กรอบการบริหาร YATA MODEL สู่แนวคิด Active ETQ เรียนรู้รอบด้าน พัฒนาตามศักยภาพของผู้เรียน

5 ตุลาคม 2021

กรอบการบริหาร Active ETQ เรียนรู้รอบด้าน พัฒนาตามศักยภาพของผู้เรียนของโรงเรียนบ้านยะต๊ะ โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา

สวัสดีผู้อ่านทุกท่านพบกันอีกครั้งกับบทความ “30 ก้าวขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา” ครั้งนี้พูดกับ นางสุวรรณา อิมือซา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยะต๊ะ หนึ่งในสามสิบโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา ที่มีเป้าหมายที่จะพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพตนเอง จากการเรียนรู้ที่หลากหลาย และสอดคล้องบริบทชุมชน

แรกคิดเข้าร่วม สู่การเป็นสถานศึกษานำร่อง

ผู้เขียนขอสัมภาษณ์ข้อมูลเกี่ยวกับบริบทโรงเรียนบ้านยะต๊ะ จากการพูดคุยกับ ผอ.สุวรรณา ได้เล่าว่า ตนเองมีแนวคิดที่ต้องการพัฒนาให้ผู้เรียนมีพัฒนาการตามศักยภาพบนความต่างระหว่างบุคคล มีภาคภูมิใจและคุณภาพบนฐานตามความถนัดของตนเอง อีกทั้งสถานศึกษามีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร สภาพแวดล้อม แหล่งเรียนรู้ และชุมชนที่ช่วยขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาสู่ความสำเร็จ

ความรู้สึกที่เปลี่ยนไป

หลังจากเข้าร่วมเป็นสถานศึกษนำร่องทำให้เกิดมุมมองการศึกษาแบบภาพรวมมากขึ้น ซึ่งเป้าหมายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คือ จัดการศึกษาตามสภาพบริบทของสถานศึกษา และให้สถานศึกษามีแนวคิด วิธีการ สื่อการเรียนการสอน การบริหารจัดการศึกษาในรูปแบบใหม่ ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะ คุณลักษณะอันพึงประสงค์  ส่งเสริมให้สถานศึกษาคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาเพื่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนในด้านเจตคติ ความรู้ และทักษะ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตน หลังจากการเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่อง ทำให้เห็นว่า นักเรียน ครู และชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น  เกิดความสามัคคีระหว่างหมู่คณะ  และนักเรียนได้รับการพัฒนาตรงตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้ นับได้ว่าเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ

การเปลี่ยนแปลงหลังเข้าเป็นสถานศึกษานำร่อง

โรงเรียนบ้านยะต๊ะ เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนานักเรียน จากการสำรวจนักเรียนในปีการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า นักเรียนควรได้รับการพัฒนาในเรื่อง การอ่านออกเขียนได้ ความกล้าแสดงออก ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ และการท่องจำซูเราะห์ในอัลกุรอานเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งการเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรม จึงเป็นการเปิดโอกาสให้โรงเรียนได้ทำสิ่งใหม่ ๆ และหลากหลายกว่าเดิม และเป็นการเปิดประสบการณ์ให้กับนักเรียนได้เจอกับสถานการณ์ที่หลากหลายเตรียมพร้อมสู่สังคม โดยใช้ทรัพยากรที่มีในโรงเรียนและชุมชน ได้แก่ ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น แหล่งเรียนรู้โรงเรียน และแหล่งเรียนรู้ในชุมชน อีกทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับโรงเรียนอื่น ๆ ที่มีการใช้นวัตกรรมในลักษณะเดียวกัน และหลอมรวมความคิดไปสู่การพัฒนานวัตกรรม Active ETQ และได้เห็นถึงการเปลี่ยนและเห็นความสำคัญทั้ง 4 ด้าน คือ 

