สรุปการประชุมปฏิบัติการจัดทำแนวทางการใช้จ่ายเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา

17 พฤษภาคม 2566

เมื่อวันที่ 1 – 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้จัดประชุมปฏิบัติการจัดทำแนวทางการใช้จ่ายเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา รายการค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ณ โรงแรมเดอะพาลาสโซ กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมเป็นผู้แทนจากส่วนกลาง ได้แก่ สำนักการคลังและสินทรัพย์ สำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา และกลุ่มตรวจสอบภายใน สพฐ. ผู้แทนจากหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษานำร่องในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งสิ้น 44 คน

ทั้งนี้ในช่วงเช้าวันแรกของการประชุมได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารงบประมาณ ครั้งที่ 1/2566 ซึ่งมีวาระในการประชุมเพื่อพิจารณากรอบการจัดทำแนวทางการใช้จ่ายเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา รายการค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ อนุกรรมการท่านจะได้ให้ข้อเสนอแนะ/แนวทาง ต่อคณะทำงาน เพื่อที่คณะทำงานได้รับทราบถึงเจตนารมณ์ แนวนโยบาย และกรอบการดำเนินงานที่จะใช้ในการทำงานตลอด 3 วันของการประชุม

            หลังจากคณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารงบประมาณได้ให้กรอบและแนวทางแก่คณะทำงานในการจัดทำกรอบการจัดทำแนวทางการใช้จ่ายเงินอุดหนุนฯ คณะทำงานได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมเพื่อให้ได้มาซึ่ง ร่างแนวทางการใช้จ่ายเงินอุดหนุนฯ โดยกิจกรรมที่ร่วมกันทำ อาทิ กิจกรรมช่วงที่ 1: Overview โดย นายสุรินทร์ สว่างอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน พูดคุยทักทายกับคณะทำงาน

นายวันชัย ธงชัย ที่ปรึกษาพิเศษ สพฐ. นายพิทักษ์ โสตถยาคม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และนายพงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัย TDRI ร่วมนำเสนอภาพรวมเกี่ยวกับพื้นที่นวัตกรรมและงบประมาณ โดยอาจเน้นย้ำประเด็นสำคัญ เช่น วัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 เชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์ของเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา หลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ความโดดเด่นหรือลักษณะพิเศษของเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา สภาพภาพการใช้จ่ายงบประมาณของโรงเรียนนำร่อง ผลการวิจัยถอดบทเรียนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงบประมาณของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

กิจกรรมช่วงที่ 2: สะท้อนสิ่งที่เห็น ที่เป็นมา ที่เป็นอยู่จากประสบการณ์ เป็นการเปิดเวทีให้คณะทำงานแต่ละท่านได้แสดงความคิดเห็น ร่วมอภิปรายสะท้อน “แนวคิด/มุมมอง/การใช้/การติดตาม/ตรวจสอบ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการงบประมาณที่โรงเรียนได้รับ จากประสบการณ์ของแต่ละท่าน”

กิจกรรมช่วงที่ 3: จากประการณ์สู่แนวทางที่ควร กิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้คณะทำงานทุกคนมีส่วนร่วมและร่วมกันพิจารณาร่างแนวทาง บรรยากาศเต็มไปด้วยการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย มีการอภิปรายอ้างอิงกฎหมาย เชื่อมโยงกับการจัดทำแนวทาง การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานจริงของคณะทำงานที่สะท้อนในวงประชุม ก่อให้เกิดความกระจ่างและช่วยให้การพิจารณาจัดทำร่างแนวทางฯ สามารถดำเนินการได้อย่างเรียบร้อย บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดงานซึ่งในท้ายที่สุดทำให้ได้ร่างแนวทางการใช้จ่ายเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ที่สามารถเสนอต่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณารายละเอียดประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไป เพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2566 แล้วมีข้อสังเกตว่า ประกาศฯ ดังกล่าว อาจยังมิได้กำหนดให้มีการกำกับ ติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการใช้งบประมาณต่อหน่วยงานใด มีขั้นตอนอย่างไร รวมถึงช่วงเวลาใด ไว้ในประกาศหรือไม่ จึงขอให้สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำข้อสังเกตและร่างแนวทางการใช้จ่ายเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา รายการค่าใช้จ่ายดำเนินงาน เสนอต่ออนุคณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารงบประมาณ หรือคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย และเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานพิจารณาตีความถ้อยคำในประกาศดังกล่าว โดยที่ประชุมมีมติเป็นข้อเสนอแนะใน 2 แนวทาง ได้แก่ 1) หากประกาศฯ ยังมิได้กำหนดให้มีการกำกับ ติดตาม ประเมินผล และรายงานผล สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอาจจำเป็นต้องเสนอคณะอนุกรรมการด้านบริหารงบประมาณและคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาพิจารณาปรับปรุงประกาศฯ ให้มีการกำหนดเกี่ยวกับการกำกับ ติดตาม ประเมินผล และรายงานผลเพิ่มเติมต่อไป 2) หากประกาศฯ ได้รวมถึงให้มีการกำหนดการกำกับ ติดตาม ประเมินผล และรายงานผลแล้ว คณะทำงานฯ ได้เสนอให้มีการกำหนด การกำกับ ติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการใช้จ่ายเงินฯ ลงในร่างแนวทางการใช้จ่ายเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ต่อไป

 

* บุคคลที่ปรากฏในบทความนี้ ท่านใด ประสงค์ให้นำภาพหรือข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลออก
โปรดแจ้งมาที่ E-mail : Saraban@EduSandbox.com*

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

       

Facebook Comments
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง มาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดการศึกษาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและสถานศึกษานำร่อง พ.ศ. 2566
บทความล่าสุด