นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผอ.สบน. ชื่นชมและให้กำลังใจ ครูไทย รร.นำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สร้างสรรค์คุณภาพเด็กไทย

17 มกราคม 2563

เช้าวันนี้ (17 ม.ค. 2563) นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้เดินเยี่ยมชมบูธพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่มีตัวแทนโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง 2 โรงเรียน มาจัดนิทรรศการนำเสนอนวัตกรรมการศึกษาของโรงเรียน ภายในงานนิทรรศการงาน “วันครู” ครั้งที่ 64“โลกก้าวไกล ครูไทยก้าวทัน สร้างสรรค์คุณภาพเด็กไทย” ระหว่างวันที่ 16–17 มกราคม 2563 ณ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร  

โรงเรียนวัดตาขัน

นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ได้พูดคุย สอบถาม นายวิชัย จันทร์ส่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน และคุณครูทัศวรรณ ชินวัลย์ คุณครูจุริยา จันลาวงศ์ ร่วมกันนำเสนอ นวัตกรเชิงชีววิถี (TK Bio-Culture & Innovation school) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนสู่การเป็น Smart kids ให้รักและเห็นคุณค่าของธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตและวัฒนธรรมในท้องถิ่น ออกแบบ แก้ปัญหา ดูแลตนเอง สังคมและโลกได้อย่างสร้างสรรค์ เพราะโรงเรียนวัดตาขัน เป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่การเกษตรและอยู่ใกล้ตัวเมือง จึงเห็นว่ามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะวางรากฐานความรู้ด้านวิชาการ ทักษะชีวิต ทักษะในศตวรรษที่ 21 และสุนทรียภาพให้กับผู้เรียน ให้เกิดการเรียนรู้สะท้อนชีวิตจริงของโลก สังคมวัฒนธรรม ผ่านการเรียนรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เทคโนโลยีชีวภาพและนวัตกรรม เพื่อให้รักและเห็นคุณค่าของธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตและวัฒนธรรมในท้องถิ่น ออกแบบ แก้ปัญหา ดูแลตนเอง สังคมและโลกได้อย่างสร้างสรรค์

จนนำไปสู่ไปสู่แนวคิดการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรในปัจจุบัน ให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งของโรงเรียนวัดตาขัน ที่จะต้องสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดการศึกษาทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ครู บุคลากร คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครอง และชุมชน ให้เข้าใจตรงกัน จนเกิดเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ (competency based curriculum) ของโรงเรียนวัดตาขัน ที่มีสาระสำคัญดังภาพ

โรงเรียนวัดถนนกะเพรา 

ในส่วนของโรงเรียนวัดถนนกะเพรา  จาก สพป.ระยอง เขต 2 คุณครูมนัสวี สรรเสริญ และคุณครูกฤษติกา ถวิลคำ ได้นำเสนอการจัดการเรียนรู้บูรณาการอาชีพ “Creative glocal innovator school  :  โรงเรียนสร้างสรรค์นวัตกรน้อยสู่สากล” 

โดยโรงเรียนมุ่งให้ผู้เรียนสามารถใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดอย่างสร้างสรรค์ และคิดเชิงนวัตกรรม จนสามารถผลิตหรือพัฒนา ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกระบวนการใหม่ ๆ เช่น สิ่งประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์ ที่สามารถใช้ได้จริง สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากภูมิปัญญาในท้องถิ่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์ในชุมชน หรือการสร้างแอพพลิเคชันให้บริการในรูปแบบต่าง ๆ ออกมาได้ จนเกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม 

โรงเรียนมีการดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร ให้มีความยืดหยุ่น เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา โดยสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนเป็นหลัก และเน้นการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติ ให้เกิดทักษะชีวิต ทักษะวิชาชีพ และทักษะวิชาการ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถบูรณาการและต่อยอดเป็นผู้พัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมได้

ในห้องเรียนนั้นโรงเรียนได้พัฒนากระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียน แบบ Active Learning โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ตลอดจนพัฒนาและปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ ให้มีความพร้อม และปลอดภัย ครูสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนได้  ผู้เรียนก็สามารถใช้เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ และเติมเต็มศักยภาพของตนเองได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ยังมีการสรรหาผู้เชี่ยวชาญ เช่น วิทยากรภายนอก  มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง ภาคเอกชนที่มีความรู้ความสามารถในด้านที่โรงเรียนต้องการหรือขาดแคลน

ส่วนหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนสามารถขับเคลื่อนและดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ โรงเรียนมีการระดมทรัพยากรเพื่อพัฒนาการศึกษา  เช่น การมี School Partner เป็นบริษัทเอกชน และมหาวิทยาลัย ที่มีอุดมการณ์และความต้องการพัฒนาการศึกษาร่วมกับโรงเรียน การจัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อจัดซื้อสื่อการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้พัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ เช่น สื่อ Coding สื่อ STEM สื่อ ภาษาอังกฤษ  อุปกรณ์ในการแปรรูปอาหาร การประกอบอาชีพ ฯลฯ

การจัดการเรียนรู้บูรณาการวิชาชีพ 6 เรื่อง 6 ชั้นเรียน ประกอบไปด้วย
1. เรื่อง สวนผักของพ่อ ระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 1
2. เรื่อง เห็ดแปลงร่าง ระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 2
3. เรื่อง มหัศจรรย์ใบขลู่ ระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 3
4. เรื่อง หอยนางรมน่ารู้ ระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 4
5. เรื่อง น้ำปลารสเด็ด ระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 5
6. เรื่อง ฮ่อยจ๊อ หรรษา ระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 6

ซึ่งการจัดการเรียนรู้เหล่านี้ได้ทำให้นักเรียนของโรงเรียนวัดถนนกะเพรา ได้มีโอกาสคิด ลงมือทำ เสริมสมรรถนะของผู้เรียน อาทิ ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน กระบวนการสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และ การทำงานแบบรวมพลังเป็นทีมและมีภาวะผู้นำ เป็นต้น ซึ่งปรากฎผลลัพธ์ที่งอกงามเป็นที่ประจักษ์ จนมีศึกษานิเทศก์ ผู้ปกครอง บุคคลภายนอก และคณะศึกษาดูงาน มาศึกษาดูงานที่โรงเรียน 

ทั้งนี้นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้ถ่ายภาพร่วมกันพร้อมกับให้กำลังใจและกล่าวชื่นชมคณะครูและผู้บริหารทุกคนที่ได้ให้ความร่วมมือ เข้าร่วมการจัดนิทรรศการครั้งนี้ ด้วยความเข็มแข็ง เสียสละอย่างเต็มเปี่ยมไปด้วยจิตใจแห่งความเป็นครูไทย

Written by เก ประเสริฐสังข์
Artwork by เก ประเสริฐสังข์

Facebook Comments
สพฐ. แจ้งหน่วยงานต้นสังกัดของโรงเรียนนำร่อง ให้เร่งประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิชาการ จัดทำโครงการวิจัย Flagship พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ส่งเข้าระบบภายใน 20 มกราคม 2563MAKERSPACE นวัตกรรมห้องเรียนนักสร้าง โรงเรียนบ้านปลาดาว โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.เชียงใหม่
บทความล่าสุด