มองบริบทของตนเอง สู่หลักสูตร Local Thai Dessert

17 พฤศจิกายน 2564

พบกับการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านหมอมุ่ย  ซึ่งตั้งอยู่ที่ หมู่ 4 บ้านหมอมุ่ย  ตำบลละหาร อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง  สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 ที่เน้นการมองบริบทของตนเองเป็นฐานแล้วนำมาปรับใช้กับการเรียนโดยเน้นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะฝึกให้นักเรียนได้ทดลองปฏิบัติ ได้ฝึกคิด ฝึกแก้ปัญหา โดยความมุ่งหวังเพื่อให้นักเรียนที่มีความสนใจสามารถต่อยอดพัฒนานำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต

จุดเริ่มต้นของขนมไทยท้องถิ่นในโรงเรียน

นางขวัญเรือน   เสรารมย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหมอมุ่ย กล่าวว่า ทางโรงเรียนได้ให้เด็กเรียนการทำขนมไทยท้องถิ่นนั้นก็เพราะว่า ด้วยบริบทของโรงเรียนเด็กส่วนใหญ่มีฐานะยากจน เมื่อจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และส่วนใหญ่จะจบเพียงการศึกษาภาคบังคับเท่านั้น ฉะนั้นจึงกลับมามองว่า จะทำอย่างไรให้นักเรียนได้ฝึกทักษะงานอาชีพไว้และสามารถต่อ ยอดเป็นอาชีพ พอที่จะเป็นรายได้ของครอบครัวต่อไปได้  จึงให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำขนมไทยท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเรียนรู้ได้ง่ายเพราะในชุมชนมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความรู้เรื่องการทำขนมไทย  เมื่อนักเรียนได้ลงมือทำขนมไทยประเภทต่าง ๆ ยังเป็นการอนุรักษ์ขนมไทย ๆ เรา ซึ่งการทำขนมนั้นไม่ต้องใช้การลงทุนอะไรมากมาย เปรียบเทียบกับเทคโนโลยีซึ่งมีราคาแพง แต่ขนมไทยจะใช้การลงทุนที่ไม่มาก สามารถใช้วัสดุ หรือสิ่งที่มีอยู่รอบตัวในท้องถิ่นมาทำเป็นขนมและต่อยอดเป็นอาชีพได้ด้วย จึงคิดเป็นนวัตกรรมของโรงเรียนในชื่อว่า หลักสูตร Local Thai Dessert ขึ้นมา และได้จัดทำเป็นหลักสูตรสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- 6 การจัดกิจกรรมการเรียนรู้นั้นจะเริ่มจากการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนก่อน ซึ่งขนมบางชนิดนักเรียนยังไม่เคยรู้จัก  ครูประจำชั้นจะหารูปภาพมาให้ดู และให้นักเรียนได้ชิมรสชาติของขนมชนิดนั้นๆก่อน สำหรับขนมที่จะได้เรียนในภาคเรียนนั้น ๆ  จากนั้นก็จะให้เรียนรู้เกี่ยวกับส่วนประกอบของขนม วิธีการทำ ประโยชน์ และโทษของวัตถุดิบ นอกจากนี้ยังมีวัตถุดิบที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ เช่น น้ำตาล สามารถใช้พืชบางชนิดทดแทนความหวานของน้ำตาลได้ คือ หญ้าหวาน และมีวิทยากรท้องถิ่นเป็นผู้สอนทำขนม ขั้นตอนต่อไปนักเรียนได้ลงมือปฏิบัติเอง ในส่วนของขนมไทยที่นักเรียนแต่ละชั้นได้เรียนรู้และลงมือทำในแต่ละภาคเรียน คือ 

