“เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” หลักการบริหารงานและการจัดกระบวนการเรียนรู้ของ รร.บันนังสตาอินทรฉัตรมิตรภาพที่ 200 ที่ระลึก ส.ร.อ.

12 มกราคม 2565

หลักการบริหารงานและการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
ของโรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตรมิตรภาพที่ 200 ที่ระลึก ส.ร.อ.

สวัสดี ผู้อ่านทุกอ่านพบกันอีกครั้งกับบทความ  “30 ก้าวขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ยะลา” ครั้งนี้ พบกับ นางประไพ ปุยุ ผู้อำนวยการโรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตรมิตรภาพที่ 200 ที่ระลึก ส.ร.อ.  ซึ่งเป็นหนึ่งในสามสิบ รร.นำร่องฯ จ.ยะลา ที่ต้องการพัฒนาให้ผู้เรียน “คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้”

ด้วยใจที่ต้องการเปลี่ยนแปลง

ผอ.ประไพ ได้เล่าว่า จากการสังเกต พฤติกรรม และพูดคุยกับนักเรียนในหลายปีการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า นักเรียนส่วนมากมีความพร้อม มีความสนุกสนานร่าเริง อยากเรียนรู้เมื่ออยู่ที่โรงเรียน แต่นักเรียนยังขาดความมั่นใจที่จะพูดหรือแสดงออก จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่อง เพื่อแสวงหาแนวทางหรือคำตอบว่า “ทำอย่างไรให้ ครู บุคลากร ที่มีองค์ความรู้ มีความสามารถโดดเด่น นำความรู้ออกมา แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันภายในโรงเรียน เพื่อพัฒนาให้นักเรียน คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้”    

หลักการบริหารของโรงเรียน

ในการบริหารโรงเรียน ผอ.ประไพ ได้กล่าวถึงหลักการเบื้องต้น คือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ยืดหยุ่น คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างวิถีชีวิตและแนวปฏิบัติที่แตกต่างกัน เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขภายใต้ สังคมพหุวัฒนธรรมที่มีนักเรียน ครู และบุคลากร นับถือศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธอยู่ร่วมกัน “โดยมุ่งหวัง คือ ให้ผู้เรียนอ่านออก เขียนได้ คิดวิเคราะห์เป็น มีทักษะอาชีพ”

นวัตกรรมสู่การพัฒนา

ในตลอดปีการศึกษา 2563 โรงเรียนได้รับการดูแล กำกับ และติดตามโดย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ. หาดใหญ่) ซึ่งจะแบ่งนวัตกรรมการสอนที่โรงเรียนได้ใช้ คือ

   

ระดับชั้นอนุบาล การจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย

   

   

ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 การจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย บูรณาการวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ

 

   

ระดับประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 การจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการโครงงานฐานวิจัย โดยจัดทำเป็นรายวิชาเพิ่มเติม สัปดาห์ละ 3 คาบ จำนวน 120 ชั่วโมง/ภาคเรียน 

ความท้าทาย

เริ่มแรกการนำนวัตกรรมทั้ง 3 ดังกล่าวเข้ามาให้ครูจัดการเรียนการสอน พบว่า ครูส่วนหนึ่ง มีการต่อต้านไม่ยอมรับเพราะยึดติดกับการสอนแบบเดิม ๆ มีความกังวลเพราะคิดว่ามีภาระงานที่เพิ่มขึ้น  นักเรียนไม่กล้าพูด ตอบคำถามไม่เป็น ไม่ได้ตามใจครู จะตั้งคำถามอย่างไรให้นำไปสู่เรื่องที่ครูต้องการให้นักเรียนคิ  หลังจากได้ทดลองจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเสร็จสิ้น ในภาคเรียนที่ 1/2563 สิ่งที่แอบได้ยินจากการบอกเล่าจากคุณครูทุกคน (โดยไม่รู้ว่า ผอ. แอบฟัง ซึ่งเป็นเทคนิคการนิเทศของ ผอ. และ รอง ผอ.) นักเรียนหลังห้องมีการเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นผู้มีจิตอาสา และเข้ามาร่วมกิจกรรมมากขึ้น”  จากนั้น จึงได้เกิดวัฒนธรรมใหม่ในการทำงาน คือ ให้ครูมาเล่าเรื่องบรรยากาศ กิจกรรมในชั้นเรียนของตนเอง โดยใช้กระบวนการ PLC ให้เกิดแลกเปลี่ยนแนวคิดร่วมกัน มีความสุขที่ได้รับจากเพื่อนร่วมงานด้วยหน้าตาที่แจ่มใสที่แสดงออกมา

