การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ “พัฒนาสถานศึกษาที่เป็น Node สู่การเป็น coach มืออาชีพ”

3 กรกฎาคม 2564

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ
โดยนางวัชรกาญจน์  คงพูล ผู้อำนวยการศึกษาธิการจังหวัดศรีสะเกษ และคณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาศรีสะเกษ ยโสธร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 4 ศึกษานิเทศก์ และผู้อำนวยการสถานศึกษา มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพานิชย์จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานอนุกรรมการด้านยุทธศาสตร์ติดตามและประเมินผล ดร.พิทักษ์ โสตถยาคม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พร้อมทีมงานได้ร่วมพูดคุย หารือ แนวทางการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนในพื้นที่ ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมีเป้าหมายเพื่อชี้แจง ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปีการศึกษา 2564 – 2569 และการหารือแนวทาง แผนการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพต่อไป

การเปิดวงเสวนาครั้งนี้เป็นการร่วมกันทบทวนการกำหนดเป้าหมาย และแผนดำเนินงานการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อให้เห็นผลการดำเนินงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งสรุปเป็นประเด็นที่สำคัญได้ 4 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การพัฒนาสถานศึกษานำร่องเป็น Node ขยายผล :  พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัด
ศรีสะเกษตั้งเป้าหมายในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยการพัฒนาสถานศึกษานำร่องให้มีคุณภาพ ทั้งในด้านการปรับหลักสูตรให้บูรณาการ (Intergraded Curriculum) เป็นหลักสูตรอิงสมรรถนะ ปรับการจัดการเรียนรู้ให้เป็นการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active learning) ทั้งระบบ การพัฒนาครูเป็นโคช (Coach) ให้สามารถออกแบบการเรียนรู้แบบ Active learning ได้ มีทักษะการสร้างแรงบันดาลใจ การตั้งคำถามกระตุ้นการเรียนรู้ การตั้งคำถามสะท้อนคิด เพื่อให้ผู้เรียนรู้เชิงลึก และค้นพบตัวเอง มีทักษะประเมินผู้เรียนรายบุคคลเพื่อการพัฒนา รวมทั้งจัดให้มีวิถีการเรียนรู้ของครู (PLC) ที่แท้จริง และมีความสม่ำเสมอ และสามารถทำหน้าที่เป็น Coach ขยายผลไปยังสถานศึกษาอื่น ๆ ในพื้นที่ได้อย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ปัจจัยนึงที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสถานศึกษานำร่องเป็น Node ขยายผลคือ ปัจจัยด้านบุคลากร ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร การโยกย้าย การเกษียณ ถึงแม้ว่าในเชิงนโยบายจะมีการปลดล็อคให้สถานศึกษานำร่องทุกแห่งสามารถบริหารจัดการได้อย่างอิสระ แต่การผลักดันให้มีการปลดล็อคกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานในระดับคณะกรรมการในการขับเคลื่อนยังมีการขับเคลื่อนช้า และยังไม่ได้มีการวางแผนงานเพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกัน

ประเด็นที่ 2 การขยายสถานศึกษาในพื้นที่นวัตกรรม : การกำหนดเป้าหมายการขยายผลของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่คณะกรรมการด้านยุทธศาสตร์ติดตามและประเมินผล ได้ตั้งไว้นั้น ผู้เข้าร่วมพูดคุยส่วนใหญ่เห็นว่า เป็นเป้าหมายที่นำไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายได้ยาก และมีความเห็นว่าในขยายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานั้นอยากให้กำหนดเป็นเชิงปริมาณที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติก่อน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเชิงคุณภาพที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ รูปแบบการเรียนรู้ ที่ส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ รวมทั้งยังได้ให้ข้อเสนอแนะในการสร้างความรู้ ความเข้าใจตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 แก่ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา ครูและบุคลากรในหน่วยงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยมีการเปิดเวทีเฉพาะ เพื่อสื่อสาร สร้างความรับรู้ให้กับผู้อำนวยการสถานศึกษา ครู ตลอดจนหน่วยงานทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนเกิดการรับรู้ และสนในเข้าร่วมเป็นสถานศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมมากขึ้นได้ ซึ่งในขณะนี้การสร้างการมีส่วนร่วมและการสร้างเครือข่ายกับภาคเอกชน และท้องถิ่น ยังถือเป็นเรื่องใหม่และเป็นความท้าทายใหม่ของคณะกรรมการขับเคลื่อนที่ต้องเร่งดำเนินการ รวมทั้งการสร้างขวัญและกำลังใจเชิงบวกให้กับสถานศึกษาที่เป็นสถานศึกษานำร่อง อาทิ การออกเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะในรูปแบบเกณฑ์ PA  ถือเป็นโอกาสที่จะช่วยสนับสนุน และสร้างแรงจูงใจให้กับสถานศึกษาเข้าร่วมเป็นพื้นที่นวัตกรรมมากขึ้น

