กล้าคิด กล้าเปลี่ยน ลงมือทำ โรงเรียนบ้านบาตัน สร้างคุณภาพการเรียนรู้ เพื่อสร้างนวัตกรและผู้ประกอบการน้อย ตามวิถีอิสลามในสังคมแห่งความสุขนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง

11 มีนาคม 2025

 

กล้าคิด กล้าเปลี่ยน ลงมือทำ

โรงเรียนบ้านบาตัน สร้างคุณภาพการเรียนรู้ เพื่อสร้างนวัตกรและผู้ประกอบการน้อย ตามวิถีอิสลามในสังคมแห่งความสุขนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง 

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ครูฮานะ (น.ส.ฮานาน สามะ) ครูจากโรงเรียนบ้านบาตัน (ฟลอยด์รอสอนุสรณ์) สังกัด สพป.ยล.1 หนึ่งในสถานศึกษานำร่องของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา ขณะนั้น ครูฮานะกำลังฝึกประสบการณ์ด้านการบริหารการศึกษาตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ณ สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ. ผู้เขียนจึงได้พูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์การเป็นครูในพื้นที่นวัตกรรม และขอนำข้อคิดดีๆ จากการสนทนามาแบ่งปันเพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้อ่านทุกท่านครับ


สารบัญ
  • บริบทของสถานศึกษาและพื้นที่
  • การพัฒนานวัตกรรมการศึกษา 
  • แนวทางในการกำหนด School Concept และการพัฒหลักสูตรฐานสมรรถนะ
  • โอกาสและความท้าทายของการเป็นโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรม 
  • กล้าคิด กล้าเปลี่ยน ลงมือทำ

บริบทของสถานศึกษาและพื้นที่

ครูฮานะเล่าว่า โรงเรียนบาตันเป็นสถานศึกษาที่เข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา ซึ่งทำให้โรงเรียนมีอิสระในการคิดค้นและทดลองสิ่งใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม ครูฮานะย้ำว่าโรงเรียนมีบริบทเฉพาะคือ เป็นโรงเรียนอิสลามแบบเข้มข้นร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นทุกขั้นตอนของการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาจึงต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อของชุมชนอย่างรอบคอบ

ในช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่พื้นที่นวัตกรรม ครูฮานะเล่าว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งผู้บริหารและคุณครูยังมีข้อสงสัยและไม่มั่นใจเกี่ยวกับความอิสระของพื้นที่นวัตกรรม โดยเฉพาะในด้านการบริหารจัดการงบประมาณ รวมถึงคุณครูหลายท่านที่เคยชินกับแนวทางการสอนแบบเดิมๆ ยังรู้สึกกังวลกับภาระงานที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อผ่านการพูดคุยและทำความเข้าใจอย่างต่อเนเนื่อง ครูและบุคลากรเริ่มเห็นคุณค่าและประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลง จนสามารถผลักดันการจัดการเรียนรู้ให้ประสบความสำเร็จผ่านนวัตกรรมที่คิดขึ้น เช่น BATAN MODEL, Triple P Plus Model และ ATI Model ซึ่งล้วนได้รับการยอมรับและกลายเป็นจุดเด่นของโรงเรียน


การพัฒนานวัตกรรมการศึกษา 

จากการพูดคุย ครูฮานะได้กล่าวว่า โรงเรียนบาตันได้ให้ความสำคัญกับการนำ นวัตกรรมการศึกษา มาประยุกต์ใช้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับบริบทของชุมชน โดยมีตัวอย่างที่โดดเด่น 3 ด้าน ดังนี้ 

  • BATAN Model
  • Triple P+ Model
  • ATI Model
BATAN Model: นวัตกรรมด้านการบริหาร 

BATAN Model เป็นนวัตกรรมที่ริเริ่มโดยผู้อำนวยการโรงเรียน มีแนวคิดหลักคือ “คิดดี ทำเป็น มุ่งสู่จุดที่ยิ่งใหญ่” โดยออกแบบเป็นวงจรต่อเนื่องที่มี 5 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ 

