จังหวัดสงขลา ก้าวแรกก้าวสำคัญสู่การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

30 มกราคม 2566

จังหวัดสงขลา ก้าวแรกก้าวสำคัญ
สู่การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

———-

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน บทความนี้จะนำทุกท่านไปรู้จักกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาพื้นที่ใหม่ นั่นคือ “จังหวัดสงขลา” กระผมในนามผู้เขียนได้ทำการสัมภาษณ์ นางสุภา แสงสุวรรณ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสงขลา ท่านได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาว่ามีจุดเด่น ดังนี้

 
จุดเด่นของจังหวัดสงขลาในการขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
  1. จังหวัดสงขลาได้รับประกาศเป็นเมืองไมซ์ (Songkhla MICE City) อย่างเป็นทางการจังหวัดที่ 6 ของประเทศ
  2. สงขลาเมืองกีฬา (Songkhla Sport City) ได้รับการยกระดับจากการกีฬาแห่งประเทศไทย
  3. แหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีความโดดเด่นด้านวิธีชุมชน
  4. ทรัพยากรการท่องเที่ยวที่หลากหลายทั้งแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวทางศาสนาและศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรม การท่องเที่ยววิถีชุมชน
  5. จังหวัดสงขลามีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์
  6. มีสถานประกอบการที่พักแรมในจังหวัดสงขลาเพิ่มขึ้น
  7. จังหวัดสงขลาเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภาคใต้ มีสถานศึกษาครอบคลุมในทุกพื้นที่ทุกตำบล ทุกอำเภอ มีสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาจำนวน 10 แห่ง มีมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 6 แห่ง
  8. ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาขั้นพื้นฐานสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ

จะเห็นได้ว่า จังหวัดสงขลา ถือเป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจ เป็นศูนย์กลางการค้าขายในประเทศและระหว่างประเทศ มีทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้ทางจังหวัดสงขลามองว่าจุดเด่นดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้จังหวัดเกิดการพัฒนา และส่งผลต่อการขับเคลื่อนการศึกษาด้วย โดยนางสุภาแสงสุวรรณ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสงขลา ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ดังนี้

  1. มีสถานศึกษาที่มีความสนใจและความพร้อมในการเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
  2. มีมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมและคอยให้การสนับสนุนในการขับเคลื่อนการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มีความยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาครูให้กับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานวิจัยและวิเคราะห์โครงสร้างเชิงพื้นที่เพื่อปรับให้สอดคล้องกับบริบทของจังหวัดสงขลา เป็นต้น
  3. จังหวัดสงขลาที่อยู่ใกล้กับจังหวัดสตูลซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำร่อง
    8 จังหวัดแรก โดยจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันเพื่อนำมาพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
  4. ทุกภาคส่วนในจังหวัดมีความพร้อมในการสนับสนุนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสงขลา

นอกจากนี้พื้นที่นวัตกรรมจังหวัดสงขลาได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสงขลา จำนวน 2 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 20 มกราคม 2566 และวันที่ 23 มกราคม 2566 มีรายละเอียดดังนี้

ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสงขลา ครั้งที่ 1/2566 วันที่ 20 มกราคม 2566 ณ ห้องประชุมเก้าเส้ง สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสงขลา

นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา มอบหมายให้ ดร.ชนภรณ์ อือตระกูล ศึกษาธิการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสงขลา และชี้แจงเรื่องในที่ประชุม ดังนี้ 1) ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 2) สิทธิหน้าที่ และการมองเห็นโอกาสเมื่อได้เข้ามาเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และ 3) บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นอกจากนี้ในที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการสมัครสถานศึกษานำร่อง โดยเกิดจากการประชุมร่วมกันทุกภาคส่วน ต้นสังกัด สถานศึกษานำร่องที่สมัครมาครั้งแรกร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 2 ท่าน ได้แก่ ผอ. อุดม ชูลีวรรณ และ ผอ. นิยม ชูชื่น ร่วมกันร่างหลักเกณฑ์ และสรุปส่งเป็นฉบับร่างให้กับสถานศึกษาต่อไป

ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสงขลา ครั้งที่ 2/2566 วันที่ 23 มกราคม 2566 ณ ห้องประชุมเก้าเส้ง สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสงขลา

นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา มอบหมายให้ ดร.ชนภรณ์ อือตระกูล ศึกษาธิการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสงขลา โดยมีการประชุมแบบ Onsite และ Online และในการประชุมครั้งนี้จะมีการพิจารณาคัดเลือกสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสงขลา พร้อมชี้แจงวิธีการโดยการนำเสนอสถานศึกษาแต่ละโรงเรียนตามลำดับ เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ และมติในที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีสถานศึกษานำร่อง จำนวน  โรงเรียน ดังนี้

  • สพป.สงขลา เขต 1 จำนวน 2 โรงเรียน
  • สพป.สงขลา เขต 3 จำนวน 6 โรงเรียน
  • สพม.สงขลา สตูล จำนวน 29 โรงเรียน
  • อปท. จำนวน 5 โรงเรียน
  • สช. จำนวน 25 โรงเรียน

จากการสัมภาษณ์และติดตามข้อมูลจังหวัดสงขลาได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการเข้ามาเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ถือเป็น “ก้าวแรกในการเริ่มต้นและก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลง” ถึงแม้ว่าจังหวัดสงขลาจะอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเกี่ยวกับวิธีการดำเนินงานให้เกิดความคล่องตัวร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน แต่ก็พร้อมที่จะเดินหน้าอย่างเต็มความสามารถและเต็มกำลังเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาในจังหวัด และนางสุภา แสงสุวรรณ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสงขลาแจ้งว่า ในการประชุมครั้งถัดไปจะเป็นการประชุมเรื่องการร่างแผนยุทธศาสตร์และการดำเนินงานของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสงขลา ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง หลังจากนี้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสงขลาจะมีข่าวสารอะไรอีกบ้าง ก็ต้องรอติดตามกันต่อไปครับ….ขอบคุณครับ

 

* บุคคลที่ปรากฏในบทความนี้ ท่านใด ประสงค์ลบข้อมูลส่วนบุคคลออก โปรดแจ้งมาที่ E-mail : Saraban@EduSandbox.com*

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

       

 



ผู้เขียน:
สุวศิน เขียวสุวรรณ
ผู้ให้สัมภาษณ์
: สุภา แสงสุวรรณ ศน. ศธจ.สงขลา
ผู้เขียน/เรียบเรียง: สุวศิน เขียวสุวรรณ
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
โครงการสร้างงานศิลป์ รักษ์ถิ่นเกิด กิจกรรมการเรียนรู้ส่งเสริมทักษะอาชีพด้านศิลปะ โรงเรียนบ้านห้วยมาลัย จ.กาญจนบุรีเชียงใหม่เดินหน้าขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสู่ความสำเร็จ
บทความล่าสุด