ทีมพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ส่งผลงานเด่น เข้าร่วมนำเสนอในงานประชุมนานาชาติ และได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานอย่างมาก

17 ธันวาคม 2562
1. ความเป็นมา

สืบเนื่องจากสถาบันอาศรมศิลป์ กรุงเทพมหานคร ได้แจ้งการจัดประชุมวิชาการงานระพีเสวนาวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 10 ปี ประจำปี 2562 ในวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2562 หัวข้อ “การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง: Transformative Learning” ช่องทางการสื่อสาร ในเว็บไซต์ของ www.arsomsilp.ac.th และช่องทางการสื่อสารอื่นๆ การประชาสัมพันธ์ดังกล่าวเชิญชวนให้ส่งบทความทางวิชาการเข้าร่วมนำเสนอ ทำให้มีผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองสนใจที่จะนำเสนอบทความทางวิชาการ หลังจากนั้น จึงเกิดการประสานความร่วมมือระหว่างผู้นำเสนองานวิจัยกับคณาจารย์ สถาบันอาศรมศิลป์ กรุงเทพมหานคร และทำให้ได้รับการยอมรับให้มีการนำเสนอเป็นส่วนหนึ่งของบทความวิชารวมทั้งสิ้น 8 บทความ ใน 23 บทความ การนำเสนอบทความทางวิชาการดังกล่าว แสดงให้เห็นศักยภาพทางด้านวิชาการของผู้บริหาร ครูและ บุคลากรทางการศึกษา การเผยแพร่นวัตกรรมการศึกษา และการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมตามยุทธศาสตร์ การศึกษาจังหวัดระยอง

2. รายชื่อบทความทางวิชาการ และ ผู้นำเสนอ

2.1 ผลของการประกาศเจตนารมณ์พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อความมุ่งมั่นของผู้บริหารสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 ผู้นำเสนอ ธันวา ลิ่มสถาวร และ ฮุสนา เงินเจริญ (ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และศึกษานิเทศก์ สพป.ระยอง เขต 2)

2.2 กระบวนการเรียนรู้ในการตัดสินใจของผู้บริหารในการปรับหลักสูตรสถานศึกษา กรณีศึกษา:สถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ผู้นำเสนอ นงค์นุช อุทัยศรี และ ธงชัย มั่นคง (คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง)

2.3 การจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์โดยใช้สื่อของจริงที่ส่งผลต่อเจตคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดถนนกะเพรา ผู้นำเสนอ นางสาวมนัสวี สรรเสริญ (ครูโรงเรียนวัดถนนกะเพรา)

2.4 การจัดการเรียนรู้บูรณาการอาชีพ เรื่อง “ฮ่อยจ๊อหรรษา” ที่ส่งผลต่อการพัฒนาความสามารถในการใช้ทักษะชีวิตของผู้เรียน ผู้นำเสนอ ณัฎฐิกา สมัยมงคล (ครูโรงเรียนวัดถนนกะเพรา)

2.5 การเรียนรู้สู่การทำ School concept แบบมีส่วนร่วมของครูโรงเรียนบ้านหนองม่วง สถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา อำเภอวังจันทร์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 ผู้นำเสนอเรไร สารราษฎร์ และพัชรินทร์ อินทวงษ์ (ผู้บริหารโรงเรียน และครู โรงเรียนบ้านหนองม่วง)

2.6 ผลการใช้กิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง กินดีอยู่ดี ที่มีต่อการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองของนักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 ผู้นำเสนอ นภาลัย ศรีสุข และคณะครู (ครูโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย)

2.7 กระบวนการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาที่ส่งผลต่อการยอมรับของครูผู้สอน กรณีศึกษา: โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย ผู้นำเสนอ อิงกมล บุญลือ และอาภาภรณ์ ชื่นมณี (ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย และศึกษานิเทศก์ สพป.ระยอง เขต 2)

2.8 การเรียนรู้สู่การสร้าง School concept ของผู้บริหารสถานศึกษา กรณีศึกษา: โรงเรียนบ้านคลองบางบ่อ “โรงเรียนพหุวัฒนธรรม” ผู้นำเสนอ นพรัตน์ สวัสดี (ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองบางบ่อ)

3. รูปแบบการนำเสนอ

Parallel Roundtable Presentations หรือ แบบผู้นำเสนอเล่าเรื่องปากเปล่า และผู้อภิปรายนั่งล้อมเป็นวง เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โต๊ะละประมาณ 10-12 คน ครั้งละ 6 โต๊ะ

