ความท้าทายของครูยุคใหม่ ไม่เฉพาะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

17 มีนาคม 2563

ครูทุกคนล้วนมีความคาดหวังให้ผู้เรียนนั้น มีองค์ความรู้ให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ครูโรงเรียนบ้านหนองม่วงก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่การปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนรู้อาจนำไปสู่ความเข้าใจและนำไปใช้ได้มากขึ้นสำหรับผู้เรียน

ความท้าทายของครูยุคใหม่ จึงเป็นการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่ได้เกิดจากการบอกการสอนของครู แต่เกิดจากการคิด สืบค้น วางแผน เรียงลำดับเพื่อหาคำตอบของผู้เรียน โดยครูเป็นโค้ชหรือแนะนำให้ผู้เรียนไปสู่ความรู้ที่ถูกต้อง

ดังนั้นกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆนั้น จึงต้องการให้ผู้เรียนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของงาน เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำงาน เมื่อครูออกแบบการเรียนรู้ไว้ล่วงหน้าแล้ว ต่อไปคือการให้โจทย์หรือสถานการณ์ที่นักเรียนรู้สึกสนใจ ต้องการแก้ปัญหาและหาคำตอบ

จากภาพกิจกรรมที่เห็นนี้คือ การออกแบบระบบอัตโนมัติ เพื่อแก้ปัญหาหรืออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน โดยมีขั้นตอนในการจัดการเรียนรู้คือ

  1. ครูชี้ชวนว่าในโลกยุคปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกมากมาย โดยการเปิดสื่อระบบอัตโนมัติต่างๆ ให้นักเรียนช่วยกันตอบว่ามีประโยชน์อย่างไร คิดว่าทำงานได้อย่างไร
  2. ครูให้นักเรียนฟุ้งความคิดของแต่ละคนว่า แล้วในชีวิตประจำวันเรานั้นควรมีระบบอัตโนมัติใดมาช่วยอำนวยความสะดวกบ้าง
  3. นักเรียนแต่ละกลุ่มเลือกปัญหาที่ต้องการ ให้เวลาในการศึกษาเกี่ยวกับอุปกรณ์ Kidbright และเซนเซอร์ประเภทต่างๆ
  4. นักเรียนออกแบบพิมพ์เขียวโมเดลระบบอัตโนมัติของกลุ่มตนเอง พร้อมรายละเอียดของอุปกรณ์ทั้งหมด
  5. นักเรียนช่วยกันระดมความคิดว่าอุปกรณ์นั้นต้องหาหรือซื้อจากที่ใด และจัดซื้อด้วยตนเอง
  6. เมื่อได้อุปกรณ์แต่ละกลุ่มนั้นวางแผนการทำงาน จนทำให้โมเดลนั้นทำงานได้อย่างถูกต้อง
  7. นักเรียนนำเสนอตามวิธีของกลุ่มตนเอง เหตุผลในการออกแบบระบบอัตโนมัติ หลักการทำงาน และประโยชน์ที่จะได้รับ
  8. สุดท้ายคือการสรุปร่วมกันว่า หลังจากผ่านกิจกรรมนี้แล้ว นักเรียนมีความคิดเห็นอย่างไร มีอุปสรรคการแก้ปัญหาอย่างไร และนำไปสู่ชีวิตจริงของนักเรียนหรือชุมชนได้อย่างไร

กระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากความคิดของผู้เรียน ว่าต้องสืบค้นข้อมูลเรื่องใด วางแผนการทำงานเป็นอย่างไร ใครรับผิดชอบงานใดบ้าง ต้องใช้อุปกรณ์ชนิดใด ซื้อที่ไหน มีอิสระในการทำงาน โดยครูเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ คอยแนะนำในสิ่งที่นักเรียนไม่เข้าใจ หรือไม่เหมาะสม และสุดท้ายคือการนำเสนอข้อมูลผ่านชิ้นงาน ทำให้ชิ้นงานนี้ไม่ใช่ทำตามเนื้อหาบทเรียนหรือทำตามขั้นตอนของครู แต่เป็นชิ้นงานที่เกิดจากความสนใจ ใส่ความรู้ที่มี ออกมาเพื่อแก้ปัญหาต่างๆได้ด้วยตัวเอง

จากการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ การเปลี่ยนครูเป็นโค้ช ทำให้เราได้เปิดสิ่งใหม่ๆให้ผู้เรียน เกิดการเรียนรู้โดยมีสมรรถนะ การออกแบบกิจกรรมลักษณะนี้จึงเป็นความท้าทายใหม่ให้กับครูโรงเรียนบ้านหนองม่วง เพื่อฝึกกระบวนการคิด ทำงาน และการนำไปใช้ในชีวิตจริงให้กับผู้เรียน


ผู้เขียน: ธาราพงษ์ มูลภักดี
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โรงเรียนบ้านหนองม่วง

Facebook Comments
สพฐ. เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ และ ผอ.สำนักในส่วนกลาง ร่วมระดมความคิดเพื่อปรับ (ร่าง) แนวทางสำหรับโรงเรียนนำร่องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562เทคนิคทำคลิปให้ไม่น่าดู : ประเด็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมปฏิบัติการพัฒนาโค้ชเพื่อขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล
บทความล่าสุด