บันทึกร่องรอยการเดินทางลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้ EP.1 จังหวัดระยอง Developmental Evaluation: ไม่ใช่การประเมินเพื่อมุ่งตัดสิน แต่คือการประเมินเพื่อมุ่งพัฒนา

2 สิงหาคม 2565
บันทึกร่องรอยการเดินทางลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้ EP.1 จังหวัดระยอง
Developmental Evaluation: ไม่ใช่การประเมินเพื่อมุ่งตัดสิน แต่คือการประเมินเพื่อมุ่งพัฒนา

โดยที่ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 40 ซึ่งได้กำหนดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตามมาตรา 15 (4) ทุกสามปี โดยคณะผู้ประเมินอิสระซึ่งคณะกรรมการนโยบายแต่งตั้ง ซึ่งคณะผู้เสนอที่ผ่านการคัดเลือกให้เป็นคณะผู้ประเมินอิสระเพื่อทำการประเมินในครั้งนี้ คือ คณะผู้ประเมินจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยมี รศ.วีระชาติ กิเลนทอง เป็นหัวหน้าโครงการ

เป็นที่ทราบกันว่าพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานั้น หนึ่งในวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ “มุ่งให้อิสระแก่พื้นที่ เปิดกว้างสำหรับการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์อย่างรอบด้าน เป็นการปฏิรูปการศึกษาที่เปิดโอกาสให้พื้นที่ได้จัดการศึกษาของตนเอง เพื่อให้สามารถพัฒนาผู้เรียนได้สอดคล้องกับความต้องการของจังหวัด” นั่นจึงทำให้ลักษณะของการขับเคลื่อนงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามีความซับซ้อน และแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละจังหวัด ดังนั้น การประเมินด้วยรูปแบบเดิมจึงอาจยังไม่ตอบโจทย์การทำงานของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่มีกรอบการวัดผลและเป้าหมายไม่เป็นเส้นตรง แปรเปลี่ยนไปตามบริบท

การประเมินเชิงพัฒนา หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Developmental Evaluation หรือที่เรียกว่า “DE” จึงถูกนำมาใช้ในการประเมินพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในครั้งนี้ เพราะ DE คือการประเมินประเภทหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจวิธีการทำงานเพื่อตอบโจทย์กับบริบทและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การประเมินในลักษณะนี้จะช่วยให้ทีมผู้ประเมินมุ่งเน้นไปที่จุดที่ควรปรับปรุงและพัฒนานวัตกรรมในการทำงานภายในและภายนอกองค์กรอย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการที่อาศัยการมีส่วนร่วมจากทีมประเมิน ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กร (สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. 2565)

แต่กระนั้น การประเมิน DE ยังไม่มีวิธีการเฉพาะในการเก็บข้อมูล แต่เน้นประยุกต์ใช้เครื่องมือหนุนเสริมการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ ให้เกิดการจัดการความรู้ร่วมกัน คำถามสำหรับการประเมิน DE จะประกอบด้วย 1) เป้าหมายของงานคืออะไร 2) บรรลุผลระดับใด 3) รู้ได้อย่างไรว่าบรรลุผลเช่นนั้น และ 4) ความรู้นี้มีผลต่อการดำเนินการขั้นตอนต่อไปอย่างไรบ้าง (ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช. 2564) ผู้ที่สนใจ การประเมินเชิงพัฒนา หรือ DE สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Blog GotoKnow ของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช. คลิก >> https://www.gotoknow.org/posts/691579

บทบาทของ สบน. ในการลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้

การลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้ในครั้งนี้ของสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) เพื่อเข้าช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการติดต่อประสานงานให้คณะผู้ประเมิน พร้อมทั้งร่วมสังเกตการณ์ เรียนรู้ และรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ และนำเสนอเพื่อเสริมพลังสร้างกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ดังเช่นที่ผู้เขียนจะได้สะท้อนภาพให้เห็นในบทความแรกนี้ โดย สบน. ได้แบ่งบุคลากรเพื่อร่วมเรียนรู้กระจายกันไปครบพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทั้ง 8 จังหวัด ซึ่งจังหวัดระยองเป็นพื้นที่แรกที่ทางทีมผู้ประเมินเลือกลงพื้นที่ในการเก็บข้อมูล

เราเห็นอะไร?

