โรงเรียนเทศบาล 3 (บ้านบ่อ) พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี ขับเคลื่อนด้วยหลากหลายรูปแบบวิธีการสอน Active learning ควบคู่แนวคิดการจัดการเรียนรู้ Neo-Humanist

13 พฤษภาคม 2563

โรงเรียนเทศบาล 3 (บ้านบ่อ) สังกัดเทศบาลเมืองกาญจนบุรี มีพื้นที่ 3 ไร่ มี 5 อาคารเรียน  เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ห้องเรียนอนุบาลมี 9 ห้อง (อนุบาล 1-3 มีระดับชั้นละ 3 ห้อง) ห้องเรียนระดับชั้นประถมศึกษามีชั้นละ 4 ห้องรวม 24 ห้อง นักเรียนมีจำนวนทั้งสิ้น 1,214 คน  มีผู้บริหาร 4 คน (รวมผอ.ด้วย) บุคลากรสายการสอน ประกอบด้วย ข้าราชการครู 47 คน ครูจ้างสอนและครูพี่เลี้ยงรวม 16 คน ผู้บริหารโรงเรียน คือ ผอ.ราชัญ  สมทบ โรงเรียนตั้งอยู่ใจกลางจังหวัดกาญจนบุรี บริเวณโดยรอบโรงเรียนเป็นส่วนราชการ ผู้ปกครองประกอบอาชีพที่หลากหลาย เช่น รับราชการ ค้าขาย เกษตรกรรม รับจ้างทั่วไป

โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแห่งนี้ เป็นหนึ่งในไม่กี่โรงเรียนที่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผอ.ราชัญ  สมทบ ได้เล่าถึงเหตุผลที่นำโรงเรียนเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สรุปได้ว่า แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2561 ได้เน้นเรื่องของนวัตกรรม เน้นให้เด็กมีทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะทางเทคโนโลยี ผอ.เองก็ต้องการให้ทั้งครูและเด็กเป็นนวัตกร เมื่อเด็กได้เรียนรู้ในเรื่องใดแล้ว เด็กควรนำความรู้ไปสร้างเป็นนวัตกรรมได้ เมื่อมีพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้นมา จึงคิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะทำให้ครูและเด็กสามารถเป็นนวัตกรได้ การบริหารและการจัดการศึกษาในระหว่างการเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของโรงเรียนเทศบาล 3 (บ้านบ่อ) สรุปเป็นประเด็นต่าง ๆ ได้ ดังนี้

1. การจัดการเรียนการสอน

แนวคิด วิธีการสอน รูปแบบการสอน

โรงเรียนเทศบาล 3 (บ้านบ่อ) มีความโดดเด่นด้านวิชาการ สามารถดูได้จากการที่เด็กได้เป็นตัวแทนการแข่งขันของระดับภาคแข่งระดับประเทศของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อีกทั้งได้รับรางวัลระดับประเทศ หรือมีผลการสอบ O-NET วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษสูงเกินค่าเฉลี่ยของประเทศ โรงเรียนอยู่ระหว่างขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ซึ่งผอ.ราชัญ สมทบ ได้สนับสนุนส่งเสริมให้ครูใช้นวัตกรรมการเรียนการสอน นำแนวคิด วิธีการสอน รูปแบบการสอน สื่อการเรียนการสอน นวัตกรรมการศึกษา เช่น การพัฒนาแบบฝึกให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ โรงเรียนจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ได้ร่วมกันทำงานกลุ่มผ่านเทคโนโลยี โดยโรงเรียนได้ติดตั้ง Smart TV ทุกห้องเรียน ให้มีการนำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียน หรือนำเสนอผลการศึกษา องค์ความรู้ที่ได้สรุปเป็นแผนภาพรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เด็กเรียนรู้และจดจำจากแผนภาพได้ดี

การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning นั้น ผอ.โรงเรียนเปิดกว้างให้ครูเลือกนำรูปแบบการสอนมาใช้ได้อย่างหลากหลาย โดยผอ.ราชัญ สมทบ ได้แสดงทัศนะไว้อย่างน่าสนใจว่า เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน การนำวิธีการสอนรูปแบบเดียวมาใช้กับเด็กทุกคนซึ่งมีความแตกต่างกัน แล้วได้ผลเหมือนกันหมดนั้น มีความเป็นไปได้น้อยมาก

