โรงเรียนบ้านรุ่ง : สร้างโรงเรียนให้เป็นสวนสนุก บนพื้นฐานแห่งการเรียนรู้ โดยใช้นวัตกรรม Brain-based Learning (BBL)

23 กุมภาพันธ์ 2565

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้มาพบกับ โรงเรียนบ้านรุ่ง หมู่ 1 ตำบลรุ่งระวี อำเภอน้ำเกลี้ยง  จังหวัดศรีสะเกษ  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 1 เป็นอีกหนึ่งสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ รุ่นที่ 1 ที่น่าสนใจ ซึ่งจากการสัมภาษณ์ นายทองคำ จิตสุภาพ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านรุ่ง ได้กล่าวถึงที่มาในการเลือกใช้นวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน ท่านสังเกตว่าทำไมเด็กนักเรียนถึงชอบที่จะไปสวนสนุก ด้วยเหตุผลนี้ จึงอยากสร้างโรงเรียนให้เป็นสวนสนุก ซึ่งเป็นจุดประกายในการเลือกนำกระบวนการ Brain-based Learning (BBL) มาใช้ เป็นแนวคิดที่ใช้สมองเป็นฐานในการออกแบบการเรียนรู้ของผู้เรียน  ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ที่ถูกจริตของนักเรียน  ครู  ผู้ปกครอง  ผู้บริหาร  และชุมชน ที่ใช้ได้จริง  เป็นรูปธรรม  เปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ เห็นผลจริง

   

   

ท่านผู้อำนวยโรงเรียนบ้านรุ่งได้อธิบายถึงกระบวนการทำงาน คือ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูบุคลากร พัฒนาการเรียนการสอนของครูผู้สอน ด้วยการเข้ารับการอบรมการเรียนการสอนตามทฤษฎี  BBL (Brain-based Learning)  และพัฒนาด้านอื่น ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำมาพัฒนาผู้เรียนอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับบริบทที่ตั้งอยู่ และโรงเรียนให้ความสำคัญในการพัฒนาผู้เรียน เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ นวัตกรรมการศึกษาที่โรงเรียนนำมาใช้ ได้มุ่งไปสู่การเพิ่มคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของผู้เรียนใช้จิตวิทยาเชิงบวก สร้างบรรยากาศและโอกาสให้ผู้เรียนได้ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรสถานศึกษาซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินการพัฒนา มีการพัฒนาบริหารจัดการโรงเรียน ให้เป็นระบบเปิด ให้สามารถดึงการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน ให้ร่วมคิด ร่วมจัดหลักสูตร ร่วมสนับสนุนสื่อและแหล่งเรียนรู้ในและนอกห้องเรียน เพื่อให้บรรยากาศในการเรียนรู้ น่าดู น่าอยู่ น่าเรียน ได้นำเทคนิคการสอนตามทฤษฎี BBL (Brain-based Learning) 5 ขั้นตอน มาใช้ดังนี้

  1. มีการ Brain Gym โดยใช้กิจกรรมเคลื่อนไหวแบบต่างๆ เพื่อกระตุ้นการทำงานของสมองซีกซ้าย-ขวา ให้สัมพันธ์กันก่อนเริ่มเรียน และระหว่างคาบเรียนมีการ Brain Break เพื่อกระตุ้นสมองให้ผ่อนคลายและตื่นตัวเป็นเวลาประมาณ 5 นาที
  2. ขั้นนำเสนอ (Present) ได้มีการนำเสนอโดยใช้บัตรคำ กระดานเคลื่อนที่ หรือสื่อของจริงมาใช้ เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มากยิ่งขึ้น มีการใช้สื่อเทคโนโลยีบ้างเท่าที่จำเป็น
  3. ขั้นฝึกปฏิบัติ (Practice) ผู้เรียนจะได้ฝึกปฏิบัติเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยใช้สื่อต่างๆที่เตรียมไว้ให้ ขั้นตอนนี้ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง
  4. ขั้นสรุป (Summary) ในขั้นตอนนี้ผู้เรียนจะฝึกจากการทำใบงาน หรือในหนังสือแบบฝึก เพื่อให้เกิดความชำนาญและเข้าใจบทเรียนมากยิ่งขึ้น
  5. ขั้นประยุกต์ใช้ (Apply) ผู้เรียนสรุปองค์ความรู้โดยใช้ GO (Graphic Organizer) ด้วยตนเอง ซึ่งเนื้อหาที่นำมาใช้ทำ GO สามารถเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของผู้เรียนได้ เพื่อให้บทเรียนนั้นเป็นบทเรียนที่มีความหมายต่อผู้เรียน

ในกระบวนการสอนครูจะเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้เท่านั้น (Facilitator) โดยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนแบบ Active Learning เทคนิคและขั้นตอนการสอนแบบ BBL 5 ขั้นตอนนี้จะช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความสุขและเข้าใจบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น มีการวัดผล ประเมินผล สรุปผล ที่หลากหลายและเที่ยงตรงเพื่อให้เห็นจุดเด่นและจุดที่ควรพัฒนา เป็นแนวทางในการบรรลุสู่เป้าหมายอย่างตรงจุดของสถานศึกษา

   

   

ทั้งนี้ ทางโรงเรียนบ้านรุ่งยังได้มีการปรับห้องเรียน เปลี่ยนสมองตามหลักการ BBL ทุกห้องเรียนโดยได้จัดทำ 8 functions ขึ้นเพื่อให้ห้องเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ ส่งเสริมการเรียนรู้ และการทำงานของสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันได้แก่ 

