ขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สรุปผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 4/2565

29 ธันวาคม 2565

ขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
สรุปผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
ครั้งที่ 4/2565

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมาได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 4/2565 โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ พร้อมด้วยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่รองประธานกรรมการ พร้อมด้วย นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ แทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกรรมการ ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงหรือผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ, สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย, สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง, สำนักงบประมาณ, ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อีกทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม, นายสมศักดิ์ พะเนียงทอง, นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร, นางศุภธิดา พรหมพยัคฆ์, นายปกรณ์ นิลประพันธ์




สบน. ในฐานะฝ่ายเลขานุการและรับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้รวบรวมเอกสารและผลการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 สำหรับเสนอให้ที่ประชุมทราบและพิจารณา โดยสรุปสาระสำคัญ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

เรื่องที่เสนอให้ที่ประชุมทราบ

ฝ่ายเลขานุการ ได้นำเสนอวาระเพื่อทราบต่อที่ประชุม 7 เรื่องได้แก่

1. การออกประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวกับการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
  • ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา กทม. และ 10 จังหวัด ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนพิเศษ 296 ง 20 ธันวาคม 2565 หน้า 8 (ดูประกาศ)
  • ประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข
    การสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ประกาศ ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 (ดูประกาศ)
  • ประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง องค์ประกอบ จำนวน คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม หลักเกณฑ์และวิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นตำแหน่งของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2565 ประกาศ
    ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 (ดูประกาศ)
  • คำสั่งคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาพิเศษในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2565 สั่ง ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 (ดูประกาศ)
2. ความคืบหน้าการประเมินผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของคณะผู้ประเมินอิสระ (มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย)

คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้แต่งตั้งคณะผู้ประเมินอิสระ (ดูประกาศ) ตามมาตรา 40 เพื่อดำเนินการดำเนินงานและการบริหารจัดการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผู้แทนคณะผู้ประเมินอิสระ (นายวีระชาติ กิเลนทอง) มาร่วมนำเสนอความก้าวหน้าต่อที่ประชุมในประประเด็นต่าง ๆอาทิ

  • การกระจายอำนาจและการให้อิสระ เช่น การใช้งบประมาณ การเลือกใช้สื่อการเรียนการสอน การออกแบบกรอบหลักสูตรจังหวัด
  • การสร้างและการพัฒนากลไกความร่วมมือทุกภาคส่วน เช่น การจัดองค์ประกอบคณะกรรมการขับเคลื่อน การระดมทรัพยากรในจังหวัด
  • การเพิ่มผลสัมฤทธิ์ ผลิต/พัฒนา/ขยายผลนวัตกรรมการศึกษา เช่น การขยายเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพของสถานศึกษานำร่อง
  • การลดความเหลื่อมล้ำ กรณีศึกษาด้วยการวิเคราะห์ผลคะแนน NT, O-NET

ซึ่งที่ประชุมได้มีการอภิปรายและให้ข้อเสนอประกอบการนำเสนอเพื่อให้คณะผู้เสนอนำไปพิจารณาประกอบการประเมินผลต่อไป

3. การวิจัยเพื่อพัฒนาและการสนับสนุนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในวาระนี้ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอการขับเคลื่อน

ได้แก่ (1) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) (2) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

บพท. และ กสศ. มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมสนับสนุนการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นพื้นที่ปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษา เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมการศึกษา
และสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของ บพท. ด้านการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หรือ กสศ. ที่จะช่วยหนุนเสริมพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้งด้านวิชาการและด้านระบบข้อมูลการจัดการศึกษาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสถานศึกษานำร่อง และข้อมูลนักเรียนรายบุคคล ซึ่งได้มีผู้แทนจาก 2 หน่วยงานมาร่วมเสนอประเด็นเกี่ยวกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ดังนี้

  • บพท. นำเสนอโดย ผศ.อมรวิชช์ นาครทรรพ อาทิ
    การสนับสนุนทุนวิจัยในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด และ 11 จังหวัดใหม่ แก่หน่วยงานต่าง ๆ
    ข้อสรุปจากงานวิจัยในพื้นที่ เช่น พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาช่วยให้กลไกการทำงานของจังหวัดผ่อนคลายเชิงนโยบายมากขึ้น การวิจัยทำให้พื้นที่เลือกใช้นวัตกรรมได้เหมาะสมกับบริบทมากขึ้น พื้นที่เห็นบทบาทและการทำงานกลไกจังหวัดมากขึ้น การพัฒนาพี่เลี้ยงและการพัฒนาครู
  • กสศ. นำเสนอโดย นายพัฒนะพงศ์ สุขมะดัน อาทิ
    เป้าหมายของ กสศ. ที่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 การให้ทุนสนับสนุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำการศึกษา การส่งเสริมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ เช่น กลไกความร่วมมือ ระบบข้อมูลเพื่อการวางแผนติดตาม และมาตรการความช่วยเหลือ โดยนำร่องในพื้นที่ 20 จังหวัด อาสาสมัครการศึกษาหมู่บ้านเพื่อบรรเทาปัญหาการเรียนรู้ถดถอย โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของการสร้างทักษะอาชีพ ทักษะการเรียนรู้ การมีสัมมาชีพ
4. การจัดทำคำของบประมาณเพื่อปฏิบัติการในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปีงบประมาณ 2567
5. ผลการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา แทนตำแหน่งที่ว่าง

