สานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่กระบวนการสร้างสมรรถนะ “ฮ่อยจ๊อ หรรษา” โรงเรียนวัดถนนกะเพรา พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง

4 มกราคม 2563

โรงเรียนวัดถนนกะเพรา สถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ใกล้ชายทะเล ในอำเภอแกลง จังหวัดระยอง ชุมชนประกอบอาชีพประมง และทำฮ่อยจ๊อที่มีสูตรพิเศษ เรียกได้ว่า “อร่อย” เป็นเมนูขึ้นชื่อ

ผอ.ปวีณา พุ่มพวง ผอ.โรงเรียนวัดถนนกะเพรา เห็นว่าเด็ก ๆ ในโรงเรียนวัดถนนกะเพรามีโอกาสดีที่อยู่ในชุมชนนี้ น่าจะได้เรียนรู้และสานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ไว้ จึงได้ชวนคุณครูอีฟ (ณัฏฐิกา สมัยมงคล) พัฒนากระบวนการเรียนรู้บูรณาการตำรากับภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การสร้างสมรรถนะให้กับเด็ก ๆ เป้าหมายปลายทางคือเด็ก ๆ มีแรงบันดาลใจในการทำฮ่อยจ๊อ และทำฮ่อยจ๊อสูตรใหม่ ๆ ที่อร่อยไม่แพ้สูตรเดิมได้ด้วยตัวเอง มีความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามเป้าหมายของหลักสูตรแกนกลางฯ สอดคล้องกับจุดเน้นของโรงเรียน “โรงเรียนสร้างสรรค์นวัตกรน้อยสู่สากล” “ฮ่อยจ๊อ หรรษา” ใช้เวลาจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง 18 สัปดาห์ ประกอบด้วยขั้นตอน 9 ขั้น รายละเอียดดังรูปต่อไปนี้

ขั้นตอนที่ 1 สร้างแรงบันดาลใจ
ขั้นตอนที่ 2 รู้จักปูและความเป็นมาของฮ่อยจ๊อ
ขั้นตอนที่ 3 ศึกษาวิธีการทำฮ่อยจ๊อปู
ขั้นตอนที่ 4 ศึกษาวิธีทำ google form
ขั้นตอนที่ 5 พัฒนาสูตรฮ่อยจ๊อ
ขั้นตอนที่ 6 พัฒนาสูตรฮ่อยจ๊อเพื่อสร้างฮ่อยจ๊อรสชาติใหม่
ขั้นตอนที่ 7 คำนวณต้นทุน
ขั้นตอนที่ 8 พัฒนาเครื่องมือช่วยห่อฮ่อยจ๊อ
ขั้นตอนที่ 9 การขายสินค้า และการนำเสนอการทำฮ่อยจ๊อ

ความเป็นมา ขั้นตอน ปัญหาอุปสรรค กว่าจะได้มาซึ่งความสำเร็จของกระบวนการจัดการเรียนรู้ “ฮ่อยจ๊อ หรรษา” มีรายละเอียดที่น่าสนใจไม่น้อย ดังบทสัมภาษณ์ครูอีฟ ดังต่อไปนี้