นวัตกรรมฯ สู่ความสำเร็จ

การจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยระดับปฐมวัยและประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 มีแนวทางการดำเนินงานการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ตามขั้นตอนดังนี้

ภาคเรียนที่ 1 จะให้นักเรียนเรียนรู้ทำกิจกรรมบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยเพื่อที่ปลูกฝังทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นในตัวนักเรียน กิจกรรมที่ทำเป็นกลุ่ม ๆ ละ 2 คนเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนสัมผัสและทดลองทำเอง ทุกคนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน (ภาคเรียนที่ 1 ทำการทดลอง 10 เรื่อง) 

ภาคเรียนที่ 2 โครงงานวิทยาศาสตร์ 

  • จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ในแต่ละกิจกรรมแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนคือ 1. ขั้นจิตปัญญา 2. ขั้นทดลองและนำเสนอ 3. ขั้นสะท้อนวิพากษ์
  • ภาคเรียนที่ 2 การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ต้องเป็นโครงงานมาจากความสนใจของนักเรียนแต่ละคน โดยในแต่ละห้องสามารถมีได้หลายโครงงาน

ระดับประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 การจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการโครงงานฐานวิจัย มีแนวทางการดำเนินงานการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการโครงงานฐานวิจัย ตามขั้นตอนดังนี้

  1. ครูจัดทำหน่วยการเรียนรู้โครงงานฐานวิจัย ประกอบด้วย 5 หน่วยการเรียนรู้ 15 แผนการสอน การจัดการเรียนการสอนในแต่ละแผนใช้เวลา 3 ชั่วโมง ด้วยกระบวนการ   PSTACp
  • เตรียมความพร้อม (P=Preparation) : ฝึกทักษะที่จำเป็น เช่น เข้าใจตนเอง (ฉันคือใคร) (3 แผนการสอน)   
  • สำรวจ (S=Survey) : ฝึกทักษะการสำรวจ และการวิเคราะห์ ปัญหา (3 แผนการสอน)
  • สร้างโจทย์ (T=Topic) : ฝึกการสร้างหัวข้อโครงงานจากปัญหาในชุมชน (3 แผนการสอน)
  • เก็บข้อมูล (A=Analysis) : ฝึกการออกแบบทดลองและเก็บข้อมูล (3 แผนการสอน)
  • สรุป/เผยแพร่ (C=Conclusion)

2. ฝึกการสรุปเขียนความรู้และนำเสนอ (3 แผนการสอน)  ขั้นตอนในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มี 4 ขั้น

  •      ขั้นที่ 1 จิตตปัญญา/คุณธรรม
  •      ขั้นที่ 2 ห้หลักคิด/ความรู้
  •      ขั้นที่ 3 ปฏิบัติสร้างความรู้
  •      ขั้นที่ 4 ถอดบทเรียน

3. ครูประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนด้วยวิธีการที่หลากหลายและนิเทศติดตามด้วยกระบวนการ PLC

   

