273 โรงเรียนนำร่อง ใน 8 จังหวัด ก้าวสู่เป้าหมายที่ท้าทายของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

28 มกราคม 2563

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2563 ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่อง สถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีรายชื่อสถานศึกษานำร่อง จำนวน 86 โรงเรียน จำแนกเป็น สถานศึกษานำร่อง จ.ปัตตานี จำนวน 27 โรงเรียน, สถานศึกษานำร่อง จ.ยะลา จำนวน 30 โรงเรียน และสถานศึกษานำร่อง จ.นราธิวาส จำนวน 29 โรงเรียน ดังนั้น สถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ณ ปัจจุบัน (วันที่ 27 มกราคม 2563) มีทั้งสิ้น จำนวน 273 โรงเรียน ซึ่งสามารถจำแนกโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตามสังกัดและจังหวัดได้ตามตาราง

ตารางจำแนกโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตามจังหวัดและสังกัด
ตารางจำแนกโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตามจังหวัดและขนาดโรงเรียน

สำหรับรายชื่อโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้งหมดสามารถคลิก Download ได้ตาม Link นี้ >>>คลิกดูรายชื่อโรงเรียนทั้งหมด<<<

คลิกที่ภาพเพื่อดูรายชื่อโรงเรียนนำร่องทั้ง 273 โรงเรียน ใน 8 จังหวัด

ซึ่งการเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และการพ้นจากการเป็นสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปรากฎอยู่ในมาตรา 27 และมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ถือเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการขับเคลื่อนการศึกษาของแต่ละจังหวัดเป็นหลัก ในการให้ความเห็นชอบและให้พ้นจากการเป็นสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา รายละเอียด ดังนี้

การเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

มาตรา 27 สถานศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแห่งใดประสงค์จะเป็นสถานศึกษานำร่อง ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(1) สถานศึกษาขั้นพื้นฐานในสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ขอความเห็นชอบจากคระกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
(2) สถานศึกษาขั้นพื้นฐานในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นต้นสังกัด
(3) สถานศึกษาขั้นพื้นฐานของเอกชน ให้ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารสถานศึกษา และกลุ่มส่งเสริมการศึกษาเอกชนในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดหรือสำนักงานศึกษาเอกชนจังหวัด แล้วแต่กรณี

เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ขออนุมัติต่อคณะกรรมการขับเคลื่อน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการขับเคลื่อนกำหนด

การพ้นจากการเป็นสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

มาตรา 39 สถานศึกษานำร่องจะพ้นจากการเป็นสถานศึกษานำร่องในกรณี ดังต่อไปนี้

(1) สถานศึกษานำร่องร้องขอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อน และคณะกรรมการขับเคลื่อนให้ความเห็นชอบ
(2) คณะกรรมการขับเคลื่อนมีมติให้พ้น เพราะสถานศึกษานำร่องแห่งนั้นไม่สามารถดำเนินการให้เป็นตามวัตถุประสงค์ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่อง
(3) ครบกำหนดระยะเวลาตามเงื่อนไขในการเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่องและไม่ประสงค์จะเป็นสถานศึกษานำร่องต่อไป
(4) กรณีอื่นตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด
ในการพิจารณาตาม (1) และ (2) ให้คณะกรรมการขับเคลื่อนรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียน ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสถานศึกษานำร่อง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อนักเรียนด้วย

ให้คณะกรรมการขับเคลื่อนกำหนดเงื่อนไขให้สถานศึกษานำร่องปฏิบัติเพื่อไม่ให้นักเรียนและครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับผลกระทบจากการพ้นจากการเป็นสถานศึกษานำร่อง

จะเห็นได้ว่า จำนวนและรายชื่อสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของแต่ละจังหวัด เป็นการประกาศเจตจำนงอย่างชัดเจนว่า จังหวัดนั้น ๆ มีสถานศึกษานำร่องเป็นกลุ่มเป้าหมายของการดำเนินการและเป็นพื้นที่ปฏิบัติการที่ชัดเจน ที่จะใช้กลไกการจัดการเชิงพื้นที่ ที่คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนั้น ๆ ออกแบบ ผลักดัน และดำเนินการอย่างจริงจัง หวังผลให้เป็นพื้นที่ปฏิรูปการบริหารและจัดการศึกษาอย่างแท้จริง เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมการศึกษา นำร่องในการกระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่อง ให้เกิดการพัฒนาคุณภาพ ประสิทธิภาพ และลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งให้มีการขยายผลนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนและวิธีการปฏิบัติที่ดีไปใช้ในสถานศึกษาอื่น

ขณะนี้ สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) เตรียมเสนอ สพฐ. พิจารณาแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และหน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้ดำเนินการ หรือสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานตามมาตราต่าง ๆ ที่ปรากฎใน พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 อย่างจริงจัง ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. และร่วมปฏิบัติการให้บรรลุวัตถุประสงค์ 4 ประการในการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประกอบด้วย

(1) คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน รวมทั้งเพื่อดำเนินการให้มีการขยายผลไปใช้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น
(2) ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา
(3) กระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และ
(4) สร้างและพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชนสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ในกรณีที่มีปัญหาเรื่องการตีความหรือการวินิจฉัยปัญหาอันเกิดจากการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้การตีความจะต้องเอื้ออำนวยให้เกิดการสร้างนวัตกรรมการศึกษา และมุ่งเน้นให้เกิดสัมฤทธิผลของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นสำคัญ

ซึ่งสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ให้หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และสิทธิหน้าที่ของสถานศึกษานำร่องไว้ อาทิ การได้รับอิสระและความคล่องตัวในการดำเนินการเรื่อง หลักสูตร การสอน การจัดซื้อสื่อหนังสือเรียน การวัดผลและการทดสอบ การประกันคุณภาพ การบริหารบุคคล การบริหารงบประมาณ การบริหารทั่วไปในเรื่องการปฏิเสธโครงการส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอน การกลั่นกรองโครงการต่าง ๆ ที่จะเข้าไปสู่สถานศึกษานำร่อง ซึ่งใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ ได้กำหนดบทบาทหน้าที่ที่ท้าทายอย่างยิ่งของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่ต้องดำเนินการในหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับคุณภาพ เพิ่มโอกาสทางการศึกษา และประสิทธิภาพการบริหารจัดการ รวมทั้งมีส่วนสำคัญยิ่งที่จะรับผิดชอบผลการดำเนินการและการประเมินผลในทุก 3 ปี รายละเอียดโปรดให้ศึกษาจากพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ที่นี่ >>Download พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562<<

คลิกที่ภาพเพื่อ Download พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562

Written by พิทักษ์ โสตถยาคม
Artwork by เก ประเสริฐสังข์

Facebook Comments
เปิดตัว! Line Official : พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเคลียร์ชัด! สพฐ. และ สป.ศธ. จัดปัจจัยเกื้อหนุนพื้นที่นวัตกรรม ปี 63 พร้อม! กาง พ.ร.บ. รวมพลัง ศธจ., สพท. และทุกภาคส่วน จัดการศึกษาร่วมกัน ตอบโจทย์พื้นที่…ไม่ One Size Fits All
บทความล่าสุด