โรงเรียนบ้านค่าย พื้นที่นวัตกรรมระยอง การจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน ด้วยกระบวนการทำงาน 8 ขั้นตอน

9 เมษายน 2563

โรงเรียนบ้านค่าย ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้น มัธยมศึกษาตอนต้น – มัธยมศึกษาตอนปลาย มีนักเรียนจำนวน 1942 คน มีครูจำนวน 107คน มีห้องเรียนทั้งหมด 60 ห้อง บริบทของโรงเรียนบ้านค่าย ปัจจัยภายในและภายนอกของโรงเรียน เอื้อต่อการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียน ด้านครู และบุคลากรมีความสามัคคี กลมเกลียว เอื้ออาทรต่อกัน โดยมี ดร.สุกิจ โพธิ์ศิริกุล ผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นศูนย์รวมใจให้เป็นหนึ่ง เพื่อเป็นการขับเคลื่อนงาน และนโยบายด้านการศึกษาของโรงเรียน

เหตุผลที่สมัครเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรม ดร.สุกิจ โพธิ์ศิริกุล ผอ. โรงเรียนบ้านค่ายได้บอกเล่าว่า ได้รับการเชื้อเชิญจากทางจังหวัด และผอ. ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ ความสำคัญ ต้องการให้นักเรียนได้ความรู้ ประสบการณ์อย่างหลากหลาย มองว่าวัตถุประสงค์ของพื้นที่นวัตกรรมตอบโจทย์ต่อคุณภาพวิถีชีวิตในท้องถิ่นของนักเรียน คุณครูหลายท่านในโรงเรียนก็มองว่าน่าสนใจเข้าร่วม และได้คุยกับคณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน ตัวแทนท้องถิ่น และผู้ปกครอง ต่างเห็นด้วยที่จะเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรม

ผอ.มีความหวังและตั้งใจให้นักเรียนมีความรู้ ความสามารถเข้าใจและรู้เท่าทันถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก และผลักดันให้นักเรียนได้ความรู้ความเข้าใจในภาษาอังกฤษ และภาษาจีน มากขึ้น รู้จักการใช้เทคโนโลยี การสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อให้นักเรียนได้ค้นหาตัวเองให้เจอ ว่าสนใจและชอบอะไร เพื่อการเลือกประกอบอาชีพในอนาคต

สิ่งที่โรงเรียนมุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์ต่อนักเรียน มุ่งเน้นให้เป็นดัง School Concept คือ สร้างนวัตกรรมผ่าน PBL (Project–based Learning) เน้นภาษาในการสื่อสาร โดยครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน จะมีการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ร่วมกัน นักเรียนก็ได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ต่อความต้องการของชุมชน เพื่อมุ่งหวังให้นักเรียนได้คิดเป็น สร้างสรรค์นวัตกรรมได้ และเป็นพลโลก พลโลกในที่นี้ หมายถึง เป็นคนดี มีประโยชน์ มีคุณค่าต่อสังคม

โรงเรียนบ้านค่ายใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งเป็นกระบวนการในห้องเรียนโดยตรง โดยอาศัยพื้นที่เป็นฐาน บนความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่ จัดการเรียนรู้ โดยเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ซึ่ง Active Learning นั้นเหมือนร่มใหญ่ ภายใต้ร่มใหญ่ก็จะมีร่มเล็ก ๆ อีกหลากหลายวิธีที่นักเรียนสามารถเรียนรู้จากการปฏิบัติ จัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน PBL (Project–based Learning) นักเรียนทั้งหมดเรียนโครงงานผ่านครู มีครูเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ในห้องเรียน โดยเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ รอบตัว มีกระบวนการทำงาน 8 ขั้นตอน  คือ

1. สำรวจ สังเกตสิ่งรอบตัว

ทั้งในและนอกรั้วโรงเรียน โดยใช้คำถามกระตุ้นคิด ร่วมระดมประเด็นคิดอย่างอิสระ และให้นักเรียนไปหาคำถาม หาเหตุผลสนับสนุน

2. ยั่วยุ จับกลุ่ม แยกแยะ

ให้นักเรียนหาสิ่งที่สนใจเมื่อนักเรียนได้เรื่องที่สนใจแล้ว ก็จับกลุ่มกัน ร่วมกันหาหลักฐานและเหตุผลมาสนับสนุน เพื่อให้ครูและเพื่อนๆทุกคนเข้าใจและยอมรับ เช่น ที่มาของข้อมูล ลักษณะของเรื่อง หรือประโยชน์ที่ได้รับ เป็นต้น

