DARA Thinking Model สู่สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ โดยใช้กระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม

11 พฤศจิกายน 2564

DARA Thinking Model
สู่สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้
โดยใช้กระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม

โรงเรียนดาราวิทยาลัย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาล จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และแผนการดำเนินงานที่มุ่งให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีสุนทรียภาพและลักษณะนิสัยด้านศิลปะ ดนตรี และกีฬาอย่างเต็มตามศักยภาพ มีทักษะตามหลักสูตร และมาตรฐานสากลด้วยการ รักการเรียนรู้ รักการอ่าน มีทักษะกระบวนการคิดและเขียนสื่อความ ก้าวทันโลก มีทักษะการสื่อสาร ทั้งภาษาไทย ภาษาต่างประเทศและเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนี้ผู้เรียนทุกคนจะได้รับการปลูกฝังให้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม ตามหลักคำสอนคริสต์ศาสนา มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ มีมนุษย์สัมพันธ์ ทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขทั้งทางด้านการเรียนและการดำรงชีวิตในสังคมได้

แรงบันดาลใจ/จุดประกายความคิดในการดำเนินการของนวัตกรรมนี้

การเปลี่ยนแปลงของบริบทเศรษฐกิจและสังคมโลกอันเนื่องจากการปฏิวัติดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรม 4.0 การดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ  ยุทธศาสตร์ในแผนการศึกษาแห่งชาติในยุทธศาสตร์ที่ 2 : การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยุทธศาสตร์ที่ 3 : การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้  มีเป้าหมายหลักเพื่อให้กำลังคนมีทักษะที่สำคัญจำเป็นและมีสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดงานและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  โดยผู้เรียนมีทักษะ และคุณลักษณะพื้นฐานของพลเมืองไทยและมีทักษะและคุณลักษณะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 โดยองค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD,2018) ได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับทักษะสำคัญสำหรับปี 2030  จะทำให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลง คือ ความสามารถในการใช้ข้อมูลที่หลากหลายรอบด้านมาสร้างทางเลือกและใช้ในการตัดสินใจ (complex problem solving) ความสามารถในการคิดวิเคราะห์และจับประเด็น (critical thinking)  การคิดวิเคราะห์ (Analytical thinking) การคิดสังเคราะห์ (Synthetic thinking)และการตัดสินใจโดยต้องใช้วิจารณญาณ ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ (creative intelligence)  ความสามารถในการเชื่อมโยงกับผู้อื่นเพื่อเข้าถึง เข้าใจ และจูงใจให้คล้อยตามจนเกิดการลงมือทำ (social intelligence)   ความสามารถในการสร้างการมีส่วนร่วมโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ (virtual collaboration)  ความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (life-long learning) เหล่านี้เป็นทักษะที่จะทำให้เรายืนหยัดอยู่เหนือเทคโนโลยีได้ (OECD,2018)  อีกทั้ง World Economic Forum (2020)  ได้รวบรวมทักษะสำคัญที่ตลาดงานทั่วโลกต้องการ 3 อันดับแรก  คือ  ทักษะการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน (Complex Problem Solving)  ทักษะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking)  และทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)  ซึ่งตรงกับ Tony Wagner (2019) กล่าวว่า  ทักษะที่เด็กๆ ทุกคนทั่วโลกต้องเรียนรู้เพื่อให้รองรับต่อการทำงานในอนาคต  คือ  การคิดอย่างเป็นระบบและการแก้ไขปัญหา  ซึ่งการเรียนการสอนเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความสามารถและทักษะนั้นๆ  

จากความสำคัญดังกล่าว ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนดาราวิทยาลัยได้พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาทักษะกระบวนการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์  เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิด  ตัดสินใจหาทางเลือกในการแก้ปัญหาด้วยความคิดสร้างสรรค์ หลากหลายและแปลกใหม่ ทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างร่วมมือรวมพลัง ยืดหยุ่นทางความคิด ลงมือปฏิบัติจริง จากสถานการณ์ปัญหาจากการจัดการเรียนการสอนจนเกิดนวัตกรรมนำไปใช้ในการแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในชีวิตจริง  

 

