การประชุมผู้บริหารการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน 2564

24 พฤศจิกายน 2564

การประชุมผู้บริหารการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา สพฐ. โดย สบน. ได้จัด การประชุมผู้บริหารการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทั้ง 8 จังหวัด โดยเชิญศึกษาธิการจังหวัดลแะผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ร่วมออกแบบการทำงานและเป้าหมายร่วมกันเพื่อสร้างความเข้าใจและการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งผู้เขียนได้สรุปสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินงานและประโยชน์ต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้ประสบความสำเร็จต่อไป  พอสังเขปดังนี้

แนวนโยบายและความท้าทายของกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
โดย นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

1. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พื้นที่นำร่องปฏิรูปการศึกษา

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นพื้นที่ทดลองที่ต้องการให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นผู้สนับสนุนและอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจและ
ให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาเข้ามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการผลิตผู้เรียนมีคุณลักษณะตามที่จังหวัดต้องการและตอบสนองยุทธศาสตร์จังหวัด

2. หัวใจสำคัญของการจัดการศึกษา

ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาเป็นกลุ่มบุคคลสำคัญที่จะเป็นผู้ออกแบบหลักสูตรสถานศึกษาให้ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์จังหวัด พัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะอาชีพ ทักษะทางสังคม และทักษะชีวิต เพื่อให้ผู้เรียนที่จบการศึกษาเป็นบุคคลที่มีคุณภาพสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันและสามารถพัฒนาสังคมได้ต่อไป

3. ส่งเสริม สนับสนุน

กระทรวงศึกษาธิการพร้อมที่จะช่วยสนับสนุนให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทั้งในด้านการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการและบริบทของแต่ละพื้นที่ ด้านการบริหารงบประมาณและพัสดุเพื่อให้สถานศึกษานำร่องเกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการมากยิ่งขึ้น ด้านอัตรากำลังที่สามารถบริหารได้เอง ด้านการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานการศึกษาและองค์กรต่าง ๆ ที่จะช่วยพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมากขึ้น และที่สำคัญ คือ หน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษานำร่องต้องให้อิสระ ส่งเสริม และสนับสนุนให้สถานศึกษานำร่องสามารถบริหารและจัดการศึกษาเป็นไปตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ได้


จุดเน้นและบทบาทผู้บริหารการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
โดย นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

1. ความหวัง การศึกษา และการเปลี่ยนแปลง

พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ได้มีการประกาศใช้เพื่อหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยขับเคลื่อนและแสวงหานวัตกรรมหรือรูปแบบการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ และต้องสอบสนองความต้องการของแต่ละพื้นที่ อีกทั้งเป็นความหวังที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการศึกษาเพื่อเปลี่ยนแปลงมิติทางสังคมให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต

2. ผู้บริหารการศึกษาผู้นำการเปลี่ยนแปลง

ผู้บริหารการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตามพระราชบัญญัตินี้ได้มุ่งหวังไปที่ผู้บริหารการศึกษาจากสำนักงานศึกษาธิการและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งหน่วยงานทั้งสองจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจร่วมกัน เข้าใจเป้าหมาย เข้าใจการดำเนินการงานเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสู่ความสำเร็จ

3. โครงสร้างการบริหารงาน พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ได้กำหนดโครงการบริหารงานเป็น 2 ส่วน คือ
(1) ส่วนกลาง อยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และรับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
(2) ส่วนปฏิบัติ

  • หน่วยขับเคลื่อนเชิงนโยบายอยู่ในความดูแลของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งหน้าที่กำหนดไว้ตามมาตรา 20
  • หน่วยปฏิบัติการอยู่ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษานำร่อง

4. “สพฐ. ยุคใหม่เป็น สพฐ. ที่ต้องมีมุมมองเพื่อการปรับเปลี่ยนเชิงคุณภาพ พื้นที่เป็นฐานนวัตกรรมการขับเคลื่อน”

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้เห็นความสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของประเทศ จึงได้คัดเลือกหน่วยงานที่หลากหลายและมีความพร้อมเพื่อเป็นผู้นำของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อให้เกิดการแสวงหาคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ของผู้เรียน และนำไปสู่การถอดบทเรียนจากความสำเร็จเพื่อให้มีการขยายผลไปใช้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบงานขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาโดยตรง ซึ่งต้องเกิดจากความร่วมมือจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ถือเป็นภารกิจพิเศษสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต้องให้ความสำคัญเพื่อสร้างนวัตกรรมการบริหารเพื่อแก้ปัญหา ดังนั้น เพื่อใช้เกิดการขับเคลื่อนและพัฒนาพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ผู้บริหารการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด ควรกำหนดประเด็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นหนึ่งในข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA)

