เคลียร์ชัด! สพฐ. และ สป.ศธ. จัดปัจจัยเกื้อหนุนพื้นที่นวัตกรรม ปี 63 พร้อม! กาง พ.ร.บ. รวมพลัง ศธจ., สพท. และทุกภาคส่วน จัดการศึกษาร่วมกัน ตอบโจทย์พื้นที่...ไม่ One Size Fits All

28 มกราคม 2563

คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา และอนุกรรมการพิจารณาศึกษา ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการศึกษา ศึกษาดูงานการขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ในวันที่ 20 ธันวาคม 2562 ณ โรงเรียนบ้านหนองม่วง และโรงเรียนบ้านสมานมิตร ซึ่งเป็น 2 ใน 25 โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง .ในการนี้ นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) สพฐ. มอบหมายนายพิทักษ์ โสตถยาคม รอง ผอ.สบน. และนางสาวอุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล ผู้ประสานงานของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง และเป็น ผอ.กลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการศึกษา สบน. ร่วมลงพื้นที่กับคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ครั้งนี้ด้วย

ในเวทีรับฟังผลการดำเนินงานของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ได้มีคำถามเกี่ยวกับบทบาทของส่วนกลางในการช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของพื้นที่ ทั้งในเรื่องงบประมาณ และการสร้างแรงจูงใจหรือการเกื้อกูลการทำงานของครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา และสื่อสารต่อที่ประชุม ณ โรงเรียนบ้านหนองม่วง ตำบลชุมแสง อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ตอบข้อคำถามใน 3 ประเด็นข้างต้น คือ 1) บทบาทส่วนกลาง 2) การจัดเตรียมงบประมาณ และ 3) การสร้างแรงจูงใจและขวัญกำลังใจบุคลากร ดังนี้

สามารถคลิกเข้าไปฟังคลิปได้ที่นี่ : youtube.com/9WvFfQH88oM&

1) บทบาทส่วนกลาง

สพฐ. ทำความเข้าใจ พ.ร.บ. และดำเนินการตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ได้ตั้งหน่วยงานกลางคือ “สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.)” เพื่อให้ทำหน้าที่ประสานงาน ส่งเสริม และสนับสนุนการแสวงหาและพัฒนานวัตกรรมจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์พื้นที่ ส่งเสริมให้จังหวัดจัดการตนเอง มีการบริหารจัดการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนและลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาของจังหวัด ได้มอบหมายให้มีบุคลากรหลักที่อยู่ส่วนกลางในการประสานงานแต่ละพื้นที่ “ประกบรายจังหวัด” เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระดับพื้นที่สู่ระดับนโยบายและสาธารณะ มีกลไกคณะกรรมการนโยบาย ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายมีทิศทางชัดเจนในการสนับสนุนพื้นที่และโรงเรียนนำร่องอย่างเต็มที่ ส่งเสริมให้พื้นที่ดำเนินงานอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในโรงเรียนที่มีความเข้มแข็ง ให้ทำจริงจัง ให้เห็นผล และอธิบายเหตุและผลให้ได้อย่างชัดเจน เลขาธิการ กพฐ. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบาย มีความเข้าใจในงานชัดเจน พร้อมผลักดันให้เดินหน้าอย่างราบรื่น ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. รวมทั้ง ผอ.สบน. และผู้บริหาร สพฐ. สนับสนุนให้มีการดำเนินงานตามกฎหมาย

2) การจัดเตรียมงบประมาณ

แบบอย่างของจังหวัดระยองที่ได้กำหนดยุทธศาตร์การศึกษาเรื่องการตั้ง “กองทุน” สนับสนุนการจัดการศึกษา ถือว่าเป็นวิสัยทัศน์และพันธกิจที่น่าสนใจและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่ปรากฎอยู่ในมาตรา 5(4) คือ การสร้างและพัฒนากลไกการจัดการศึกษาร่วมกันของทุกภาคส่วน ซึ่งการตั้งกองทุนเป็นการระดมทุนจากภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมในพื้นที่ ที่จะนำมาช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดในระบบการศึกษาของจังหวัดระยองได้อย่างมาก จึงสนับสนุนให้มีการขับเคลื่อนเรื่องกองทุน และเมื่อเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีมากสำหรับพื้นที่อื่น ๆ