3. คุ้ยแคะ ตั้งโจทย์

นักเรียนตั้งคำถาม เสนอ คัดเลือกคำถามที่กลุ่มสนใจ ใช้กระบวนการกลุ่ม ให้ทุกคนได้ร่วมคิดร่วมค้นหาคำตอบ ที่น่าสนใจ ทำให้ได้คำถามของโครงงานขึ้นมา นำไปสู่การตั้งชื่อเรื่องโครงงาน โดยมีครูกระตุ้นให้นักเรียนคิด ว่าเพราะอะไรจึงอยากศึกษาเรื่องนี้ โดยมองถึงประโยชน์ เป้าหมายของการพัฒนา จัดการร้อยรัดเรียบเรียงความคิด ให้เห็นความสำคัญ และนำไปเขียน เสร็จแล้วนักเรียนตั้งคำถาม ศึกษาเรื่องนี้เพราะอะไร และนำไปเขียนวัตถุประสงค์และสมมุติฐาน เพื่อนำไปสู่การออกแบบกิจกรรมให้ครอบคลุมตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ในขั้นนี้ตัวแทนห้องจะเป็นตัวแทนนำเสนอรายละเอียดต่อผู้เกี่ยวข้อง ต่อครู และทีม

4. การอัพโหลดข้อมูล

รวบรวมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่นักเรียนต้องการค้นคว้า เพื่อสนับสนุน และหาแนวทางในการดำเนินการ เพื่อตรวจสอบสมมุติฐาน เป็นการค้นหาข้อมูลและวิธีการดำเนินการ การเก็บข้อมูล รวบรวมข้อมูล ตลอดจนวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล โดยข้อมูลที่ศึกษาสอดคล้องกับคำถามโครงงาน

5. แยบยลดำเนินการ

ขั้นตอนนี้นักเรียนจะร่วมด้วยช่วยกัน โดยใช้กระบวนการกลุ่ม ออกแบบวิธีดำเนินการ เตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือ ตารางบันทึกผล จากนั้นลงมือศึกษา ฝึกทำจริง และเก็บข้อมูลตามวิธีการที่ได้ออกแบบไว้ โดยนักเรียนทุกคนบันทึกการทำงาน เก็บภาพ และค้นหาข้อมูลหลักฐานการทำงานลงสมุดบันทึกบทเรียน หรือ Lock Book และก่อนออกนอกสถานที่ต้องมีหนังสืออนุญาตจากทางโรงเรียน โดยครูได้สอนให้นักเรียนได้ฝึกเขียนจดหมายขออนุญาตออกนอกสถานที่ เพื่อกระบวนการที่แยบยล

6. เพิ่มพูนแปลผล

ขั้นนี้นักเรียนในกลุ่มจะร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูล แปลผล และฝึกแปลงข้อมูลเป็นความรู้ เพื่อเป็นข้อมูลในการตอบคำถามโครงงาน นำไปสู่ข้อสรุปและองค์ความรู้

7. สรุปผลการศึกษาและรายงาน

ขั้นตอนนี้เป็นการฝึกให้นักเรียนสามารถนำเสนอได้ นักเรียนจะนำผลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลไปเพิ่มพูนแปลผล คือนำข้อมูลที่ได้มาทั้งหมดมาเรียบเรียงเป็นลำดับ อย่างเป็นเหตุเป็นผล ตอบคำถามตามวัตถุประสงค์ สรุปเป็นองค์ความรู้ นวัตกรรม มีข้อเสนอแนะ และเขียนโครงงาน ร่วมกันคิดรูปแบบการจัดแสดง หรือนำเสนอผลงานต่อสาธารณชน โดยเชิญผู้ปกครอง คนในชุมชน และผู้เกี่ยวข้องมาร่วมงาน

8. ถอดบทเรียน และฝึกจิตอาสา

ขั้นตอนนี้เป็นการสรุปบทเรียน นักเรียนและครูร่วมกันทบทวนผลการปฏิบัติงาน จุดเด่น จุดที่ควรปรับปรุง ของกระบวนการดำเนินงาน เพื่อให้นักเรียนตระหนักในประโยชน์ของความรู้ที่ได้ ทำให้เห็นข้อจำกัด หรือการต่อยอด และนำความรู้ไปใช้จริง

เป้าหมายในการดำเนินงาน คือ ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ทั้งในการกำหนดวิสัยทัศน์ การร่วมมือในการสรรหา 4M ซึ่งประกอบด้วย Man, Money, Materials, Management แต่ที่เห็นได้ชัด คือบุคคลภายนอก คนในชุมชน หรือหน่วยงานในภาครัฐอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเข้ามาสนับสนุนในด้านงบประมาณ เช่น เทศบาลตำบลบ้านค่ายพัฒนา ให้งบสนับสนุนทางโรงเรียนมาสองปีแล้ว และจัดพื้นที่เป็นถนนนวัตกรรมให้นักเรียนในช่วงงานสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทำให้ผู้คน ประชาชนที่มาร่วมงานได้มาดู มาชมผลงานนักเรียน

