โรงเรียนบ้านซ่อง พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.กาญจนบุรี กับกิจกรรมทักษะอาชีพตามความสนใจของผู้เรียนผ่านทักษะอาชีพ 8 กิจกรรมสู่ห้องเรียนอัจฉริยะ

1 กรกฎาคม 2564

โรงเรียนบ้านซ่องเข้าร่วมโครงการโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดกาญจนบุรี ขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ด้วยกระบวนการสอน Active Learning ภายใต้สมมติฐาน “การเรียนรู้เป็นความพยายามโดยธรรมชาติของมนุษย์โดยแต่ละคนมีแนวทางในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน” โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ภายใต้ความเป็นไปได้ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนที่การทำมาหารายได้เพียงแค่ “พอมีพอกิน” คือเป้าหมายหลักในการใช้ชีวิตที่จะเดินต่อไปในอนาคตให้มีความลำบากน้อยที่สุด มากกว่าการศึกษาที่สูง ๆ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อการศึกษาของผู้เรียนและผู้ปกครอง จึงเป็นเป้าหมายหลักที่โรงเรียนบ้านซ่อง ต้องดำเนินการเป็นขั้นแรก การทำให้ทุกฝ่ายเกิดความเชื่อมั่นว่าเมื่อเข้ามาเรียน ณ สถานศึกษาแห่งนี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพและสามารถกำหนดเป้าหมายของตนเองได้ตามความถนัดและความต้องการ การบริหารจัดการในรูปแบบใหม่ตามความหมายของ “นวัตกรรมการศึกษา” จึงเป็นแนวทางที่โรงเรียนบ้านซ่องนำมาดำเนินงานเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งเมื่อเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแล้ว ปรากฏผลลัพธ์ ดังนี้

ด้านสถานศึกษาและการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

โรงเรียนบ้านซ่อง ได้จัดทำหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2563 โดยเชื่อมโยงตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลางสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2561, สมรรถนะการเรียนรู้ตามกรอบสมรรถนะการเรียนรู้หลักสำหรับผู้เรียน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดกาญจนบุรี, ผลการเรียนรู้อาเซียนศึกษา, ทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 (3R 8C) หลอมรวมเข้าด้วยกันและนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชาพื้นฐาน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้และ 2 รายวิชาเพิ่มเติม (ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร, สานฝันงานอาชีพ) และกิจกรรมส่งเสริมทักษะอาชีพอื่นๆตามความสนใจ ตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ผู้เรียนมีทางเลือกในการศึกษา เป้าหมายสุดท้ายคือต้องการให้ผู้เรียนได้ค้นพบตัวเอง หรือได้เรียนในสิ่งที่ต้องการซึ่งอาจใช้เป็นแนวทางในการเลือกศึกษาต่อ การเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านซ่องเป็นอย่างยิ่ง

ผลจากการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ภายใต้สมมติฐาน “การเรียนรู้เป็นความพยายามโดยธรรมชาติของมนุษย์ โดยแต่ละคนมีแนวทางในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน” ทำให้ลดภาระงานของผู้เรียนลงได้ เนื่องจากเป็นการบูรณาการการเรียนรู้หลายวิชาเข้าด้วยกัน โดยผู้เรียนร่วมจัดกิจกรรมในทุกขั้นตอนตาม ความสนใจ ทำให้การเรียนรู้เกิดความสุข สนุกสนานและเป็นไปตามเป้าหมายที่หลักสูตรกำหนด คือ เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่นของโรงเรียนและพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้เหมาะสมกับวัยและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

ด้านผู้เรียน ผู้เรียนมีความสุข สนุกในการเรียนรู้ สามารถเลือกเรียนรู้และปฏิบัติกิจกรรมได้ตามความสนใจและศักยภาพของตนเอง ถึงแม้จะไม่สามารถดำเนินการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาได้ทั้งหมด แต่ก็สามารถปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอนให้เป็นไปตามความสอดคล้องของท้องถิ่นและผู้เรียนได้ในระดับหนึ่งและอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจสามารถพัฒนาต่อให้เกิดประสิทธิผลที่ดีขึ้นได้

ด้านครู ครูมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยเน้นรูปแบบการจัดกิจกรรม Active Learning รู้กระบวนการที่จะพัฒนาวิธีการเรียนรู้และใช้วิธีการเพื่อที่จะถ่ายทอดเนื้อหา สร้างมาตรฐานการเรียนรู้และสิ่งแวดล้อมในชั้นเรียน เปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ให้คำแนะนำ อำนวยความสะดวกในชั้นเรียนให้ผู้เรียน มีการสะท้อนผลการสอนเพื่อปรับปรุงร่วมกับคณะครูด้วยรูปแบบ PLC ยอมรับและนำคำวิพากษ์มาปรับปรุงการปฏิบัติงานของตนเองอย่างต่อเนื่อง

