บันทึกร่องรอยการเดินทางลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้ EP.2 โรงเรียนวัดตาขัน จ.ระยอง ประยุกต์ใช้ทุนเดิมที่มีจัดกระบวนการเรียนรู้สร้างสมรรถนะให้กับผู้เรียน

8 สิงหาคม 2565
บันทึกร่องรอยการเดินทางลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้ EP.2 โรงเรียนวัดตาขัน จ.ระยอง
ประยุกต์ใช้ทุนเดิมที่มีจัดกระบวนการเรียนรู้สร้างสมรรถนะให้กับผู้เรียน

หมุดหมายแรกของทีม สบน. และทีมผู้ประเมิน ในวันที่สองตอนช่วงเช้านี้อยู่ที่ โรงเรียนวัดตาขัน ใช้เวลาเดินทางจากตัวเมืองเพียง 15 นาทีก็ถึงแล้ว ความรู้สึกแรกที่สัมผัสได้ก่อนจะถึงโรงเรียนคือ ทำไมบริเวณรอบๆ ก่อนถึงโรงเรียนถึงดูเหมือนไม่ใช่จังหวัดที่มีรายได้สูงที่สุดของประเทศเลย ราวกับว่าเราอยู่ต่างจังหวัดในพื้นที่ห่างไกลแต่ไม่กันดารประมาณนั้นเลย

เราเห็นอะไร?

ตอบได้เลยว่า เห็นความโชคดีของนักเรียนวัดตาขันที่ได้เรียนในโรงเรียนแห่งนี้ ทำไมผู้เขียนถึงรู้สึกเช่นนั้นมาหาคำตอบในบทความนี้กัน

“ที่นี่มีหลายสิ่งที่โรงเรียนในเมืองไม่มีถึงเค้าอยากมีก็มีแบบเราไม่ได้ เราไม่จำเป็นต้องทำเลียนแบบเค้าทุกอย่าง เราเอาของดีของเค้ามาประยุกต์ให้มันเหมาะกับโรงเรียนของเรา”

ถ้อยคำที่คุณครูเหนาบอกกับเราในช่วงเริ่มต้นของการทักทาย

ในตอนแรกที่ได้ฟังประโยคนี้ผู้เขียนยังไม่เข้าใจความหมายเท่าใดนัก จนกระทั่งเมื่อผู้เขียนได้รับความช่วยเหลือจากครูเหนา พาเดินเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ตามจุดต่างๆ ในโรงเรียน (ครูเหนา หรือ คุณครูภัสสร มาเผือก เป็นคนสระแก้วปัจจุบันมีครอบครัวอยู่หมู่บ้านใกล้ๆ โรงเรียน เป็นคนระยองเต็มตัวแล้วตอนนี้ สอนอยู่ที่โรงเรียนวัดตาขันมา 9 ปีแล้ว) โรงเรียนวัดตาขันมีการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นสมรรถนะซึ่งรายละเอียดการจัดกระบวนการเรียนรู้ของโรงเรียนวัดตาขันนั้นผู้อ่านสามารถดูได้จากบทความนี้ (คลิกอ่านเพิมเติม->>) “นวัตกรเชิงชีววิถี การเรียนรู้สู่วิถีพอเพียง” หลักสูตรฐานสมรรถนะของโรงเรียนวัดตาขัน พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง

สิ่งที่อยากจะเล่าให้ฟังวันนี้คือคำถามในใจของผู้เขียนก่อนที่จะมา คำถามในใจอยากจะถามครูหรือโรงเรียนที่สอนนักเรียนปลูกข้าว ทำนา ปลูกผักทำเกษตร ทำแปลงเกษตร แห่งนี้มานานแล้วหลังจากที่เคยได้เห็นในบทความที่น้องๆ เคยเขียน วันนี้ได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมโรงเรียนจึงไม่พลาดที่จะรีบหาคำตอบสร้างความกระจ่างให้กับตนเอง

ท่ามกลางฝนโปรยปรายลงมา ต้นหญ้าเขียวขจีชุ่มฉ่ำ พื้นดินเปียกแฉะครูเหนายืนยันและกระตือรือร้นอยากพาไปเดินชมแหล่งเรียนรู้แปลงเกษตร เดินกางร่มมาถึงแปลงเกษตร “โคกหนองนา” จึงเป็นโอกาสที่จะสร้างความกระจ่างให้กับคำถามในใจของตนเอง