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากเป็นพื้นที่นวัตกรรม จากการสังเกตจากการร่วมงานของครูและชุมชน คือ นักเรียนกล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าที่จะลงมือทำ มีความมั่นใจ ในสิ่งที่ร่วมกันคิด ร่วมกันสร้างสรรค์ ร่วมกันผลิต และนำเสนอผลงานออกสู่ชุมชนได้ ด้านครู ได้เปลี่ยนแปลงจากที่แต่เดิมใช้การสอนแบบบรรยายเป็นส่วนใหญ่ ก็จะเปลี่ยนมาเป็น Active Learning มากขึ้น ใช้วิธีการที่ให้นักเรียนได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเองมากยิ่งขึ้น ด้านโรงเรียนเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครองและชุมชนในการที่นักเรียนได้ร่วมกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เชื่อมั่นในคุณภาพของโรงเรียน ผู้บริหาร ครู บุคลากรในโรงเรียน และนักเรียน ด้านชุมชน เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับประโยชน์จากการที่โรงเรียนเป็นโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรม และให้การสนับสนุน ความร่วมมือกับทางโรงเรียนเป็นอย่างดี

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ ผู้นำโรงเรียน หรือ ผอ. ฝ่ายบริหารของโรงเรียนบ้านค่าย ซึ่งประกอบด้วย ผอ. 1 รอง 4 โดยฝ่ายบริหารทั้ง 5 คนนั้นมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นหลักในการขับเคลื่อน โดยกำหนดทิศทาง พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ ฝ่ายครูและบุคลากรมีความรักสามัคคีกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และโรงเรียนบ้านค่ายมีทีมครูแม่ไก่ คือครูที่ถนัดด้านวิจัย มีหน้าที่อบรมพัฒนาครูให้มีความแข็งแรงเรื่องการวิจัย ให้มีความเข้าใจมากขึ้น ทางด้านครูลูกไก่พอเข้าใจข้อมูลแล้วก็นำไปขยายความรู้ต่อเด็กนักเรียน และในเรื่องของการสื่อสารกับชุมชน ทางโรงเรียนได้มีโครงการบ้านค่ายสัญจร โดยโรงเรียนขอใช้สถานที่วัดจัดโครงการบ้านค่ายสัญจร โดยเชิญผู้ปกครอง องค์กรท้องถิ่น มาร่วมดูโชว์นวัตกรรมของนักเรียน เนื่องจากการออกพื้นที่ของโรงเรียน ทำให้คนในชุมชน หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ได้เห็นถึงความสำคัญ ผู้ปกครองให้ความร่วมมือ และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สำรวจสิ่งที่นักเรียนสนใจ

อุปสรรคที่เกิดขึ้น โรงเรียนยังขาดพาหนะในการพานักเรียนออกไปทำการเรียนรู้นอกสถานที่ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้งบประมาณในการลงทุน ยังขาดการเชื่อมโยงในเรื่องนี้อยู่ แต่ทางโรงเรียนยังพอบริหารจัดการได้ โดยใช้รถโรงเรียน และพานักเรียนออกไปแต่น้อย เพราะโรงเรียนมีรถแค่เพียง 2 คัน

สิ่งที่โรงเรียนจะสืบสานต่อไป คือ เรื่องความรักสามัคคีในองค์กร มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ร่วมด้วยช่วยกัน จะเป็นหัวใจสำคัญที่จะเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จในการขับเคลื่อนโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมให้เป็นไปได้ด้วยดี และเกิดประโยชน์สูงสุด

สิ่งที่โรงเรียนจะดำเนินการในอนาคต คือ จัดหลักสูตรในการขับเคลื่อนโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง และสานต่อ School Concept คือ สร้างนวัตกรรมผ่าน PBL เน้นภาษาในการสื่อสาร


ผู้เขียน: นิฎฐา ขุนนุช
ผู้ให้สัมภาษณ์: ดร.สุกิจ โพธิ์ศิริกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านค่าย จังหวัดระยอง และนางอุบลรัตน์ ฆวีวงษ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านค่าย จังหวัดระยอง
ผู้สัมภาษณ์: นิฎฐา ขุนนุช
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โรงเรียนบ้านค่าย

Facebook Comments
สพฐ. จัดสรรงบประมาณให้ สพท. 30 เขต ในพื้นที่นวัตกรรม “หนุน” และ “นำ” โรงเรียนนำร่องในสังกัด ให้จัดการศึกษาสอดคล้องบริบท ตอบโจทย์ พ.ร.บ.โรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) จังหวัดศรีสะเกษ กับกระบวนการเรียนรู้ “Friday is a Fly Day” สู่การเรียนรู้แบบองค์รวม (ASK : ฐานใจ ฐานกาย ฐานสมอง อย่างสมดุล)
บทความล่าสุด