5. เป้าหมาย คุณค่า โอกาส และความสำคัญของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาให้พื้นที่ประสบความสำเร็จ ต้องศึกษาทำความเข้าถึงเป้าหมายของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาคือสิ่งใด เพื่อเปลี่ยนแปลงและให้อิสระในการจัดการศึกษาตามบริบทของแต่ละพื้นที่ และอยู่เป็นบนฐานและหลักการเดียวกัน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในปีการศึกษา 2565 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรจัดทำแผนขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ และนำเสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและนำไปสู่การออกแบบยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาของจังหวัด และศึกษานิเทศก์ทุกคนควรได้รับโอกาสสำคัญที่จะได้เรียนรู้ การเปลี่ยนแปลงจากการจัดการเรียนการสอนของครูจากสถานศึกษานำร่อง เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการนิเทศคู่ขนานไปกับการพัฒนาสถานศึกษานำร่อง อาจจะเป็นในรูปแบบกระบวนการ PLC ซึ่งศึกษานิเทศก์จะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้โรงเรียนประสบความสำเร็จรวดเร็วมากยิ่งขึ้นและสามารถขยายผลความรู้และกระบวนการนิเทศสู่สถานศึกษาอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“คนทำงานจะไม่กลัวปัญหา ฉะนั้นขอให้ท่านนำปัญหาขึ้นมาวางบนโต๊ะ หาสาเหตุของมันให้เจอ แล้วหานวัตกรรมเข้าไปแก้ไข นี่คือสิ่งที่ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรม พ.ศ. 2562 อยากให้พบ อยากให้เจอ”


Concept & DNA ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
โดย นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานอนุกรรมการด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตามและประเมินผลในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

1. การศึกษาและปัญหาของเด็กไทย

จากการสำรวจ พบว่า เด็กไทยในปัจจุบันมีทักษะอยู่สภาวะใช้การไม่ได้ เช่น เรียนคณิตศาสตร์แต่ไม่สามารถคำนวณการสินค้าได้ เรียนวิทยาศาสตร์แต่ไม่สามารถนำทักษะทางวิทยาศาสตร์มาใช้ได้ เรียนภาษาไทย แต่พบว่า เด็กส่วนมากยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้นำและผู้บริหารการศึกษาควรจะต้องหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขร่วมกันเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้เด็กไทยดีขึ้น ซึ่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการศึกษา สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน และที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนจะสำเร็จก็ต่อเมื่อเด็กมีความพร้อม ครูมีความพร้อม และผู้บริหารสถานศึกษามีความพร้อม

2. วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

  • ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม เพื่อให้เด็กที่จบการศึกษาแล้วไปเรียนต่อหรือทำงานสามารถมีทักษะในการใช้ชีวิตประจำวันที่ดี เอาตัวรอดได้ในสังคม และขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น
  • กระจายอำนาจเพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพการบริหารจัดการศึกษา และให้เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม การสร้างของใหม่ที่อาจไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย หรือของที่เคยมีอยู่ในบางพื้นที่ และจังหวัดอื่นนำไปปรับใช้ก็ถือว่าเป็นของใหม่ที่เกิดขึ้นในจังหวัดนั้น ๆ
  • สร้างกลไกการทำงานร่วมกันของภาครัฐ ภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

3. สร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ

  • พื้นที่กำหนดเป้าหมายร่วมในการพัฒนา ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ
  • กิจกรรมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ แนวทางการจัดการเรียน
  • การนำเสนอผลการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ประสบความสำเร็จ

