จังหวัดบุรีรัมย์พร้อมเข้าสู่พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

21 ตุลาคม 2566
บุรีรัมย์พร้อมลุย พร้อมสู้ เพื่อเดินทางไปสู่พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

     เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 เวลา 14.00 น. สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) จัดประชุมตัวแทนคณะผู้เสนอขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อยืนยันความพร้อมในการจัดตั้งเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและเตรียมแนวทางในการขับเคลื่อนงานก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่พิจารณา


โดยมีนายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง  ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานเปิดการประชุม ในการประชุมนี้มีศึกษาธิการจังหวัดบุรีรัมย์และผู้แทนจากสถานศึกษาในจังหวัดบุรีรัมย์เข้าร่วมด้วย

     ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ได้เน้นย้ำว่าการเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องมีความเข้าใจวัตถุประสงค์และรูปแบบการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างชัดเจนที่ต้องมีความร่วมมือและความพร้อมในการขับเคลื่อนงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ศึกษาธิการจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อเสริมสร้างให้จังหวัดบุรีรัมย์เป็นต้นแบบปฏิรูปการบริหารและจัดการศึกษาที่ดีในอนาคต และได้กล่าวในช่วงท้ายว่า “มีความยินดีและพร้อมที่จะช่วยเหลือ หากทางพื้นที่มีความพร้อมในการขับเคลื่อนงานแล้ว เราก็จะจับมือและเดินไปด้วยกัน”

     นายพิทักษ์ โสตถยาคม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้กล่าวถึงการเสนอเรื่อง การจัดตั้งพื้นที่วัตกรรมการศึกษา จ.บุรีรัมย์ ให้คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 แต่เนื่องด้วยมี พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ทำให้คณะรัฐมนตรีชุดเดิมไม่สามารถพิจารณาเรื่องการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้ เพราะมีเรื่องบประมาณผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป จึงต้องเสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แทนในระหว่างที่ สพฐ. เสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่พิจารณา ทางคณะผู้เสนอขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.บุรีรัมย์สามารถออกแบบการขับเคลื่อนและเตรียมการด้านต่างๆ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันทีเมื่อได้รับการประกาศจัดตั้งให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

     นายสัมนาการณ์ บุญเรือง ศึกษาธิการจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เป็นตัวแทนกล่าวว่า “จ.บุรีรัมย์ มีความพร้อมในการเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เนื่องจากมองเห็นโอกาสและความอิสระในการบริหารและการจัดการศึกษาซึ่งจะสามารถช่วยพัฒนาบุตรหลานให้มีอาชีพ มีงานทำตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่ นั่นคือเป้าหมายสูงสุดของการเข้าร่วมเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของ จ.บุรีรัมย์”

     นายวรวิทย์  บุญหนัก ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาที่ประสงค์จะเป็นสถานศึกษานำร่องในแบบคำขอเสนอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ขณะนี้เป็นข้าราชการเกษียณและ ดำรงตำแหน่งเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า “อยากจะขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของจังหวัด เนื่องจากเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ของพี่น้องประชาชน จ.บุรีรัมย์ ที่ผ่านมาได้ปรึกษาภาคีเครือข่ายในพื้นที่เพื่อหาแนวทางและวิธีการขับเคลื่อนการศึกษาแนวใหม่ จึงได้นำเรียนให้ที่ประชุมทราบว่า ขณะนี้ได้มีกลุ่มสถานศึกษาจำนวนหนึ่งที่จะนำร่องในการจัดการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อตอบโจทย์การศึกษาของจังหวัดให้ได้ และสถานศึกษาที่ประสงค์จะเป็นสถานศึกษานำร่องในแบบคำขอเสนอจัดตั้งนั้นล้วนเป็นสถานศึกษาที่มีความพร้อมในการขับเคลื่อนการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นบริบทของสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาและคณะครู จึงถือเป็นโอกาสที่ดีถึงแม้จะเหลือระยะเวลาการเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพียงแค่ 3 ปีเศษ แต่เวลาก็เป็นเครื่องพิสูจน์ที่จะทำให้เห็นว่าชาวบุรีรัมย์มีความพร้อมและไม่ต้องรอเวลา เมื่อเป็นนักรบแล้วบอกให้รบก็พร้อมรบเลย และเป็นเมืองที่พร้อมใจกันที่จะพัฒนาการจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์ของคนในพื้นที่”

     ผลการประชุมสรุปได้ว่า คณะผู้เสนอขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.บุรีรัมย์ ยืนยันถึงความพร้อมในการเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและภาคีเครือข่ายในพื้นที่มีความพร้อมในการส่งเสริม สนับสนุนและดำเนินการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาหากคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ จ.บุรีรัมย์ เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยมีความเห็นประกอบ ดังนี้    

  • คณะทำงานด้านการศึกษา จ.บุรีรัมย์ ได้ศึกษาเรียนรู้แนวทางการดำเนินงานและการขับเคลื่อนงานของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
  • ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญกับการเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา รวมถึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มาเป็นส่วนช่วยในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
  • มีการจัดตั้งกองทุน “นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์” เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ และการบริหารสถานศึกษา รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์
  • มีแนวคิดที่จะนำหลักสูตรต่างประเทศ อาทิ ประเทศฟินแลนด์ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศจีน มาปรับใช้กับการจัดการศึกษาในสถานศึกษานำร่องให้เหมาะสมกับพื้นที่
  • ผู้บริหารสถานศึกษามีความพร้อม มีความต้องการที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงการบริหารและการจัดการศึกษาในเชิงพื้นที่
  • ต้องการพัฒนาคนในพื้นที่ให้มีความสามารถในด้านภาษา เนื่องจาก จ.บุรีรัมย์ เป็นเมืองกีฬาและเมืองแห่งการท่องเที่ยว รวมถึงมีความสามารถในการจัดงานระดับโลกและสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ เช่น งาน MotoGP เป็นต้น

     จากการประชุมตัวแทนคณะผู้เสนอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาดังกล่าว ทำให้ได้เห็นและเข้าใจชาวจ.บุรีรัมย์ ว่ามีความพร้อมในการจัดการศึกษาของจังหวัด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง จากการแสดงแนวคิดของตัวแทนคณะผู้เสนอขอจัดตั้งสะท้อนให้เห็นอีกว่า พี่น้องชาวบุรีรัมย์มีความกล้าลอง กล้าเรียนรู้ที่จะทดลองสิ่งใหม่ และไม่กลัวหากจะผิดพลาดหรือเจอความล้มเหลว เพราะหากล้มเหลวก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่จะนำมาเป็นบทเรียนในการจัดการศึกษาในรูปแบบปกติได้ และอาจเป็นแนวทางให้ผู้เรียนได้ค้นพบนวัตกรรมการศึกษาแนวใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนได้เช่นกัน

 

 

 

 

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

     


ผู้เขียน: ปราชญาพร แช่ใจ และสุวศิน เขียวสุวรรณ
ผู้ออกแบบ: กนกอร สินทนะโยธิน

Facebook Comments
เพาะพันธุ์ปัญญาโนนปูนวิทยาคม เสริมพลังใจ ใส่พลังการเรียนรู้ สู่การพัฒนากระบวนคิด4 ความท้าทายการปฏิรูปการศึกษา 6 ข้อเสนอก้าวข้ามความท้าทายการปฏิรูปการศึกษา
บทความล่าสุด