เน้นแนวคิดการจัดการเรียนรู้ Neo-Humanist

โรงเรียนให้ความสำคัญกับแนวการสอนนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ นำมาใช้กับผู้เรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล โดยครูจะสอนในสิ่งที่เป็นนามธรรม จากการใช้รูปธรรมง่าย ๆ ไปหายาก ๆ ในขณะที่เด็กไม่รู้ตัว เช่น การเล่านิทาน การพาเด็กนั่งสมาธิตอนเช้า ส่งผลให้เด็กไม่รู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกอบอุ่น นอกจากนั้น โรงเรียนยังเน้นฝึกระเบียบวินัยเด็ก การนำแนวการสอนนีโอ-ฮิวแมนนิสต์มาใช้ ทำให้เกิดผล ดังนี้ ประการแรก เด็กได้เรียนรู้พฤติกรรมที่ดีจากครูและเกิดการเลียนแบบ ประการที่สอง เด็กได้ซึมซับจริยธรรมจากนิทาน ได้แสดงความคิดเห็นและประพฤติตนตามตัวอย่างที่ดีจากนิทาน ซึ่ง ผอ.ราชัญ สมทบ ได้ซื้อหนังสือนิทานจำนวนมากเพื่อสนับสนุนแนวการสอนนี้ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าเรื่องนี้ต้องฝึกกันตั้งแต่เด็ก ๆ ในขณะเดียวกันยังใช้การเสริมแรงด้วยวิธีการต่างๆ ได้แก่ 1) การเสริมแรงจากพฤติกรรมที่ดี เช่น การให้รางวัล การให้ดาว ให้เด็กได้จับมือกับคุณครูตอนเช้า ไม่เปรียบเทียบเด็กแต่ละคน ไม่สัญญาในสิ่งที่ครูทำไม่ได้ 2) การพูดจับถูกเด็ก ไม่พูดจับผิดเด็ก พยายามชมเด็กบ่อยๆ เช่น เมื่อเด็กเขียนตามเส้นประไม่ได้ ก็บอกเด็กว่า “อีกไม่นานหนูก็จะทำได้เหมือนเพื่อน” จะไม่พูดว่า “ทำไมเธอถึงแย่จัง ทำไมเธอถึงทำไม่ได้” 3) การเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานของเด็ก เช่น เมื่อเห็นเด็กขีดเขียนบนผนังห้อง ครูจะพูดว่า “เอากระดาษแผ่นนี้ไปนะคะแล้ววาดรูปให้สวยๆเลยนะ” แทนประโยค “อย่าขีดเขียนบนผนังห้อง” 4) การใช้หุ่นมือ เป็นการใช้ของจริง ให้หุ่นสามารถพูดได้ ขยับปากได้ สามารถสวัสดีได้ ทำให้เด็กมีสมาธิในการเรียนมากขึ้น 5) การใช้เพลงเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น หากต้องการให้เด็กนั่งนิ่ง ๆ ครูจะสอนโดยร้องเพลงว่า “นั่งลง ๆ อย่าโยกเยกโยเย” นอกจากนั้น จะไม่ดุเด็กต่อหน้าเพื่อน ไม่ลงโทษโดยไม่รักเด็ก มีการใช้วิธีหยุดการกระทำที่ไม่พึงประสงค์ของเด็กด้วยการลงโทษบ้าง เช่น สำหรับเด็กอายุ 3 ปีไม่ควรได้รับการลงโทษ เด็กอายุ 3-4 ปี ครูให้เด็กหยุดการกระทำที่ผิด โดยทำสิ่งที่ถูกให้เด็กดู ให้เด็กได้เลียนแบบ วิธีที่กล่าวมาทั้งหมด ได้นำไปปรับใช้กับเด็กระดับชั้นประถมศึกษาด้วย

2. หลักสูตร

โรงเรียนกำลังปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ แต่ทำเพียงบางส่วนเท่านั้น จึงทำให้ได้หลักสูตรที่คล้ายหลักสูตรเดิมเสียเป็นส่วนมาก การดำเนินการปรับหลักสูตร เช่น โรงเรียนให้ครูพิจารณาว่า ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 ซึ่งต้องการเน้นให้เด็กอ่านออกเขียนได้ ต้องเรียนทั้งหมดกี่ชั่วโมง หรือจะสอนวิชาภาษาไทยเพื่อให้เด็กอ่านออกเขียนได้ก่อน หรือจะสอนโดยบูรณาการกับวิชาอื่น เพื่อให้มีเวลาสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้มากขึ้น เพราะเมื่อเด็กอ่านออกเขียนได้ เด็กจึงจะสามารถเรียนรู้วิชาอื่นได้ดี