สิ่งที่เราเห็นและประทับใจในวันนี้คือ สิ่งที่เราไม่เห็น

เราไม่เห็น การจัดเตรียมเอกสารเป็นตั้งๆ
เราไม่เห็น
การจัดป้ายนิทรรศการสวยๆ
เราไม่เห็น
บอร์ดนำเสนอรางวัล หรือแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์ที่ถูกจัดเตรียมไว้
เราไม่เห็น
การเกณฑ์นักเรียนออกมาจากห้องเรียนเพื่อมายืนนำเสนอผลงาน

ตั้งแต่ช่วงเช้าคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ บุคลากรจาก ศธจ. จาก สพท. และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน อาทิ ตัวแทนของ ปตท. สถาบันอาศมศิลป์ ผู้ซึ่งมีส่วนร่วมขับเคลื่อนและจัดการศึกษาในการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ได้มาร่วมกันนำเสนอความเป็นมา และการดำเนินงานของจังหวัดระยองผ่านอนุกรรมการที่คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ แต่งตั้งขึ้นทั้ง 5 คณะ ทั้งนี้ ด้วยความมุ่งมั่นของคณะผู้บริหารและผู้คนหลายภาคส่วนในจังหวัดที่ต้องการ “เห็นการพัฒนาคนของจังหวัดมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่” เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็ว จึงเกิดการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาของจังหวัดขึ้นตั้งแต่ก่อนมี พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วม และขับเคลื่อนการทำงานด้วยหลักการวิจัยจนนำมาสู่การกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาของจังหวัดที่ครอบคลุมทุกช่วงวัย ดังนั้น จังหวัดระยองจึงถือว่าพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานั้นเป็นส่วนเสริมยุทธศาสตร์ของจังหวัดในด้านการจัดการศึกษาทุกช่วงวัย

ภาพของการลงพื้นที่ในวันนี้ เราเห็นความพยายามของทุกภาคส่วนในจังหวัดระยองที่ร่วมกำหนดเป้าหมายการพัฒนาการจัดการศึกษาของจังหวัดโดยมุ่งหวังให้เทียบชั้นในระดับเดียวกันกับประเทศสิงคโปร์หรือประเทศจีน ซึ่งเป้าหมายในระยะแรก ทุกคนจะร่วมกันผลักดันให้จังหวัดระยองเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นได้มาเรียนรู้ ในฐานะที่เป็นจังหวัดจัดการศึกษาด้วยตนเอง

 

นอกจากนี้ เรายังได้เห็นการสร้างและพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชนสังคมในจังหวัดทั้งด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ ด้านการบริหารงานบุคคลที่มีการขับเคลื่อนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนเกิดภาพความสำเร็จต่าง ๆ มากมายในปัจจุบัน ซึ่งคณะผู้ประเมินอิสระได้รวบรวมข้อมูลเพื่อไปวิเคราะห์เปลี่ยนองค์ความรู้จากการปฏิบัติ (Tacit Knowledge) เหล่านี้ไปสู่การเป็นองค์ความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) ในขั้นต่อไป

ในช่วงบ่ายเป็นกระบวนการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) โดยแบ่งกลุ่มย่อย 4 กลุ่ม ได้แก่

  • ตัวแทนจากศึกษาธิการจังหวัดและเขตพื้นที่การศึกษา
  • ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • ตัวแทนจากผู้บริหารสถานศึกษานําร่อง
  • ตัวแทนจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่ (เครือข่าย กลุ่ม ชมรม สมาคม มูลนิธิ สถาบัน และชุมชน)