ฝ่ายเลขานุการ เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณา แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบและลงนามในคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สพฐ. 696/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งประกอบด้วย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานกรรมการ ศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา และรองศาสตราจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นเลขานุการ ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้แต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการ ในคณะกรรมการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 2 คน ได้แก่ นางสาววงเดือน สุวรรณศิริ และนางเนตรทราย แสงธูป ซึ่งคณะกรรมการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ดำเนินการสรรหา พิจารณาคัดเลือก และเสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ แทนตำแหน่งที่ว่างลง 1 ตำแหน่ง โดยเสนอรายชื่อจำนวนสองเท่าของจำนวนที่ดำเนินการสรรหาต่อรัฐมนตรี ซึ่งคณะกรรมการสรรหาได้คัดเลือกและเสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 2 คน ได้แก่ (1) รองศาสตราจารย์ประวิต เอราวรรณ์ และ (2) นายกมล ศิริบรรณ ต่อมารัฐมนตรีว่าการประทรวงศึกษาธิการ พิจารณาคัดเลือกรายชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 จำนวน 1 คน คือ รองศาสตราจารย์ประวิต เอราวรรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเสนอต่อประธานคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต่อไป

6. ความคืบหน้าของการดำเนินงานเกี่ยวกับมาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดการศึกษาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ตามมติคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 ฝ่ายเลขานุการ ได้ดำเนินการหารือเบื้องต้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และวางแผนดำเนินการ โดยประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วม จะนำ ไปดำเนินการ โดยในระยะต่อไป คือ การหาทีมผู้เชี่ยวชาญมาร่วมพัฒนาและการนำไปทดลองใช้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อไป

7. การยื่นคำขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดบุรีรัมย์

สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ยื่นหนังสือมายัง สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อเสนอขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งเดิมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามีความประสงค์ให้ชะลอการรับสมัครพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดอื่นเป็นการชั่วคราว โดยให้ใช้เวลาในการจัดการระบบ จัดการงบประมาณ และการสนับสนุนต่าง ๆ ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 19 จังหวัดให้ลงตัวก่อน แต่ด้วยช่วงเวลาที่จังหวัดบุรีรัมย์ในการเสนอขอเป็นช่วงที่คาบเกี่ยวเวลาที่ คณะกรรมการนโยบายยังไม่ได้แจ้งทุกจังหวัดอย่างในการชะลอการรับสมัครเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติมอบคณะอนุกรรมการด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตามและประเมินผลรับไปพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาต่อที่ประชุมในครั้งต่อไป

เรื่องที่เสนอให้ที่ประชุมพิจารณา

ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการ ได้นำเสนอวาระเพื่อพิจารณาต่อที่ประชุม 5 เรื่องได้แก่

1. (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. ….

ตามที่พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 28 ซึ่งกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปให้แก่สถานศึกษานำร่องในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษาให้บรรลุวัตถุประสงค์มาตรา 5 ซึ่งให้คำนวณตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด โดยความเห็นชอบของสำนักงบประมาณ ซึ่งปัจจุบันสำนักงบประมาณได้เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวแล้ว ซึ่งที่ประชุมครั้งนี้ ได้เห็นชอบในหลักการในร่างประกาศดังกล่าวและให้ฝ่ายเลขานุการดำเนินการเพื่อประกาศใช้ต่อไป

2. การแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ด้วยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กรุงเทพมหานคร จังหวัดกระบี่ จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด จังหวัดภูเก็ต จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดสงขลา จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสุโขทัย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 และได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 และคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้ออกประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง องค์ประกอบ จำนวน คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม หลักเกณฑ์และวิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นตำแหน่งของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2565 ประกาศ ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 เพื่อใช้ในการสรรหาคณะกรรมการขับเคลื่อนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คณะกรรมการสรรหา 10 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดกระบี่ จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสงขลา จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสุโขทัย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดอุบลราชธานี ได้เสนอรายชื่อคณะกรรมการขับเคลื่อนเพื่อเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาแล้ว ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบในหลักการและมอบฝ่ายเลขานุการดำเนินการที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอต่อประธานฯ ลงนามต่อไป ส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน นั้น ที่ประชุมมีมติมอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตามและประเมินผล พิจารณาและดำเนินการแทนคณะกรรมการนโยบายฯ ต่อไป

3. การแต่งตั้งกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแทนตำแหน่งที่ว่าง

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเดิมทั้ง 8 จังหวัด ได้ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการขับเคลื่อนแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