  • B – Build up (การสร้างเสริมและพัฒนา) เน้นสร้างแรงบันดาลใจ ความมุ่งมั่นในการทำงาน และส่งเสริมให้เกิดการสร้างผลงานอย่างมีคุณค่า 
  • A – Activity (กิจกรรม) จัดกิจกรรมหลากหลายเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างสร้างสรรค์ 
  • T – Technology (เทคโนโลยี) นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนกิจกรรมการเรียนการสอนและการบริหารงานให้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 
  • A – Achievement Motivation (แรงจูงใจสู่ความสำเร็จ) สร้างแรงจูงใจเพื่อให้บุคลากรและนักเรียนมุ่งสู่ความสำเร็จในการเรียนและการทำงาน 
  • N – Network (เครือข่าย) เน้นการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายภายนอก ทั้งผู้ปกครอง ชุมชน และองค์กรต่างๆ เพื่อสนับสนุนและผลักดันกิจกรรมของโรงเรียน

ตัวอย่างการนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารข้อมูล และการสร้างเครือข่ายกับชุมชนในการจัดกิจกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืน 

Triple P Plus Model: นวัตกรรมด้านการจัดการเรียนการสอน 

ครูฮานะได้เล่าถึง Triple P Plus Model ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาร่วมกับศึกษานิเทศก์ของเขตพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหานักเรียนขาดความกล้าแสดงออกและพูดภาษาไทยไม่ชัด โมเดลนี้ใช้ทฤษฎี Brain-Based Learning (BBL) เป็นพื้นฐาน และถือเป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียน มีขั้นตอนที่สำคัญ 4 ขั้นตอน ดังนี้ 

  • P1: Prepare (เตรียมความพร้อม): ขั้นตอนนี้มุ่งเน้นไปที่การสร้างแรงบันดาลใจและดึงดูดความสนใจของผู้เรียนก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาบทเรียนอย่างเป็นทางการ เป้าหมายคือการกระตุ้นให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็นและพร้อมที่จะเรียนรู้ในหัวข้อนั้นๆ ครูจะต้องเฟ้นหาเรื่องราว กิจกรรม หรือสื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจและเชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิมของเด็ก
    ตัวอย่างกิจกรรมในขั้นเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กเล็กอาจเป็นการใช้เพลงที่สนุกสนาน หรือการเล่านิทานที่เกี่ยวข้องกับบทเรียน. สำหรับเด็กโต อาจเป็นการตั้งคำถามที่กระตุ้นความคิด หรือการยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของพวกเขา ขั้นตอนนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นบวกและกระตุ้นความสนใจของนักเรียนตั้งแต่เริ่มต้น. 
  • P2: Practice (ลงมือทำ): ขั้นตอนนี้เน้นการให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเอง เพื่อสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจในเนื้อหา แนวคิดหลักคือการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง (Learning by Doing) แทนการสอนแบบบรรยายเพียงอย่างเดียว ครูจะออกแบบกิจกรรมที่หลากหลายให้เด็กได้สำรวจ ทดลอง แก้ปัญหา และสร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเองหรือเป็นกลุ่ม
    ตัวอย่างกิจกรรม เช่น การนำผลไม้จริงในท้องถิ่นมาใช้ในการสอนคณิตศาสตร์เรื่องการบวก. โดยให้เด็กๆ ได้หยิบผลไม้ตามจำนวนที่กำหนด แล้วนำมารวมกัน เพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจหลักการทางคณิตศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม การลงมือปฏิบัติจริงนี้ช่วยให้เด็กสามารถเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับประสบการณ์เดิม และสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งและยั่งยืน. ครูมีบทบาทเป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของเด็ก. 
  • P3: Presentation (นำเสนอ/สะท้อนความรู้): หลังจากที่เด็กได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมในขั้นที่สองแล้ว ขั้นตอนนี้จะเปิดโอกาสให้เด็กได้นำเสนอผลงาน หรือสะท้อนสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้และความเข้าใจที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ จุดประสงค์หลักคือการฝึกความกล้าแสดงออก การสื่อสารความคิดของตนเองอย่างชัดเจน และเป็นการตรวจสอบความเข้าใจในเนื้อหาของเด็กไปพร้อมกัน
    ตัวอย่างกิจกรรมในขั้นนี้อาจเป็นการให้แต่ละกลุ่มออกมานำเสนอผลการทำกิจกรรมของตนเอง อธิบายขั้นตอนการทำงาน สิ่งที่ค้นพบ และตอบข้อซักถามจากครูและเพื่อนร่วมชั้น ครูอาจใช้คำถามกระตุ้นให้เด็กคิดวิเคราะห์และเชื่อมโยงความรู้ที่ได้กับแนวคิดหลักของบทเรียน การนำเสนอและสะท้อนความรู้นี้ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตนเองของเด็ก และยังเป็นโอกาสให้ครูได้ประเมินความเข้าใจของนักเรียนอย่างรอบด้าน. 
  • P4: Production (สร้างสรรค์/ประยุกต์ใช้): ขั้นตอนสุดท้ายคือการส่งเสริมให้เด็กนำความรู้และความเข้าใจที่ได้รับไปต่อยอด สร้างสรรค์ชิ้นงาน หรือประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไป เป้าหมายคือการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา และการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง
    ตัวอย่างกิจกรรม เช่น สำหรับเด็กโต อาจเป็นการท้าทายให้พวกเขานำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปคิดค้นเป็นไอเดียในการเป็นผู้ประกอบการน้อย หรือสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ครูอาจตั้งโจทย์หรือสถานการณ์ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้จินตนาการและความรู้ที่มีอยู่ในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นรูปธรรม ขั้นตอนนี้จึงเป็นการส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น และเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้ 

