เชื่อมโยงหน่วยงานใน สพฐ. ร่วมเป็นเจ้าภาพขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

12 พฤศจิกายน 2563

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ได้ให้นโยบายต่อที่ประชุม ณ ห้องประชุม DOC สพฐ. เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2563 มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) และ สำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สตผ.) ถึงการเน้นย้ำแนวทางการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ตามยุทธศาสตร์ 3 ป. (ปลดล็อคอุปสรรค เปลี่ยนทัศนคติ และเปิดกว้าง) เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เหล่านี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) และหน่วยงานจากส่วนกลางใน สพฐ. ต้องทำงานเชื่อมโยงสอดประสานเป็นอันหนึ่งเดียวกันเพื่อให้การขับเคลื่อนงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

เลขาธิการ กพฐ. ได้ขยายภาพความเชื่อมโยงการทำงานของแต่ละสำนักในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้ชัด กล่าวคือ สำนักวิชาการและมาตรฐารการศึกษา ที่มีหน้าที่ศึกษาเรียนรู้และพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตรฯ และตอบโจทย์ในเรื่องของแกนหลักการศึกษา ในกรณีที่มีหลักสูตรเก่าหรือมีการเปลี่ยนแปลงเป็นหลักสูตรใหม่ ก็จะสามารถอธิบายถึงเรื่องของจุดอ่อน จุดแข็ง และจุดมุ่งหมาย ได้อย่างชัดเจนในการเปลี่ยนหลักสูตร เพื่อที่จะนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การประเมินผลลัพธ์ตามหลักสูตรนั้น สำนักทดสอบทางการศึกษาก็จะต้องเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการออกแบบเครื่องมือในการวัดและประเมินผลการเรียนการสอนที่สะท้อนผลว่าเป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่ ในส่วนของสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน (สทร.) ต้องพิจารณาเครื่องมือต่าง ๆ ที่สนับสนุนหรือเอื้ออำนวยให้ผู้เรียนและผู้สอนสามารถดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น อินเทอร์เน็ต หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่จะส่งเสริมกิจกรรมที่เกิดขึ้นในสถานศึกษา แล้วสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) ต้องเติม ต้องกระตุ้น ให้เกิดการสร้างและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาใหม่ ๆ ตามบริบทและความต้องการ หรือความจำเป็น เพื่อขับเคลื่อนให้หลักสูตรฯ เกิดผลลัพธ์ตามที่ตั้งเป้าไว้ หน่วยศึกษานิเทศก์ก็ต้องเป็นพี่เลี้ยงหรือโค้ชคอยให้คำปรึกษาและชี้แนะแก่สถานศึกษานำร่องอย่างใกล้ชิด สำนักคลังและสินทรัพย์ฯ ก็คอยช่วยเหลือ สนับสนุน งบประมาณการใช้จ่าย ดูว่าเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการใช้เงินหรือไม่

จะเห็นได้ว่าในพื้นที่นวัตกรรมแห่งนี้ถูกออกแบบมาเพื่อที่เราจะสามารถทดสอบ ทดลองโมเดลต่าง ๆ ที่เราได้ศึกษามาอย่างดีแล้วว่าจะเกิดประโยชน์ต่อการศึกษา แล้วผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นวัตกรรมนี้เองก็จะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในสิ่งที่เราทุกสำนักร่วมกันทำ แล้วจากนั้นสำนักงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) ก็ไปรวบรวมข้อมูล ศึกษาและวิเคราะห์แนวทางการจัดการศึกษาที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ รวบรวมแล้วไปนำเสนอเป็นแนวทางการขยายผลแนวทางปฏิบัติที่ดีในการจัดการศึกษาต่อคณะกรรมการนโยบายที่ท่านนายกฯ เป็นประธานเพื่อให้เกิดการขยายผลใช้กับสถานศึกษาอื่นทั่วประเทศต่อไป

สุดท้าย เลขาธิการ กพฐ. ได้ฝากให้ทุกสำนักทำงานใกล้ชิดกันให้มากขึ้น ให้เข้ามาร่วมมือร่วมใจและเป็นเจ้าภาพการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในบทบาทที่ตนดูแล เพราะงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไม่ใช่งานของสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมกการศึกษา (สบน.) เพียงหน่วยเดียวเท่านั้น

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นงานของ สพฐ. ทั้งองค์กรเราถือเป็นเจ้าภาพหลักในการจะปฏิรูปการศึกษาของประเทศ เราจะใช้ประโยชน์จากการมี พ.ร.บ. พื้นที่วัตกรรมการศึกษา ครั้งนี้ ร่วมกันยกระดับการศึกษาของประเทศ ขอให้ทุกคนทุกสำนักช่วยกัน


ผู้เขียน: ศศิธร สวัสดี
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: อิศรา โสทธิสงค์, ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
ทิศทาง สพฐ. ปี 2021 3ป. (ปลดล็อคสิ่งที่กีดขวาง ปรับเปลี่ยนทัศนคติ เปิดกว้างในสิ่งที่ไม่เคยทำ)ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี สร้างความเข้าใจ บทบาทของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในพื้นที่การศึกษา
บทความล่าสุด