่ ทุนทรัพยากร ทุนวัฒนธรรม ทุนมนุษย์ ทุนเงินตรา และทุนภูมิปัญญา ทำให้เห็นว่าบุคคลที่จะประสานมาให้ความรู้เด็กได้บ้าง ซึ่งจะเชื่อมโยงกับครูผู้ปกครองในการประสานให้มาสอนเด็กในเรื่องที่เด็กสนใจ

ภาคีพี่เลี้ยง: ทีมโค้ช สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) จะเป็นผู้ออกแบบกระบวนการพัฒนาครู ครูทั้ง 10 โรงเรียน มีประมาณ 300 คน มีโมดูลอบรมพัฒนา จำนวน 4 โมดูล จัดอบรมโมดูลละ 3 รุ่น รุ่นละ 2 วัน ครูเข้าร่วมอบรม รุ่นละประมาณ 100 คน โมดูลที่ 1 เป็นการเรียนรู้เรื่องใกล้ตัว โมดูลที่ 2 พัฒนาเป็นโจทย์ โมดูลที่ 3 สร้างเครื่องมือ และโมดูลที่ 4 สรุปผล เป็นการทำไปพัฒนาไปให้ครบกระบวนการ RBL 14 ขั้นตอน ให้ครูผ่านการลงมือเก็บข้อมูลจริง
การพัฒนาครู จะใช้วิธีการอบรมเชิงปฏิบัติการที่ชัดเจน ไม่เน้นการนั่งฟัง แต่เน้นการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ อาจมีการให้สาระสำคัญบางประเด็น ให้กรอบ แล้วให้ครูที่เข้าร่วมอบรมแสวงหาข้อมูล ข้อสรุป และถอดบทเรียน สะท้อนความคิดความรู้สึก หรือทำ After Action Review (AAR) ทุกครั้งหลังดำเนินการ ยิ่งแลกเปลี่ยนยิ่งเกิดองค์ความรู้ ครูไม่เบื่อในการอบรมเช่นนี้
ทีมโค้ช สกว. จะลงไปร่วมวง PLC กับโรงเรียนด้วย โรงเรียนละ 2 คน เพื่อรับฟังและให้ข้อเสนอแนะร่วมแก้ปัญหาในการปฏิบัติ และจะลงโรงเรียนตามการร้องขอเพิ่มเติมได้อีกในช่วงเวลานอกเหนือจากชั่วโมง PLC หรือเวลาเรียนปกติ

เครือข่ายโรงเรียน: การรวมตัวเป็นโรงเรียนนำร่อง ทั้ง 10 โรงเรียน “เอาใจมาก่อน” รวมโรงเรียนที่มีความคิดในแนวทางเดียวกัน และพร้อมเปลี่ยนแปลง เป็นเครือข่ายการเรียนรู้และเดินไปด้วยกัน ซึ่งการพัฒนาการศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาที่ต่อเนื่อง ไม่เคยจบ ไม่เคยเสร็จสมบูรณ์ ทำไปเห็นประเด็นยกระดับการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เช่น จาก RBL 10 ขั้นตอน เป็น 14 ขั้นตอน ซึ่งทั้ง 10 โรงเรียนมีการพัฒนาต่อเนื่อง

นักเรียน: ทั้งเด็กปกติและเด็กพิเศษมีความสุขที่ได้เรียนรู้ ลงมือทำ เด็กมีทักษะที่ดีขึ้น เห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียน เห็นคุณค่าของกันและกัน ครูสะท้อนว่าจัดการเรียนรู้แบบนี้เมื่อแบ่งกลุ่มแล้ว “เด็กไม่เหลือ” หรือไม่มีเด็กคนใดถูกกีดกันไม่ให้เข้ากลุ่ม หรือ “ไม่มีเด็กที่เพื่อนไม่เอา” และเมื่อให้เด็กนำเสนอผลงาน เด็กมีความกล้า ไม่กังวล ไม่เกี่ยงกัน เป็นการนำเสนอจากผลการปฏิบัติ จากการทำจริง ทำกับมือ ไม่พะวงกับการจด เป็นการนำเสนอไม่มีสคริปต์ ไม่ติดตำรา “เด็กแย่งไมค์-ไม่มีโพย”