ในช่วงแรกของการนำ Triple P+ Model มาใช้ ครูบางท่านอาจรู้สึกว่าเป็นการเพิ่มภาระงาน โรงเรียนจึงให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจและปรับเปลี่ยนความคิด (mindset) ของครู โดยใช้วิธีการพูดคุยและมองหาความสนุกในการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ การนิเทศแบบคู่บัดดี้ (buddy coaching) ยังเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนให้ครูแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาการสอนร่วมกัน โดยมีการสังเกตการณ์ สะท้อนผล และให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์. การที่โรงเรียนสามารถปรับเปลี่ยนความคิดของครูและทำให้ครูยอมรับและนำ Triple P+ Model ไปใช้ในแผนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของนวัตกรรมนี้. 

ATI Model นวัตกรรมการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม

ครูฮานะกล่าวถึง ATI Model นวัตกรรมการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนที่ถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกับวิถีอิสลาม ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 

  • A – Al-Quran and Al-Hadith (ศึกษาบทเรียนจากคัมภีร์อิสลาม) เรียนรู้หลักคุณธรรมโดยตรงจากคัมภีร์อัลกุรอานและอัลฮะดีษ
  • T – Train (การฝึกอบรมและบูรณาการคุณธรรม) นำหลักการคุณธรรมที่ได้ศึกษามาฝึกปฏิบัติและบูรณาการในการเรียนการสอน กิจกรรมประจำวัน และกิจกรรมอบรมคุณธรรมประจำสัปดาห์ 
  • I – Islamic/Idol (ต้นแบบคุณธรรม) ส่งเสริมให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมที่ดีและเป็นต้นแบบให้กับเพื่อนๆ โดยมีการยกย่องและให้รางวัลแก่นักเรียนที่มีพฤติกรรมดีเด่นเพื่อเป็นแรงจูงใจ การประเมินผลคุณธรรมจะทำผ่านการสังเกตพฤติกรรมจริงของนักเรียนทั้งในห้องเรียนและกิจกรรมต่างๆ ซึ่งนักเรียนที่แสดงพฤติกรรมดีเด่นด้านคุณธรรมจะได้รับการยกย่องและรางวัลเป็นประจำทุกเดือน 

ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมนี้ทำให้โรงเรียนได้รับการยอมรับในระดับประเทศ โดยได้รับรางวัลเป็น “โรงเรียนคุณธรรม สพฐ.” ซึ่งรางวัลนี้เป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จและประสิทธิภาพของ ATI Model ที่โรงเรียนพัฒนาขึ้นมา


แนวทางในการกำหนด School Concept และการพัฒหลักสูตรฐานสมรรถนะ

จากการพูดคุยกับครูฮานะ พบว่าการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นการกำหนด School Concept หรือการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะนั้น มีขั้นตอนสำคัญที่สามารถนำไปเป็นแนวทางให้กับโรงเรียนอื่นๆ ได้ดังนี้

วิเคราะห์บริบท (Context Analysis)

ขั้นแรกของการพัฒนานวัตกรรมและการกำหนด School Concept คือ การเข้าใจบริบทของโรงเรียนอย่างลึกซึ้ง ได้แก่

  • บริบทของชุมชน เช่น วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ
  • ฐานทุนและทรัพยากรของโรงเรียน เช่น บุคลากร งบประมาณ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมในชุมชน
  • เป้าหมายที่ชัดเจนของโรงเรียน ว่าต้องการพัฒนานักเรียนในด้านใด (เช่น นวัตกร ผู้ประกอบการ คุณธรรมจริยธรรม)

ครูฮานะย้ำว่า การวิเคราะห์บริบทอย่างละเอียดคือรากฐานสำคัญของการกำหนดแนวคิดหลักของโรงเรียนที่จะตอบโจทย์และสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของผู้เรียนและชุมชน

การกำหนดแนวคิดหลัก (School Concept)

เมื่อได้ข้อมูลที่ชัดเจนจากการวิเคราะห์บริบทแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการกำหนด แนวคิดหลัก (School Concept) ที่สะท้อนอัตลักษณ์และเป้าหมายของโรงเรียน ซึ่งควรมีลักษณะสำคัญ คือ มีความชัดเจนและเข้าใจง่าย เพื่อให้บุคลากรทุกฝ่ายมีเป้าหมายร่วมกันสอดคล้องกับบริบทและอัตลักษณ์ของโรงเรียน ซึ่งได้รับความร่วมมือและพัฒนาจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดยะลาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาจนได้เป็น School Concept

โรงเรียนบ้านบาตัน สร้างคุณภาพการเรียนรู้ เพื่อสร้างนวัตกรและผู้ประกอบการน้อย ตามวิถีอิสลามในสังคมแห่งความสุขนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง

โดยมีรายละเอียดการกำหนดคำนิยามที่สำคัญดังนี้:

  • สร้างคุณภาพการเรียนรู้ หมายถึง
    โรงเรียนมุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ทางวิชาการ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ผู้เรียนสามารถควบคุมและเข้าใจวิชาการอย่างลึกซึ้ง ควบคู่กับการเห็นคุณค่าและภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงมีทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาตามหลักคุณธรรมอิสลาม เช่น
    เรียนรู้ท้องถิ่น เข้าใจบริบท ความเป็นมา เห็นคุณค่าในท้องถิ่น
    เรียนรู้ภาษา อ่านออกเขียนได้ผ่านการใช้นวัตกรรม ทั้งภาษาไทย อังกฤษ มลายู และอาหรับ
    เรียนรู้อาชีพ การประกอบอาชีพท้องถิ่นเพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด ใช้ฐานทุนทรัพยากรชุมชน
  • สู่การเป็นนวัตกร หมายถึง
    เน้นพัฒนาทักษะให้นักเรียนสามารถคิดค้นและสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ โดยบูรณาการวิชาความรู้ที่หลากหลายเข้าด้วยกัน เพื่อให้เด็กสามารถนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ผ่านกระบวนการคิดสร้างสรรค์ที่เน้นท้องถิ่นและบริบทของชุมชน เช่น
    → การเป็นคนชังสังเกต คิดริเริ่ม นำความรู้ที่มีผ่านกระบวนการคิด ออกแบบ และสร้างสรรค์ โดยใช้เทคโนโลยี และทรัพยการในท้องถิ่น ในการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบสนองสังคม
  • สร้างผู้ประกอบการน้อย หมายถึง
    โรงเรียนมุ่งปลูกฝังทักษะความเป็นผู้ประกอบการน้อย เพื่อให้นักเรียนสามารถค้นหาโอกาสในการสร้างสินค้าและบริการ โดยใช้ความรู้ที่ได้จากการเรียนไปสู่การลงมือปฏิบัติจริง และต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในชุมชน เช่น
    → การเป็นคนที่สามารถค้นหาโอกาสและใช้โอกาสในการสร้างสินค้าและบริการ และนำความรู้ใหม่ ๆ มาต่อยอดผ่านการคิดอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างอาชีพและรายได้
  • ตามวิถีอิสลามในสังคมแห่งความสุข หมายถึง
    การนำหลักคำสอนของอิสลามมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และมั่งหวังที่จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