ประเด็นที่ 3 โครงการวิจัยหลักสูตรฐานสมรรถนะ : เป็นโครงการที่สนับสนุนการพัฒนาสถานศึกษานำร่องให้จัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่มุ่งเน้นผลลัพธ์เชิงสมรรถนะได้อย่างมีคุณภาพ โดยร่วมมือกับสำนักงานวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) ดำเนินโครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะในโรงเรียนำร่อง จำนวน 80 แห่ง เพื่อให้สถานศึกษานำร่องเหล่านี้มีความพร้อมเป็น Node ขยายผลพื้นที่นวัตกรรม การลดโครงการต่าง ๆ ที่เป็นโครงการปกติลงให้กับสถานศึกษานำร่อง เพื่อให้มีเวลาในการพัฒนาการจัดการศึกษาแบบ Active learning  มากขึ้น ถึงแม้ว่าในเชิงนโยบายจะมีนโยบายให้ปรับลดแล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติแล้วยังติดเงื่อนไขในระดับเขตพื้นที่ ทั้งนี้ นางวัชรกาญจน์  คงพูล ผู้อำนวยการศึกษาธิการจังหวัดศรีสะเกษ ให้ข้อเสนอแนะว่า อาจแก้ปัญหาได้โดยให้สถานศึกษานำร่องรวบรวมโครงการ กิจกรรมที่เป็นโครงการปกติที่ไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานในพื้นที่นวัตกรรม แล้วทำเป็นหนังสือแจ้งมายังคณะกรรมการขับเคลื่อน เพื่อทำเป็นหนังสือหารือและอาจนำไปสู่การใช้อำนาจบอร์ดในการขับเคลื่อน เพื่อลดแรงปะทะในระดับเขตพื้นที่ ต่อไป  นอกจากนี้คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษยังได้กำหนดแผนการพัฒนาระบบ Coach ให้กับสถานศึกษานำร่องที่เข้าร่วมโครงการวิจัย โดยร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อให้สถานศึกษาและครูที่จะออกไปทำหน้าที่เป็น Mentor ให้กับสถานศึกษาอื่นที่สนใจ นั้นมีความรู้ ความเข้าใจในหลักการ Coach และมีความเข้าใจในนวัตกรรมที่ใช้อย่างรอบด้าน ไม่สร้างความสับสนให้กับสถานศึกษา เป็น Coach แบบมืออาชีพ

ประเด็นที่ 4 งบประมาณ : การดำเนินงานที่ผ่านมา กฎ ระเบียบ เงื่อนไขทางราชการยังไม่เอื้อต่อการใช้งบประมาณในระดับเขตพื้นที่ ทำให้เป็นอุปสรรคในการดำเนินงาน อีกทั้งแนวโน้มของงบประมาณที่ได้รับนั้นลดลง ซึ่งสวนทางกับเป้าหมายที่ต้องขยายพื้นที่นวัตกรรมให้เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทางคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมจะต้องเร่งดำเนินการต่อไป

ในแต่ละประเด็น ผู้เข้าร่วมในวงสนทนาได้ร่วมกันเสนอแนะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงมีประเด็นแลกเปลี่ยนและมุมมองที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งคณะทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้นำข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้มาเป็นข้อมูลเพื่อการพัฒนาการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมในภาพรวมต่อไป


ผู้เขียน : ศศิธร ศรีวงษ์ญาติดี, อนุสรา สุขสุคนธ์, อนงนาฏ อินกองงาม, ดุสิตา เลาหพันธุ์,
               ลัดดาพรรณ จันทร์ปรีดา คณะนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ หลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต
               สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร   แช่ใจ

Facebook Comments
การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง “ไม่มีความท้าทาย ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง”“ครูสามเส้า” เชื่อมโยงการเรียนรู้สู่ภูมิปัญญาท้องถิ่น รร.บ้านตันหยงกาโบยชัยพัฒนา จ.สตูล
บทความล่าสุด