ความสำเร็จในการใช้นวัตกรรม
  • ผู้บริหาร มีนวัตกรรมใหม่ในการบริหารงาน ที่เกิดจากความร่วมมือของบุคลากรในโรงเรียนชุมชน คณะกรรมการสถานศึกษาฯและที่สำคัญที่สุดคือผู้ปกครองนักเรียน มีกระบวนการนิเทศที่เป็นระบบนำข้อมูลสารสนเทศ นำไปพัฒนาต่อยอดต่อไป โดยเฉพาะกระบวนการ PLC
  • ครู 3 ร.ส.  “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมภาคภูมิใจ ใส่ใจผู้เรียน”  เปลี่ยนบทบาทจากครู เป็นผู้อำนวยการ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเริ่มจากครูเตรียมความพร้อม จากผู้แสดง ผู้บอก ผู้ให้ความรู้ เป็นผู้สนับสนุน ผู้ฟัง ผู้ชี้แนะ ส่งเสริม ให้กำลังใจ ส่งเสริมให้นักเรียนใช้ระบบทีม  และการทำงานเป็นทีมแลกเปลี่ยนแนวคิด วิธีการซึ่งกันและกัน ร่วมกันภาคภูมิใจ
  • นักเรียน   มีพัฒนาการการทำงานเป็นทีม ช่วยเหลือกัน ดูแลซึ่งกันและกันเมื่อออกสำรวจในชุมชน  พื้นที่ใกล้โรงเรียน กล้าแสดงออก มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีพัฒนาการผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น
  • ชุมชน  ผู้ปกครองนักเรียน มีความชื่นชมในตัวบุตรหลานจากการพฤติกรรมของนักเรียนที่เปลี่ยนแปลง ชุมชนให้ความร่วมมือแก่โรงเรียนโดยจัดภูมิปัญญาเข้ามาร่วมจัดกิจกรรมให้นักรียนหรือช่วยดูแลขณะนักเรียนออกสำรวจชุมชน

การต่อยอดความสำเร็จ

จากการนำวิธีการจัดการเรียนการสอนดังกล่าวมาใช้ในจัดกรรมการเรียนสอน เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตุได้ คือ การที่นักเรียนมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้และด้านคุณธรรม ทักษะทางวิชาการ การอ่านออก เขียนได้ ทักษะการคิด การคิดอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะนำไปต่อยอดเป็นพื้นฐานในการเรียนต่อไป ซึ่งความมีคุณธรรมจะปลูกฝังให้นักเรียน อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขในท้องถิ่นภาคใต้ภายใต้บริบทวัฒนธรรม

ส่งท้าย..สู่การพัฒนายั่งยืน

โรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตรมิตรภาพที่ 200 ที่ระลึก ส.ร.อ. จ.ยะลา ที่มีหัวใจมุ่งมั่นในการนำหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาใช้เป็นหลักในการบริหารและจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทั้งด้านความรู้ ทักษะ เจตคติ และสมรรถนะของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างวิถีชีวิตและแนวปฏิบัติทางศาสนา เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งโรงเรียนได้พัฒนาเป็นแนวทางสู่ความสำเร็จแล้ว แต่ก็ยังต้องมีการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนต่อไปไม่ว่าจะทางด้านวิชาการ หลักสูตร การจัดการเรียนสอน และการพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลาและเป็นต้นแบบโรงเรียนนำร่องต่อไป

ในปีการศึกษา 2565 ต่อไป โรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตรมิตรภาพที่ 200 ที่ระลึก ส.ร.อ. จะนำหลักการบริหารงานและการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนต่อไปอย่างไร โปรดติดตามต่อไปและผู้เขียนจะนำเสนอบทความที่น่าสนใจของ รร.นำร่องฯ จ.ยะลา อื่นที่น่าสนใจต่อไปในหัวข้อ “30 ก้าวขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ยะลา” บทความถัดไป


ผู้เขียน : อิศรา โสทธิสงค์
ผู้ให้สัมภาษณ์ : ประไพ ปุยุ ผู้อำนวยการโรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตรมิตรภาพที่ 200 ที่ระลึก ส.ร.อ.
ผู้สัมภาษณ์ :อิศรา โสทธิสงค์
กราฟิกดีไซน์เนอร์ :
 อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์ : ปราชญาพร   แช่ใจ
ภาพประกอบ : โรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตรมิตรภาพที่ 200 ที่ระลึก ส.ร.อ.

Facebook Comments
การสำรวจสถานะการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2564
บทความล่าสุด