จากการพูดคุยกับครูฮานะ ผู้เขียนมองเห็นชัดเจนว่า School Concept นี้เป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยให้โรงเรียนสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม และตอบสนองเป้าหมายของการพัฒนานักเรียนให้เติบโตทั้งในมิติของวิชาการ คุณธรรม และการดำเนินชีวิตได้อย่างสมดุล นอกจากนี้ ยังสามารถแปลงแนวคิดหลักไปสู่ธีมย่อยหรือกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละระดับชั้นเรียน เช่น

  • ชั้น ป.1 “เปิดบ้านเล่าขานตำนานบาตัน”
  • ชั้น ป.6 “สานฝันผู้ประกอบการน้อย”

แนวคิดนี้จะเป็นแกนกลางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการบูรณาการหลักสูตรของโรงเรียนต่อไป

การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-Based Curriculum Development)

การปรับหลักสูตรในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมต้องเน้นการพัฒนาสมรรถนะของนักเรียนให้สามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริง โดยมีแนวทางดังนี้

  • ออกแบบโครงสร้างหลักสูตรให้ยืดหยุ่นและบูรณาการได้โดยพิจารณาความเชื่อมโยงระหว่างวิชาต่างๆ เพื่อลดความซ้ำซ้อน และส่งเสริมการประยุกต์ใช้ความรู้ และสอดคล้องกับกรอบหลักสูตรของจังหวัด
  • การใช้โมเดลการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม เช่น Triple P Plus Model ซึ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ผ่านขั้นตอนการเรียนรู้ที่ชัดเจน คือ Prepare (เตรียม), Practice (ลงมือทำ), Presentation (นำเสนอ), และ Production (สร้างสรรค์และประยุกต์ใช้)
  • กำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome – LO) ที่ชัดเจนและสอดคล้องกับ School Concept และ Theme ของแต่ละชั้นปี เพื่อให้นักเรียนมีเป้าหมายการเรียนรู้ที่ชัดเจนและวัดผลได้ง่าย
  • เน้นกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริง คิดวิเคราะห์ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อพัฒนาสมรรถนะในการเรียนรู้ระยะยาว
  • บูรณาการคุณธรรมและจริยธรรม (เช่น ATI Model) เพื่อให้นักเรียนเติบโตอย่างสมดุลทั้งด้านวิชาการและการใช้ชีวิต โดยอาศัยการนำหลักธรรมที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนมาบูรณาการเข้ากับกิจกรรมต่างๆ อย่างชัดเจน
การสนับสนุนและปรับ Mindset ของครู

หัวใจสำคัญที่ครูฮานะเน้นย้ำ คือ การปรับทัศนคติของครูให้เห็นคุณค่าและพร้อมเปิดรับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการสื่อสารให้เห็นว่า นวัตกรรมและหลักสูตรใหม่มีประโยชน์กับผู้เรียนจริงๆ ผ่านวิธีการต่างๆ เช่น

  • การพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน
  • ระบบการนิเทศแบบคู่บัดดี้ (Buddy Coaching) เพื่อสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • ให้อิสระในการทดลองนวัตกรรมและการสอนแบบใหม่ เพื่อให้ครูไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ
  • ชื่นชมและยกย่องผลงาน เพื่อกระตุ้นให้ครูมีกำลังใจและมีแรงจูงใจในการพัฒนางานของตนเองต่อไป