เมื่อไม่นานมานี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีได้จัดอบรมเรื่องหลักสูตรให้กับโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี จึงเป็นเครือข่ายสำคัญในการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีอยู่ระหว่างพัฒนาแนวทางการจัดการศึกษาของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวคือ โรงเรียนในตัวจังหวัดเน้นวิชาการ โรงเรียนในชนบทเน้นทักษะอาชีพ และโรงเรียนที่อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวเน้นทักษะภาษาอังกฤษ ถือเป็นนวัตกรรมการจัดการศึกษาของจังหวัดกาญจนบุรี

3. การทำวิจัยในชั้นเรียน

ครูโรงเรียนเทศบาล 3 (บ้านบ่อ) ทุกคนได้ทำวิจัยในชั้นเรียน โดยศึกษาหรือนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาพฤติกรรมและปัญหาเรื่องการเรียนของเด็กในชั้นเรียน

4. การบริหารจัดการศึกษา

ผอ.ราชัญ สมทบ ได้นำวิธีการบริหารงาน วงจรการบริหารงานคุณภาพ PDCA หลักธรรมาภิบาล หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการบริหาร โดยใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เนื่องจากเห็นว่า ไม่มีวิธีการบริหารวิธีใดวิธีหนึ่งที่นำมาใช้แล้วจะสามารถบริหารโรงเรียนได้ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันกำลังพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการด้วยกระบวนการวิจัยและพัฒนา (R&D)

5. ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานและการแก้ไขปัญหา

ความคล่องตัวด้านกฎระเบียบ

โรงเรียนเทศบาล 3 (บ้านบ่อ) มีความต้องการจ้างครูต่างประเทศสอนวิชาภาษาอังกฤษในระดับชั้นประถมศึกษา แต่ประสบปัญหาการขอวีซ่า อีกทั้งมีหลายขั้นตอนในการจ้าง  กฎระเบียบการจ่ายค่าจ้างครูต่างประเทศ โรงเรียนจึงนำเงินจากผู้ปกครองโรงเรียนมาจ่ายเป็นค่าจ้างให้ครูต่างประเทศ ทั้งนี้ ผอ.โรงเรียนคิดว่าจำเป็นต้องหารือกับคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี เพราะเห็นว่าเมื่อเด็กมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ เด็กจะได้นำความรู้ไปประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องได้อย่างประสบความสำเร็จต่อไป

การปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานสู่ฐานสมรรถนะ

แม้โรงเรียนมีความพยายามปรับหลักสูตรให้ไปสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ แต่ครูยังไม่ค่อยมีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรฐานสมรรถนะมากนัก จึงจัดกิจกรรมรายวิชาพื้นฐาน รายวิชาเพิ่มเติม กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่สามารถพัฒนาสมรรถนะให้กับผู้เรียน ทั้งนี้ ภายใต้ความต้องการของผู้ปกครองและผู้เรียนด้วย

ความกังวลของผู้ปกครองเรื่องการปรับหลักสูตร

ผู้ปกครองอาจเกิดความกังวลว่า หากปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานมากเกินไป จะเกิดผลกระทบต่อการศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนจึงจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรซึ่งคล้ายกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

6. ผลกระทบเชิงบวกจากการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

หลังจากโรงเรียนได้ดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครูและเด็กเกิดความพยายามหรือแนวคิดพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น นักเรียนที่ครอบครัวประกอบอาชีพขายโจ๊ก ผอ.ราชัญ  สมทบ ได้กระตุ้นให้เด็กคิดนวัตกรรมให้โจ๊กแต่ละถ้วยมีรสชาติเดียวกัน ไม่ว่าจะขายที่ไหน เมื่อไหร่ รสชาติก็ยังคงเดิม ส่วนผอ.โรงเรียนนั้น ได้รับความรู้ใหม่ ๆ มากมายเกี่ยวกับการบริหารและการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่

