“ครูสามเส้า” เชื่อมโยงการเรียนรู้สู่ภูมิปัญญาท้องถิ่น รร.บ้านตันหยงกาโบยชัยพัฒนา จ.สตูล

5 กรกฎาคม 2564

โรงเรียนบ้านตันหยงกาโบยชัยพัฒนา ตั้งอยู่ หมู่ที่ 2 บ้านตันหยงกาโบย ตำบลปูยู อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล จัดการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 จนถึง มัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นโรงเรียนขยายโอกาส มีนักเรียนทั้งหมด 296 คน มีครูทั้งหมด 21 คน ภาษาหลักที่ใช้ในการสื่อสารคือภาษามาลายู เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่เกาะปูยู นางอนิตตา ปีมะสาร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตันหยงกาโบยชัยพัฒนา เล่าถึงบริบทของคนในพื้นที่ว่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่บนหมู่เกาะวิธีการเดินทางเข้าออกจึงต้องใช้เรือในการโดยสารเท่านั้น ผู้คนบนเกาะไม่มีรถยนต์ใช้ นิยมโดยสารด้วยซาเล้งหรือสามล้อพ่วง คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง อาจมีทำสวนบ้าง ค้าขายบ้าง และรับจ้างบ้าง เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดกับทะเลการประกอบอาชีพต่าง ๆ ของคนในชุมชนจึงเกี่ยวกับสิ่งที่หาได้ในทะเล นักเรียนที่นี่ส่วนใหญ่สามารถหารายได้ด้วยตัวเองได้ระหว่างเรียนโดยการออกไปหาของทะเลกับผู้ปกครองหรือรับจ้าง และการขายของทะเล ความสามารถพิเศษของนักเรียนที่นี่อีกอย่างหนึ่ง คือ สามารถบอกเวลาน้ำขึ้น น้ำลงได้ และสามารถพยากรณ์อากาศได้อีกด้วย

เนื่องจาก ณ ปัจจุบันโลกมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก การดำเนินชีวิต วิถีชีวิต มีความเปลี่ยนแปลงไป รูปแบบการจัดการเรียนการสอนจึงควรมีการเปลี่ยนแปลงตามด้วย จึงมีความคิดว่าโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมตอบโจทย์ในเรื่องนี้ และได้ตั้งเป้าหมาย/ความคาดหวังที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน คือ สามารถคิดเป็น แก้ไขปัญหาได้ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบ พึ่งพาตัวเองได้ มีความสามัคคีสามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ มีความเท่าทันและปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์โลก และส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักอนุรักษ์และหารายได้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น

นวัตกรรมที่โรงเรียนบ้านตันหยงกาโบยชัยพัฒนานำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน คือ ครูสามเส้าซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นและดำเนินการควบคู่ไปกับโครงงานฐานวิจัย ครูสามเส้านั้นประกอบด้วย

ครูในโรงเรียน คือ ครูผู้สอนวิชาต่าง ๆ ในโรงเรียน ทำหน้าที่วางแผนจัดกระบวนการเรียนรู้

ครูชุมชน คือ การสอนเรื่องการประกอบอาชีพ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ภูมิปัญญาในชุมชน

ครูพ่อแม่ คือ การสอนเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันต่าง ๆ การเสริมสร้างทักษะขั้นพื้นฐานให้กับนักเรียน

กระบวนการสร้างการเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านตันหยงกาโบยชัยพัฒนา

จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการทั้ง 8 กลุ่มสาระ โดยวิเคราะห์จากตัวชี้วัดครูได้นำตัวชี้วัดที่มีความคล้ายกันมาเรียนร่วมกัน เมื่อใช้รูปแบบการสอนแบบบูรณาการ บริบทของครูจึงเปรียบเสมือนพี่เลี้ยงหรือโค้ช มีการทำ (Professional Learning Community : PLC) ระหว่างครูกับผู้อำนวยการอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และคณะครูได้ทำ (Professional Learning Community : PLC) ร่วมกันเกือบทุกวัน ก่อนเข้าสู่เนื้อหาในการเรียนครูจะให้นักเรียนผ่อนคลายอารมณ์ก่อนเริ่มเรียน นักเรียนและครูร่วมกันออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และมีการสรุปผลการเรียน/ถอดบทเรียนในท้ายคาบ และในการเรียนนักเรียนลงมือปฏิบัติจริง ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมงานอาชีพให้แก่เด็กนักเรียน เช่น การทำน้ำพริกกุ้ง น้ำพริกกั้ง น้ำพริกหอย การทำขนมต่าง ๆ ทำให้นักเรียนรู้สึกสนุกในการร่วมกิจกรรมในชั้นเรียน ซึ่งการจัดการเรียนการสอนใน 1 สัปดาห์จะมีคาบเรียนสำหรับการเรียนโครงงานฐานวิจัยประมาณ 6 คาบเรียน โดยให้นักเรียนแต่ละคนไปหาข้อมูลเรื่องที่สนใจจะศึกษามานำเสนอและนำมาโหวตกันเพื่อหาเสียงข้างมาก เมื่อได้หัวข้อเรื่องที่สนใจแล้ว ครูและนักเรียนร่วมกันวางแผนการดำเนินงานและสร้างข้อตกลงร่วมกัน จะให้นักเรียนสืบค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตและลงพื้นที่จริง เช่น ให้นักเรียนได้ศึกษาการเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปู การแปรรูปอาหารทะเลต่าง ๆ ของคนในชุมชน ตัวอย่างเช่นการศึกษาเรื่องกาหมาดหรือปลิงทะเลของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2563 ซึ่งคนในชุมชนได้ผลิตน้ำมันกาหมาดหรือน้ำมันปลิงทะเลอยู่แล้ว ขั้นตอนในการทำโครงงานนั้นประกอบด้วย การค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต และพานักเรียนไปศึกษาข้อมูลจากแหล่งสถานที่จริงด้วยเพื่อให้ได้ข้อมูลของกาหมาดหรือปลิงทะเลมากที่สุด ศึกษาประโยชน์ที่ได้จากตัวกาหมาดหรือปลิงทะเล ซึ่งคนในชุมชนแห่งนี้นำตัวกาหมาดหรือปลิงทะเลมาทำเป็นน้ำมันกาหมาด จึงทำให้นักเรียนเรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการทำน้ำมันกาหมาดหรือน้ำมันปลิงทะเล และลงมือทำด้วยตนเอง และขั้นตอนสุดท้าย คือขั้นสรุปโดยให้นักเรียนนำเสนอข้อมูลของตัวกาหมาดหรือปลิงทะเลให้ครูและเพื่อน ๆ ได้รับฟัง