  • ผู้บริหาร บทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและผู้นำเชิงวิชาการ เพื่อที่จะสามารถเป็นที่ปรึกษาและผู้อำนวยความสะดวกในการดำเนินการขับเคลื่อนนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริงในโรงเรียน
  • ครู การจัดการศึกษามีความยืดหยุ่นขึ้น ทำให้ครูสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบูรณาการได้อย่างมีคุณภาพ เปลี่ยนบทบาทจากครูผู้สอน (Teacher) เป็นครูฝึก (Coach) โดยครูมีหน้าที่ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ และอำนวยความสะดวกให้กับนักเรียน
  • ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมอย่างมากในการจัดการศึกษา  อนุรักษ์อาชีพท้องถิ่นของชุมชนมีครูภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาช่วยจัดการศึกษา
  • นักเรียน ได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิต ตอบสนองต่อความสามารถที่หลากหลายของนักเรียน  นักเรียนมีความสุขในการเรียนมากขึ้น
การบริหารสถานศึกษา YATA Model

โรงเรียนบ้านยะต๊ะ ใช้ YALA Model ภายใต้กระบวน PDCA ในการบริหารจัดการสถานศึกษา เพื่อพัฒนาให้นักเรียนมีคุณภาพ เก่ง ดี มีสุข

  • Y : Yata Cooperation หมายถึง ความร่วมมือของผู้บริหาร ครู บุคลากร นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนของโรงเรียนบ้านยะต๊ะ
  • A : Attitude หมายถึง การมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน ทุกคนมีอุดมการณ์ และจุดมุ่งหมายเดียวกัน เพื่อให้งานประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้  
  • T : Team หมายถึง หมายถึง ทีมงานที่เข้มแข็ง สามัคคี การทำงานแบบมีส่วนร่วม สนับสนุน และยอมรับความคิดเห็นตามเสียงส่วนใหญ่โดยใช้หลักประชาธิปไตยในการทำงาน
  • A : Active หมายถึง ความกระตือรือร้นในการทำงาน มีความเสียสละเวลาเพื่อผลประโยชน์ทางราชการ รับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย และพัฒนาตนเองเพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพ
สู่การออกแบบ Active ETQ
  1. ประชุมคณะทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจถึงที่มา ความสำคัญ และวัตถุประสงค์ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา   
  2. คณะครู ตัวแทนผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกันสะท้อนจุดเด่นและจุดที่ควรพัฒนาของโรงเรียนโดยเน้นไปที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ 
  3. ศึกษานวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน
  4. ประชุมเสนอหัวข้อนวัตกรรมที่ทุกคนสนใจและเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน จากนั้นร่วมกันอภิปรายจุดเด่นและจุดที่ควรพัฒนา ที่ประชุมลงมติใช้ Active ETQ เป็นนวัตกรรม 
  5. อบรมเชิงปฏิบัติการบุคลากรโรงเรียนเกี่ยวกับการดำเนินการพื้นที่นวัตกรรม 
  6. สร้างและพัฒนาแนวคิด Active ETQ
  7. ดำเนินการขับเคลื่อนพัฒนาสู่นวัตกรรม Active ETQ
  8. นำประเด็นที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการใช้นวัตกรรม  Active ETQ เสนอเข้าการประชุม PLC ทุกๆวันศุกร์ เพื่อสะท้อนภาพการดำเนินการและแลกเปลี่ยนวิธีการเพื่อพัฒนาการดำเนินการใช้นวัตกรรมให้เกิดผลดียิ่งขึ้น 
กระบวนการพัฒนาสู่นวัตกรรม Active ETQ

นวัตกรรม  Active ETQ  นำมาใช้จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการรายวิชาให้เกิดหน่วยการเรียนรู้  เป็นรายวิชา Active English (AE), Active Thai (AT) และ Active Quran (AQ)  

  • Active English (AE) ใช้วิธีการสอนแบบ Active Learning การเรียนภาษาอังกฤษควบคู่กับการลงมือปฏิบัติ (Learning by doing) โดยแบ่งการจัดกิจกรรมเป็นหน่วยการเรียนรู้ บูรณาการรายวิชาภาษาอังกฤษเพิ่มเติมและวิชาอาเซียนศึกษา วันและระยะเวลาในการจัดกิจกรรม คือ วันจันทร์ เวลา 13.00 – 15.00 น. 
  • Active Thai (AT) ใช้เวิธีการสอนแบบ Active Learning การเรียนภาษาไทยควบคู่กับการลงมือปฏิบัติ (Learning by doing) บูรณาการรายวิชาภาษาไทย  ศิลปะ และการงานอาชีพวันและระยะเวลาในการจัดกิจกรรม คือ  วันพฤหัสบดี เวลา 13.00 – 15.00 น. 
  • Active Quran (AQ) ใช้เวิธีการสอนแบบ Active Learning การเรียนภาษาอาหรับควบคู่กับการลงมือปฏิบัติ (Learning by doing) ใช้วิธีการสอนแบบเน้นการฟังซ้ำๆและการท่องจำซูเราะห์จากง่ายไปยาก  บูรณาการรายวิชาอิสลามศึกษาและวิชาศุกร์นี้มีธรรม วันศุกร์ เวลา 14.00 – 15.00 น. 
การออกแบบการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรม Active ETQ