7. ความสำเร็จที่เกิดขึ้นและต้องการสืบสานต่อเนื่อง

หลังจากโรงเรียนได้ดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามาแล้ว เกิดความสำเร็จ แต่ยังเป็นความสำเร็จที่ยังต้องได้รับการเติมเต็มให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องและพัฒนาต่อไป คือ การสร้างระเบียบวินัยให้กับเด็ก ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่โรงเรียนใช้เน้นแนวคิดการจัดการเรียนรู้ Neo-Humanist กับเด็ก

8. ภาพอนาคตต่อพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ผอ.ราชัญ สมทบ ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของระบบการวัดและประเมินผลผู้เรียนในอนาคตของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สรุปได้ว่า ระบบการศึกษา ควรทำให้เด็กที่มีความสามารถ มีศักยภาพ สามารถลงทะเบียนเรียนครั้งเดียวได้ทั้ง 2 ระดับชั้น และหากสอบผ่านแล้วเด็กสามารถจบการศึกษาได้ก่อนเวลาที่กำหนด ทำให้เด็กเหล่านี้ไม่เสียเวลาในการศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้นไป เป็นการสนองตอบแนวคิดผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน เช่น เด็กที่เก่ง เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้เรียนแค่ 5 ปี แล้วจบระดับชั้นประถมศึกษา เนื่องจากเนื้อหาบางระดับชั้นมีความคล้ายคลึงกัน ในขณะเดียวกัน เด็กที่ยังมีการประเมินผลการเรียนรู้ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ก็อาจต้องใช้เวลาเรียนมากกว่า 6 ปี

นอกจากนั้น โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาควรมีหลักสูตรที่ให้เด็กเลือกเรียนได้ตามศักยภาพ หากเด็กคนใดมีการประเมินผลการเรียนรู้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ก็สามารถจบการศึกษาได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบการศึกษาตามระยะเวลาที่กำหนด หรืออาจให้เด็กศึกษาด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ เนื่องจากโลกในยุคปัจจุบันเป็นโลกไร้พรมแดน มีเทคโนโลยีที่ก้าวไกลสำหรับการเรียนรู้ จากนั้นจึงให้เด็กวัดผลการเรียนรู้ด้วยเครื่องมือของโรงเรียนหรือเครื่องมือมาตรฐาน หากเด็กมีผลการประเมินการเรียนรู้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะจบการศึกษาก่อนระยะเวลาที่กำหนด

นับว่าเป็นโรงเรียนนำร่องสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความน่าสนใจไม่น้อย กับความโดดเด่นด้านวิชาการ ถึงแม้จัดการเรียนการสอนแบบ Active learning แต่กลับให้อิสระครูเลือกรูปแบบการสอน Active learning ที่เหมาะสมได้อย่างหลากหลายนำมาใช้ภายใต้แนวคิดเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน การใช้รูปแบบการสอนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งแล้วประสบความสำเร็จเหมือนกันหมด อาจเป็นไปได้ยาก โดยได้นำแนวการสอน Neo-Humanist มาใช้ควบคู่กับการสอนแบบ Active learning และที่น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ ทัศนะด้านการจัดการศึกษารวมถึงการวัดและประเมินผลผู้เรียนของผู้บริหารโรงเรียนแห่งนี้ ตามที่ได้กล่าวถึงในตอนท้ายสุดของบทความ ทั้งการวัดและประเมินผลผู้เรียนตามศักยภาพเด็กและการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์พร้อมทั้งการวัดและประเมินผลผู้เรียนหลังจากมีการศึกษาเรียนรู้แบบออนไลน์


ผู้เขียน: อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล, ราชัญ สมทบ
ผู้ให้สัมภาษณ์: ราชัญ สมทบ ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 3 (บ้านบ่อ) จังหวัดกาญจนบุรี
ผู้สัมภาษณ์: อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ศตกร วิทยาลัย

Facebook Comments
การศึกษาแบบทวิภาษา หัวใจสำคัญของการพัฒนาโรงเรียนบนพื้นที่ราบสูง นักเรียนชนเผ่า นักเรียนต้องอ่านออก เขียนได้ สื่อสารได้ เมื่อจบการศึกษาไปแล้วมีงานทำขอเชิญครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้นำขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด แจ้งความประสงค์เข้าร่วมเรียนรู้ ฟรี/ ไม่มีค่าใช้จ่าย ใน Live เสวนา “The New Normal School” ครั้งที่ 2 วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เวลา 16.30-18.30 น. ผ่าน Zoom Cloud Meetings
บทความล่าสุด