“ทำ PA อย่างไรให้ตอบโจทย์พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา”

12 พฤศจิกายน 2564

“ทำ PA อย่างไร
ให้ตอบโจทย์พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา”

กิจกรรม Sandbox Clinic EP.01 “ทำ PA อย่างไรให้ตอบโจทย์พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” เป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Online เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการทำข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) เพื่อการประเมินวิทยฐานะ ซึ่ง PA ได้ประกาศใช้ ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นางสาวจารุนันท์ แก้วทองนาค ผู้อำนวยการภารกิจระบบตำแหน่งและวิทยฐานะที่ 1 สำนักงาน ก.ค.ศ.  นายร่มเกล้า ช้างน้อย ครูโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม สพม.กท.1 และ นางจารุวรรณ์ เลิศศรี ครูโรงเรียนบ้านปะทาย สพป.ศก.4 และดำเนินรายการโดย นายทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

จากกิจกรรมดังกล่าว (คลิก) มีประเด็นที่น่าใจที่จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้อ่านทุกท่าน ซึ่งผู้เขียนขอสรุปสาระสำคัญพอสังเขป ดังนี้

ท่านสามารถรับชมการประชุมกิจกรรมย้อนหลังด้านล่างนี้ และดาวน์โหลดเอกสารประกอบได้ที่ คลิกที่นี่

ที่มาที่ไปของการทำ PA (Performance Agreement)

ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจะประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อการทำงานของบุคลากรทุกคนมุ่งสู่การพัฒนาโรงเรียน  PA (Performance Agreement) หรือ ข้อตกลงการพัฒนางาน ใช้เพื่อเลื่อนเงินเดือน คงวิทยฐานะ ขอ/ให้มีวิทยฐานะ ซึ่งการทำ PA นั้น ครู ผอ. ศึกษานิเทศก์ เจ้าหน้าที่เขต ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีวิทยฐานะ ก็ต้องทำทุกคน การทำ PA จะช่วยเชื่อมโยงการพัฒนานักเรียน เข้ากับการทำงานของครู หากครูพัฒนานักเรียนได้ดี นอกจากผลลัพธ์ที่ดีจะเกิดขึ้นกับเด็กแล้ว จะส่งผลต่อความก้าวหน้าทางวิชาชีพของครู รวมถึง ผอ. ด้วยเช่นกัน

ลักษณะสำคัญของ PA
  • ลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน เพราะใช้ได้กับการ เลื่อนเงินเดือน คงวิทยฐานะ และ ใช้ขอมี/เลื่อนวิทยฐานะ โดยต้องประเมินทุกปีเพื่อใช้เลื่อนเงินเดือน และ คงวิทยฐานะ เมื่อประเมินครบ 3 ปี ปีที่ 4 ใช้ขอมี/เลื่อน วิทยฐานะได้
  • PA นี้เป็นของ “ผู้เขียน” ดังนั้นจะกำหนดอย่างไร ให้นึกถึงบริบทหน้างานที่ตัวเองเจอเป็นหลัก 
  • ผู้ทำ PA จะได้ทราบจุดแข็ง จุดอ่อน ปัญหา ที่ใช้ในการพัฒนาการสอนปีถัดไป
  • PA มุ่งมองที่ ผลลัพธ์การเรียนรู้ > ผลสัมฤทธิ์ ไม่เน้นการประเมินจากเอกสาร แต่ดูจากการขับเคลื่อนจัดการเรียนรู้ของครู 
การเริ่มต้นทำ PA

PA ไม่ได้มีแค่การเขียนแบบฟอร์มให้ถูกต้องหรือเขียนให้ผ่าน แต่ คือ การวางแผนพัฒนางานจากบริบทหน้างานที่ตนเองเจอ ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีระบบแตกต่างกัน รวมถึงนวัตกรรมที่ใช้ และ ผลลัพธ์ที่คาดหวัง ดังนั้น ในการเริ่มต้นทำ PA นอกจากศึกษาเกณฑ์ที่ประกาศ โดย ก.ค.ศ. เป็นแนวทางคร่าว ๆ แล้ว  ก็ควรมองที่บริบทภายในโรงเรียนว่ามีระบบหลัก ระบบสนับสนุน อะไรบ้าง ผลลัพธ์ที่คาดหวังคืออะไร ซึ่งจะนำมาใช้คิด “ประเด็นปัญหา (หรือก็คือประเด็นท้าทาย ในส่วนที่ 2)” ที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน 

ประเด็นดังกล่าว สะท้อนออกมาเป็นแนวทางการทำงาน การวัดและประเมินผล และอื่นๆ การจะนำมาซึ่งประเด็นท้าทายได้นั้น สามารถทำได้หลายวิธี เช่น

  • ใช้กระบวนการ PLC เพื่อให้ครู และ ผอ. ได้มาร่วมกันพูดคุยถึงแนวทาง เป้าหมาย วิสัยทัศน์ ของโรงเรียน และปัญหาที่ต้องการแก้
  • ผอ. เรียกรวมครูทั้งโรงเรียน กำหนดให้ครูทุกคนใช้ประเด็นท้าทายเดียวกัน เช่น ต้องการทำให้เด็กมีผลสัมฤทธิ์ มีคุณลักษณะที่ดีขึ้น จากนั้น ให้ครูไปทำ PA ของตนเองตามโจทย์ดังกล่าว
  • ครู วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียนด้วยตนเอง จากนั้นลงมือเขียนประเด็นท้าทายที่ตัวเองอยากจะทำ แล้วนำไปพูดคุยกับ ผอ. ทีหลัง

*แนะนำเครื่องมือในการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาด้วย WHY-WHY-WHY Diagram