ทั้งนี้ ทีมผู้ประเมินอิสระได้จัดทีมประจำกลุ่มเพื่อร่วมพูดคุยในประเด็นที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้ร่วมให้ข้อมูลในแต่ละกลุ่มเป็นอย่างดี จากการสังเกตของผู้เขียน พบว่า บรรยากาศในแต่ละกลุ่มนั้นเป็นกันเอง สบายๆ สัมผัสได้จากเสียงหัวเราะที่ดังออกมาเป็นระยะๆ  ผู้ร่วมการสนทนากลุ่มให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีความกระตือรือร้นในการให้ข้อมูลกับทีมผู้ประเมินอิสระ และเป็นที่ชัดเจนมากว่าในวงสนทนาทุกกลุ่ม ผู้เข้าร่วมได้เล่าเรื่องถ่ายทอดเรื่องราวจากประสบการณ์ของตนที่ได้ลงมือปฏิบัติจริงในพื้นที่ นั่นทำให้การตอบคำถาม หรือการสะท้อนภาพเป็นไปได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง แต่ด้วยช่วงเวลาที่มีจำกัด ขณะที่เรื่องราวอยากถ่ายทอดนั้นมีมาก ช่วงเวลาที่จัดเตรียมมาครั้งนี้จึงอาจจะยังไม่เพียงพอที่จะสะท้อนภาพทั้งหมดที่แต่ละท่านได้ดำเนินการมา ซึ่งทางทีมผู้ประเมินได้ทำการขอช่องทางการติดต่อเพื่อทำการสัมภาษณ์เชิงลึกเป็นรายกรณี เพื่อเติมเต็มข้อมูลการประเมินให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป

ในความรู้สึกของผู้เขียนที่ได้ลงมาสัมผัสกับบรรยากาศการประเมินฯ ในวันแรกนี้ (ซึ่งผู้เขียนได้ถูก ดร.พิทักษ์ โสตถยาคม ผอ.สบน. โน้มน้าวให้มาสัมผัส ให้มารับฟัง ให้มาลงพื้นที่ด้วยกัน) เป็นความรู้สึกแห่งความปลาบปลื้ม อิ่มเอิบใจ ประทับใจ และมีความสุขไปกับทุกๆ เรื่องราวที่ได้รับฟังเป็นอย่างยิ่ง จนเมื่อทันทีที่ผู้เขียนเดินทางเข้าที่พักจึงได้รีบเปิดคอมพิวเตอร์เพื่อบันทึกร่องรอยการเดินทางลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้ ณ จังหวัดระยอง วันแรกนี้ทันที ด้วยพลังอันเต็มเปี่ยมที่อยากจะถ่ายทอดสิ่งดีงามให้กับผู้คนในสังคมได้รับรู้รับทราบ ให้เห็นพลังแห่งความตั้งใจของคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

สำหรับวันพรุ่งนี้ (วันที่สองในการลงพื้นที่) จะเป็นการลงพื้นที่ เยี่ยมชม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสถานศึกษานำร่อง จะเป็นอย่างไร ผู้เขียนจะได้มาบอกเล่าให้ฟังในบทความต่อไปครับ ขอขอบคุณและขอเป็นกำลังใจให้คณะทำงานในพื้นที่ และทีมผู้ประเมินทุกคนครับ พรุ่งนี้พบกันที่โรงเรียน

 

แหล่งอ้างอิง
1.
สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. (2565). สืบค้นเมื่อ 1 ส.ค. 2565 จาก https://research.eef.or.th/developmental-evaluation/
2. ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช. (2564) สืบค้นเมื่อ 1 ส.ค. 2565 จาก https://www.gotoknow.org/posts/691579

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

     



ผู้เขียน : เก ประเสริฐสังข์
กราฟิกดีไซน์เนอร์ :
อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์ : ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
การปฐมนิเทศและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “บทเรียนทรงพลัง” เพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาบันทึกร่องรอยการเดินทางลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้ EP.2 โรงเรียนวัดตาขัน จ.ระยอง ประยุกต์ใช้ทุนเดิมที่มีจัดกระบวนการเรียนรู้สร้างสมรรถนะให้กับผู้เรียน
บทความล่าสุด