ชั้นอนุบาล 1 – 3   ขนมทับทิมกรอบ ขนมบัวลอย

ชั้น ป.1 ขนมครองเเครง/ขนมถั่วแปบ

ชั้น ป.2 ขนมครก/วุ้น 7 สี

ชั้น ป.3 ขนมต้ม/เต้าส่วนหญ้าหวาน

ชั้น ป.4 ขนมบัวลอยเจ็ดสี/ข้าวแต๋นสมุนไพร

ชั้น ป.5 ข้าวต้มมัด/ข้าวเกรียบ

ชั้น ป.6 ขนมทองม้วน/ขนมดอกจอก   

   

   

ความมุ่งหวังในกิจกรรม

ทางโรงเรียนมีความมุ่งหวังว่า ถ้านักเรียนเรียนจบการศึกษาไปแล้ว ก็ยังสามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ และสามารถศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง ซึ่งโรงเรียนได้สอนทำขนมถึงแค่ขั้นตอนการผลิตเท่านั้น ยังไม่ได้ต่อยอดถึงการตลาดแต่อย่างใด และตอนนี้โรงเรียนมีนวัตกรรมอีก 1 ชิ้นงาน คือ จุดเริ่มต้นของวิศวกรรม ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากศึกษาธิการจังหวัดระยอง ได้นำไปจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้และสามารถนำความรู้ทีได้รับพัฒนานวัตกรรมสิ่งใหม่และมีทักษะการออกแบบแพคเกจจิ้งสำหรับใส่ขนม และยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1  เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทำขนม และอุปกรณ์บางอย่างจัดซื้อเพิ่มเติมด้วยงบของโรงเรียน ทางโรงเรียนคิดว่าการที่ได้นำบริบทหรือต้นทุนที่มีอยู่มาต่อยอดเป็นอาชีพ เกิดแรงบันดาลใจ เมื่อจบศึกษาที่โรงเรียนนี้แล้วยังมีทักษะด้านงานอาชีพติดตัวไปด้วย ตอนนี้หากไปมุ่งเน้นแต่เทคโนโลยี คิดว่ายังไม่เหมาะกับพื้นฐานความเป็นอยู่ของนักเรียน ยังไกลตัวกับสภาพแวดล้อมของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นด้านฐานะทางครอบครัว หรือ สภาพความพร้อมของครอบครัว  คือ ต้องรู้จักปรับตัวจากสิ่งที่มีอยู่ดีกว่าไปคว้าสิ่งที่อยู่ไกลตัวแล้วนักเรียนไม่ได้ประโยชน์อันใดเลย

ทั้งนี้คือ กิจกรรมที่ได้ลงมือปฏิบัติในช่วงปีการศึกษา 2563 หลังจากได้เริ่มทำตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 แต่ตอนนี้ต้องหยุดกิจกรรมในการเรียนตรงนี้ไว้ก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID 19) 

   

ความฝันก่อนที่จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID 19)

จะมีกิจกรรมเปิดบ้านหมอมุ่ย โดยการให้นักเรียนระดับชั้น ป.1 – ป.6 จัดทำขนมในชั้นของตนที่ได้เรียนมา และจัดประชุมผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาฯ และให้เด็ก ๆ นำขนมมาขาย จัดร้านของตนเองในแต่ละระดับชั้น แต่ต้องพับโครงการนี้ไว้ก่อนจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะหมดไป 

กับอีก 1 กิจกรรมของโรงเรียน คือ การทำไข่เค็มสมุนไพร 

นักเรียนระดับชั้น ป.5 – ป.6 ได้ทำไข่เค็มสมุนไพร โดยสมุนไพรที่ใช้ทำน้ำดองไข่เค็ม คือ  สับปะรด ตะไคร้ ใบเตย ซึ่งพบว่า สับปะรดทำให้เปลือกไข่เป็นสีเหลือง ดูไม่น่ารับประทาน ส่วนตะไคร้ จะมีกลิ่นฉุน  ส่วนกลิ่นของใบเตย เป็นกลิ่นที่หอม และได้รับความนิยมมากที่สุด นักเรียนนำไปจำหน่ายให้กับผู้ปกครอง ชุมชนคณะครู และผู้อำนวยการโรงเรียน นอกจากนี้นักเรียนช่วยกันปลูกผัก เช่น แตงกวา ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง ฯลฯ นำไปขายสร้างรายได้ให้กับนักเรียนเป็นอย่างดี ซึ่งนับว่าโชคดีที่โรงเรียนมีพื้นที่ในการเพาะปลูกพืชผักสวนครัวและสมุนไพร