บทสัมภาษณ์ครูอีฟ

ถาม: ขั้นตอน 9 ขั้นนี้ นำมาจากไหน เริ่มจากอะไร
ตอบ: คิดด้วยกัน ผอ.และเพื่อนครู เพราะว่าที่ถนนกะเพรา ต้องมีการเรียนรู้เรื่องอาชีพทุกชั้น เราก็ช่วยกันคิด ช่วยกันเติมเต็ม แต่ว่าขั้นตอนมีการเปลี่ยนแปลงมาจากที่คิดไว้เดิม เวลาที่ลงมือทำ บางขั้นเรากำหนดไว้เร็วไป หรืออาจข้ามขั้นตอนการเรียนรู้ของเด็ก เราก็ต้องให้เวลากับเด็ก ดังนั้นก็ต้องปรับให้มีขั้นตอนของการเรียนรู้ใหม่ๆเพิ่มเข้ามา อันนี้เป็นศิลปะของครูที่ต้องทำงานร่วมกับเด็ก ไม่ใช่สอน เราก็จะสังเกตเด็กได้และก็จะออกแบบขั้นตอนต่าง ๆ
ประเด็นนี้มีบทเรียนที่เราทำแล้วไปต่อไม่ได้อยู่เรื่องหนึ่ง อยากจะเล่าให้ฟัง คือ ครั้งแรกคิดว่าจะพาเด็กเรียนรู้เรื่องฮ่อยจ๊อนี่แหละ จึงได้ไปค้นหาตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่คิดว่าต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มา หามาทุกวิชา แต่เมื่อนำตัวชี้วัดมากองรวมกัน นั่งมองแล้วไปต่อไม่ได้ เพราะว่ากังวลอยู่กับตัวชี้วัดอย่างเดียว คิดว่าเราล้มเหลวนะ ต่อมาก็เอาตัวชี้วัดวางไว้ก่อน เริ่มใหม่ที่กิจกรรม คิดว่าเราจะพาเด็กทำอะไรบ้าง เด็กต้องได้ทำอะไรจึงจะทำฮ่อยจ๊อได้ด้วยตัวเอง ด้วยใจรักและอยากเรียนรู้ คราวนี้เราไปต่อได้ เมื่อมีกิจกรรมแล้วก็นำตัวชี้วัด เนื้อหามาวางไว้ เราต้องบอกได้ว่า ขั้นตอนนี้มีกิจกรรมอะไร เรียนรู้อะไร ทำอะไร เรียกว่าออกแบบกิจกรรมให้เด็กทำเองให้ได้
ถาม: กว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการนี้ เด็ก ๆ ได้ทำฮ่อยจ๊อมาแล้วกี่ครั้ง
ตอบ: โอ้ ทำมานับครั้งไม่ถ้วน เราใช้เวลาเรียนรู้เรื่องนี้ประมาณ 18 สัปดาห์ เริ่มทำจริงประมาณสัปดาห์ที่ 3 เป็นต้นไป บางสัปดาห์ทำมากกว่า 1 ครั้ง เพราะว่าเด็ก ๆ ยังมือใหม่ และต้องคิดสูตรใหม่ ก็ต้องทำบ่อย
ถาม: ค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้มาจากไหน
ตอบ: ช่วงแรก ๆ ใช้เงินโรงเรียน วัตถุดิบก็ได้มาจากชุมชน บ้านเด็ก ต่อ ๆ มา พอเด็กจำหน่ายผลผลิตได้ ก็นำมาเป็นต้นทุนหมุนเวียน เนื้อปูค่อนข้างมีราคาแพง
ถาม: เปรียบเทียบบทบาทของครูอีฟ ตอนเด็กๆเริ่มทำกับตอนนี้
ตอบ: ตอนเด็กเริ่มทำใหม่ ๆ เราก็เฝ้ามองแบบนนั่งติดขอบเวที คอยบอกนั่นนี่โน่น “ทำไมไม่ตวง ทำไมไม่จดสูตร” วุ่นวายไปหมด ตอนหลังเห็นเด็ก ๆ เขาเริ่มมีการเรียนรู้ เราก็ถอยออกมานั่งมองเด็ก ๆ เขาทำงาน เลยได้คิดว่า “การเรียนรู้เป็นเรื่องของเด็ก ครูมีหน้าที่อำนวยความสะดวกในบางเรื่องเท่านั้น” ตอนนี้ครูมานั่งอยู่ในห้อง เด็กๆอยู่ในครัว ทำฮ่อยจ๊อกันเองได้ ครูวางมือได้เลย
ถาม: ทำอย่างไรจึงจะขยายผลต่อให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ได้
ตอบ: ยินดีเล่าประสบการณ์ให้กับครูทุกคน และมีเอกสาร (แฟ้มขนาดใหญ่) ที่มีรายละเอียด นับตั้งแต่ความคิดครั้งแรก จนถึงปัจจุบัน แผนการจัดการเรียนรู้ เนื้อหา ตัวชี้วัด ในกลุ่มสาระที่เกี่ยวข้อง มีครบถ้วน ที่จริงอยากให้ครูท่านอื่น ๆ นำกระบวนการนี้ไปใช้นะ แต่ให้ใช้กับบริบทของโรงเรียนนั้น เพราะว่าในขั้นตอนที่เด็กต้องเรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นสำคัญมาก ถ้าไม่เริ่มต้นจากภูมิปัญญาท้องถิ่นจะทำอย่างไร ครูทำไม่เป็น ทำแล้วจะไปขายใคร
ถาม: “ฮ่อยจ๊อ หรรษา” สอดคล้องกับจุดเน้นของโรงเรียนวัดถนนกะเพรา หรือไม่ อย่างไร
ตอบ: เรื่องนี้สำคัญมาก ที่จริงโรงเรียนเราทำหลายอย่างนะ จนกระทั่งเราเข้าพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานี่แหละ ทำให้เราต้องค้นหา School concept ของเราว่า เราจะเป็นโรงเรียนสร้างสรรค์นวัตกรน้อยสู่สากล เป็นการชี้ชัดไปเลย เรื่องฮ่อยจ๊อ หรรษา จะช่วยสร้างให้นักเรียนออกแบบสูตรฮ่อยจ๊อใหม่ ๆ ที่อร่อยไม่แพ้สูตร ดั้งเดิม และ ผอ.ได้รับครูจีนเข้ามา เด็กๆเลยได้เรียนรู้ภาษาจีนสำหรับการทำฮ่อยจ๊อนี้ด้วย อันนี้ก็เป็นเหตุให้ได้บทสรุปว่า เราต้องเรียกชื่อ “ฮ่อยจ๊อ” ตามภาษาจีนให้ถูกต้องด้วย
ถาม: ข้อคิดที่อยากฝากไว้ คือ อะไร
ตอบ: มีเรื่องนึงที่คิดว่าถ้าไม่พูดถึงไม่ได้ คือ บางทีเราตั้งใจสอน แล้วก็มุ่งเน้นความสำเร็จที่เด็กแบบเป็นชิ้นเป็นอัน วัดได้ชัดเจนมากเกินไป ทำให้เราต้องไปแทรกแซงการเรียนรู้ของเด็ก ในเรื่องฮ่อยจ๊อ หรรษา นี่ครูก็ต้องการให้เด็กทำฮ่อยจ๊อได้ ถ้าเราสอนให้เด็กทำตามเรา ภายในเวลา 2 ชั่วโมง ก็ทำได้ เราได้ผลผลิต เด็กได้ประสบการณ์ แต่ไม่ได้การเรียนรู้ แล้วเราก็ยังต้องไปสอนเรื่อง แผนที่ แผนผัง การจดบันทึก สัดส่วน อัตราส่วน อีกมากมาย ในชั่วโมงเรียน เรียนแล้วก็ไม่รู้ว่าเด็กจะนำไปใช้ได้มั้ย แต่นี่เรานำเรื่องราวต่าง ๆ มาบรรจุไว้ในกิจกรรมที่เด็กจะทำ เด็กบางคนไม่ตวง ไม่บันทึก ทำแล้วต้องทำซ้ำ ไม่ทันเพื่อน เสียเวลา เขาก็ต้องปรับตัวใหม่ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ของเขาเอง ใครก็ทำแทนไม่ได้ ตอนนี้ครูอีฟให้เด็กเรียนรู้แบบนี้แล้ว รู้สึกว่าตัวเองสบายขึ้นนะ ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องกังวล