ด้านผู้บริหารโรงเรียน ดร.ยลพรรษย์ ศิริรัตน์ มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและรอบรู้ มีภาวะผู้นำ มีเจตคติที่ดีต่อการปฏิบัติงาน สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารงาน ใช้กระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนางาน มีการกระจายอำนาจ ยึดหลักการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ทำงานเป็นทีม ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยจัดให้บุคลากรของสถานศึกษาได้เปิดโลกทัศน์ และได้ประสบการณ์ตรงจากการศึกษาดูงานและเข้ารับการอบรม เน้นการบริหารการศึกษาอย่างมีคุณภาพส่งผลให้ผู้ปกครอง ชุมชน ท้องถิ่นเกิดความมั่นใจและพึงพอใจในการจัดการเรียนการสอน ตัวชี้วัดความสำเร็จดังกล่าวคือ มีจำนวนผู้เรียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสถานศึกษาขนาดเล็ก ปัจจุบันโรงเรียนบ้านซ่องเป็นสถานศึกษาขนาดกลางได้รับรางวัลแห่งความสำเร็จจากการดำเนินงานอย่างหลากหลาย ชุมชนให้ความร่วมมือและเข้าร่วมกิจกรรมในการพัฒนาการศึกษา ร่วมวางแผนในการดำเนินงานโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ของสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง

การจัดการเรียนการสอน นวัตกรรมที่ภูมิใจหรืออยากนำเสนอภายในโรงเรียน/ห้องเรียน

โรงเรียนบ้านซ่องได้ดำเนินการหลอมรวมนโยบาย จุดเน้น ข้อสั่งการและแนวปฏิบัติต่างๆ ที่สถานศึกษาต้องดำเนินการเข้าด้วยกันเพื่อลดภาระงานและเชื่อมโยงให้ง่ายต่อการปฏิบัติ นอกจากการวางแผนเพื่อพัฒนาการศึกษาแล้ว การวางพื้นฐานด้านงานอาชีพก็เป็นสิ่งสำคัญที่โรงเรียนบ้านซ่องต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดการศึกษาตามหลักสูตร เพื่อให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของตนเอง และเป็นทางเลือกหากในอนาคตหากไม่สามารถศึกษาต่อได้สำเร็จตามความมุ่งหวัง จึงจัดกิจกรรมทักษะอาชีพตามความสนใจของผู้เรียนและเกิดนวัตกรรมที่ภูมิใจภายในโรงเรียน ผ่านทักษะอาชีพ 8 กิจกรรมสู่ห้องเรียนอริยะ ดังนี้

  1. กิจกรรม Chef Junior (เชพน้อย)
  2. กิจกรรม Handicraft (งานช่าง)
  3. กิจกรรม Musician (นักดนตรี)
  4. กิจกรรม Kid News (นักข่าวรุ่นเยาว์)
  5. กิจกรรม Organic for health (ออแกนิคเพื่อสุขภาพ)
  6. กิจกรรม Science for all (วิทยาศาสตร์)
  7. กิจกรรม ศิลป์สร้างสรรค์
  8. กิจกรรมสานฝันงานสาน สื่อสารภาษาสู่สากล Fabrication Leads to Language Communication

ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นคือ ชุมชนให้ความร่วมมือโดยมีวิทยากรท้องถิ่นมาให้ความรู้เรื่องในเรื่องต่างๆ ผู้เรียนให้ความสนใจในอาชีพหลากหลายรูปแบบที่เหมาะสมตามวัย การจัดกิจกรรมสอดแทรกด้วยภาษาอังกฤษสื่อสาร และ Classroom language ส่งผลให้ผู้เรียนมีความภาคภูมิในฝีมือและความสามารถของตนเอง เชื่อมั่นในครูผู้สอนและสถานศึกษาที่จะสร้างรากฐานทางการศึกษาของพวกเขาตามความสามารถ อย่างเต็มศักยภาพสู่อนาคตที่ดี ชุมชนมีความพึงพอใจต่อแนวทางการจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านซ่อง ที่มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพซึ่งอาจไม่ใช่การเรียนในห้องเรียนหรือในโรงเรียนแต่เป็นการเรียนรู้ที่จะเอาชีวิตรอดในสังคมปัจจุบันและสามารถสร้างรายได้เลี้ยงชีพตามสมควร

โรงเรียนบ้านซ่อง จ.กาญจนบุรี นับได้ว่าเป็นโรงเรียนที่ได้ให้ความสำคัญในทุกๆด้านหลังจากเข้ามาเป็นโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทั้งในด้านของนักเรียน ด้านของครู ด้านของผู้บริหารโรงเรียน หรือแม้แต่ทั้งทางด้านชุมชนและผู้ปกครองดังที่ได้ปรากฏในบทความข้างต้น ด้วยเทคนิคการสอนผ่านทักษะอาชีพ 8 กิจกรรมสู่ห้องเรียนอริยะ ส่งผลให้ผู้เรียนให้ความสนใจในอาชีพหลากหลายรูปแบบที่เหมาะสมตามวัยมากยิ่งขึ้น ถือว่าเป็นแนวทางให้กับสถานศึกษาอื่นๆได้นำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของตัวเองได้อีกด้วย

 


 


ผู้เขียน:
ณัฐมล ไชยประดิษฐ์
ผู้ให้สัมภาษณ์: ณัฏฐวีร์ รุ่งเรืองศรี ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านซ่อง จังหวัดกาญจนบุรี
ผู้สัมภาษณ์: ณัฐมล ไชยประดิษฐ์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โรงเรียนบ้านซ่อง จังหวัดกาญจนบุรี

Facebook Comments
นราธิวาสเดินหน้าพัฒนากรอบหลักสูตรจังหวัดการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง “ไม่มีความท้าทาย ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง”
บทความล่าสุด