ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษฯ ชู “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์จังหวัด เดินหน้าผนึกกำลัง “ชวนคิด-ชวนทำ” เชื่อมโยงกลไกความร่วมมือของ “คนในพื้นที่” และ “ภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา” จัดทำ (ร่าง) กรอบหลักสูตรจังหวัดฐานสมรรถนะ

31 มกราคม 2563

ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ เปิดจวนผู้ว่าฯ ต้อนรับ ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน) จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พร้อมด้วย นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล นายพงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยจาก TDRI และตัวแทนแกนนำหลักของคณะทำงานขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัด นำโดยนางวัชรกาญจน์ คงพูล ศึกษาธิการจังหวัด นายเสนีย์ เรืองฤทธิ์ราวี ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 4 และนายอภิศักดิ์ แซ่จึง รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เข้าพบเพื่อสรุปผลการดำเนินงานขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาว่ามีความก้าวหน้าตามเป้าหมาย และมีแนวโน้มพัฒนาขยายผลได้ใน 2 มิติหลักที่สำคัญ คือ

1. ด้านการสร้างการมีส่วนร่วมและกลไกขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรม  :  สามารถจัดตั้ง “คณะอนุกรรมการดำเนินงาน 4 ด้าน” ที่เกิดจากการเชื่อมโยง “คนในพื้นที่” จากทุกภาคส่วน  ร่วมคิด วิเคราะห์ และจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา  ซึ่งแนวคิดนี้สามารถสร้างการรับรู้และ “การเป็นเจ้าของร่วม” ในการจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชน  มุ่งพัฒนาเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีคุณลักษณะ “รู้คิด จิตใจดี มีทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต”  เพื่อเป็นพลเมืองศรีสะเกษที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต

คณะอนุกรรมการดำเนินงาน 4 ด้าน ประกอบด้วย
1. ด้านยุทธศาสตร์และแผน
2. ด้านส่งเสริมการรับรู้และมีส่วนร่วม
3. ด้านเสริมสร้างความเข้มแข็งการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้
4. ด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการศึกษา

2. ด้านการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา : มูลนิธิสยามกัมมาจลในฐานะที่ปรึกษาและพี่เลี้ยง ให้การสนับสนุนเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ (Mentors) ในการพัฒนา “ครู” ในการจัดการเรียนรู้การสอนแบบ Active Learning ต่อยอดขยายผลจากฐานทุนเดิมของโรงเรียนในการปรับวิธีเรียน-เปลี่ยนวิธีสอนผ่านการใช้ 7 นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ใน 50 โรงเรียนนำร่อง

จากการดำเนินงานพัฒนากลุ่มโรงเรียนนำร่องตลอด 1 ปีที่ผ่านมา  พบว่าผู้บริหารและครูมีความรู้ ความเข้าใจในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม  มีความตื่นตัวและเปิดใจใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ใหม่ ๆ  เพื่อใช้ในการออกแบบและจัดทำแผนการเรียนการสอนที่เป็น Active Learning และเริ่มมีตัวอย่างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและภาคีเครือข่ายทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน และผู้ประกอบการมากขึ้นตามลำดับ

ทั้งนี้ ได้มีการออกแบบกรอบการติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาโรงเรียนนำร่องในองค์ประกอบหลัก 7 ด้าน ผ่านการสังเกตพฤติกรรมบ่งชี้ (Key Behavior) ที่สะท้อนผลต่อการบริหารจัดการสถานศึกษา  และการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ   โดยใช้จุดจ้องมองการติดตามความก้าวหน้านี้เป็นแนวทางในการพัฒนาต่อยอดและขยายผลในปีถัดไป

หมายเหตุ : ตารางแสดงผลการติดตามความก้าวหน้าตามองค์ประกอบหลัก 7 ด้าน (ไม่รวมโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ)

และอีกหนึ่งความก้าวหน้าที่สำคัญ คือ การค้นพบ Core Team สำคัญในโรงเรียนที่จะเป็นแกนนำหลักในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนที่อิงฐานสมรรถนะสู่ผู้เรียนเป็นสำคัญ และมีแนวโน้มขยายผลสู่การเป็น “โรงเรียนแกนนำขยายผล” (Node) ที่จะเป็นพี่เลี้ยง ดูแล-ให้คำปรึกษาโรงเรียนนำร่องอื่น ๆ ต่อไปอีกด้วย

โดยในปี 2563 คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาศรีสะเกษ  ได้วางแผนและจัดทำยุทธศาสตร์การจัดการศึกษา  มุ่งพัฒนาและจัดทำ (ร่าง) กรอบหลักสูตรศรีสะเกษศึกษาอิงฐานสมรรถนะ (Competency Based Curriculum)  เพื่อเป็นแนวทางให้โรงเรียนต่าง ๆ  สามารถนำไปปรับใช้ในการออกแบบและจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาของตนเองต่อไป

ในโอกาสนี้  ผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวชื่นชมทุกภาคส่วนที่ได้ผสานความร่วมมือในการจัดการศึกษาอย่างทุ่มเทและเสียสละ   มีการวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาทั้งระบบ  และให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นของ “คนในพื้นที่”  ซึ่งจะเป็นการพัฒนาศักยภาพ “เด็กและเยาวชนพลเมืองศรีสะเกษ”  ที่สอดคล้องกับฐานทุนบริบทชุมชนและตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง   พร้อมชู “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา”  เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์จังหวัดอีกด้วย

Written by นางสาวนภัทร ฐิติดำเกิง
Photo by นางรัตนา กิติกร นางสาวนภัทร ฐิติดำเกิง และนางสาววลีรัตน์ มิ่งศูนย์

Facebook Comments
โรงเรียนบ้านหนองม่วง พื้นที่นวัตกรรมระยอง เตรียมความพร้อมสู่ School concept ใน 9 ประเด็น ก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/25634 องค์กรผสานพลัง พัฒนา Digital Platform สตูล เตรียมเปิดตัวเพลินบุ๊ค (Plearn Book) แหล่งเรียนรู้ออนไลน์ที่ใคร ๆ ก็ใช้ได้
บทความล่าสุด