อยากฝากครูท่านอื่น ๆ ว่า ไม่ต้องกังวล มีหลายคนถามเรื่องการวัดและประเมินผล เรื่องตัวชี้วัด เรื่องเอกสาร หลักฐานมากมาย อยากจะบอกว่า ถ้าครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ เราจะมีเวลามองเห็นเด็ก เราจะสังเกตเขาขณะเขาทำงาน เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เรียนรู้ต่างกัน เราก็ต้องรอ จะให้เขาเรียนรู้เท่ากันนั้นเป็นไปไม่ได้ ต่างคนต่างเรียนรู้ไปในบริบท ในสภาพแวดล้อมที่เขาพบ จนถึงเวลาหนึ่งที่เราเห็นว่าเขาประสบผลสำเร็จแล้ว เราก็นำผลสำเร็จนั้นมากรอกลงในตัวชี้วัด วิชาอะไรก็ได้ ไม่เฉพาะวิชาที่เราสอน ส่วนหลักฐาน เราก็ทำเท่าที่เกี่ยวข้องและสำคัญกับเด็ก แต่ว่าตอนนี้เริ่มหันมามองเรื่องการประเมินสมรรถนะแล้วจริง ๆ เด็กเขาทำเองได้ผลที่เชื่อถือได้ทุกครั้ง ได้ฮ่อยจ๊อที่อร่อย คิดสูตรใหม่ได้ หาวิธีใหม่ ๆ ได้ ก็เรียกได้ว่า เด็กมีสมรรถนะแล้ว แต่จะเป็นสมรรถนะอะไร ครูขอเรียนรู้เรื่องนี้เพิ่มเติมก่อน คิดว่าน่าจะมีเกณฑ์กว้าง ๆ ในการวัดสมรรถนะของเด็ก

สัมภาษณ์ : เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2562 ณ โรงเรียนวัดถนนกะเพรา อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
ผู้สัมภาษณ์ : นงค์นุช อุทัยศรี และทีมงาน ประกอบด้วย นางสาวอาภาภรณ์ ชื่นมณี นางสาวนพรัตน์ สวัสดี นางอิงกมล บุญลือ และคณะครูโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย
ขอขอบคุณ ผอ.ปวีณา พุ่มพวง คุณครูณัฏฐิกา สมัยมงคล (ครูอีฟ) และคณะครูโรงเรียนวัดถนนกะเพรา
ขอขอบคุณ ผอ.ธงชัย มั่นคง ที่ชี้แนะให้มีการสัมภาษณ์และถ่ายทอดประสบการณ์ “ฮ่อยจ๊อ หรรษา”

Written by นงค์นุช  อุทัยศรี
Photo by ณัฏฐิกา  สมัยมงคล
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
รัฐบาลเปิดรับข้อเสนอทุนวิจัย Flagship พื้นที่นวัตกรรม (2,000,000 – 10,000,000 บาทต่อชุดโครงการวิจัย)โรงเรียนบ้านหนองม่วง พื้นที่นวัตกรรมระยอง: บริหารจัดการชั้นเรียนใหม่ แก้ปัญหา “โรงเรียนเล็ก-เด็กน้อย” ด้วยการเรียนคละชั้น และการจัดกลุ่มผู้เรียนตามความสามารถ
บทความล่าสุด