   

   

ตัวอย่างโครงสร้างหน่วยการเรียนรู้ 6 หน่วย ได้แก่
  • หน่วยหนูน้อยจิตอาสา  จัดกิจกรรมโดยให้นักเรียนได้พัฒนาห้องเรียน  พัฒนาโรงเรียน และพัฒนาชุมชน ในรูปแบบการทำความสะอาดบริเวณต่างๆ
  • หน่วยโรงเรียนพอเพียง  จัดกิจกรรมโดยให้นักเรียนได้เรียนรู้ เรื่องทฤษฎีเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมพ่อถาง แม่ปลูก ลูกรักษา และกิจกรรมถอดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้นักเรียนทำกิจกรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
  • หน่วยขนมพื้นบ้าน  จัดกิจกรรมโดยให้นักเรียนได้รู้จักขนมพื้นบ้าน  สำรวจขนมพื้นบ้านที่นักเรียนสนใจ ลงมือทำขนมพื้นบ้าน และถอดบทเรียนเรื่องขนมพื้นบ้าน
  • หน่วยหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน จัดกิจกรรมโดยให้นักเรียนได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง เรื่อง การทำนา การไถนา การดำนา และการเกี่ยวข้าว
  • หน่วยหนูน้อยนักประดิษฐ์  จัดกิจกรรมโดยให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่อง ขยะ ให้นักเรียนสำรวจขยะและวัสดุเหลือใช้ในโรงเรียนและชุมชน แล้วนำมาประดิษฐ์เป็นสิ่งของที่ใช้ได้ใหม่
  • หน่วยเถ้าแก่น้อย  จัดกิจกรรมโดยให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องตลาด พานักเรียนไปศึกษาตลาดในชุมชนดูสินค้าที่สนใจ อยากลงมือทำ อยากขาย  พร้อมคิดวางแผนวิธีการขาย และลงมือทำสินค้า  พร้อมเปิดตลาดนัดในโรงเรียนให้นักเรียนได้ค้าขายจริง
กิจกรรมเด่นเน้นพัฒนาการ หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน 

กิจกรรมหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน เป็นกิจกรรมให้นักเรียนจะได้เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริงเกี่ยวกับกระบวนการทำนา ตั้งแต่ขั้นตอนการถอนกล้า การไถนา การดำนา การใส่ปุ๋ย และการเกี่ยวข้าว ซึ่งการทำนาเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชนที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ หน่วยการเรีนรู้นี้จึงถือได้ว่าเป็นหน่วยสำคัญที่จะทำให้นักเรียนได้ตระหนักและเห็นคุณค่าของอาชีพของพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายของตน ตลอดจนสามารถอนุรักษ์และสืบสานอาชีพนี้จากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้ยังทำให้นักเรียนเกิดมุมมองและทัศนคติที่ดีต่ออาชีพของบรรพบุรุษว่า อาชีพชาวนานั้นเป็นอาชีพที่สุจริต สามารถสร้างงานและรายได้ให้กับชีวิตและครอบครัวได้ 

ลักษณะการจัดการเรียนการสอนเน้นให้นักเรียนลงมือปฏิบัติจริง  การเรียนรู้แบบ Active Learning โดยเรียนรู้ครบกระบวนการทำนาตั้งแต่การไถนา การดำนา การบำรุงรักษา และการเกี่ยวข้าว

ภาพกิจกรรม
  • การไถนา

  • การดำนา 

  • การใส่ปุ๋ย

  • การเกี่ยวข้าว

   

   