“คุณครูเหนาครับ เราสอนนักเรียนทำนา ปลูกข้าว ปลูกผัก แล้วโตขึ้นนักเรียนไปเรียนในเมือง จบแล้วไปทำงานในเมือง ในโรงงาน มันจะมีประโยชน์อันใด ถ้าเด็กไม่ได้กลับมาทำนา ไม่กลับมาปลูกผักขาย”

ทันทีที่ได้ฟังสิ่งที่ครูเหนาตอบนั้น ได้ทำให้ผู้เขียนเปลี่ยนความคิดเดิมในทันที และด้วยความกลัวว่าจะตกหล่นคำตอบที่ได้ยินมาเมื่อเดินกลับมาจากแปลงเกษตรโคกหนองนาเสร็จภารกิจการเยี่ยมชมโรงเรียน ผู้เขียนได้หยิบ ipad ขึ้นมาเพื่อพิมพ์บันทึกร่องรอยไว้ทันที (กลัวจะลืมและจำเรื่องราวตกหล่น)

“…เราไม่ได้สอนให้เด็กปลูกผัก หรือสอนให้เด็กนักเรียนเราทำนา หรือโตไปต้องไปหาเลี้ยงชีพด้วยการปลูกผักทำนาเท่านั้น แต่สิ่งที่เราสอน เราสอนให้เค้าคิดให้เป็น วางแผนให้เป็น ทำงานให้เป็น ค้นหาข้อมูลด้วยตนเองให้เป็น ทำงานเป็นทีมเป็นกลุ่มให้เป็น รู้จักรับผิดชอบ และเรียนรู้ที่จะทำงานให้สำเร็จให้เป็น มันสำคัญมากตรงนี้ การเรียนการสอนเราไม่ได้พานักเรียนเดินมาปลูกผัก หรือมาทำแปลงเกษตร แต่เด็กที่นี่ต้องรู้จักวางแผน ค้นคว้าหาความรู้ ว่าจะทำอย่างไรกับที่ดินแปลงนี้ให้เกิดประโยชน์ สิ่งที่เด็กได้คือได้เรียนรู้ระหว่างทางที่ทำกิจกรรมแปลงเกษตรที่โคกหนองนา แปลงปลูกผัก แปลงนาข้าวนั้นเป็นเพียงสื่อ ที่จะช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ในแบบที่ว่า แม้เด็กจบไปทำงานที่โรงงาน ที่ตัวเมืองทักษะการทำงานเป็นทีม การรับผิดชอบ ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อ การคิดวิเคราะห์วางแผนเพื่อปรับปรุงงานของเค้า ครูก็คิดว่าสิ่งต่างๆ พวกนี้คือน่าจะติดตัวเค้าไป”

ระหว่างที่ครูเหนาตอบคำถามก็ได้พาผู้เขียนเดินชมรอบๆ แปลงเกษตรพร้อมอธิบายแต่ละฐานการเรียนรู้ว่าเด็กนักเรียนจะได้เรียนรู้อะไร อย่างไร ทั่วทั้งแปลงเกษตรในโคกหนองนา ระหว่างที่สายฝนโปรยปรายลงมาสร้างความชุ่มชื้นกับผืนดิน การที่ได้ฟังครูเหนาเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนแห่งนี้ให้ฟังก็ได้สร้างความชุ่มฉ่ำ ชื่นหัวใจให้กับผู้เขียนจนลืมดูเวลาที่ต้องไปรวมกันที่ห้องประชุมเลย

หลังจากแยกกับครูเหนา ผู้เขียนได้เดินชมรอบๆ โรงเรียนและได้มีโอกาสแวะพูดคุยกับนักเรียนชั้น ป.6 (ตอง แอ้ม ลันตา ทับทิม ต้นหอม เหมย) และให้นักเรียนได้เล่าให้ฟังถึงกิจกรรมที่ทำที่โคกหนองนา เป็นที่น่าชื่นใจมากเพราะสิ่งที่นักเรียนเล่านั้นตรงกับสิ่งที่ครูเหนาเล่าให้ฟังเลย ทำไมถึงกล่าวเช่นนั้น ทำไมถึงชื่นใจ เพราะสิ่งที่นักเรียนเล่าถือว่าเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับข้อมูลที่ผู้เขียนได้รับฟังจากครูเหนามา ซึ่งในทางการวิจัยอาจกล่าวได้ว่านี่คือการตรวจสอบสามเส้า (Triangulation) ในประเด็นที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลมากกว่าหนึ่งแหล่ง (Data Triangulation) ซึ่งในที่นี้ก็คือ มีการเก็บข้อมูลจากครู และจากนักเรียน และข้อมูลที่ได้นั้นตรงกันข้อมูลดังกล่าวจึงมีความน่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง นอกจากที่เล่ามาแล้วสิ่งที่เด็กๆ ได้เล่าให้ฟังยังทำให้ผู้เขียนอดยิ้มไม่ได้