4. บรรยากาศการนำเสนอ

ผู้ร่วมวงสนทนา จำนวนอย่างน้อย ๗๐ คน ให้ความสนใจในการนำเสนออย่างมาก เนื่องจากเป็นผลงานที่เกิดจากกระบวนการสร้างนวัตกรรมของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองและยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาจังหวัดระยอง เป็นผลการวิจัยจากงานที่ปฏิบัติจริงแล้วนำมาเขียนเรียบเรียงเป็นบทความทางวิชาการที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองจากคณาจารย์ของสถาบันอาศรมศิลป์ พบประเด็นการซักถามในวงสนทนาต่างๆ สรุปได้อย่างน้อย 3 ประเด็น ดังนี้
4.1 จุดเริ่มต้นในการคิดค้นนวัตกรรมเริ่มต้นอย่างไร

4.2 กระบวนการในการคิดค้นนวัตกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่จังหวัดระยอง อาทิ การปรับหลักสูตร การสร้าง School concept นั้นทำอย่างไร

4.3 การเปลี่ยนผ่านจากวิธีการบริหารจัดการและการจัดการเรียนรู้แบบเดิมสู่สิ่งใหม่ ทำอย่างไร ทำไมจึงตัดสินใจเปลี่ยน

5. ผลที่ได้รับ

5.1 จังหวัดระยองได้รับการยอมรับในระดับงานวิชาการนานาชาติว่าเป็นจังหวัดที่มีการขับเคลื่อน การศึกษาตามแผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดระยอง โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองเป็นผู้นำ นอกจากนี้บทความทางวิชาการที่ได้นำเสนอยังสะท้อนให้เห็นถึงวิถีการจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์บริบทพื้นที่ จังหวัดระยอง มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียนในศตวรรษที่ 21

5.2 สถานศึกษา และหน่วยงานทางการศึกษาได้รับการยอมรับให้เป็นต้นแบบในการจัดการศึกษาเป็นผู้สร้างนวัตกรรม เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 (มาตรา 5) ในประเด็น ได้แก่
1) การคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน รวมทั้งเพื่อดำเนินการให้มีการขยายผลไปใช้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น

2) ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา เนื่องจากนวัตกรรมการศึกษาส่วนใหญ่ มุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญ

3) สะท้อนให้เห็นการกระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การประกาศเจตนารมณ์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 และการปรับหลักสูตรสถานศึกษา (มาตรา 25)

4) การสร้างและพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เช่น การมีส่วนร่วมในการปรับหลักสูตร, การสร้าง School concept, การมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะทางอาชีพ เป็นต้น

5.3 ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษามีความมั่นใจในการจัดการศึกษาตามแนวทฤษฎีการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง, การดำเนินงานตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.๒๕๖๒, แผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดระยอง, การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดระยอง เนื่องจากปรากฏผลกับนักเรียนเป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

5.4 กรอบหลักสูตรท้องถิ่นจังหวัดระยอง (Rayong MARCO) ได้รับการยอมรับในเชิงการนำไปใช้ได้จริง โดยปรากฎอยู่ในหลักสูตรของสถานศึกษานำร่อง 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย, โรงเรียนบ้านคลองบางบ่อ, โรงเรียนวัดถนนกะเพรา และโรงเรียนบ้านหนองม่วง

6. ประเด็นการดำเนินงานต่อไป

6.1 สนับสนุน ส่งเสริมให้สถานศึกษานำร่องอื่นๆ ในจังหวัดระยอง มีการนำเสนอผลการจัดการศึกษาตามจุดเน้น (School concept) ต่อเวทีสาธารณชน เพื่อเป็นการสร้างการยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่เน้นการตอบโจทย์บริบทเชิงพื้นที่ การเรียนรู้จากชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้จากตำรา

6.2 จุดประกาย สร้างความตระหนักและการรับรู้ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเห็นความเชื่อมโยงของแผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดระยอง ทฤษฎีการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 ว่าเป็นเครื่องมือในการสร้างคนระยองให้มีสมรรถนะเป็นพลเมืองโลก (human competency) ร่วมสร้างเมืองระยองน่าอยู่

Written by ธงชัย  มั่นคง และนงค์นุช อุทัยศรี
Photo by ธงชัย  มั่นคง
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
สบน. ส่งสัญญาณให้โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เร่งปรับหลักสูตร ตาม พ.ร.บ. และเตรียมรองรับนโยบาย กพฐ. และ ศธ. ให้ทันก่อนเปิดเทอมแรก ปีการศึกษา 2563โรงเรียนบ้านมะนังกาหยี พื้นที่นวัตกรรมนราธิวาส น้อมนำศาสตร์พระราชา จัดการศึกษาบูรณาการ ยกระดับคุณภาพการอ่านและการเขียน
บทความล่าสุด