  1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์พจนีย์ สุขชาวนา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี เป็นกรรมการที่เป็นผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตและพัฒนาครู ในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี
  2. นายพีรดนย์ การดี ผู้อำนวยการโรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตร มิตรภาพที่ 200 ที่ระลึก ส.ร.อ. เป็นกรรมการที่เป็นผู้แทนสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา
  3. นายไพศาล อาแซ นายกสมาคมการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา เป็นกรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรเอกชน ในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา
  4. นายเอกอมร ใจจง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองหญ้าปล้อง เป็นกรรมการที่เป็นผู้แทนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ
  5. นางสาวรวินันทน์ พิมพ์พงษ์ ผู้อำนวยการบ้านบึงมะลู เป็นกรรมการที่เป็นผู้แทนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ
  6. แก้ไขตำแหน่งของรองศาสตราจารย์ณฐพงศ์ จิตนิรัตน์ กรรมการที่เป็นผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตและพัฒนาครูในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล จากรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริหารวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ

โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการและมอบฝ่ายเลขานุการดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่อไป

4. การแต่งตั้งประธานอนุกรรมการและอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ และด้านส่งเสริมการบริหารบุคคล

รองศาสตราจารย์ทิศนา แขมมณี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และประธานอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ ได้แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือขออนุญาตลาออกจากการเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และประธานอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ฝ่ายเลขานุการจึงเห็นควรดำเนินการให้มีผู้ดำรงตำแหน่งในคณะอนุกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

การแต่งตั้งประธานอนุกรรมการและอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ ฝ่ายเลขานุการเห็นว่า ประธานอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ ควรเป็นผู้นำทางวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์สูงในการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอน จึงได้หารือในที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการและเสนอรองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ซึ่งเป็นอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการอยู่แล้ว เป็นประธานอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ แทนรองศาสตราจารย์ทิศนา แขมมณี รวมทั้งเสนอแต่งตั้งศาสตราจารย์บังอร เสรีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งเป็นผู้ที่มีความผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา หลักสูตรและการเรียนการสอน รวมทั้งมีประสบการณ์ทำงานเชิงลึกในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ เป็นอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการแทนตำแหน่งที่ว่างการแต่งตั้งประธานอนุกรรมการและอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารบุคคล ฝ่ายเลขานุการเห็นว่า เมื่อเสนอรองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม เป็นประธานอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ มีผลทำให้ตำแหน่งประธานคณะกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารบุคคลซึ่งรองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม เคยดำรงตำแหน่งอยู่ว่างลง ดังนั้น ฝ่ายเลขานุการเห็นควรเสนอแต่งตั้ง รองศาสตราจารย์ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. ซึ่งเป็นอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารบุคคลอยู่แล้ว เป็นประธานอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารบุคคล และเสนอแต่งตั้งนางสุปราณี นฤนาทนโรดม ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถด้านการบริหารงานบุคคลและมีประสบการณ์ในการบริหารงานบุคคล เป็นอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารบุคคลแทนตำแหน่งที่ว่าง ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบในหลักการและมอบฝ่ายเลขานุการดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่อไป

5. การมอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการทำการแทนหรือปฏิบัติงานในการให้ความเห็นชอบการใช้หลักสูตรต่างประเทศของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ด้วย พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 25 วรรคสี่ บัญญัติไว้ว่าสถานศึกษานำร่องที่ประสงค์จะจัดการเรียนการสอนโดยไม่ใช้หลักสูตรตามมาตรา 20 (4) หรือโดยใช้หลักสูตรต่างประเทศต้องเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 2 /2565 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2565 มอบหมายให้คณะอนุกรรมการ ด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทำการแทนหรือปฏิบัติงานให้ความเห็นชอบการใช้หลักสูตรตามมาตรา 25 วรรคสี่ หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ ทั้งนี้ให้รายงานผลการดำเนินงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในระเบียบวาระเพื่อทราบเป็นระยะต่อไป ซึ่งยังไม่ครอบคลุมการให้ความเห็นชอบการใช้หลักสูตรต่างประเทศ โดยขณะนี้ทางสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดระยองได้มีหนังสือขอส่งหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนนานาชาติตากสินแกลง พ.ศ.2566 (หลักสูตรต่างประเทศระดับประถมศึกษา) ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดระยองแล้ว เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2565 มายังสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาพิจารณาต่อไป ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ และมีข้อเสนอเกี่ยวกับหลักสูตรต่างประเทศว่า ควรมีความสอดคล้องกับบริบทประเทศไทย การจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับหลักการของหลักสูตร การพัฒนาคุณภาพครู และสื่อการเรียนการสอน

 

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

       



ผู้เขียน : อิศรา โสทธิสงค์, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
กราฟิกดีไซน์เนอร์ :
อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์ : ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเวทีสื่อสารเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 1 สำหรับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาใหม่ 11 พื้นที่
บทความล่าสุด