เรียนรู้ อยู่เป็น ตามวิถีหนองม่วง

13 มีนาคม 2563

การเตรียมเด็กให้พร้อมเผชิญโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วหรือแนวทางการจัดการศึกษา วิถีชีวิตและกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยนั้น จึงมีเป้าหมายให้เด็ก เรียนรู้ อยู่เป็น สามารถดูแลช่วยเหลือตนเองได้ ปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ และกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ อันเป็นคุณธรรมสำคัญที่เกื้อหนุนการเรียนรู้ของวัยเด็ก โดยผ่านการบูรณาการ 4 สาระที่ควรเรียนรู้สำหรับปฐมวัย ได้แก่ ตัวเด็ก บุคคลและสถานที่แวดล้อม ธรรมชาติรอบตัวเด็ก และสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเด็ก ลงในทุกกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็ก อาทิ กิจวัตรประจำวัน การเล่น การออกกำลังกาย นิทาน ศิลปะ ดนตรี การทำอาหาร การเดินสำรวจธรรมชาติ กิจกรรมจิตอาสา และโครงงานตามความสนใจ ซึ่งสอดคล้องไปกับหน่วยฤดูกาลของแต่ละภาคเรียนของโรงเรียนบ้านหนองม่วง

กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยโรงเรียนบ้านหนองม่วง
1. กิจวัตรประจำวัน

กิจวัตรประจำวันในห้องเรียนเป็นสิ่งสำคัญที่เด็ก ๆ จะต้องฝึกฝนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เมื่อเด็กมาถึงโรงเรียนในตอนเช้า เขาจะตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตน เริ่มตั้งแต่การทักทายสวัสดีครู จัดเก็บรองเท้าของตนให้เป็นระเบียบ ทำความสะอาดและจัดเก็บของเล่น กวาดและถูพื้นห้องเรียน ทิ้งขยะ งานสวนการปลูกผักและการดูแลผักไว้รับประทานเอง งานครัว การจัดเตรียมอุปกรณ์ในการรับประทานอาหาร การแบ่งหน้าที่ไปตักอาหาร และการประกอบอาหารรับประทานเอง เป็นการฝึกฝนเด็ก ๆ ให้รู้จักช่วยเหลือตนเองขั้นพื้นฐาน ฝึกความอดทน ความมีวินัย ความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน และการมีจิตอาสา การฝึกฝนทั้งหมดนี้เป็นการทำซ้ำ ๆ ให้เป็นปกติ จนเกิดเป็นพฤติกรรมหรือสร้างวินัยให้กับเด็ก

2. Learning Space

การดูแลและช่วยเหลือตนเองเริ่มที่ความพร้อมของร่างกายเป็นอันดับแรก เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ตั้งแต่การควบคุมร่างกายตนเองในการเล่นอิสระในห้องเรียน การเล่นกลางแจ้ง Learning space และการเล่นอย่างมีแบบแผนที่จัดโดยครู ตลอดจนการระมัดระวังตนเองและเพื่อน ๆ ให้เกิดการเล่นอย่างปลอดภัยและปลูกฝังเรื่องการช่วยเหลือผู้อื่น

3. นิทาน เพลง บทกลอน

ธรรมชาติของเด็กทุกคนชื่นชอบนิทาน ครูจึงนำนิทานมาเป็นสื่อสร้างแรงบันดาลใจและจินตนาการ และเป็นสื่อในการแสดงความรู้ของเด็ก ๆ ฝึกสร้างจินตนาการไปกับนิทานและซึมซับคุณค่าจากเรื่องราวโดยการพูดไปพร้อมกับครู เพราะจดจำจากการได้ฟังหลายครั้ง แล้วเคลื่อนไหวร่างกายให้สอดคล้องกับความหมายของแต่ละบทไปพร้อมกันทั้งห้อง การสร้างผลงานศิลปะจากนิทาน โดยครูจะคัดสรรนิทานที่สอดคล้องกับฤดูกาลของภาคเรียน คุณค่าของเรื่องราวที่อยากให้เด็กซึมซับ และสอดคล้องกับโครงงานที่เด็กกำลังสนใจในภาคเรียนนั้น ๆ เช่น เด็ก ๆ ในห้องกำลังสนใจเรื่องเศษอาหาร นำไปสู่โครงงานเศษอาหารมหัศจรรย์ และทำอาหารจากผักที่ปลูก เป็นต้น