  1. กระดานเคลื่อนที่ เพื่อสะดวกต่อการจัดการเรียนการสอน สามารถเคลื่อนย้ายได้ตามความเหมาะสม
  2. Playscape เป็นแหล่งกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้เรียนผ่านการเคลื่อนไหวทางร่างกาย
  3. มุมสื่อ BRC (Brain-based learning Resource Center) ใช้สำหรับการผลิตสื่อที่เกิดจากการเรียนรู้ในชั้นเรียน โดยเป็นวัสดุที่หาง่ายและราคาถูก
  4. มุมอุปกรณ์การเรียน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้และฝึกผู้เรียนเรื่องความรับผิดชอบต่อสมบัติส่วนรวม
  5. มีบอร์ดความรู้ที่หลากหลายกลุ่มสาระ และเป็นปัจจุบันตามเนื้อหาที่กำลังเรียน เพื่อใช้เป็นแหล่งทบทวนความรู้ ศึกษาเพิ่มเติม รวมทั้งฝึกปฏิบัติ
  6. มุมผลงานนักเรียน ใช้ในการจัดแสดงผลงานนักเรียน มีการปรับเปลี่ยนเป็นประจำ
  7. มุมอ่าน มีหนังสือที่หลากหลายที่ตรงตามความสนใจในแต่ละระดับของผู้เรียน
  8. มุมใบงานเพิ่มเติม สำหรับผู้เรียนที่ทำงานเสร็จเร็วและต้องการที่จะเสริมทักษะอื่นๆเพิ่มเติม

   

ผลที่เกิดจากการใช้นวัตกรรม 

  1.  ด้านนักเรียน  นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข  กล้าแสดงออก  อ่านออกเขียนได้เพิ่มมากขึ้น  อัตราการขาดเรียนลดลง  มีสุขภาพกาย  สุขภาพจิตที่ดียิ่งขึ้น  ผลการเรียนเพิ่มขึ้น
  2. ด้านครู  ครูมีความรู้ในนวัตกรรม  BBL  เพิ่มมากขึ้น  สามารถเป็นครูต้นแบบในการนำนวัตกรรม  BBL  มาจัดกิจกรรมการเรียนการสอนกับผู้เรียนเป็นผลสำเร็จที่ปรากฏชัดเจนได้มากยิ่งขึ้น  นำหนังสือ  แบบฝึก  สื่อการเรียนเรียนที่ตอบสนองการใช้สมองเป็นฐานในการเรียนรู้
  3. ด้านผู้บริหาร  มีความรู้  ความเข้าในนวัตกรรม  BBL  สามารถนิเทศติดตาม  ให้คำชี้แนะแก่คณะครูได้เป็นอย่างดี  สนับสนุนทุกด้านที่คณะครู นักเรียนต้องการ  เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการพัฒนาการจัดการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น
  4. บริบทโรงเรียน  โรงเรียนมีความเปลี่ยนแปลงด้ายกายภาพอย่างมาก  มีฐานการเรียนรู้หลากหลายเพิ่มมากขึ้น  ส่งเสริมการพัฒนาสมองของผู้เรียนอย่างดียิ่ง  ภายในห้องเรียนได้รับการพัฒนาตามหลักการใช้สมองเป็นฐาน  มีมุมประสบการณ์ที่หลากหลาย  มีพื้นที่การเรียนรู้สำหรับผู้เรียนมากขึ้น
  5. ชุมชน  มีความรัก  ศรัทธาต่อโรงเรียน  เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักเรียนในแต่ละปี  มีการสนับสนุนวัสดุ  อุปกรณ์  กำลังแรงกายและปัจจัยต่อโรงเรียน  ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาโรงเรียน  และมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมมากยิ่งขึ้น

จากการสัมภาษณ์ในช่วงท้าย ถึงเป้าหมายที่จะพัฒนาในปีการศึกษาต่อไปคือ จัดหาสื่อเทคโนโลยี และอุปกรณ์ให้เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอน พัฒนาสื่อนวัตกรรมการเรียนรู้ สื่อเทคโนโลยี โดยครูผู้สอนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งภายในโรงเรียนและระหว่างโรงเรียนที่เข้าร่วมโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรม ให้มีความสามารถในการใช้สื่อและเทคนิคการสอนที่หลากหลายขึ้นเพื่อให้การเรียนการสอนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จัดให้มีการอบรมพัฒนาครู บุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในนวัตกรรม Brain-based Learning  (BBL) ครบทุกคน สร้างฐานการเรียนรู้เพิ่มขึ้นให้เพียงพอกับความต้องการ  พัฒนาภูมิทัศน์ภายนอก  และภายในห้องเรียนทุกห้องให้เหมาะสมกับนวัตกรรม BBL Brain-based Learning  (BBL) ปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษาเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะให้สอดคล้องกับชุมชนและท้องถิ่น พัฒนานักเรียนให้อ่านออก เขียนได้ ร้อยละ 100

 

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่
    



ผู้เขียน : กนกพร บุญแซม 
ผู้ให้สัมภาษณ์
: ทองคำ   จิตสุภาพ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านรุ่ง
ผู้สัมภาษณ์ : กนกพร บุญแซม
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร   แช่ใจ
ภาพประะกอบ : โรงเรียนบ้านรุ่ง

Facebook Comments
หลักสูตรฐานสมรรถนะ เงื่อนไข โอกาส สาระสำคัญ และการนำหลักสูตรไปใช้ของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาEduSandbox.com เปิดวงสนทนา การขอเสนอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดใหม่ #EP.2
บทความล่าสุด