กระบวนการออกแบบ นวัตกรรมการสอน (DARA Thinking Model)
ขั้นตอนการดำเนินงานพัฒนา  ดังนี้
  1. โดยกำหนดเป้าหมาย คือ นักเรียนมีทักษะการคิด  โดยจุดเน้นวิชาการ  ปีการศึกษา 2562  คือ “พัฒนาทักษะการคิด”   
  2. พัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิด โดยศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะการคิด, AKITA Action, Thinking  School,  CCT-TS  Model  นำข้อมูลมาสังเคราะห์ กระบวนการจัดการเรียนการสอน “DARA Thinking Model”  และ “นวัตกรรมกระบวนการจัดการเรียนการสอน กระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม”
  3. ดำเนินการวิพากษ์ กระบวนการจัดการเรียนการสอน โดยผู้เชี่ยวชาญ
  4. สร้างความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญการใช้กระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบ  DARA  Thinking Model  ในการพัฒนาทักษะการคิดของนักเรียน
  5. พัฒนาการออกแบบการเรียนรู้ด้วยการใช้กระบวนการจัดการเรียนการสอน แบบ  DARA  Thinking Model  คัดเลือกครูแกนนำพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ควบคู่ไปกับการอบรมให้ความรู้เชิงลึกในแต่ละขั้นของกระบวนการจัดการเรียนการสอน 
  6. นิเทศติดตามให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน
  7. ดำเนินการวิจัยโดยเก็บข้อมูลทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณเพื่อประเมินผล
  8. นำข้อค้นพบ ข้อเสนอแนะ มาปรับปรุง วางเป้าหมายในการดำเนินงานอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

   

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการดำเนินงานตามนวัตกรรมการศึกษา
  1. ผู้บริหารโรงเรียนเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพของกระบวนการจัดการเรียนการสอนซึ่งเป็นจุดเน้นของโรงเรียน ให้การสนับสนุนทั้งทางด้านทรัพยากรบุคคล สถานที่ งบประมาณ ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน
  2. ทีมวิชาการ ครูผู้สอนทุกคน ยอมรับและพร้อมที่จะเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองตามเป้าหมาย จุดเน้นของโรงเรียน
  3. หน่วยงานต้นสังกัด เครือข่าย จากหน่วยงานภายนอก ให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ ส่งเสริมให้กระบวนการทำงานมีคุณภาพตามหลักวิชาการ
ภาพความสำเร็จของการดำเนินงานตามนวัตกรรมของสถานศึกษา
  1. โรงเรียนมีนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนที่ตรงตามจุดเน้นของสถานศึกษา
  2. ครูมีความรู้และเข้าใจ ตระหนักถึงการใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน
  3. นักเรียนมีความสามารถ ทักษะ คุณลักษณะ เป็นไปตามมาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน 
ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ และข้อเสนอเพื่อการปรับเปลี่ยน

ในการดำเนินการขับเคลื่อนกระบวนการเรียนการสอนสู่การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ ยังมีกังวลใจในความชัดเจนในการเทียมโอนผลการเรียนสำหรับโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมกับโรงเรียนปกติ และแนวทางการเข้ามหาวิทยาลัยที่มีช่องทางเฉพาะที่ตอบสนองต่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมจะเห็นได้ว่าด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ช่วยขับเคลื่อนให้สามารถประสบผลสำเร็จ พัฒนาการออกแบบการเรียนรู้ด้วยการใช้กระบวนการจัดการเรียนการสอนจนมาเป็นแบบ  DARA  Thinking Model และจากการดำเนินการตามแผนการดำเนินงานของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่นั้น ในลำดับถัดไปทางโรงเรียนดาราวิทยาลัยจะนำนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสู่การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะต่อไป

Facebook
ข่าวอื่น ๆ จ.เชียงใหม่



ผู้เขียน : มาศชฎา จันทราทิพย์  
ผู้ให้สัมภาษณ์ :  ชวนพิศ เลี้ยงประไพพันธ์  ผู้จัดการ – ผู้อำนวยการ
                           จันทร์นภา ศูนย์จันทร์ ผู้ช่วยรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและหลักสูตร
ผู้สัมภาษณ์ : มาศชฎา จันทราทิพย์  
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร แช่ใจ
ภาพประกอบ : โรงเรียนดาราวิทยาลัย

Facebook Comments
นวัตกรรมแนวคิด การบูรณาการการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้ ก้าวทัน 9 ความพอเพียง (LFC BMW SHM)“ทำ PA อย่างไรให้ตอบโจทย์พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา”
บทความล่าสุด