ในเรื่องการตั้งงบประมาณในปี 2563 ของหน่วยงานต้นสังกัดส่วนกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการตามมาตรา 50 เพื่อเตรียมสนับสนุนสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 8 จังหวัด เพื่อดำเนินการตามมาตรา 20 และมาตรา 24 เป็นสำคัญเรียบร้อยแล้ว ทราบกรอบเงินที่ได้รับการแจ้งจากสำนักงบประมาณเมื่อครั้งก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ จำนวน 34 ล้านบาท ส่วน สพฐ. ได้ตั้งงบประมาณปี 2563 เพื่อสนับสนุนงานเชิงนโยบายของคณะกรรมการนโยบาย ขอบข่ายงานตามมาตรา 15 บทบาทหน้าที่ของ สบน. ในมาตรา 18 และการสนับสนุนโรงเรียนนำร่องตามมาตรา 28 ซึ่งขณะนี้ได้รับกรอบงบประมาณจากสำนักงบประมาณ จำนวน 36 ล้านบาท ส่วนการจะจัดสรรให้โรงเรียนอย่างไรนั้น ขณะนี้ สพฐ. และ TDRI กำลังวิเคราะห์วิจัยเพื่อให้ได้สูตรการจัดสรรที่เหมาะสมในปีแรก

ขณะที่ พ.ร.บ. งบประมาณยังไม่เรียบร้อย สพฐ. ได้จัดสรรงบประมาณบางส่วนให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไปแล้ว เพื่อให้เขตพื้นที่เป็นเจ้าภาพร่วมหนุนเสริม จัดทีมศึกษานิเทศก์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องจากเขตพื้นที่ ไปช่วยโรงเรียนนำร่องจัดหลักสูตรสถานศึกษา หลักสูตรฐานสมรรถนะ และเรื่องสำคัญจำเป็นอื่น ๆ โดยเร่งให้ทันก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 และให้เขตพื้นที่รายงาน สพฐ. ภายในเดือนพฤษภาคม 2563

3) การสร้างแรงจูงใจและขวัญกำลังใจบุคลากร

จุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด ที่จะปรับเปลี่ยนเรื่องการบริหารงานบุคคล ขวัญกำลังใจ และความก้าวหน้าของครูและบุคลากรทางการศึกษา จะต้อง bottom up มาจากพื้นที่ ยิ่งพื้นที่มีผลการดำเนินการตามจุดเน้นของโรงเรียนนำร่องและพื้นที่ หรือมีหลักฐานเชิงประจักษ์ มีผลผลิตและผลลัพธ์ที่ดี แล้วต้องการเปลี่ยนแปลงเรื่องงานบุคคล แต่ระบบและกลไกของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ หากเป็นเช่นนี้ สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนั้น ๆ ให้ช่วยดำเนินการแก้ไข หากอยู่นอกเหนือจากหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการขับเคลื่อนที่จะสามารถดำเนินการได้ ให้ส่งมาที่ สบน. และจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายต่อไป

จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายครั้งที่ผ่านมา ได้ให้ความเห็นชอบให้มีคณะอนุกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 5 คณะ คณะหนึ่งจะดูในเรื่องการบริหารงานบุคคล คือ คณะอนุกรรมการด้านบุคคล ซึ่งจะรับข้อเสนอจากคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดต่าง ๆ ช่วยหาทางออกให้ โดยจะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับนโยบาย เช่น ก.ค.ศ. สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สพฐ. เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 31 และมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ และให้การบริหารงานบุคคลเป็นพลังช่วยขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ

Written by พิทักษ์ โสตถยาคม
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
273 โรงเรียนนำร่อง ใน 8 จังหวัด ก้าวสู่เป้าหมายที่ท้าทายของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาพื้นที่นวัตกรรมระยองเตรียมสร้างระบบโค้ชและ Digital Platform เพื่อการเรียนรู้ของโค้ช ในการขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะ
บทความล่าสุด