  • ผลผลิต

ปลายทาง…ความสำเร็จ
  • ผู้บริหาร ได้รับแนวคิดและมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับการจัดการศึกษา กล้าเปลี่ยนแปลง การเรียนการสอนไม่ใช่จำกัดอยู่แค่ในห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ แต่ทุกที่ ทุกสถานการณ์ ล้วนเป็นแหล่งเรียนรู้และเสริมสร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน การเรียนรู้แบบลงมือปฎิบัติจริง จะทำให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถและมีความชำนาญมากกว่าการท่องจำในห้องเรียน การพัฒนาคนต้องทราบถึงแก่นแท้ภายในจิตใจ และความต้องการที่เป็นปัจเจกบุคคล เป้าหมายสูงสุดในการดำเนินชีวิตให้มีความสุขและความมั่นคงในชีวิตของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน ทุกคนล้วนต้องใช้ความรู้ความสามารถในการดำรงชีวิต สถานศึกษาจึงต้องจัดการศึกษาที่หลากหลาย มีคุณภาพสอดคล้องกับบริบทชุมชน และความแตกต่างระหว่างบุคคล 
  • ครู ได้รับการพัฒนากระบวนทัศน์และวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เช่น ออกแบบหน่วยการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของนักเรียน วัดและประเมินผลตามสภาพจริง เปลี่ยนบทบาทตัวเองกลายเป็นครูฝึก นอกจากนี้ยังเกิดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community : PLC) ในโรงเรียน
  • ผู้เรียน ได้รับการพัฒนาแบบองค์รวม สอดคล้องกับวิถีชีวิต  ทั้งยังตอบสนองต่อความสามารถอันหลากหลายของผู้เรียน และผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข 
ส่งท้าย…สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

โรงเรียนบ้านยะต๊ะ โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา ที่มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนตามศักยภาพตนเอง จากการการเรียนรู้ที่หลากหลาย และสอดคล้องบริบทชุมชน ซึ่งนวัตกรรม Active ETQ ที่โรงเรียนพัฒนาขึ้นมาจากความต้องการที่จะให้ผู้เรียน เรียนรู้รอบด้าน ได้รับการพัฒนาแบบองค์รวม สอดคล้องกับวิถีชีวิต”  โดย โรงเรียนพร้อมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมสู่เป้าหมาย ซึ่งต้องใช้แรงพลังดันจากหน่วยงานในพื้นที่ หน่วยงานต้นสังกัด ช่วยเสริมแรงสนับสนุนในด้านงบประมาณในจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นให้เพียงพอสำหรับผู้เรียนทุกคน อีกทั้งการเชิญวิทยากร หรือครูภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และยังต้องการให้หน่วยงานการศึกษา/พี่เลี้ยงในพื้นที่เข้าร่วมพัฒนาประสบการณ์ครู การพัฒนาหลักสูตร เพื่อให้โรงเรียนบ้านยะต๊ะเป็นโรงเรียนนำร่องต้นแบบนวัตกรรมที่แท้จริง

ในปีการศึกษา 2564 การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้นวัตกรรมการ Active ETQ ของโรงเรียนบ้านยะต๊ะ โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลาจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามต่อไป และผู้เขียนจะนำเสนอบทความที่น่าสนใจของโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลาอื่นที่น่าสนใจต่อไปในหัวข้อ “30 ก้าวขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” บทความถัดไป

กิจกรรมเรียนรู้การทำนา เรื่อง การไถนา 
กิจกรรมการนำนักเรียนลงพื้นที่จริงกับการดำนา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สู่การลงมือทำ
 
ติดตามเพิ่มเติมได้ที่

 

ติดตามข่าวอื่น ๆ เกี่ยวกับจังหวัดยะลา

 



ผู้เขียน: อิศรา โสทธิสงค์ 
ผู้ให้สัมภาษณ์: สุวรรณา อิมือซา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยะต๊ะ
ผู้สัมภาษณ์:
อิศรา โสทธิสงค์
กราฟิกดีไซน์เนอร์:
อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์:
ปราชญาพร แช่ใจ
ภาพประกอบ: โรงเรียนบ้านยะต๊ะ

Facebook Comments
การบูรณาการกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ของ โรงเรียนวัดอินทาราม“โกวิทอินทราทร”เปิดตัวโครงการนำร่องใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เวทีระดมสมองเพื่อการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 6
บทความล่าสุด