สิ่งสำคัญในการทำ PA คือ ควรเริ่มลงมือทำด้วยตนเองก่อน จากนั้นจึงดูตัวอย่างประกอบเพื่อให้ PA ที่ได้นั้นมาจากหน้างานของเราจริงๆ ส่วนการกำหนดตัวชี้วัด ทำได้หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องเจาะจงเฉพาะผลสัมฤทธิ์ อาจพิจารณาจากพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยใช้เครื่องมือที่มีอยู่แล้วอย่าง formative assessment

6 เงื่อนไขสำคัญ ที่ช่วยให้การทำ PA ไม่เพิ่มภาระ และมุ่งสู่การพัฒนาผู้เรียน
  1. เก็บบันทึกงานที่ทำให้เป็นระบบ โดยอาจอัพโหลดไว้ใน cloud drive รวมถึงการเก็บข้อมูลเป็น word/ excel จะสามารถเรียกใช้งานได้ง่ายกว่า PDF
  2. กำหนดประเด็นท้าทายโดย มองลึกไปให้ถึงสาเหตุของปัญหา เช่น นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ต่ำ -> ทำไมจึงมีผลสัมฤทธิ์ต่ำ -> เพราะนักเรียน เรียนไม่รู้เรื่อง -> ทำไมถึงไม่รู้เรื่อง -> นักเรียนเรียนไม่ทันเพื่อน ต้องทวนหลายๆรอบ -> ทำยังไงให้นักเรียนทบทวนเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อค้นหาไปเรื่อยๆจะเจอแก่นลึกของปัญหา ครูแต่ละคนจะพบสาเหตุแตกต่างกัน มีวิธีแก้หลากหลาย 
  3. ครู/ ผอ ไม่ต้องแก้ทุกปัญหาด้วยตัวคนเดียวทั้งหมด สามารถแบ่งภาระหน้าที่ให้แต่ละคนช่วยกันแก้ด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่รอบด้านมากขึ้น ขอเพียงอย่าลืมว่าอยู่วิทยฐานะไหนแล้วมีความคาดหวังอย่างไร
  4. เลือกวิธีดำเนินงาน โดยพิจารณาจากความพร้อม หรือความถนัดของตนเอง
  5. การเขียนตัวชี้วัดให้ประเมินจากห้องเรียน โดยให้ ผอ. และ ผู้ประเมินภายนอก ไปดูที่ห้องเรียน ไม่ใช่เอกสาร จะช่วยลดการขอเอกสารประเมินได้
  6. มีการพูดคุยกันภายในโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ เช่น กำหนดตาราง PLC และ มีนิเทศการสอนอยู่เป็นประจำ หากมีการอัดคลิปมาวิพากษ์ ทั้งหมดนี้จะตอบโจทย์การทำ PA โดยอัตโนมัติ ไม่เพิ่มภาระใดๆ
บทบาทสำคัญของ ผอ.
  1. เพิ่มทักษะการบริหารงานวิชาการ
  2. พัฒนากระบวนการ PLC ให้เข้มแข็ง
  3. ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
  4. สร้างเครือข่ายการเรียนรู้
PA ตอบโจทย์พื้นที่นวัตกรรมอย่างไร
  1. การกำหนดประเด็นท้าทาย เอื้อให้เกิดการพัฒนากระบวนการสอน/ บริหารจัดการในรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้โรงเรียนเลือกใช้นวัตกรรมได้อย่างอิสระ
  2. มุ่งเน้นผลลัพธ์ ทั้งพัฒนาการผู้เรียน ด้าน A S K พร้อมทั้งให้ครูมีอิสระในการออกแบบเครื่องมือประเมิน (Formative & summative assessment) ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าเป้าหมายผู้เรียน คือ อะไร 
  3. เอื้อต่อบริบทที่หลากหลาย โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำ
  4. PA แต่ละตำแหน่งเชื่อมโยงกัน ทำให้ Line of Accountability รวมถึงเชื่อมโยงบูรณาการ โครงสร้างการทำงานที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมในพื้นที่
  5. เชื่อมโยงการเลื่อนเงินเดือน และ ขอ/มี วิทยฐานะ ลดภาระงานครูและการประเมินที่ซ้ำซ้อน
คำถามเพิ่มเติม

1. การเขียน PA ไม่ระบุเป็นรายวิชาได้หรือไม่

ตอบ ส่วนที่ 1 ยังต้องเขียนเป็นรายวิชาเนื่องจากการปรับใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะยังไม่เกิดขึ้นทั้งประเทศ (ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลง กคศ. จะปรับรูปแบบให้เหมาะสมในอนาคต)

ส่วนที่ 2 ประเด็นท้าทาย ไม่จำเป็นต้องระบุรายวิชา ยึดตามที่ครูรับผิดชอบได้เลย

2. การอัดคลิปวิดีโอ ทำอย่างไร

ตอบ อัดคลิปวิดีโอในห้องเรียนที่แสดงสมรรถนะครูได้ดีที่สุด จะเป็นห้องเรียนปกติ ออนไลน์ หรือนอกสถานที่ก็ได้ ขอเพียงแค่เป็นคลิปที่ภาพ เสียง มีคุณภาพเพียงพอต่อการประเมิน ไม่ต้องตัดต่อใด ๆ

3. มีความไม่มั่นใจเรื่อง การทำวิทยฐานะ เนื่องจากเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับ ว.21 หรือ ว.17 ควรทำแบบใด

ตอบ สามารถอ่านคำตอบและศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://otepc.go.th/

Facebook
ข่าวเกี่ยวกับการประเมินวิทยฐานะ


ผู้เขียน : ทัฬหวิชญ์  ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร   แช่ใจ

Facebook Comments
DARA Thinking Model สู่สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ โดยใช้กระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมมองบริบทของตนเอง สู่หลักสูตร Local Thai Dessert
บทความล่าสุด