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน คือ ผู้เรียนมีความกล้าคิดกล้าทำมากขึ้น ได้เรียนรู้การพึ่งพาตนเอง ศึกษาหาความรู้หาข้อมูลด้วยตนเอง ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติจริง จึงทำให้สนุกสนานในการเรียนมากขึ้น กล้าแสดงออกมากขึ้น รู้สึกผ่อนคลายระหว่างเรียน ทำให้นักเรียนรู้สึกอยากมาเรียนทุกวัน

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับครู คือ ครูต้องศึกษาตัวชี้วัดและนำไปบูรณาการข้ามกลุ่มสาระ เพื่อลดความซ้ำซ้อนกัน ครูมีความ Active มากขึ้น เพราะครูต้องเป็นเหมือนพี่เลี้ยงของนักเรียนโดยการหากิจกรรมหรือคำถามเพื่อคอยกระตุ้นนักเรียน ครูมีการเข้าหากันมากขึ้น ปรึกษาปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน มีการทำงานเป็นทีม

ผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้ปกครอง คือ ก่อนเข้าเป็นส่วนหนึ่งในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต้องมีการชี้แจงต่อผู้ปกครองนักเรียน ซึ่งเดิมทีผู้ปกครองนักเรียนยังไม่เข้าใจในวิธีการจัดการเรียนการสอนที่ใช้ จึงใช้เวลาสร้างการรับรู้ใช่ความเข้าใจให้ผู้ปกครองแล้วมีการร่วมพูดคุยกันอยู่หลายครั้ง จนเกิดการยอมรับได้ เนื่องจากเมื่อมีการจัดรายงานผลการจัดการศึกษาในเชิญผู้ปกครองมาร่วมด้วย ผู้ปกครองได้เห็นเรื่องราวต่างๆในการจัดการเรียนการสอน ได้เห็นว่านักเรียนมีความกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกมากขึ้น และนักเรียนรู้สึกไม่อยากขาดเรียน จึงทำให้รู้สึกภาคภูมิใจและสามารถยอมรับได้

ผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้อำนวยการโรงเรียน คือ การได้พัฒนาตนเองมากขึ้น เพราะต้องเป็นพี่เลี้ยงและคอยให้การสนับสนุนทั้งครูและนักเรียน ได้รับความรู้ใหม่ ๆ ไปพร้อมกับครูและนักเรียน ได้เห็นว่าคุณค่าที่แท้จริงของการเรียนคือการได้ลงมือทำ ทุกคนมีคุณค่าในตัวเองอยู่ที่เราจะออกแบบให้กับตนเองและลูกศิษย์ของเราอย่างไร เมื่อเห็นนักเรียนมีความสุขในการเรียน นักเรียนรู้สึกอยากมาเรียนมากขึ้น ทำให้ครูและผู้อำนวยการมีความรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

จากความตั้งใจที่ดีของผู้อำนวยการโรงเรียนและครูที่ร่วมกันออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนให้กับนักเรียน การส่งเสริมและให้นักเรียนได้เรียนรู้วิถีชีวิต ภูมิปัญญาของคนในชุมชน เพื่อนักเรียนได้รู้จักและนำไปใช้ประกอบอาชีพ สร่างรายได้เสริมได้ และการใช้นวัตกรรมครูสามเส้าที่ชุมชนและผู้ปกครองต้องร่วมเป็นครูให้กับนักเรียนด้วยนั้น ทำให้ทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากัน ทำงานร่วมกัน และสิ่งที่ได้มากกว่างานที่ดีคือทำให้มีความสัมพันธ์ที่ดีร่วมกัน

 


 


ผู้เขียน:
นิฎฐา ขุนนุช
ผู้ให้สัมภาษณ์: อนิตตา ปีมะสาร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตันหยงกาโบยชัยพัฒนา
ผู้สัมภาษณ์: นิฎฐา ขุนนุช
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โรงเรียนบ้านตันหยงกาโบยชัยพัฒนา จังหวัดสตูล

Facebook Comments
การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ “พัฒนาสถานศึกษาที่เป็น Node สู่การเป็น coach มืออาชีพ”สร้างรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาของเด็กปฐมวัยสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนพร้าวบูรพา จ.เชียงใหม่
บทความล่าสุด