4. Coding

Coding หรือวิทยาการคำนวณในชีวิตประจำวัน แม้แต่เด็กปฐมวัยก็ยังมีความเกี่ยวข้องกับวิทยาการคำนวณอยู่ตลอดเวลา เบื้องหลังระบบการทำงานของอุปกรณ์ที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น กล้องถ่ายรูปดิจิตอล เครื่องคอมพิวเตอร์เช่นเดียวกับโทรศัพท์สมาร์ตโฟน เทบเลตพีซีต่าง ๆ เด็ก ๆ อาจมีโอกาสได้ใช้งานหรือเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์เหล่านี้มาบ้างแล้ว แต่วิทยาการคำนวณยังครอบคลุมไปถึง กระบวนการทำงาน การ วางแผน ความรู้ รวมถึงแนวคิดมากมายที่อยู่เบื้อหลังระบบการทำงานหรือกระบวนการประมวลผลอย่าง อัตโนมัติ โดยการนำวิทยาการคำนวณเหล่านั้น มาจัดกิจกรรม Coding ให้เหมาะสำหรับเด็กปฐมวัย อาทิเช่น กิจกรรมสำรวจหาสิ่งของที่เป็นอุปกรณ์ดิจิตอล กิจกรรมตามหาทางลัด กิจกรรมออกแบบภาพสัญลักษณ์ กิจกรรมภาพพิกเซล กิจกรรมเป็นหุ่นยนต์ดูสักครั้งในชีวิต

5. กิจกรรมการเรียนรู้เพื่อเสริมประสบการณ์

กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้จะหมุนเวียนเปลี่ยนไป สอดคล้องกับโครงงานที่เด็กสนใจ เป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้เด็ก ๆ พัฒนาทักษะชีวิต และเกิดพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย จิตใจและสติปัญญา เช่น การทำอาหารจาก ผักที่เด็ก ๆ ช่วยกันปลูก การทำขนม งานศิลปะ งานประดิษฐ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมสุนทรียภาพและคุณภาพภายในของเด็ก โดยเฉพาะเรื่องสมาธิ และการเรียนรู้แบบโครงงานจะเริ่มจากขณะที่เด็ก ๆ ทำกิจวัตรและกิจกรรมการเรียนรู้ในแต่ละวัน ครูจะสังเกตและฟังว่าเด็ก ๆ กำลังสนใจเรื่องอะไร แล้วนำหัวข้อนั้นมาพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างครูกับเด็ก จนกระทั่งนำไปสู่หัวข้อที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของโครงงาน ซึ่งเป็นการเรียนรู้เชิงลึกที่เด็กจะได้เรียนรู้จากการลงมือทำจริง เรียนรู้เรื่องภาษา การสื่อสาร วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และพัฒนาทักษะต่าง ๆ โดยมีหัวใจสำคัญคือการเรียนรู้อย่างมีความหมายทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม ดังตัวอย่างเช่น โครงงานเศษอาหารมหัศจรรย์ของเด็กชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนบ้านหนองม่วง

จากการเริ่มออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยน ค้นหา และแก้ไขจุดที่บกพร่องในการจัดการเรียนเรียนรู้ไปพร้อมกันกับเด็ก ๆ นั้นทำให้พบว่าแท้จริงแล้วธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยที่เด็กเขาต้องการเรียนรู้ถึงศักยภาพของตนเองผ่านการเล่น การทำกิจกรรมร่วมกัน มากกว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่มีความต้องการ


ผู้เขียน: พัชรินทร์ อินทวงษ์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โรงเรียนบ้านหนองม่วง

Facebook Comments
คณะกรรมการสรรหาฯ ประชุมพิจารณาอย่างรอบคอบ คัดเลือกผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาพื้นที่นวัตกรรมไม่ใช่โครงการไฟไหม้ฟางแต่เป็นพื้นที่สร้างโรงเรียนดีและระบบการศึกษาดีที่สถิตเสถียร
บทความล่าสุด