“…มันก็สนุกดีค่ะครู ได้ทำกิจกรรม ได้หาข้อมูล ได้รับผิดชอบ ของที่เราปลูกก็ได้เอามาทำเป็นอาหารสำหรับพวกเราในโรงเรียนภูมิใจค่ะ แต่แต่ครูคะ มันร้อน มันร้อนมากเลยนะ ถ้าวันไหนฝนไม่ตก และแดดออก…พวกหนูนี่ไหม้ตัวดำเลย”

สิ่งที่สังเกตเห็นอีกอย่างคือ การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนยังคงดำเนินไปตามปกติ แม้จะมีคณะผู้ประเมินอิสระมาเยี่ยมชมและเก็บข้อมูล เราไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวอะไรมากเป็นพิเศษ แค่มาเล่าสิ่งที่เราทำให้คณะผู้ประเมินฟัง ดังนั้นเราจึงไม่ต้องจัดเตรียมอะไรเป็นพิเศษเลย” นั่นคือสิ่งที่คุณครูบอกกับคณะเรา

ระหว่างที่คณะผู้ประเมินอิสระทำการเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้เขียนได้เดินชื่นชมรอบๆ โรงเรียนที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติที่เต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ข้างๆ โรงเรียนมีคลองวัดตาขันไหลผ่าน สร้างบรรยากาศที่ร่มรื่นยิ่งนัก ผู้เขียนถึงกับต้องถอดแมสออกและสูดลมหายใจเต็มปอดเติมพลังชีวิต สดชื่นใจ อากาศแบบนี้หาไม่ได้จริงๆ ในเขต กทม. อีกทั้งคนที่นี่ยิ้มแย้มแจ่มใส นักเรียนมีระเบียบวินัย ผู้เขียนเห็นการวางรองเท้าหน้าห้องก็สะท้อนถึงระเบียบวินัยเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี เด็กนักเรียนตัวน้อยเดินผ่านผู้เขียนสวัสดีทักทายด้วยความน่ารักตามมารยาทและความงามแห่งวิถีไทย ถึงตอนนี้ก่อนผู้เขียนจะเดินทางออกจากโรงเรียนวัดตาขันไปเยี่ยมชม ร่วมเรียนรู้กับอีกหนึ่งโรงเรียนนำร่องฯ ในช่วงบ่าย ผู้เขียนได้เข้าใจสิ่งที่ครูเหนาได้บอกตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่า…

“ที่นี่มีหลายสิ่งที่โรงเรียนในเมืองไม่มีถึงเค้าอยากมีก็มีแบบเราไม่ได้ เราไม่จำเป็นต้องทำเลียนแบบเค้าทุกอย่าง เราเอาของดีของเค้ามาประยุกต์ให้มันเหมาะกับโรงเรียนของเรา”

และเป็นที่ชัดเจน กระจ่างแจ้งสำหรับผู้เขียนแล้วว่า ที่โรงเรียนแห่งนี้ไม่ได้สอนแค่ให้ไปทำนา หรือปลูกผักเลี้ยงชีพ แต่นี่คือการใช้สิ่งต่างๆ ที่เป็นทุนเดิมของโรงเรียน จุดแข็งที่บริบทของโรงเรียนมีเหล่านี้มาเป็นประยุกต์ใช้เป็นสื่อในการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างสมรรถนะให้กับผู้เรียน ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณครู ผู้ปกครอง บุคลากร และนักเรียนของโรงเรียนวัดตาขันทุกคนที่ได้ช่วยถ่ายทอดเรื่องราวบันทึกร่องรอยการเดินทางลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้ในบทความนี้ ขอชื่นชมและเป็นกำลังให้ทุกท่านครับ

 

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

     



ผู้เขียน: เก ประเสริฐสังข์
ผู้ให้สัมภาษณ์:
ภัสสภร มาเผือก โรงเรียนวัดตาขัน
ผู้เขียน/เรียบเรียง:
เก ประเสริฐสังข์
กราฟิกดีไซน์เนอร์ :
อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์ : ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
บันทึกร่องรอยการเดินทางลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้ EP.1 จังหวัดระยอง Developmental Evaluation: ไม่ใช่การประเมินเพื่อมุ่งตัดสิน แต่คือการประเมินเพื่อมุ่งพัฒนาหลักการ โครงสร้าง ความท้าทาย ความต้องการ และการนำหลักสูตรไปใช้ของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
บทความล่าสุด