โรงเรียนบ้านโก สร้างการเรียนรู้ เสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต ด้วยโรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วยนวัตกรรม จิตศึกษา PBL และ PLC

25 ตุลาคม 2564

โรงเรียนบ้านโก ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 3 บ้านโก ตำบลส้มป่อย อำเภอราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 2 ซึ่งจากการสัมภาษณ์ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโก นายวิทยา ทองอินทร์ โรงเรียนบ้านโกได้นำนวัตกรรมการศึกษามาปรับใช้การเรียนการสอนในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยใช้รูปแบบของโรงเรียนลำปลายมาศ และนำมาปรับให้เกิดความเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนบ้านโกและนักเรียน

   

กระบวนการเรียนด้วยนวัตกรรมของโรงเรียนบ้านโกนั้น เป็นรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ( PBL: Problem-based Learning) และ ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ  (PLC: Professional Learning Communicaty) ในแต่ละกิจกรรมจะมีการจัดการเรียนการสอนที่เป็นวิถีของโรงเรียนบ้านโก อาทิ นวัตกรรมจิตศึกษา ทุกวันก่อนการเริ่มเรียนและก่อนเลิกเรียนในแต่ละวันจะมีกิจกรรมให้นักเรียน ชง เชื่อม ใช้, Body Scan, AAR เป็นต้น

การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ( PBL: Problem-based Learning) โดยจะแบ่งออกเป็น Quarter ครูผู้สอนจะเป็นผู้ออกแบบการเรียนการสอนของแต่ละชั้นเรียน อย่างเช่น นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ เรื่องของเล่น นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ เรื่องการทำสบู่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ เรื่องไดโนเสาร์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เรื่องโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นต้น

กระบวนการจัดการเรียนรู้ PBL เป็นกระบวนการที่ให้นักเรียนได้เกิดการค้นคว้าที่มีความพอเพียงต่อบทเรียน เมื่อได้ค้นคว้าแล้วนักเรียนต้องเป็นผู้ลงมือทำด้วยตนเอง และเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ครูผู้สอนจะเป็นผู้กระตุ้นให้นักเรียนหาคำตอบของปัญหาที่เกิดด้วยการสะท้อนคิดรวมกันว่าปัญหานั้นเกิดจากอะไร และมีวิธีการแก้ปัญหาได้อย่างไร ทั้งการหาความรู้เพิ่มเติมหรือการค้นคว้าด้วยวิธีการต่างๆ ในกระบวนการนี้ครูผู้สอนจะทำหน้าที่เพียงการกระตุ้น ไม่ใช่ผู้บอกแล้วให้นักเรียนทำตาม แต่จะส่งเสริมให้พยายามหาวิธีการและลงมือทำใหม่อีกครั้งเพื่อให้เจอทางแก้ปัญหา

   

โรงเรียนบ้านโกไม่เพียงแต่จัดการเรียนการสอนภายในห้องเรียนหรือการสร้างกิจกรรมให้นักเรียนได้ลงมือทำเท่านั้น แต่ได้มีการนำพานักเรียนไปเรียนรู้นอกสถานศึกษา นั้นก็คือการไปเรียนรู้ร่วมกับชุมชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จริงได้มีประสบการณ์ตรงจากสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของนักเรียน ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการตั้งคำถาม ได้ลองหาคำตอบ และได้ลงมือทำด้วยตนเองจากสิ่งที่พบเห็นได้อยู่บ่อยๆ และเป็นการสร้างประสบการณ์ที่สามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต

   

(ภาพกิจกรรมการเรียนรู้นอกสนถานที่ “อาชีพในชุมชน” การปลูกหอม)

   

(PBLกับหน่วย Play and learn around ปลูกเอง ดูแลเอง เก็บเอง ประกอบอาหารเองและทานเอง)

การเรียนการสอนที่โรงเรียนบ้านโกได้สร้างการเรียนรู้ในรูปแบบของ Active Learning ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ให้มีการเรียนรู้ที่สนุก เกิดความเพลิดเพลิน ไร้ความกังวลและความกลัวในภาษาต่างชาติของนักเรียน ซึ่งในแต่ละชั้นเรียนจะมีเกมที่ผสมผสานกับภาษา เช่น เกมคำศัพท์ต่างๆ การจับคู่คำกับรูปภาพ เมื่อการเรียนรู้มีความสนุกและนักเรียนได้มีส่วนร่วม จึงทำให้นักเรียนต่างก็มีความสุขและความสนุกที่จะเรียนมากขึ้น

   

กระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ  (PLC: Professional Learning Communicaty) จะเกิดขึ้นทุกสัปดาห์เพื่อให้ครูผู้สอน ผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งจะมี Facilitator หนึ่งคนเป็นผู้นำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแต่ละหัวข้อ นำแผน นำผลงาน นำความสำเร็จมาแลกเปลี่ยนกัน การเรียนรู้จะเกิดขึ้นจากการพูดคุย และรับฟังกัน เพื่อร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของแต่ละท่านในการเรียนการสอนและเติมเต็มกำลังใจซึ่งกันและกัน เพื่อพัฒนาการสอนให้มีการเรียนการสอนที่ดีขึ้น

     

ในปีการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๔ โรงเรียนได้มีการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งการจัดทำได้นำ school concept ที่วางเป้าหมายสูงสุดของการจัดการเรียนการสอน และนำ school concept มาตั้งเพื่อให้ได้ DOE ชาติ และ DOE จังหวัด จะทำให้ได้สมรรถนะหลัก เมื่อได้แล้วได้กำหนดนิยาม DOE และสมรรถนะ ที่ขยายชัดเจนที่เหมาะกับโรงเรียนบ้านโก ซึ่งขณะนี้โรงเรียนบ้านโกกำลังดำเนินจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะของโรงเรียนบ้านโกให้มีสมบูรณ์มากขึ้น

“นี้คือการศึกษาที่แท้จริง ในศตวรรษที่ ๒๑ การสร้างเสริมให้นักเรียนมีกระบวนการเรียนรู้ที่พอเพียง การเข้าใจกระบวนการค้นคว้า การหาความรู้ ที่สามารถนำมาใช้ได้กับชีวิตจริงๆ โดยที่ไม่ว่าจะเจอกับปัญหาหรือสถานการณ์แบบไหน การมีกระบวนการเรียนรู้จะช่วยให้นักเรียนหาคำตอบของปัญหาได้เสมอ”   ผอ.วิทยา ทองอินทร์



ผู้เขียน : ฐิติมา ท้วมทอง
ผู้ให้สัมภาษณ์: วิทยา ทองอินทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโก จังหวัดศรีสะเกษ
ผู้สัมภาษณ์: ฐิติมา ท้วมทอง
กราฟิกดีไซน์เนอร์:
 อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร   แช่ใจ
ภาพประกอบ : โรงเรียนบ้านโก จังหวัดศรีสะเกษ

Facebook Comments
“ทำ PA อย่างไร ให้ตอบโจทย์พื้นที่นวัตกรรม” สบน. ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังการเสวนานราธิวาสเร่งปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส
บทความล่าสุด