พื้นที่นวัตกรรมสตูล ทุกคนคือครูของเด็ก ๆ

3 มีนาคม 2563

วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ช่วงบ่ายหลังเด็ก ๆ ตื่นนอน ณ ห้องอนุบาล 3/2 โรงเรียนอนุบาลสตูล ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 5 คน มาเป็นครูผู้สอนเด็ก ๆ ในบทบาท “ครูสามเส้า” ซึ่งจะเป็นเช่นนี้จันทร์เว้นจันทร์ ในช่วงที่ครูเข้าร่วมกระบวนการ PLC สำหรับวันนี้เป็นการให้เด็ก ๆ ทำกิจกรรมทดลองวิทยาศาสตร์ง่าย ๆ มีชื่อกิจกรรมว่า สีเต้นระบำ รายละเอียดของกิจกรรมเป็นดังนี้

จุดประสงค์การเรียนรู้

1. เพื่อฝึกการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา
2. มีความรู้สึกที่ดีในการร่วมทำกิจกรรม
3. ปฏิบัติตามข้อตกลงได้
4. เพื่อฝึกทักษะการสังเกต เปรียบเทียบ คาดคะเน ความคิดรวบยอด

ขั้นตอนการสอน

1. พูดคุยกับเด็ก ๆ ว่าวันนี้เราจะมาทำกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ง่าย ๆ กันค่ะ กิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์วันนี้ มีชื่อกิจกรรมว่า สีเต้นระบำ
2. สนทนากับเด็ก ๆ ก่อนที่เราจะทำการทดลองวิทยาศาสตร์กัน เรามารู้จักอุปกรณ์การทดลองก่อนนะคะ
– นมสด
– สีผสมอาหาร 2-3 สี
– น้ำยาล้างจาน
– คอตตอนบัด
– จานพลาสติก
3. แบ่งเด็กนั่งเป็นกลุ่ม ๆ ละ 5-6 คน ให้แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนมารับอุปกรณ์
4. เมื่อแต่ละกลุ่มได้รับอุปกรณ์ครบแล้ว ให้เด็ก ๆ เริ่มทำการทดลองดังนี้
4.1 เทนมลงในจาน วางทิ้งไว้ให้น้ำนมนิ่ง ๆ
4.2 หยดสีผสมอาหารลงไปตรงกลางจาน สีละ 1 หยด
4.3 เอาคอตตอนบัตจุ่มน้ำยาล้างจาน แล้วแตะลงไปในจานนมสดที่ผสมสี
4.4 สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลง

ขั้นสรุป

1. สนทนากับเด็ก ๆ กิจกรรมที่ทำในวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง
– ให้เด็กพูดแสดงความรู้สึกถึงกิจกรรมที่ทำในวันนี้ ปรากฎว่า เด็ก ๆ สนุกสนานกับการเปลี่ยนแปลงของสีในนม มีการขอแลกเปลี่ยนสีกันแต่ละกลุ่ม กลายเป็นการผสมสีไปในตัว
2. เด็กและครูร่วมกันสรุปความรู้จากกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ สีเต้นระบำ คือ ในนมประกอบไปด้วยน้ำ โปรตีน แร่ธาตุ และไขมัน น้ำยาล้างจานจึงไปทำให้โมเลกุลของโปรตีนและไขมันเกิดการเปลี่ยนแปลงและแตกระจาย บิดโค้ง บิดเบี้ยว จึงทำให้เราสามารถล้างจานได้ ส่วนสีผสมอาหารเป็นเพียงตัวช่วยให้เราเห็นการทำปฏิกิริยาได้ชัดเจนขึ้น

ผลการจัดประสบการณ์

ทำให้ผู้ปกครองได้เรียนรู้ทำความเข้าใจไปพร้อมกับลูก ได้สร้างความสัมพันธ์ร่วมกัน ที่สำคัญ ลูกซึ่งผู้ปกครองมาสอน จะมีความภูมิใจมาก ดูได้จากแววตา และรอยยิ้มเด็ก ๆ คนอื่น ๆ มีความตื่นเต้น สนใจ ด้วยเปลี่ยนครูผู้สอนในแต่ละกิจกรรม เด็ก ๆ อยากให้ผู้ปกครองของตัวเองมาสอนด้วย 

ปัญหาและอุปสรรคที่พบ 

คือเด็ก ๆ จะพูดคุยสนใจเพียงชั่วครู่  สิ่งใดที่เคยเรียนรู้แล้วจะทำทันที ไม่ฟังคำอธิบายก่อน 

ข้อเสนอแนะ/แนวทางแก้ไข

ควรเลือกกิจกรรมที่เด็ก ๆ สนใจ หรือไม่ก็ต้องเป็นกิจกรรมแปลกใหม่อยู่เสมอ ทั้งนี้ต้องสอดแทรกความรู้ ความสนุก ฝึกทักษะ การคิดวิเคราะห์ หาเหตุผลที่สำคัญ ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อสร้างพื้นฐานการดำเนินชีวิตในสังคมให้นักเรียนไปพร้อมกัน

สรุป

จากการรับบทบาทครูสามเส้าในวันนี้ ได้เห็นแววตาและรอยยิ้มเด็ก ๆ แล้วทำให้การร่วมทำกิจกรรมเป็นไปด้วยความรู้สึกที่สนุก ไม่น่าเบื่อ และไม่เหนื่อย ในบทบาทแม่ที่ต้องดูแลลูกคนเดียวนั้น อาจมีบางครั้งที่เรารู้สึกว่าลูกเราทำไมเป็นและทำอย่างนั้น อย่างนี้ พอไปเห็นเด็ก ๆ เลยรู้ว่า จริง ๆ เค้าก็เหมือน ๆ กัน อยากเล่นสนุกมากกว่าเรียน อยากร้องเพลงมากกว่านั่งท่องตำรา เลยได้เรียนรู้ว่าทุกอย่างต้องทางสายกลาง คือ เด็กชอบอะไร พ่อแม่อยากได้อะไร  เอามาผสมกันให้อยู่ตรงกลาง คือ ผ่านกิจกรรมนั่นเอง  ลูกอยากเล่นสนุก เราจัดหากิจกรรมต่าง ๆ ที่เด็กจะสนุกได้มาใช้ในการสร้างความรู้ ฝึกทักษะให้เด็ก เด็กมีความสุข พ่อแม่มีความสุข คุณครูก็เป็นโค้ชคอยสนับสนุนทั้งลูก และพ่อแม่ ให้เข้าใจตรงกัน นี่คือสิ่งที่ได้รับจากบทบาทครูสามเส้าให้วันนี้ค่ะ


ผู้เขียน: ว่าที่ ร.ต.หญิงปิยะวรรณ ศรีคงแก้ว
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ปุณยวีร์ บำรุงรัตน์

Facebook Comments
พื้นที่นวัตกรรมต้องกล้าคิดต่าง สร้างสรรค์ ไม่ติดหลุมพรางทฤษฎี ต้องมี Coordinator4 เขตพื้นที่เชียงใหม่ สร้างความเข้าใจ รร.นำร่อง เตรียมปรับใช้หลักสูตรแกนกลางฯ ตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรม
บทความล่าสุด