โอกาสและความท้าทายของการเป็นโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรม 

 

จากการสัมภาษณ์ ครูฮานะสะท้อนถึงทั้ง โอกาส และ ความท้าทาย ที่โรงเรียนบาตันเผชิญในการขับเคลื่อนโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรม โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้ 

โอกาส (Opportunities) 
  • เปิดมุมมองและส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน 
  • พัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมกับบริบทชุมชนและโรงเรียน 
  • มีความยืดหยุ่นในการจัดการเรียนการสอน
  • ส่งเสริมความกล้าแสดงออกและการลงมือปฏิบัติจริงของผู้เรียน เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางบวก ทั้งด้านวิชาการ คุณธรรม และการบริหารจัดการ สร้างแรงบันดาลใจให้โรงเรียนอื่นและได้รับการยอมรับระดับประเทศ 
ความท้าทาย (Challenges) 
  • ภาระงานที่เพิ่มขึ้นของครูในช่วงแรก ครูบางส่วนยังไม่เข้าใจและไม่คุ้นเคยกับหลักสูตรใหม่ 
  • ข้อจำกัดด้านงบประมาณและทรัพยากร 
  • ความไม่ชัดเจนในการวัดและประเมินผลจากส่วนกลาง (เช่น O-NET) 
  • การเปิดใจรับการเปลี่ยนแปลงของครู โดยเฉพาะครูที่มีประสบการณ์ยาวนาน 
  • ความขัดแย้งระหว่างนโยบายจากส่วนกลางและบริบทของโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรม 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีอุปสรรคและความท้าทายอยู่บ้าง ครูฮานะได้สรุปไว้อย่างน่าประทับใจว่า

“สุดท้ายแล้ว ถ้าครูและผู้บริหารทุกฝ่ายร่วมมือกันผ่านช่วงแรกไปได้ จะเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กอย่างชัดเจน ซึ่งสิ่งนี้เองจะช่วยให้ทุกคนเห็นคุณค่าและเกิดความเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมต่อไป”

กล้าคิด กล้าเปลี่ยน ลงมือทำ

ในช่วงสุดท้ายของการสัมภาษณ์ที่ผู้เขียนได้ขอให้ครูฮานะช่วยสรุปเป็น คำ 3 คำ ที่สะท้อนภาพรวมการทำงานของตัวเองทั้งหมดที่ผ่าน ซึ่งครูฮานะได้ให้ไว้ว่า

กล้าคิด กล้าเปลี่ยน ลงมือทำ

ซึ่งผู้เขียนได้เชื่อมโยงการทำงานของครูฮานะ และทำให้เข้าใจว่า “กล้าคิด กล้าเปลี่ยน ลงมือทำ” ทั้งสามองค์ประกอบของแนวคิดนี้ มีความเชื่อมโยงและส่งเสริมซึ่งกันและกัน 

  • “กล้าคิด” นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ
  • “กล้าเปลี่ยน” ผลักดันให้มีการนำนวัตกรรมเหล่านั้นไปปฏิบัติจริง แม้จะมีความท้าทาย
  • “ลงมือทำ” อย่างมีระบบจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและสามารถวัดผลได้

ซึ่งจะส่งทำให้โรงเรียนสามารถพัฒนาและปรับปรุงการจัดการศึกษาได้อย่างไม่หยุดนิ่งและนำไปใช้จนประสบความสำเร็จในการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน เป็นประจักษ์พยานที่ชัดเจนไม่เพียงแต่สร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับโรงเรียนอื่นๆ ที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาการศึกษาเช่นกัน 


เจ้าของเรื่อง :

 

 

 

ฮานะ สามะ
ครู รร.บ้านบาตัน (ฟลอยด์รอสอนุสรณ์)
สพป.ยล.1

ผู้เขียน :

 

 

 

อิศรา โสทธิสงค์
นักวิชาการศึกษา สบน.
สพฐ.

 

Leave a reply

Leave Your Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *