พื้นที่นวัตกรรมไม่ใช่โครงการไฟไหม้ฟางแต่เป็นพื้นที่สร้างโรงเรียนดีและระบบการศึกษาดีที่สถิตเสถียร

14 มีนาคม 2563

รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ) กล่าวเปิดการประชุมพิจารณาแนวทางการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เมื่อวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2563 ณ ห้องประชุม สตผ. อาคาร สพฐ.5 ชั้น 7 กล่าวถึงภารกิจพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่มีพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 รองรับว่า ถือเป็นการดำเนินงานที่มีทิศทางที่ชัดเจน จนสามารถพยากรณ์ได้ว่าจะสามารถดำเนินการไปสู่เป้าหมายได้อย่างมั่นใจ แตกต่างจากโครงการส่วนใหญ่ที่เป็นโครงการแบบไฟไหม้ฟาง หรือวูบวาบ ไม่ยังยืน

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นการผนึกกำลังกันระหว่างภาครัฐภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ร่วมกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เกิดความเข้มแข็ง เสริมสร้างให้โรงเรียนดีและระบบการศึกษาที่ดี สร้างนวัตกรรมที่ทำให้เด็กเก่ง ดี มีความสุข มีทักษะชีวิต มีทักษะทางสังคม ให้เด็กสามารถเรียนรู้เพื่อตอบโจทย์ตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติได้

ฉะนั้น บทบาทของโรงเรียนนำร่อง พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จะต้องสำรวจศักยภาพของตนเองนำไปสู่การวางแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แสวงหาพี่เลี้ยงช่วยสนับสนุน ชี้แนะไม่ชี้นำ คอยกระตุ้นหรือเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการพัฒนาสู่การเป็นโรงเรียนที่ดี

ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังได้กล่าวถึงและเน้นย้ำประเด็น “โรงเรียนดี” กับผู้บริหารสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนประชารัฐ โรงเรียนร่วมพัฒนา ณ ห้องทำงานของรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานว่าในการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนนั้น จะต้องให้โรงเรียนได้ค้นพบศักยภาพของตนเอง กระตุ้นให้โรงเรียนคิดเองทำเอง ไปสู่การเป็นโรงเรียนดีมีความเข้มแข็ง

นิยามของโรงเรียนดีมี 5 ประการ คือ หนึ่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนมีภาวะผู้นำด้านวิชาการและด้านการบริหารสูง สอง ครูเก่งและดี มีความรู้ ถ่ายทอดหรือสอนดี พฤติกรรมดี เช่นแต่งกายดี พูดจาดี สาม โรงเรียนมีบรรยากาศด้านกายภาพที่ดี สะอาด ร่มรื่น สวยงาม สี่ มีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ห้า มีสื่อการเรียนการสอนเพียงพอและเหมาะสม ทั้งสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ นวัตกรรม ทั้งนี้ ต้องไม่ทิ้งภูมิปัญญาท้องถิ่นและควรนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้จนกลายเป็นนวัตกรรมด้วย

จากแนวคิดข้างต้นจะเห็นได้ว่ารองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐานมีความเข้าใจในแนวทางการดำเนินงานของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่มีพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษารองรับ เปิดโอกาสให้โรงเรียนนำร่องคิดเอง ทำเอง มีอิสระในการแสวงหาแนวทาง วิธีการ หรือนวัตกรรม ที่เหมาะสมกับอัตลักษณ์ของตนเอง ซึ่งระยะเวลาในการดำเนินการของพระราชบัญญัติมีระยะยาวเพียงพอ ทำให้เกิดการพัฒนาที่มั่นคง ไม่ใช่โครงการไฟไหม้ฟาง แต่พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นพื้นที่สร้างโรงเรียนดีและระบบการศึกษาที่ดีมีเสถียรภาพ


ผู้เขียน: พิทักษ์ โสตถยาคม
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ภัชธีญา ปัญญารัมย์, ทีม OBEC

Facebook Comments
เรียนรู้ อยู่เป็น ตามวิถีหนองม่วงสพฐ. เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ และ ผอ.สำนักในส่วนกลาง ร่วมระดมความคิดเพื่อปรับ (ร่าง) แนวทางสำหรับโรงเรียนนำร่องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562
บทความล่าสุด