แนวทางที่จะดำเนินการเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

1. จัดเวทีเรื่องเล่าวิชาเล่น การปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้หรือปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน ดำเนินการผ่านมาแล้ว 1 ภาคเรียน จัดเวทีไปแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2562 หลังจากการดำเนินการพัฒนาโจทย์และดำเนินการวิจัยมาครึ่งปี หรือ 4 เดือน ให้เด็กนำเสนอต่อผู้ปกครองและครู ซึ่งผู้เข้าร่วมเวทีเห็นตรงกันว่าเด็กเปลี่ยน แล้วจะจัดอีกครั้งในปลายภาคเรียนที่ 2 ในช่วงวันที่ 25-31 มีนาคม 2563 เด็กจะนำเสนอผลการลงเก็บข้อมูล วิเคราะห์ คืนข้อมูลให้ชุมชนตรวจสอบความตรงและความถูกต้อง และนำเสนอผลในเวทีเรื่องเล่าวิชาเล่น คาดว่าเด็กจะนำเสนอผลได้คมชัดขึ้น แทงใจผู้เข้าร่วมเวที และจะตอกย้ำในทิศทาง แนวทาง วิธีการที่โรงเรียนใช้ในการพัฒนาเด็ก

2. จัด Workshop ครู โมดูลที่ 4 เป็นการเรียนรู้และฝึกการสรุปผลจากการเรียนรู้ RBL

3. ทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นหลักสูตรสถานศึกษาที่ใช้ข้อมูลต่าง ๆ และข้อมูล 5 ทุนที่มีอยู่แล้ว มาปรับใช้ได้ในปีการศึกษา 2563 รวมทั้งจะจัดทำเอกสารประกอบหลักสูตร และองค์ประกอบต่าง ๆ ให้พร้อมใช้

4.ยกระดับคุณภาพครู 3 เส้า ดำเนินการต่อเนื่องและให้มีความชัดเจนมากขึ้น ในกระบวนการเลือกภูมิปัญญา การกำหนดบทบาทการสนับสนุนส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนให้เป็นที่เข้าใจตรงกัน

5.เพิ่มโรงเรียนนำร่องคู่บัดดี้ เป็นการดำเนินการลงลึกในโรงเรียนนำร่องเดิม จำนวน 10 โรงเรียน และรับโรงเรียนที่สมัครใจ/พร้อมเปลี่ยน อีกอย่างน้อย 10 โรงเรียน เพราะขณะนี้มีโรงเรียนอีกหลายโรงเรียนที่มีความพร้อม และต้องการเข้าร่วมขับเคลื่อนเช่นเดียวกันกับโรงเรียนนำร่อง จึงควรส่งเสริมให้โรงเรียนที่สนใจจริงได้ร่วมดำเนินการไปพร้อมกัน อย่างน้อย 1 โรงเรียนต่อโรงเรียนนำร่อง 1 โรงเรียน เป็นการจับคู่กัน เป็น partner กันและกัน การดำเนินการเช่นนี้ไม่ถือเป็นการเพิ่มภาระของโรงเรียนนำร่องเดิม ทำให้ภาพการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลมีพลังมากขึ้น และเป็นการได้เริ่มนับหนึ่งในโรงเรียนที่มีความสนใจและตั้งใจจริงไปพร้อมกัน


ผู้เขียน: พิทักษ์ โสตถยาคม
ผู้ให้สัมภาษณ์: อะหมาร สันนาหู
ผู้สัมภาษณ์: พิทักษ์ โสตถยาคม
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: the potential, โรงเรียนบ้านควนเก

Facebook Comments
รวมหนังสือและเอกสารที่เกี่ยวข้องปลดล็อกบุคลากร : ความหวังใหม่จากความเคลื่อนไหวของ ก.ค.ศ.
บทความล่าสุด