4. ผลการดำเนินงานของแต่ละพื้นที่

  • จังหวัดเชียงใหม่ ใช้นวัตกรรมทวิพหุภาษาการจัดการเรียนการสอนและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างชุมชน PLC ของครู ช่วยพัฒนาโรงเรียนและมีการบูรณาการการทำงานหลายหน่วยงาน
  • จังหวัดกาญจนบุรี การจัดการเรียนการสอนโดยบูรณาการหลายวิชา ประสบการณ์ความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อร่วมจัดการเรียนรู้และการประเมินผลนวัตกรรมการเรียนที่เชื่อมโยงสู่การใช้งานจริง
  • จังหวัดศรีสะเกษ มียุทธศาสตร์การศึกษาของจังหวัด จำนวนโรงเรียนนำร่องเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การเรียนการสอนและการประเมินผลแบบบูรณาการ
  • จังหวัดระยอง หลักสูตรจังหวัด Rayong MACRO ที่สอดคล้องความต้องการพื้นที่ มีจุดแข็ง ด้านความร่วมมือในการจัดการศึกษามีเป้าหมายที่สถานศึกษาทั้งจังหวัดเป็นสถานศึกษานำร่อง
  • จังหวัดสตูล ฐานการเรียนรู้จากที่บ้านของนักเรียน รูปแบบการเรียนรู้ครูสามเส้า เพื่อการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องในชีวิตประจำวันมีการเรียนการสอนเชิงบูรณาการมากกว่า 10 ปี
  • จังหวัดปัตตานี ใช้บริบทของพื้นที่วางแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน มีหลักสูตรที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่การจัดการศึกษาที่ใช้งานวิจัยเป็นฐานแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียน
  • จังหวัดยะลา พัฒนาหลักสูตรที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด พัฒนาครูโดยฐานคิดด้านภาษาพหุวัฒนธรรม
  • จังหวัดนราธิวาส มีการพัฒนาเครื่องมือในสถานศึกษาของแต่ละระดับชั้นและรายวิชาที่ต่างกันออกไปมีนวัตกรรมใหม่ ๆ จะได้รับการเรียนรู้ที่หลากหลายสอดคล้องกับความถนัดความสนใจของนักเรียนและสภาพภูมิสังคม นักเรียนมีความสนใจและสนุกสนานกับการเรียนครูมีความสุขกับการสอน

5. สรุปการดำเนินงานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

  • ความคืบหน้าด้านปลดล็อกปรับกฎหมายให้อิสระโรงเรียนและพื้นที่มากขึ้นช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่
  • ความคืบหน้าการดำเนินงานพื้นที่เกิดการเรียนการสอนแบบบูรณาการในพื้นที่แต่ละพื้นที่มีแนวทางการพัฒนาระบบการศึกษาที่ต่างกันไป
  • การเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน ผู้บริหารสถานศึกษา ครู มีทัศนคติที่ดีในการพัฒนาการสอนนักเรียนมีความรู้ทักษะยังไม่ต่างจากเดิมแต่มีความสุขในการเรียนมากขึ้น

กระบวนการกำหนดเป้าหมายร่วม (Share Vision) และออกแบบการทำงานร่วมกัน
โดย นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารและการมีส่วนร่วม
ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และคณะ

จากการกำหนดเป้าหมายร่วมและออกแบบการทำงานร่วมกันทำให้ได้ข้อสรุปที่ผู้บริหารการศึกษาทั้ง 8 จังหวัด ได้ร่วมกำหนดเป้าหมายและออกแบบการทำงานร่วมกัน ดังนี้

  • ประเด็นที่ 1 จากการรับฟังแนวนโยบายของปลัดกระทรวงศึกษาธิการและเลขาธิการ กพฐ. ผู้บริหารการศึกษาทั้ง 8 จังหวัด มองเห็นภารกิจอะไรที่ได้รับมอบหมาย  ซึ่งมีความเห็นและมีเป้าหมายร่วมกันมากที่สุด คือ การส่งเสริม สนับสนุนโรงเรียนในสังกัดขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย เน้นในโรงเรียนขับเคลื่อนการเรียนรู้แบบ Active Learning นำหลักสูตรฐานสมรรถนะมาปรับสู่ห้องเรียน ยกระดับผลสัมฤทธิ์ ลดความเหลื่อมล้ำ และขยายผลจากความสำเร็จสู่สถานศึกษาอื่น
  • ประเด็นที่ 2 จากภารกิจในประเด็นที่ 1 ศธจ. และ สพท. เห็นบทบาทของตนเองอย่างไร และจะมีวิธีการทำงานร่วมกันอย่างไร ซึ่งผู้บริหารการศึกษาทั้ง 8 จังหวัด มีความเห็นและมีเป้าหมายร่วมกัน มากที่สุด คือ การวางแผนร่วมกันร่วมกันระหว่างสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดและสำนักงานเขตพื้นการศึกษา การจัดทำแผนระดับสถานศึกษา ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับจังหวัด สร้างการรับรู้ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับรู้รับทราบที่ตรงกันและไปในทิศทางเดียวกัน สร้างความมั่นใจ สนับสนุนให้สถานศึกษานำร่องกล้าเปลี่ยนตามที่พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้กำหนดไว้
  • ประเด็นที่ 3 ศธจ. และ สพท. จะมีวิธีการทำงานในการสนับสนุนโรงเรียนนำร่องให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างไร ซึ่งผู้บริหารการศึกษาทั้ง 8 จังหวัด มีความเห็นและมีเป้าหมายร่วมกันมากที่สุด คือ การใช้กระบวรการ PLC เป็นเครื่องมือสร้างพื้นที่ในการพูดคุยพัฒนางานโดยให้อิสระโรงเรียนในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพนักเรียนตามบริบทของพื้นที่ ตรวจสอบ แนะนำ กระบวนการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินของครู ให้สอดคล้องกับกระบวนการจัดการเรียนการสอนและหลักสูตรด้วยวิธีการที่หลากหลาย
  • ประเด็นที่ 4 เพื่อให้ภารกิจสำเร็จ ศธจ. และ สพท.ต้องการให้ส่วนกลางสนับสนุนสิ่งใด อย่างไร ซึ่งผู้บริหารการศึกษาทั้ง 8 จังหวัด มีความเห็นและมีเป้าหมายร่วมกันมากที่สุด คือ อยากให้จัดสรรงบประมาณไปยังหน่วยปฏิบัติ (โรงเรียน) มากขึ้นให้เพียงพอต่อการพัฒนานวัตกรรม กำหนดอัตรากำลังสายการสอนและสายสนับสนุนให้เหมาะสมและเพียงพอต่อการพัฒนาและขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ส่งเสริม สนับสนุน และให้อิสระกับสถานศึกษานำร่องมากขึ้น ตามที่พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้กำหนดไว้

ภารกิจการขับเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะและกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน
โดย รองศาสตราจารย์ทิศนา แขมมณี ประธานอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการในคณะกรรมการนโบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และนางสาวรัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.

1. กรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะ

เพื่อให้การพัฒนาหลักสูตรสอดคล้องกับบริบทแต่ละพื้นที่ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ได้กำหนดกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะเฉพาะส่วนที่สำคัญและจำเป็นให้สถานศึกษานำร่องสามารถพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาได้เอง

2. พี่เลี้ยง

สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาได้ประสานหน่วยงานและเครือข่ายต่าง ๆ ที่จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาช่วยเหลือให้กับสถานศึกษานำร่อง และสามารถพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะได้ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ทั้งด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้และการวัดและประเมินผล

3. กระบวนการพัฒนาหลักสูตร

ในการทดลองใช้หลักกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะ จะดำเนินการในช่วงชั้นที่ 1 ก่อน เพื่อเป็นการสะท้อนปัญหาจากการปฏิบัติเพื่อพัฒนาและปรับปรุง และดำเนินการวิจัยเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะของสถานศึกษานำร่อง เช่น โรงเรียนมีแนวทางหรือวิธีการที่จะนำไปสู่หลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนอย่างไร การเตรียมความพร้อมของบุคลากรในโรงเรียนควรจะเป็นอย่างไร การจัดบริบทหรือจัดสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนเพื่อให้เอื้อต่อการจัดการศึกษาฐานสมรรถนะเป็นอย่างไร บทบาทหรือการหนุนเสริมของบุคลากรในแต่ละส่วนและแต่ละระดับทำอย่างไร ซึ่งมีการศึกษาวิจัยระดับชาติ ระดับจังหวัด หรือระดับโรงเรียนที่ต่างกันออกไป

4. เป้าหมายและคุณค่า

  • เป้าหมายระยะยาว คือ ผู้เรียนได้ยกระดับคุณภาพไปตามที่พึงประสงค์และเป็นประโยชน์แก่ตัวผู้เรียนเอง และหัวใจของการจัดการศึกษา คือ หลักสูตร การเรียนการสอน และการวัดประเมินผลซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพผู้เรียนได้โดยตรง ซึ่งโรงเรียนเป็นหน่วยสำคัญที่จะทำให้ผลเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม โดยเป้าหมายสมรรถนะของผู้เรียน คือ ผู้เรียนมีสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับชีวิต แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) สมรรถนะหลักที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตและ (2)สมรรถนะเฉพาะในสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้เรียน เพื่อที่จะได้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นและใช้ประโยชน์ในการเป็นพื้นฐานที่จะเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นได้ ที่ผู้เรียนได้เรียนรู้จากเผชิญสถานการณ์ ปัญหา และความท้าท้ายต่าง ๆ โดยนำความรู้และทักษะที่ได้สั่งสมมาใช้ให้เกิดประโยชน์และเกิดความสำเร็จ
  • เป้าหมายเร่งด่วน คือ ผลจากการสะท้อนจากส่วนพื้นที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดและสำนักงานเขตพื้นการศึกษาจะดำเนินการอย่างไร และการพัฒนาพี่เลี้ยงที่จะช่วยพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่อย่างไร โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะต้องอนุมัติปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาเพื่อให้สถานศึกษานำร่องนำหลักสูตรไปพัฒนาและนำไปใช้ อีกทั้ง ปลดล็อก เรื่อง สื่อการเรียนรู้ งบประมาณ ต้องดำเนินการโดยเร็วเพื่อให้พื้นที่สะท้อนผลกลับ

 


การสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
โดย นางปรัชญาวรรณ วนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักบูรณาการกิจการการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายพิทักษ์ โสตถยาคม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

1. สำนักบูรณาการกิจการการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

มีแนวทางในการติดตามการใช้พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 และเชิญผู้มีความรู้ ความสามารถในการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะเพื่อเป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือสถานศึกษานำร่องในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ

2. สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

มีแนวทางในการส่งเสริมการใช้พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ดังนี้

  • แจ้งเป็นแนวนโยบาย/แนวปฏิบัติไปยังสำนักงานเขตพื้นที่ เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างชัดเจนของเขตพื้นที่ ในการส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลสถานศึกษานำร่อง และร่วมมือกับหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาได้นำเสนอผลต่อเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  • ส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ร่วมกับสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อส่งเสริม สนับสนุนการนำร่องหลักสูตรฐานสมรรถนะสู่สถานศึกษา และการจัดการเรียนรู้ Active Learning เพื่อสร้างสมรรถนะให้นักเรียน
  • จัดสรรงบประมาณให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจ สื่อสารประชาสัมพันธ์ให้สถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาได้เห็นโอกาสการเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และจัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถานศึกษานำร่อง ทั้งรูปแบบออนไลน์และ ณ สถานที่ (On-site) รวมทั้งการนิเทศช่วยเหลือ
  • จัดสรรงบประมาณ Block Grant ให้สถานศึกษานำร่อง สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนละ 100,000 บาท (345 โรงเรียน ปี 2563)
  • จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพื้นที่ และเติมเต็มโดยผู้ทรงคุณวุฒิ โดยใช้กลไกคณะอนุกรรมการด้านสื่อสารและการมีส่วนร่วมและคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นระยะ ๆ
  • สื่อสารแนวปฏิบัติ/ข้อปลดล็อก ที่สถานศึกษานำร่องจะสามารถทำได้อิสระ/คล่องตัว ในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านสื่อและการประชุมออนไลน์เพื่อสร้างความเข้าใจ
  • สื่อสารสิ่งดี/น่าสนใจในพื้นที่และสถานศึกษานำร่อง ผ่านสื่อ Social media social network
  • รับฟังพื้นที่ ช่วยหนุนเชิงนโยบาย และหาทางปลดล็อก เพิ่มเติม

ผู้เขียน หวังว่า การประชุมผู้บริหารการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งนี้ จะช่วยสร้างเป้าหมายร่วมกันระหว่าง ศธจ. สพท. และองค์กรในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีทิศทางในการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาร่วมกันพัฒนาสู่การเป็นจังหวัดจัดการศึกษาด้วยตนเองซึ่งเป็นการเปลี่ยนเชิงพื้นที่ เปลี่ยนแปลงการศึกษาของบุตรหลานในจังหวัดของตนเองเป็นให้บุคคลที่มีคุณภาพมีสมรรถนะมีความสามารถ และช่วยสร้างสังคมที่ดีเพื่อพัฒนาประเทศชาติต่อไป

รับชมย้อนหลัง

 

Facebook
ข่าวอื่นๆ



ผู้เขียน: อิศรา โสทธิสงค์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
เวทีการประกาศยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการศึกษา สู่ระยองเมืองน่าอยู่Starfish Learning Box กล่องการเรียนรู้บ้านปลาดาว
บทความล่าสุด