ปัญหาและอุปสรรค 

เรื่องของขนมไทย จะมีปัญหาเรื่อง วัสดุอุปกรณ์การทำขนม สถานที่ที่ใช้ในการทำกิจกรรม  ก็ได้ปรับเปลี่ยนสถานที่เพื่อใช้ในการเรียนให้เหมาะสมกับกิจกรรม และพอดีทางโรงเรียนได้รับการสนับสนุนมาเป็นงบประมาณเลยได้ทำกิจกรรมในส่วนของตรงนี้ได้ดียิ่งขึ้น 

ความภาคภูมิใจ

จากการสังเกตพฤติกรรม แววตา และการสัมภาษณ์นักเรียน ทำให้ทราบว่า นักเรียนมีความสุข  และชื่นชอบ สนุกสนาน กับการที่ได้ลงมือทำขนมตรงนี้เป็นอย่างมากและอยากที่จะทำกิจกรรมแบบนี้อีก  ทำให้รู้ว่าที่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ตัวนักเรียนไปนั้น ไม่สูญเปล่า ถึงแม้ว่าคนภายนอกจะมองเป็นเพียงแค่ว่า การทำขนม แต่เขาไม่รู้หรอกว่า เป็นสิ่งที่ยิ่งกว่าการทำขนมของโรงเรียน คือ การที่เด็กได้ลงมือปฏิบัติ ถือได้ว่าเป็นการประสบความสำเร็จตามบริบทของโรงเรียนแล้วระดับหนึ่ง

   

มุมมองจากเรื่องที่ได้สัมภาษณ์

ทำให้พบว่า การรู้จักตนเอง รู้พื้นฐานหรือบริบทของตนเองนั้นถือเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญที่สุด เพราะจะทำให้สามารถ คิด และลงมือทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่งผลถึงส่วนรวมได้ง่ายและเกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุดอีกด้วย ซึ่งก็เหมือนกับผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหมอมุ่ยได้กล่าวว่า “ต้องรู้จักปรับตัวจากสิ่งที่มีอยู่ดีกว่าไปคว้าสิ่งที่อยู่ไกลตัวแล้วนักเรียนไม่ได้ประโยชน์อันใดเลย” ซึ่งทางผู้เขียนก็มีความเห็นด้วยเพราะหากเกิดการคิดค้นหรือผลิตนวัตกรรมชิ้นหนึ่งขึ้นมาเพื่อเรียนรู้ แต่ไม่สามารถหาคุณค่าหรือต่อยอดคุณประโยชน์ออกไปได้เท่ากับคิดค้นขึ้นมาเพื่อการอยู่นิ่งแล้วไม่สามารถใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมชิ้นนั้นได้  

ติดตามความเคลื่อนไหวผ่าน Facebook
เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม Facebook
หน้าแรก


ผู้เขียน : ปราชญาพร   แช่ใจ   
ผู้ให้สัมภาษณ์ : ขวัญเรือน   เสรารมย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหมอมุ่ย
ผู้สัมภาษณ์ : ปราชญาพร   แช่ใจ  
กราฟิกดีไซน์เนอร์:
 อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร แช่ใจ
ภาพประกอบ: โรงเรียนบ้านหมอมุ่ย

Facebook Comments
“ทำ PA อย่างไรให้ตอบโจทย์พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา”เวทีการประกาศยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการศึกษา สู่ระยองเมืองน่าอยู่
บทความล่าสุด