การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง “ไม่มีความท้าทาย ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง”

1 กรกฎาคม 2564

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 นายธงชัย มั่นคง อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2  นางนงค์นุช อุทัยศรี อดีตผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สพป. ระยอง เขต 2  นางสาวฮุสนา เงินเจริญ ศึกษานิเทศก์ สพป. ระยอง เขต 2 นายวิชัย จันทร์ส่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน นางเรืองกิตติ์ สุทธิวิรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสมานมิตร และคณะร่วมกับ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานอนุกรรมการด้านยุทธศาสตร์ติดตามและประเมินผล ดร.พิทักษ์ โสตถยาคม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พร้อมทีมงานได้ร่วมพูดคุย หารือ แนวทางการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนในพื้นที่ ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมีเป้าหมายเพื่อชี้แจง ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปีการศึกษา 2564 – 2569 และการหารือแนวทาง แผนการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพต่อไป

สิ่งที่สัมผัสได้จากการรับฟัง ผ่านการพูดคุยในวงสนทนาครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะปรับเปลี่นกระบวนทัศน์ทางการศึกษาของพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดระยองใน 3 มิติ ดังนี้

  1. มิติคุณภาพ: วัตถุประสงค์ของพื้นที่นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ต่อคุณภาพวิถีชีวิตในท้องถิ่นของนักเรียน ทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาและคุณครูหลายท่านในโรงเรียนต่างให้ความสนใจและอยากเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา การใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยอาศัยพื้นที่เป็นฐานและความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่ เป็นเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบการสอนที่แต่เดิมใช้การสอนแบบบรรยายตามตำราเป็นส่วนใหญ่ เปลี่ยนมาเป็นการเน้นให้ผู้เรียนได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเองมากยิ่งขึ้น ช่วยพัฒนานักเรียนให้กล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าที่จะลงมือทำ มีความมั่นใจ ส่งผลให้ผู้เรียนมีพัฒนาการทั้งในด้านความรู้ สมรรถนะ ทักษะ และเจตคติ และนำไปสู่ความเชื่อมั่นและการเป็นที่ยอมรับในคุณภาพของสถานศึกษา
  2. มิติการขยายพื้นที่ : การที่ตั้งเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้เพิ่มขึ้น 80% ของสถานศึกษาในจังหวัดระยองเป็นสถานศึกษานำร่อง ในมุมมองของพื้นที่แล้ว สัมผัสให้ได้ว่า แม้มันจะเป็นเป้าหมายที่สูง แต่ก็สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายนั้นได้ ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการสร้างการรับรู้เชิงรุกทั้งในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับสถานศึกษา ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 และเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาภายใต้บริบทและต้นทุนที่สถานศึกษามีอยู่ ในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองที่ผ่านมา ได้รับแรงสนับสนุนจากผู้ว่าราชการจังหวัดระยองบวกกับการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมอย่างเข้มแข็งของนายธงชัย มั่นคง อดีตผู้อำนวยการเขตสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต ๒ และ นางนงค์นุช อุทัยศรี อดีตผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สพป. ระยอง เขต 2 ทำให้หน่วยงานทางการศึกษาในจังหวัดระยองไม่ว่าจะเป็นสังกัด อปท. สังกัด สช. และภาคเอกชนต่าง ๆ เริ่มตื่นตัว และให้ความสนใจอยากเข้าร่วมในพื้นที่นวัตกรรมมากขึ้น ทั้งนี้นางเรืองกิตติ์ สุทธิวิรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสมานมิตร ยังได้ให้มุมมองของการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในมิติของผู้ปฏิบัติคลุกคลีกับการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมมาตั้งแต่แรกเริ่ม โดยกล่าวว่า แม้ว่าการขยายผลพื้นที่นวัตกรรมให้เพิ่มขึ้น 80% มันอาจจะดูเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ แต่ก็เป็น challenge สำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เป้าหมายที่สูงขึ้นจะช่วยสร้างแรงกระตุ้นและพลังที่ฮึกเหิมให้กับคนทำงานในพื้นที่ ในทางตรงกันข้ามหากเราตั้งต่ำเป้าหมายที่ต่ำหรือธรรมดาเกินไปจะทำให้ผู้ร่วมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมมีความรู้สึกว่า เหนื่อยเปล่า ทดท้อย ท้อแท้ และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
  3. มิติความเป็นอิสระ : ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานศึกษาในจังหวัดระยองเกิดความสนใจในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามากขึ้นคือความเป็นอิสระ โดยเฉพาะความเป็นอิสระในการออกแบบหลักสูตรและพัฒนารูปแบบการสอนโดยใช้บริบทของพื้นเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนรู้ โดยเฉพาะในสภาวการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) นับเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการจัดการเรียนการสอนตามตำราในรูปแบบเดิม ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการปรับกระบวนทัศน์ทางการศึกษา ดังนั้น trend ของการศึกษาในอนาคตที่น่าจับตามอง คือ การเรียนรู้ที่เน้นการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ที่ต้องปรับตัวไปตามสถานการณ์หรือวิกฤตที่เกิดขึ้น โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่เป็นเครื่องมือหลักในการเปลี่ยนโฉมการศึกษาแบบเดิม นอกจากนี้การการปลดล็อคเชิงนโยบายตาม พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในด้านการบริหารงานบุคคลที่เหมาะสมกับการบริหารงานของสถานศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมอีกด้วย ในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเชิงนโยบายที่ผ่านมามีการประสานความร่วมมือกับศึกษาธิการจังหวัดในการเสนอให้สถานศึกษานำร่องที่ได้รับประกาศเป็นสถานศึกษาที่มีความต้องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเป็นพิเศษ เพื่อเป็นเงื่อนไขการย้ายผู้อำนวยการสถานศึกษาโดยการทาบทามได้ ซึ่งหากดำเนินการตามนี้ได้จะทำให้สถานศึกษามีผู้บริหารที่มีความเป็นผู้นำทางวิชาการ เข้าใจบริบทการบริหารงานในพื้นที่นวัตกรรมอย่างแท้จริง ช่วยลดอุปสรรคเรื่องรอยต่อของการเปลี่ยนถ่ายผู้บริหาร
    ทำให้การดำเนินงานของสถานศึกษาประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

จากการสะท้อนคิดใน 3 มิติข้างต้น ทำให้เห็นถึงแนวทางในการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองอย่างเป็นระบบ การมีอิสระในการออกแบบหลักสูตรและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้เป็นแบบ Active learning โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน นำเอาความเป็นชุมชนรอบตัวมาบูรณาการเข้าสู่ห้องเรียน เน้นผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะรอบด้าน การสร้าง challenge ที่มีความท้าทาย เพื่อกระตุ้นพลังให้เกิดความฮึกเหิมในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมให้ไปได้ไกลและมีคุณภาพ


ผู้เขียน : ศศิธร ศรีวงษ์ญาติดี, อนุสรา สุขสุคนธ์, อนงนาฏ อินกองงาม, ดุสิตา เลาหพันธุ์,
               ลัดดาพรรณ  จันทร์ปรีดา  คณะนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ หลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต
               สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร   แช่ใจ

Facebook Comments
โรงเรียนบ้านซ่อง พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.กาญจนบุรี กับกิจกรรมทักษะอาชีพตามความสนใจของผู้เรียนผ่านทักษะอาชีพ 8 กิจกรรมสู่ห้องเรียนอัจฉริยะการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ “พัฒนาสถานศึกษาที่เป็น Node สู่การเป็น coach มืออาชีพ”
บทความล่าสุด